Special Scoop



เจริญอายุวัฒนมงคล 98 ปี หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ชีวิตนี้เพื่อพระพุทธศาสนา และความสันติสุขของโลก (ตอนจบ)

บรรพชาเป็นสามเณร

ในปี พ.ศ.2477 (ค.ศ.1934) เมื่อบิดามารดาอนุญาตให้บวช พระอาจารย์กงมาจึงนำ ด.ช.วิริยังค์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 14 ปี บวชเป็นชีปะขาวในพรรษานั้น นุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล 8 เนื่องจากเป็นเวลาเข้าพรรษา เพราะการบวชจะต้องเข้าไปในตัวจังหวัด จึงจะมีพระอุปัชฌาย์

จึงนับว่ามรสุมแห่งชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อการบรรพชาก็ได้ผ่านพ้นไปด้วยชัยชนะ ปีถัดมา วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2478 (ค.ศ.1935) เมื่ออายุย่าง 16 ปี จึงได้เข้าไปในจังหวัด บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พระธรรมฐิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรวิริยังค์ได้พักที่วัดป่าสาลวันชั่วคราว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน มี พระอาจารย์ สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทำหนังสือสุทธิ (หนังสือประจำตัวพระภิกษุ สามเณร)

หลังบรรพชา 7 วัน พระภิกษุ สามเณร ประมาณ 10 รูป รวมทั้งสามเณรวิริยังค์ ซึ่งเล็กสุด แจ้งความจำนงค์ในการขอหนังสือสุทธิจากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านถามว่า จะมาบวชตลอดชีวิต หรือจะสึก ทุกรูปตอบว่า “แล้วแต่บุญ” ยกเว้นสามเณรวิริยังค์ ที่ตอบว่า “กระผมไม่ได้บวชเพื่อจะสึก กระผมบวชเพื่อจะอยู่ครับ”

หลังจากนั้น ได้กลับมาอยู่ที่วัดป่าสว่างอารมณ์ บำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างเข้มงวด ทั้งกลางวันและกลางคืน บำเพ็ญสมาธิในป่าช้า พระอาจารย์กงมาเมตตาอบรมสั่งสอนวิชากรรมฐาน จนพัฒนาขึ้นตามลำดับ การปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เพื่อจะได้ทำประโยชน์สมเจตนารมณ์ที่ให้ไว้กับตาผ้าขาวที่ได้ช่วยชีวิตไว้คราวที่เป็นอัมพาต

เป็นสามเณรได้เดือนกว่า พระอาจารย์กงมามีกิจธุระไปกรุงเทพฯ จึงนำสามเณรวิริยังค์ไปฝากไว้กับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธาราม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ

สามเณรวิริยังค์จึงโชคดี ได้ฝึกปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ การปฏิบัติด้านสมาธิก็พัฒนายิ่งขึ้น เพราะพระอาจารย์ฝั้นเป็นพระผู้มีพลังจิตแก่กล้า สามเณรวิริยังค์ได้อุปัฏฐากท่านอย่างใกล้ชิด ถวายการบีบนวดให้ท่าน สนิทสนมเช่นศิษย์กับอาจารย์ เพื่อการศึกษาอย่างเต็มที่ และเวลามีข้อเรียนถามต่างๆ

เช้าวันหนึ่ง เห็นแมวตัวผู้สีขาวแดงใหญ่ เดินจงกรมตามพระอาจารย์ฝั้น จึงงุนงงสงสัยว่าแมวจะเชื่อง หรือเรียนรู้ได้อย่างไร จึงได้รับคำตอบว่า “สอนมัน เอาใจสอนมัน”

ค่ำคืนหนึ่ง เมื่อถวายการบีบนวดพระอาจารย์ฝั้นอยู่ ต้องอัศจรรย์ใจ เมื่อเห็นสามเณรรูปหนึ่งเดินเข้ามาชงชาและยกถวายพระอาจารย์ ด้วยท่าทางมึนงง แปลกๆ เหมือนไม่มีชีวิตจิตใจ แค่ลืมตานิดๆ พอเสร็จ ก็เก็บล้างกาน้ำเรียบร้อย จึงเดินกลับกุฏิไป สามเณรวิริยังค์สอบถามพระอาจารย์ ว่าดูเหมือนสามเณรถูกสะกดจิต ท่านตอบว่าใช่ พอสามเณรวิริยังค์แวะไปที่กุฏิสามเณรรูปนั้น ก็เห็นหลับเงียบไป รุ่งเช้าจึงไปซักถาม ได้รับคำตอบว่า “อะไรกัน ไม่ได้ไปชงชาแต่อย่างใด นอนอยู่ที่กุฏิตลอดเวลา“ สามเณรวิริยังค์จึงฉงนและรำพึงในใจว่า “พลังจิตบังคับคนนอนหลับ เดินมารับใช้ และกลับไปนอน โดยไม่รู้สึกตัวได้ แปลกแท้ๆ” จึงต้องเชื่อ 100% เพราะเห็นกับตา โดยต้องบันทึกเหตุแห่งปาฏิหาริย์นั้นไว้ในความทรงจำ คือ แรม 3 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2478 เวลา 21.30 น.

ครั้งหนึ่ง ได้ฟังท่านเทศน์ให้ชาวบ้านฟังว่า “ทุกคนนี้ สำคัญอยู่ที่ใจ ถ้าใจ... ดีแล้ว อะไรๆ ก็ดี ลูกก็ดี ภรรยาก็ดี สามีก็ดี บ้านก็ดี ของใข้ก็ดี แต่ถ้าใจ... ไม่ดี ลูกก็ไม่ดี ภรรยาก็ไม่ดี สามีก็ไม่ดี บ้านก็ไม่ดี ของใช้ก็ไม่ดี… ทำอย่างไรใจของเราจึงจะดี พุทโธเข้าสิ ภาวนาเข้าสิ ทำใจให้เป็นสมาธิเข้า ใจมันก็ดีเอง ฝึกใจได้แล้ว ทำอะไรก็ได้ เวลาจะตาย ก็ไม่ห่วงตาย ไปสู่สุคติแน่นอน จิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นของเรา จิตที่เศร้าหมอง ทุคติเป็นของเรา“ สามเณรวิริยังค์จึงเรียนรู้ถึงการฝึกจิต อบรมเพื่อให้เป็นสมาธิครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้จิตมีพลานุภาพได้

นับเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังคำอธิบายจากพระอาจารย์ฝั้น ในเรื่องจิต และกระแสจิต ที่จะให้มีพลานุภาพนั้น จะต้องดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนา ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

รวมเวลาอุปัฏฐากพระอาจารย์ฝั้น 4 เดือนเศษ หลังจากนั้น พระอาจารย์กงมาจึงมารับกลับวัดป่าสว่างอารมณ์


การฝึกออกธุดงค์

เมื่อสามเณรวิริยังค์บรรพชาได้เพียง 10 วัน พระอาจารย์กงมาตัดสินใจจะเริ่มออกธุดงค์อย่างจริงจัง เพื่อทำความเพียร เพราะสามปีที่ผ่านมา ท่านมาโปรยปรายธรรมเข้าสู่จิตใจชาวบ้านใหม่สำโรง พร่ำสอนชาวบ้านให้รักษาอุโบสถ ฟังธรรม บำเพ็ญกุศลอื่นๆ จนชาวบ้านอยู่ในศีลธรรม มีความสามัคคี

ถึงเวลาแล้ว ที่จะได้ออกธุดงค์จริงจัง พระอาจารย์กงมาจึงประกาศว่า ถ้าใครไม่กลัวตายให้ไปกับท่าน สามเณรวิริยังค์ขอสมัครทันที รวมมีพระภิกษุ สามเณร 4 รูป และฆราวาส 1 คน ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย แสวงหาที่วิเวก ทำความเพียร ซึ่งป่าแถบนั้นแทบไม่มีบ้านคนเลย ต้องอดอาหารหลายวันบ้าง เจอสัตว์ร้ายบ้าง ไปถึงดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งมหาโจรอีก บางวันเดินข้ามเขา 50 กิโลเมตร จนมาถึงหางดง ถูกรุมล้อมด้วยมหาโจร 20 คน ที่เข่นฆ่าคนและพระภิกษุมาแล้ว

ด้วยวาทศิลป์แห่งพระสัทธรรม และความจริงแห่งการปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่เคร่งครัด ตลอดถึงอาจาริมารยาทที่น่าเลื่อมใส ทำให้มหาโจรทุกคนยอมวางมีด วางปืน น้อมลงกราบพระอาจารย์กงมา กลับใจ ต่างกลับไปอยู่บ้านทำมาหากินกัน ส่วนมหาโจรหัวหน้า “อุง” ยอมเข้าบวชแค่คนเดียว แต่ท่านก็ให้บวชได้แค่เป็นชีปะขาว เพื่อให้บาปเบาบางลง เพราะความชั่วที่ได้เข่นฆ่าคนมามาก ได้ถูกโกนผมทันที และติดตามพระอาจารย์กงมาออกธุดงค์ และเป็นศิษย์อยู่อีกหลายปีต่อมา จนสิ้นลมไปในระหว่างการทำสมาธิ

ครั้งหนึ่ง กลับจากธุดงค์ในป่าที่ถูกขนานนามว่าดงมาเลเรีย สามเณรวิริยังค์ป่วยเป็นมาเลเรียขึ้นสมองจนสลบไป จิตออกจากร่างไปเป็นครั้งที่สองเช่นกัน แต่ก็หายได้เป็นปกติ

การธุดงค์ตลอดระยะเวลาบรรพชาเป็นสามเณร ก็ได้ธุดงค์ไปถึงถ้ำเขาภูคา จ.นครสวรรค์ จนไปถึง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.ระยอง ที่สมัยนั้นยังเป็นป่าดงดิบ ถิ่นทุรกันดาร และเดินธุดงค์จาก จ.จันทบุรีไปถึง จ.สกลนคร


อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

หลังจากเป็นสามเณรได้ 5 ปีกว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2484 (ค.ศ.1941) เมื่อมีอายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดทรายงาม (อุทกสีมากลางทะเล) บ้านหนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี ที่พระอาจารย์กงมามาสร้างวัดที่นี่ โดยมี พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากอุปสมบท พระอาจารย์กงมาให้พระวิริยังค์เตรียมตัวออกธุดงค์ จาก จ.จันทบุรี ไป จ.สกลนคร เพื่อไปนมัสการ พระปรมาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ หลังทราบข่าวว่าท่านกลับจากการอยู่ที่เชียงใหม่ 12 ปี และอุดรอีก 3 ปี และท่านกลับมาพำนักอยู่ป่าแห่งหนึ่ง ณ วัดบ้านโคก ตำบลหนองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเดิมของพระอาจารย์กงมานั่นเอง

หลังจากร่ำลาชาวบ้าน ชาวบ้านต่างก็ร้องไห้กันใหญ่ เพราะเสียดายพระอาจารย์กงมา และพระวิริยังค์ ที่มาอยู่บ้านหนองบัวถึง 5 ปี ได้ทำประโยชน์ทั้งด้านวัตถุ และจิตใจอย่างมากมาย

การเดินธุดงค์ครั้งนั้น ถือว่าเป็นมหาวิบาก หรือมาราธอน ด้วยเป็นป่าใหญ่ เป็นสถานที่วิเวกสำหรับผู้สนใจในธรรมได้อย่างดี ด้วยการทรมานกิเลส เพื่อเพิ่มพูนพลังจิต และเพื่อพบพระอาจารย์มั่น อันเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริง ตั้งใจเดินผ่านเข้าเขตเขมร ซึ่งขณะนั้นเป็นของไทย บางสถานที่ก็ร้าง วัดก็ร้าง เนื่องจากสงครามอินโดจีน บางที่อยู่เป็นอาทิตย์เพื่อฝึกฝน สอนทำสมาธิแก่ชาวบ้านที่ศรัทธา อยากเรียนรู้ ได้ผ่านเข้าอรัญประเทศ เพื่อตรงเข้า จ.นครราชสีมา บางวันหาไม่มีน้ำ มีแค่หนองน้ำปลักควาย เข้าเทือกเขาดงพญาเย็น ทั้งสูงทั้งชัน จนเหนื่อยล้า จนต้องพยาบาลพระอาจารย์กงมาที่เป็นไข้จับสั่น โดยที่ไม่มียาติดตัวมาเลย ท่านสอนการพิจารณาภายใน จนหายจากไข้ และดีขึ้น

การเดินทางอย่างหามรุ่งหามค่ำ เดินตากแดด ท่านสอนว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ทำให้จิตหดหู่ ย่อท้อ การต่อสู้ทุกขเวทนาในครั้งนี้ ทำให้เห็นคุณค่าของการบำเพ็ญความเพียรมาแล้วในอดีต ว่าเป็นเครื่องหนุนกำลังอย่างดีเยี่ยม

เดินทางเพื่อไปให้ถึงถ้ำวัวแดงในวันเดียว ป่า ภูเขา ดงเสือ จากเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง มีศาลาที่พัก แต่ไม่เห็นมีพระภิกษุสามเณร ต่อมาเดินผ่านดงป่าทึบ เข้าทุ่งนา จึงเห็นหมู่บ้าน อยู่ถ้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เดือนเศษ เพราะพระอาจารย์กงมารู้สึกปวดยอกเอว ต้องอยู่จนกว่าจะหาย จนหายก็ยังอยู่บำเพ็ญความเพียรต่ออีกระยะหนึ่ง เพราะการออกวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรนั้น พระอาจารย์กงมาอธิบายว่า ทำให้จิตใจแข็งแกร่ง มีความกระตือรือร้นขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ทำให้พระวิริยังค์ได้ผลจากสถานที่แห่งนี้เป็นพิเศษ จารึกอยู่ในความทรงจำไว้อย่างมาก หลังจากนั้นจึงเดินตัดเข้าในเมืองเพื่อย่นระยะเวลา พอถึง จ.นครราชสีมา ก็ยังเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องระวังแต่ละสถานที่ที่จะไป เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังทิ้งระเบิดสถานีรถไฟ จ.นครราชสีมา วัดป่าสาลวันที่อยู่ใกล้ๆ จึงเหมือนวัดร้าง เหลือพระภิกษุสามเณรไม่กี่รูป เพราะอพยพไปอยู่ที่อื่นเช่นเดียวกับชาวบ้าน จึงได้เร่งเดินทางไปพบหลวงปู่มั่นที่พระอาจารย์กงมาไม่ได้พบมา 10 กว่าปีแล้ว เพื่อย่นระยะทางและเวลา จึงขึ้นรถไฟเข้า จ.อุดรธานี และต้องเดินต่อกว่า 20 กิโลเมตร จึงจะถึง จ.สกลนคร

ในที่สุด หลังจากการเดินทางมาเป็นเวลา 3 เดือนเศษ จึงได้พบพระอาจารย์เนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ ได้พบหลวงปู่มั่น สมความปรารถนาของพระวิริยังค์ มีโอกาสอยู่ศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตร การปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน และหน้าที่ที่ประเสริฐสุด คือการได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐาก รับใช้ใกล้ชิดเป็นเวลาถึง 4 ปี เวลาอันใกล้ชิดนี้ ทำให้มีโอกาสได้จดบันทึกคำสอนของหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันอย่างกว้างขวาง ในหนังสือชื่อ “มุตโตทัย” ซึ่งเป็นธรรมะอันลึกซึ้ง โดยแอบจดคำสอนไว้ (ปกติท่านห้ามผู้ใดจดเด็ดขาด) และวันหนึ่งจึงมีโอกาสอ่านให้ท่านฟัง ท่านกลับรับรองว่าใช้ได้

การธุดงค์ที่ล้ำค่าสุดจะประมาณ คือครั้งที่ได้เดินธุดงค์สองต่อสองกับหลวงปู่มั่น จาก จ.สกลนคร ถึง จ.อุบลราชธานี จุดหมายปลายทาง คือวัดเลียบ (วัดบูรพาราม) สถานที่ถวายพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พระมหาเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ธุดงค์ครั้งสำคัญนี้ ทำให้พระวิริยังค์มีโอกาสเรียนถามปัญหาข้อธรรม และข้อปฏิบัติต่างๆ ทั้งตื้น ลึก หนา บาง ที่หลวงพ่อวิริยังค์นำมาสั่งสอนอบรมศิษย์ ทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาส จนถึงปัจจุบัน...


การสร้างวัดในประเทศไทย

1.วัดที่ 1 ปี พ.ศ.2486 (ค.ศ.1943) วัดบ้านห้วยแคน จ.สกลนคร ขณะอายุได้ 23 ปี

2.วัดที่ 2 ปี พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) วัดวิริยพลาราม จ.สกลนคร

3.วัดที่ 3 ปี พ.ศ.2489-91 (ค.ศ.1946-48) วัดมณีคีรีวงค์ (กงษีไร่) จ.จันทบุรี

4.วัดที่ 4 ปี พ.ศ.2492-95 (ค.ศ.1947-50) วัดดำรงธรรมาราม จ.จันทบุรี

5.วัดที่ 5 ปี พ.ศ.2493 (ค.ศ.1948) วัดสถาพรพัฒนา จ.จันทบุรี

6.วัดที่ 6 ปีพ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 พระโขนง กรุงเทพฯ เป็นวัดแรกในกรุงเทพฯ และท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่จนถึงปัจจุบัน

7.วัดที่ 7 ปี พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) วัดผ่องพลอยวิริยาราม สุขุมวิท 105 กรุงเทพฯ

8.วัดที่ 8 ปี พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) วัดสิริกมลาวาส ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

9.วัดที่ 9 ปี พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) วัดหนองกร่างวิทยาลัยสงฆ์ กำแพงแสน จ.นครปฐม

10.วัดที่ 10 ปี พ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) วัดอมาตยาราม จ.ปราจีนบุรี

11.วัดที่ 11 ปี พ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) วัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม สุขุมวิท 103 กรุงเทพฯ

12.วัดที่ 12 ปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) วัดชูจิตรธรรมาราม วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย จ.อยุธยา

13.วัดที่ 13 ปี พ.ศ.2557 (ค.ศ.2014) วัดศรีรัตนธรรมาราม จ.สมุทรปราการ


การสร้างวัดในประเทศแคนาดา

1.วัดที่ 14 ปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) วัดญาณวิริยา 1 เมืองแวนคูเวอร์

2.วัดที่ 15 ปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) วัดญาณวิริยา 2 เมืองโตรอนโต้

3.วัดที่ 16 ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) วัดธรรมวิริยาราม 1 เมืองออตตาวา (เมืองหลวงแคนาดา)

4.วัดที่ 17 ปี พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) วัดธรรมวิริยาราม 2 น้ำตกไนแองการ่า เมืองออนตาริโอ

5.วัดที่ 18 ปี พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998) วัดธรรมวิริยาราม 3 เมืองเอ็ดมันตัน

6.วัดที่ 19 ปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) วัดธรรมวิริยาราม 4 เมืองแคลการี

7.วัดที่ 20 ปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) วัดโรจนพฤกษาราม เมืองเอ็ดมันตัน

8.วัดที่ 21 ปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) วัดป่าหลวงพ่อวิริยังค์ เมืองเอ็ดมันตัน


การสร้างพระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อปี พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) หลวงพ่อวิริยังค์ได้นั่งสมาธิที่วัดธรรมมงคล เกิดนิมิตเห็นหยกขนาดใหญ่ และงดงามมาก ถึงกับรำพึงว่า “หินหยกได้เกิดขึ้นแล้ว” วันนั้นคือ วันที่ 16 เดือนสิงหาคม ช่วงเข้าพรรษา

พอเดือนพฤศจิกายน หลวงพ่อวิริยังค์ได้เดินทางไปประเทศแคนาดา และได้เห็นหยกมหึมา น้ำหนัก 32 ตันนี้ ที่เจ้าของเหมืองหยกรับซื้อมาจากเจ้าของเหมืองทอง และได้ถูกตีตราไว้แล้วว่า ”Beijing” และอีก 2-3 วันจะแบ่งตัดเป็น 2-3 ชิ้น เพื่อสะดวกในการขนส่งไปประเทศจีน โดยที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ได้ออกข่าวไปเช่นนั้นแล้ว แต่เนื่องจากขณะนั้น ประเทศจีนมีปัญหาการขนย้ายข้ามประเทศอยู่พอดี และพอเจ้าของเหมืองหยกทราบว่า หลวงพ่อมีความตั้งใจที่จะแกะสลักพระพุทธรูปหยกเขียวให้คนกราบไหว้ ซึ่งมีความสำคัญในพระพุทธศาสนา จึงตัดสินใจขายหยกก้อนนี้ให้ประเทศไทย และตีตราใหม่ว่า ”Thailand”

ก่อนหน้านั้น หลวงพ่อเดินทางไปถึงแหล่งของหินหยกก้อนนั้น เพื่อต้องการทราบแหล่งที่มาของหยกนี้ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างมากว่าก้อนหยกมหึมานี้ ถูกค้นพบที่เหมืองทองคำเป็นครั้งแรก และประเมินว่าหินหยกนี้เคลื่อนมาจาก Kings Mountain จากเทือกเขา Rocky ผ่านการเดินทางมาในระยะ 8,000-10,000 ปี โดยไหลลงมาผ่านแม่น้ำ และทะเลสาบ Dease Lake

การรอคอยหินหยกของหลวงพ่อวิริยังค์มาเป็นเวลา 5 ปี ก็เป็นจริงขึ้น เมื่อนิมิตของท่านในวันนั้น ตรงกับวันเวลาที่หยกถูกค้นพบในเหมืองทองคำพอดี และในที่สุดหินหยกได้ถูกขนส่งทางเรือ ถึงประเทศไทยเดือนมกราคม และถึงวัดธรรมมงคลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) และได้ช่างแกะสลักชาวอิตาลี เริ่มแกะสลักหยกเขียวนี้เป็นพระพุทธรูปหยกเขียว ปางนั่งสมาธิ เมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ขนาดหน้าตักกว้าง 1.66 เมตร และสูง 2.20 เมตร โดยใช้เวลาแกะสลัก 1 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” ประดิษฐาน ณ ศาลา ภปร. หรือศาลาหลวงพ่อหยก วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101

และจากหยกก้อนเดียวกัน ก็ได้แกะสลักเป็นองค์เจ้าแม่กวนอิม องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ปางยืนประทานพร ขนาดสูง 2.20 เมตร ใช้เวลาแกะสลัก 9 เดือน ประดิษฐาน ณ ศาลา ภปร. ถือเป็นประติมากรรมอันล้ำค่าน่าอัศจรรย์จากหยกเนื้อดีมาก สีเขียวงดงาม และแข็งแรงมาก


เขียนตำราสมาธิ “หลักสูตรครูสมาธิ”

จากการที่ได้อุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์องค์แรก คือ “พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ” เป็นเวลา 8 ปี และได้อยู่อุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ เป็นเวลา 4 ปี รวมเป็นเวลากว่า 12 ปี จนแน่ใจในหลักการและแนวทางปฏิบัติ

วิชาสมาธิ เป็นวิชาที่เลิศ และประเสริฐโดยแท้ หลวงพ่อวิริยังค์บังเกิดจิตเมตตา ที่อยากจะเผยแผ่วิชาสมาธินี้แก่ชาวโลก ซึ่งถ้ารู้กันเพียงไม่กี่คน ก็คงต้องหายไปจากโลกนี้ และเพื่อคำปณิธานตั้งแต่เยาว์วัย...

ขณะท่านได้พัก ณ วิทยาลัยสงฆ์ น้ำตกแม่กลาง (วัดเทพเจติยาจารย์ ในปัจจุบัน) อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ.2529-2534 (ค.ศ.1986-1991) มีโอกาสทบทวนหลักการต่างๆ เคยไต่ถามอัตถปัญหาสมาธิ และได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่มั่น จึงได้เขียนตำราสมาธิ “หลักสูตรครูสมาธิ” เป็นจำนวน 3 เล่ม รวมหลักการปฏิบัติอันเป็นทฤษฎี ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ขั้นสูง ภายใต้นาม “สถาบันพลังจิตตานุภาพ”


ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ประธานผู้ก่อตั้ง สถาบันพลังจิตตานุภาพ เปิดสอนหลักสูตรครูสมาธิ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) จนถึงปัจจุบัน เป็นเลา 20 ปี ให้นักศึกษาเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จุดประสงค์เพื่อผลิตครูสอนสมาธิแก่ชาวโลก ให้เกิดสันติภาพ สันติสุข โดยทั่วกัน ทั้งไม่แบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา ใครๆ ก็มาศึกษาและปฏิบัติสมาธิได้

ปัจจุบัน มี 203 สาขา ทั้งในประเทศไทย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา


ผลงานอื่นๆ

• สร้างวิยาลัยสงฆ์ 3 แห่ง

• สร้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า จ.นครราชสีมา

• สร้างโรงพยาบาลจอมทอง จเชียงใหม่

• สร้างมหาเจดีย์สูงสุดในประเทศไทย วัดธรรมมงคล

• สร้างพระหยกใหญ่ที่สุดในโลก วัดธรรมมงคล

• สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่าพันแห่งทั่วประเทศ

• สร้างอาคารธรรมศาลา และศูนย์ฝึกวิชาชีพ กทม. วัดธรรมมงคล

และผลงานอื่นๆ อีกมากมาย กรุณาอ่านได้ที่ Samathi.com

************************************************

กราบนมัสการพระอาจารย์หลวงพ่อ

ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…

ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…

>ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…



- ศิษย์รุ่นดาวดึงส์ รุ่น 2 - ศูนย์ทิพย์ วัดป่าธรรมชาติ แอลเอ USA

เรียบเรียงโดย ลีนา ดีสมเลิศ