Special Scoop
สิทธิ์ของพนักงานแบบรายชั่วโมง การพักระหว่างเวลางาน (Break Period)

หายไปหนึ่งสัปดาห์ค่ะคุณผู้อ่าน ไม่รู้คุณจะยังจำกันได้อยู่รึเปล่าว่าจริงๆแล้ว ดิฉันยังเล่าเรื่องของวีซ่าระดับผู้บริหารและนักลงทุนระดับสูงเพื่อได้รับใบเขียวยังไม่จบเลยนะคะ เพราะยังมีเรื่องหรือประเด็นน่าสนใจเหมาะแก่การกล่าวถึงอีกเล็กน้อย แต่ครั้งนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ (กว่า) เข้ามาแทรกค่ะ แล้วดิฉันก็คิดว่าเรื่องที่ดิฉันจะเล่าให้คุณได้อ่านในวันนี้ น่าจะมีความเหมาะสมกับคุณผู้อ่านทั้งในกรณีที่คุณอยู่ในสถานะผู้ว่าจ้าง และคุณในสถานะผู้รับจ้าง ที่ได้รับค่าจ้างเป็นแบบรายชั่วโมงค่ะ

เรื่องน่ารู้ที่ดิฉันอยากจะนำเสนอให้คุณได้อ่านกันครั่งนี้จะเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ์ค่ะ และสิทธิ์ที่ว่านี้ก็คือเรื่องของการพักเบรกในช่วงระหว่างวันของการทำงาน หรือในหนึ่งกะงาน (Shift) ลำดับแรกก่อนอื่นใดที่คุณต้องทราบคือ สิทธิ์ของพนักงานเรื่องการว่าจ้าง หรือแม้กระทั่งอัตราเงินค่าตอบแทนต่อชั่วโมงของแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาก็มีความแตกต่าง กันไปค่ะ โดยดิฉันจะขอนำเสนอแค่เรื่องของรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นตำ่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยอ้างจากเวบไซต์ของ U.S. Department of Labor (www.dol.gov) ปัจจุบันนี้คือ $8.00/ชั่วโมงค่ะ และสำหรับสิทธิ์ที่พนักงานที่ได้รับ การจ่ายเงินในแบบรายชั่วโมงนี้จะต้องได้รับในเรื่องของการพักเบรกระหว่างการทำงาน มีดังนี้ค่ะ

Photo credit: www.dol.gov

กฎหมายแคลิฟอร์เนียกำหนดให้พนักงานที่ได้รับการว่าจ้างเป็นรายชั่วโมง (Hourly Employee หรือ Non-Exempt Worker) ต้องได้รับการพักเบรกเพื่อรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที รวมถึงสิทธิ์ในการเบรกย่อยระหว่างการทำงาน เป็นเวลา 10 นาทีในทุกๆ 4 ชม. หากชั่วโมงของ การทำงานในหนึ่งวัน หรือในหนึ่งกะ/ 1 Shift มีระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องกันมากกว่า 5 ชั่วโมง

หากพนักงานปฏิเสธ หรือไม่ได้รับสิทธิ์ในการพักเบรก ผู้ว่าจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินรายชั่วโมง เป็นเวลา 1 ชม. เพิ่มให้แก่พนักงาน


หลักการสำคัญของการพักเบรกย่อย 10 นาที ระหว่างการทำงาน

1. พนักงานที่มีชั่วโมงการทำงานอย่างน้อย 3.5 ชม./1 Shift ต้องได้รับสิทธิ์ในการพักเบรก

2. ผู้ว่าจ้างมีความจำเป็นที่จะต้องให้สิทธิ์พนักงานในการพักเบรกเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที ก่อนที่พนักงานจะปฏิบัติงานต่อเนื่องกัน จนเกิน 4 ชม.

3. ระยะเวลาที่ง่ายแก่การจดจำเพื่อการพักเบรกย่อยสำหรับพนักงาน คือการให้สิทธิ์ได้พักเบรก ในช่วงเวลากึ่งกลางของ Shift ในช่วง 4 ชม.แรกและ 4 ชม.หลัง

4. พนักงานต้องได้รับการจ่ายเงินตามชั่วโมงรวมถึงในช่วงพักเบรกด้วย

5. ผู้ว่าจ้างสามารถที่จะแจ้งให้พนักงานใช้สิทธิ์ในการพักเบรก 10 นาที ในอาณาบริเวณ ของบริษัท/องค์กรได้

6.ผู้ว่าจ้างต้องให้สิทธิ์ในการพักเบรกอย่างเต็มที่และต้องไม่ให้พนักงาน/ลูกจ้างปฏิบัติงานใดๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว พนักงานมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่ใช้สิทธิ์ในการพักเบรกย่อยได้ แต่ควรมีหลักฐาน แสดงเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงว่าพนักงานไม่ต้องการใช้สิทธิ์ที่ได้รับด้วยความเต็มใจ


หลักการสำคัญของการพักเบรกเพื่อรับประทานอาหาร 30 นาที

1. หากพนักงานมีระยะเวลาทำงานต่อเนื่องกัน 5 ชม. ใน 1 Shift พนักงานต้องได้รับสิทธิ์ ในการพักเบรกเพื่อรับประทานอาหาร เป็นเวลาอย่างน้อย 30นาที สำหรับข้อยกเว้นสิทธิ์ในการงดพักเบรก. 30 นาที มีดังต่อไปนี้

*หากชั่วโมงการทำงานใน 1 Shift ไม่เกิน 6 ชั่วโมง พนักงานสามารถแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบได้ว่า ตนไม่ต้องการที่จะใช้สิทธิ์พักเบรก 30 นาที (และควรมีหลักฐานแสดงเจตนาของพนักงาน แสดงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร)

*พนักงาน สามารถที่จะตกลงกับผู้ว่าจ้างได้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องพักเบรกรับประทานอาหาร ระหว่างงานหรือเป็น Working lunch โดยข้อตกลงในส่วนนี้หากผู้ว่าจ้างยินยอม ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องจ่ายเงินรายชม. เพิ่มขึ้นแก่พนักงานด้วย

2. ในกรณีที่ชั่วโมงการทำงานของพนักงานมีมากกว่า 10 ชม. ใน1Shift พนักงานต้องได้รับ การพักเบรก อย่างน้อย 30 นาที โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วง 5 ชม. แรก และ 5 ชม. หลังของการทำงานใน 1 Shift ข้อยกเว้นมีเพียงอย่างเดียวในกรณีนี้คือ หากชั่วโมง ของการทำงานตลอดทั้ง Shift มีระยะเวลาไม่เกิน 12 ชม. และพนักงานได้รับการพักเบรกไปแล้ว 30 นาทีในช่วง 5 ชม.แรก พนักงานสามารถแสดงเจตนาของดเว้นการพักเบรก 30 นาทีในช่วงที่สองได้

3. พนักงานสามารถที่จะใช้เวลาพักเบรก 30 นาทีนี้นอกอาณาบริเวณบริษัท/องค์กรได้

4. ผู้ว่าจ้างจะต้องมั่นใจให้ได้ว่า พนักงานจะได้รับการพักเบรกโดยไม่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่มีการทำงานใดๆระหว่างช่วงเวลาพักเบรก

อย่างไรก็ดี แต่ละประเภทของธุรกิจและงานอุตสาหกรรม ต่างก็มีลักษณะของการทำงาน ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น แนวทางในการให้หรือใช้สิทธ์ของพนักงานเพื่อการพักเบรก จึงอาจมีความแตกต่างกันตามไปด้วย สัปดาห์หน้าดิฉันจะขอนำเสนอเรื่องราวน่ารู้ต่อไป ในเรื่องของการเลิกว่าจ้างพนักงาน เลิกว่าจ้างอย่างไรจึงจะถูกต้อง ให้มีความเหมาะสม ตามกรณีและแฟร์กับทั้งสองฝ่ายค่ะ

Photo credit: www.employeesonly.net