Special Scoop



“ไว้ใจทาง วางใจคน จนใจเอง!”

สำนวนสุภาษิตนี้ ได้เพี้ยนไปเป็น “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง” แต่ยังคงความหมายเดิมคือ หากไว้ใจคนอื่นมากจนเกินไป อาจจะทำให้ได้รับเคราะห์ได้ในภายหลัง ที่มาของสำนวนนี้ ก็เพื่อเปรียบเปรยถึงการไว้ใจคนมาก ๆ อาจจะทำให้ต้องเสียใจ เพราะฉะนั้น อย่าวางใจใครง่ายเกินไป

เรื่องที่พบเจอกับคนไทยบ่อย ๆ และมีผู้ได้สอบถามมา คือเรื่อง Identity Theft เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับไอดีต่าง ๆ ของตัวเอง เช่น ใบขับขี่ ใบโซเชียล บัตรเครดิต วันเดือนปีเกิด บัญชีธนาคาร จดหมายต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีเครดิตการ์ด บิลโทรศัพท์ บิลค่าน้ำไฟ และเมื่อข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี วันดีคืนดีคุณก็จะได้รับโทรศัพท์มาทวงหนี้ หรือจดหมายจากสำนักงานของรัฐบาลต่าง ๆ ในเรื่องภาษี กว่าเราจะรู้ ผู้ร้ายก็แอบเอาข้อมูลของเราไปใช้เรียบร้อย และหนีไปไกลแสนไกลแล้ว เหลือแต่ความทุกข์ทรมานและปัญหาที่มอบให้เราตามแก้ไข ซึ่งบางครั้งเราไม่มีความชำนาญด้านภาษา และไม่รู้จักกระบวนการว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง

ดังนั้น ผมก็จะเขียนเรื่องการสวมรอย หรือการโจรกรรมเอกลักษณ์บุคคล คือ Identity Theft ในโอกาสนี้อีกครั้ง พวกเราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเสียรู้ เพราะทุกอย่างเราสามารถป้องกันไว้ก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมันดีกว่าแน่ ๆ

ส่วนเมื่อท่านตกเป็นเหยี่อแล้ว สิ่งที่ควรทำมีดังนี้

1. แจ้งศูนย์เครดิตต่าง ๆ ซึ่งในประเทศนี้มี 3 บริษัทใหญ่ ๆ คือ

Equifax   1-800-685-1111

Experian   1-888-397-3742

Trans Union   1-800-916-8800

โทร ฯ แจ้งว่าเราเป็นเหยี่อที่เบอร์ 1-800-888-4213 ขอคุยกับแผนก Fraud Unit บอกว่าเรามีเครดิตการ์ดกี่ใบที่ถูกขโมย พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ แล้วเขาจะทำหมายเหตุในบัญชีเราทันที เรียกว่า บีญชี ถูก “Flagged” เพื่อบล็อคการเคลื่อนไหว… หรือถ้าสงสัยว่ามีคนนำข้อมูลของเราไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อขอเครดิตการ์ด ขอกู้เงิน เราก็บอกเขาว่า “My I.D. has been used to apply for credit fraudulently, please contact me at (เบอร์โทรศัพท์ของเรา)” เพื่อยืนยันเมื่อมีผู้ใดไปสมัครขอเครดิต ทางศูนย์เครดิตจะใส่หมายเหตุอันนี้ไปเลย แล้วธนาคารหรือแหล่งเงินกู้ก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือต้องสอบถามยืนยันกับเราก่อนในกรณีมีคนหรือผู้แอบแฝงมาสมัครขอเครดิต

2. แจ้งกับเจ้าหนี้ต่าง ๆ (Creditors) ทั้งทางโทรศัพท์ และแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์แบบมีการเซ็นต์รับ (Certified Mail)

3. แจ้งตำรวจท้องที่ที่ท่านอาศัยอยู่ จดหมายเลขเรื่อง/คดี (Case#) ในการแจ้งความ หรือขอ Police Report เก็บไว้เป็นหลักฐานในกรณีบริษัทจะมาทวงหนี้ที่เราไม่ได้ไปก่อไว้

4. ถ้าเช็ค หรือสมุดเช็ค หรือบัตรเครดิตหาย ต้องแจ้งแบงค์ทันที และให้หยุดจ่ายเช็คที่ได้เขียนสั่งจ่ายไปแล้วด้วยกับบริษัทที่ยังไม่มาเบิกหรือขึ้นเงิน โดยแบงค์จะปิดบัญชีนั้นไป และเปิดบัญชีใหม่ให้ เราควรจะแจ้งบริษัทตรวจสอบเช็ค (Verify Check Service) เวลาเราเขียนเช็คด้วย มีบริษัทใหญ่ ๆ คือ

Check Rite   1-800-552-1900

Chex Systems   1-800-428-9623

Equifax   1-800-685-1111

Tele Check   1-800-710-9998

International Check Service   1-800-526-5380

5. กรณีที่สงสัยว่ามีคนแจ้งย้ายที่อยู่ของเรา (Fraudulent Change of Address) ต้องรีบไปสำนักงานไปรษณีย์ที่อยู่ในเขตของท่าน เพื่อตรวจสอบว่า ใครแจ้งย้ายที่อยู่ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาต ไปรษณีย์มีตำรวจของตัวเองเรียกว่า U.S. Postal Inspector

6. กรณีที่สงสัยว่ามีคนเอาเบอร์โซเชียลของเราไปใช้ ก็ต้องติดต่อสำนักงาน Social Security Administration แผนก Fraud Investigation ที่ 1-800-269-0271 ถ้ามีเหตุผลครบถ้วน เขาสามารถออกใบโซเชียลเบอร์ใหม่ให้ ควรตรวจสอบใบแจ้งรายได้ และสวัสดิการประจำปีว่ามีใครจงใจเอารายได้มาใส่บัญชีเราหรือเปล่า (Earning and Benefits Statement) เพราะเขาแอบเอาเบอร์โซเชียลเราไปใช้เพื่อทำงาน

7. พาสปอร์ตหาย ต้องแจ้งสำนักงานที่ออกพาสปอร์ตเป็นลายลักษณ์อักษร เขาจะได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในกรณีที่ผู้ร้ายอาจเอาข้อมูลเพื่อไปขอหนังสือพาสปอร์ตเล่มใหม่

8. ใบขับขี่ถูกขโมย หรือหาย ติดต่อกับ DMV บางกรณีคนขโมยข้อมูลของเราไปสมัครขอใบขับขี่ใหม่ในชื่อเดิมของเรา เบอร์เหมือนกัน แต่รูปถ่ายคนละคนกัน เจอมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น DMV สามารถตรวจสอบและทำหมายเหตุในไลเซ่นส์เราได้ ว่าเราเป็นเหยื่อ I.D. Theft โดยเข้าไปในเว็บไซต์ www.dmv.ca.gov หรือแวะไปสำนักงาน DMV ใกล้บ้านคุณ

9. ถ้ากรณีมีคนนำคำสั่งศาลที่ผู้ไม่หวังดีแอบเอาข้อมูลของเราไปใช้แล้วก่อหนี้ บริษัทหรือบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้วชนะ บริษัทจะได้รับคำสั่งศาล (Judgments) ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากเราที่เป็นแพะเป็นเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ เราต้องเอาใบแจ้งความ และหลักฐานอื่น ๆ ไปที่ศาลที่ออกคำสั่ง บอกเขาว่าเราเป็นเหยื่อ I.D. Theft โดยศาลจะพิจารณายกเลิกคำสั่งได้ บางรายเอา Judgment ไปลงทะเบียนอายัดบ้านเราอีกด้วย (Liens)

ขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเอง เพื่อเป็นการเตือนว่า ขนาดผมที่คิดว่ารอบคอบดูซ้ายดูขวาแล้ว ก่อนเข้าไปใช้เครื่อง ATM ของซิตี้แบ็งค์ในร้าน 7/11 ในเมืองเวสมินสเตอร์ ออเร้นจ์เคาน์ตี้ ตอนสองทุ่ม เพื่อเบิกเงินสด 400 เหรียญนั้น พอวันรุ่งขึ้น ลองตรวจบัญชีทางออนไลน์ ซึ่งทุกธนาคารสามารถให้เจ้าของบัญชีตรวจดูรายละเอียดถึงการจ่าย การเข้าออกบัญชีได้ตลอดเวลา พอมาดูก็แทบไม่เชื่อตาตัวเอง ว่าเงินได้ถูกถอนออกไปอีก 1,460 เหรียญ โดยที่บัตรเดบิต (Debit Card) ก็ยังอยู่กับตัวตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่เคยเขียนรายงานรับแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้หลายสิบครั้งก็ตามตอนเป็นสายตรวจ เราเลยเข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อได้ดี ดังนั้น สิ่งที่ต้องรีบทำเพื่อขอเงินคืนจากธนาคารมีดังนี้

1. เช็คบัญชีของเราให้รอบคอบว่า เราถูกคนโจรกรรมบัญชีเราจริง เมื่อวัน เดือน ปีที่เท่าไร เวลาอะไร สถานที่ที่คนร้ายไปกดถอน และจำนวนเงินเท่าไร

2. หลังจากที่จดรายละเอียดจากข้อหนึ่งแล้ว ให้โทร ฯ หาตำรวจที่ดูแลท้องที่ที่คุณอาศัยอยู่ (ไม่ใช่โทร ฯ หาสถานีตำรวจที่เป็นที่ตั้งของเครื่อง ATM) บางกรณี เราอาจต้องไปที่สถานีตำรวจเอง เพราะตำรวจอาจไม่มีเวลามาที่บ้านเรา หลังจากที่ตำรวจสัมภาษณ์เราแล้ว อย่าลืมข้อสำคัญที่สุด คือขอ Police Report Number นะครับ อันนี้จะนำไปใช้ได้ในอีกหลายกรณี เป็นการป้องกันตัวเราด้วย ว่าเราไม่รับผิดชอบในกรณีที่คนร้ายนำบัตรเราไปใช้ต่ออีก

3. รีบโทรศัพท์แจ้งธนาคารของเรา ว่าเราตกเป็นเหยื่อที่ถูกคนร้ายเบิกเงินบัญชีเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเรา (Unauthorized Transactions) เจ้าหน้าที่จะสอบถามรายละเอียด ขอ Police Report Number เสร็จแล้วเขาจะให้เราทำลายบัตรเก่า เขาจะรีบส่งบัตรใบใหม่ พร้อมเบอร์บัญชีใหม่ให้ทันที แล้วจะส่งต่อแผนกสอบสวนของธนาคารเพื่อประสานกับตำรวจที่เราได้แจ้งความไว้แล้ว ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเบิกเงินไป ธนาคารก็จะเครดิตเงินที่เราถูกขโมยไปภายใน 10 วัน


ข้อแนะนำสิ่งที่ควรทำ

- หมั่นตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ ของคุณทางออนไลน์

- รีบแจ้งธนาคารถ้าสงสัยในการเข้าออกของเงินในบัญชี

- หลีกเลี่ยงการใช้บัตรในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ หรือแม้แต่ในปั๊มน้ำมัน ให้ใช้เงินสด ถ้าจำเป็นต้องเบิกเงินสด ก็ใช้เครื่อง ATM ของธนาคารเอง ไม่ใช้ของบริษัทที่รับเป็นนายหน้าให้แบ็งค์

- หลีกเลี่ยงการไหว้วานผู้อื่นไปเบิกหรือกดเงินให้ เพราะเราไม่รู้ว่าวันดีคืนดี เกิดเขาโกรธเรา อาจเอาข้อมูลไปให้กับคนอื่น

คดีต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นคดีอาญาร้ายแรงทั้งสิ้น แต่จับผู้ร้ายยาก เพราะเขาเหล่านี้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ในปี 2015 ตามสถิติจากกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 17.4 ล้านคน มูลค่าความเสียหายของธนาคารกว่า $15.4 Billion

เอาละครับ ป้องกันไว้ก่อน อย่าไว้ใจใคร โดยเฉพาะรูมเมทที่อาศัยอยู่ด้วยกัน หรือแฟนเก่า เวลาดีกันก็รักกันปานจะกลืนกิน เวลาเลิกกันก็มักจะมีวิชามารออกมาเสมอ ๆ อย่าไป Co-Sign ค้ำประกันให้กับใคร เพราะดีไม่ดีคุณเองต้องรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์เต็ม ๆ ด้วย และสุดท้าย หุ้นส่วนที่เป็นพาร์ทเนอร์ชิป (Partnership) กัน ควรจะมีสัญญาที่เขียนโดยทนายความที่มีความรู้ในเรื่องธุรกิจการค้า เขียนให้ละเอียดในกรณีมีการทะเลาะพิพาทกัน แล้วหุ้นส่วนจะขอออก ว่าใครต้องทำอะไร จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจ มาด่าทอกันเสีย ๆ หาย ๆ ในโซเชียลมีเดีย ฟังแล้วมันหดหู่ใจจริง ๆ มีอะไรก็พูดคุยกันดี ๆ หรือหาเพื่อนสนิทที่ต่างฝ่ายต่างนับถือช่วยไกล่เกลี่ย ใช้สติแทนอารมณ์กันดีกว่า เราพูดภาษาเดียวกัน คิดถึงอดีตเวลาที่เพื่อนเขาก็เคยดีกับเราเถอะ!

ผู้ที่เป็นขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าขโมย ฉะนั้นอย่า “ชี้โพรงให้กระรอก”


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย