Special Scoop



มาทำความเข้าใจกับการใช้กฎหมายที่น่าสนใจ

“The Letter of the Law VS. The Spirit of the Law”

สืบเนื่องจากการที่ตำรวจฝ่ายความมั่นคงของไทย จับกุมนักข่าวชาวฮ่องกง นายแอนโทนี กวาน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2015 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากบินเข้าไปทำข่าวระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ บริเวณศาลพระพรหม และในขณะกำลังจะบินกลับฮ่องกง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตารวจจับ แจ้งข้อหาหลังจากมีการตรวจพบเสื้อเกราะกันกระสุน (Bullet Proof Vest) และหมวกกันกระสุน (Helmet) ที่อยู่ในกระเป๋าเดินทาง มีเครื่องยุทธภัณฑ์ดังกล่าวไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งๆ ที่นักข่าวคนนี้ได้แสดงบัตรประจำตัวนักข่าว จากสำนักข่าว Initium Media Technology ด้วยเหตุผลที่ทางต้นสังกัดที่ฮ่องกงให้เขานำไปใส่ขณะทำข่าวที่ราชประสงค์ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่รับฟังเหตุผลใดๆ … ผมคิดว่าหนึ่งในเหตุผลเพราะกลัวโดนฟ้องในคดีอาญามาตรา 157 ที่ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondent Club of Thailand)ได้แถลงข่าวในวันเดียวกันนั้น เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนักข่าวคนนี้โดยพลัน เพราะเขาไปทำข่าวตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่มีเจตนาที่จะนำเข้าไปโดยลำพัง ตลอดจนประณามเจ้าหน้าที่ที่ไม่รับฟังเหตุผล ทั้งยังได้ยกเหตุผลว่าที่ไหนๆในโลกก็อนุญาตให้นักข่าวต่างประเทศใส่เสื้อเกราะกันกระสุนป้องกันตัวในการทำข่าวในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยได้ โดยยกตัวอย่างการตายของนักข่าวต่างประเทศที่ไปทำข่าวในช่วงเหตุการณ์ประท้วงในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ปี 2010 ซึ่งมีผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น นาย Hiro Muramoto และนักข่าวชาวอิตาลี นาย Fabio Polenghi ที่ต้องตายอย่างน่าอนาถ ซึ่งทั้งสองถูกลูกหลงจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

จึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้ ซึ่งผมเขียนตามความเห็น และจากประสบการณ์ที่เรียนจากกรมตำรวจเชอริฟ เจ้าหน้าที่ไทยเรายังขาดความเข้าใจในการใช้กฎหมายของเจ้าพนักงาน ไม่กล้าที่จะใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยรวม ซึ่งงานนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ในภายหลัง ซึ่งมันแตกต่างจากเจตนารมณ์ของกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งระบุชัดเจนว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในคดีอาญา ต้องมาจากประมวลกฎหมายอาญาที่เรียกว่า Penal Statutes เท่านั้น และต้องทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้ออกกฎหมาย (ส.ว. และ ส.ส. ที่เสนอและผ่านกฎหมาย) ว่าเขามีเจตนาที่เป็นเฉพาะตัว (Specific Intent) ถึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพได้ กฎหมายยังอนุญาตให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจในการที่จะจับกุมหรือตักเตือนผู้กระทำผิดได้ ยกตัวอย่าง…

“Letter of The Law” คือการทำตามตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะหรืออย่างเคร่งครัด (ตามความหมายของตัวหนังสือที่เขียนขึ้น) ไม่ต้องตีความ แต่การบังคับใช้แบบนี้ บางครั้งมันไม่สามารถถือปฏิบัติตามความเป็นจริงได้ เช่น ถ้าตำรวจตรวจจับความเร็วด้วยเรดาร์ที่คุณขับรถโดยวัดได้ 68 ไมล์ต่อชั่วโมงนั้น ในขณะที่กฎหมายระบุตามป้ายกำหนดความเร็วห้ามเกิน 65 ไมล์ต่อชั่วโมง (Speed Limit) ก็ดี ซึ่งตามกฎหมายแล้ว… ตำรวจสามารถจับคุณได้ และออกใบสั่งให้คุณ (Notice of Violation)

แต่ด้วย Spirit of the Law ซึ่งว่าด้วยความหมายหรือความตั้งใจที่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย (Social Norm Perspective) แล้วนั้น มาตรฐานสังคมที่แท้จริงคือ ไม่อยากให้คนขับรถเร็วโดยประมาท และเพื่อให้การจราจรเดินไปด้วยความสม่ำเสมอ (Steady Flow of Traffic) จึงไม่มีตำรวจคนไหนอยากที่จะจับคุณในกรณีนี้ ที่คุณขับเกินไปแค่ 3 ไมล์

กฎหมายจราจรมาตรา 22350 Vehicle Code ระบุไว้ว่า…

“NO PERSON SHALL DRIVE A VEHICLE UPON A HIGHWAY AT A SPEED GREATER THAN IS REASONABLE OR PRUDENT HAVING DUE REGARD TO WEATHER, VISIBILITY, THE TRAFFIC ON THE SURFACE AND WIDTH OF THE HIGHWAY, AND IN NO EVENT AT A SPEED WHICH ENDANGERS THE SAFETY OF PERSONS OR PROPERTY.”

ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “ไม่มีผู้ใดที่จะขับรถบนทางหลวงที่ใช้ความเร็วเกินอัตราอันสมควร โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพอากาศ ความสามารถที่จะมองเห็น สภาพการจราจร ตลอดจนขนาดของถนน โดยมีการย้ำเกี่ยวกับอัตราความเร็วถ้าจะนำความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผู้ขับอื่นๆ”

ซึ่งตามกฎหมาย… เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจะไม่จับคุณก็ได้ เพราะการขับ 68 ไมล์ ไม่ทำให้ใครที่ร่วมใช้รถใช้ถนนมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยได้ โดยไม่ถือว่าตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งตำรวจอาจจะตักเตือนคุณ แล้วปล่อยคุณไปดังที่เห็นกันบ่อยๆ

ส่วนกฎหมายไทยมาตรา 157 นั้น ซึ่งมีอยู่ 2 องค์ประกอบ

1. การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

2. การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ฉะนั้น ในกรณีนักข่าวชาวฮ่องกงนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีเจตนาทุจริต แต่อาจกระทำตามตัวบทกฎหมาย เคร่งครัด เพราะกฎหมายว่าไว้อย่างนั้น…แต่ถ้าวิเคราะกฎหมายนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ จะมีความผิดต่อเมื่อเจ้าหน้าที่เจตนา “กลั่นแกล้ง” ผู้อื่นเท่านั้น หากไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องเจตนากลั่นแกล้งผู้อื่น เจ้าพนักงาน ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 157 (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1787/2524 (เนติ) ตอน 7น.1323.8)

เรื่องคดีแบบนี้ทำให้อัยการ และศาลต้องมาทำคดีเสียเวลา และงบประมาณ ทั้งๆ ที่จำเลยไม่มีเจตนา หรือตั้งใจจะกระทำผิด และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ผมเชื่อแน่ว่า เป็นเหตุผลอันควรที่จะยกฟ้องในที่สุด ฉะนั้น… ตำรวจไทยต้องเข้าอบรมทำความเข้าใจถึงกฎหมายเสียใหม่ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ไม่สามารถตัดสินใจให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวฮ่องกงที่สนามบินได้

ซึ่งผิดกับกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะมีหรือซื้อเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองได้เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน สเปรย์พริกไทย เทเซอร์ สตันกัน ขอเพียงให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยไม่มีประวัติต้องโทษในคดีอาญามาก่อน (Felony) มีข้อแม้ว่า… ห้ามพกพาเข้าไปในตึกของรัฐบาล หรือในสถานที่ที่เขามีการประชุมสาธารณะ และภายในสนามบิน

อีกอย่างหนึ่งที่ผมเสนอให้รัฐบาลไทยควรปฏิรูปโดยด่วน คือ การห้ามเอาผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว โดยมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่เต็มห้องไปหมด อาจเพราะอยากออกทีวีโชว์ผลงาน และให้หนังสือพิมพ์ชักรูปนำไปออกข่าว ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ที่ต้องจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษอยู่แล้ว อีกทั้งผู้ต้องหาเหล่านี้ก็เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และศาลก็ยังไม่ได้ตัดสินในความผิดที่ถูกกล่าวหาไว้ คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด บางครั้งผู้ต้องหายังมาถูกโจทก์/เจ้าทุกข์ ทำร้ายร่างกายและจิตใจต่อหน้าต่อตาตำรวจ ดังเช่นคดีคนลาวที่ทำร้ายร่างกายผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS เมื่อเร็วๆ นี้ โดยถูกเจ้าทุกข์ตบและถีบ

และยังมีหลายคดีที่ต่อมาภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานอ่อน แต่ผู้ต้องหาก็ได้ถูกสังคมประนามไปแล้ว ตำรวจจะกู้ชื่อเสียงพวกเขากลับมาอย่างไร ดังเช่นคดี นาย คริสโตเฟอร์ ลี ฮอบส์ (Christopher Lee Hobbs) ที่ถูกตำรวจไทยจับเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2014 ในข้อหาละเมิดทางเพศกับเด็กไทย และเด็กเขมรที่พัทยา ถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดยมีหลักฐานอ่อนมาก มีเพียงคำให้การของเด็กไทยและเขมร จนภายหลังเด็กสองคนนี้เปลี่ยนคำให้การ เพราะจำคนผิด อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง และถูกปล่อยตัวไปในที่สุด นาย ฮอบส์ ถูกไล่ออกจากงาน ถูกสังคมไทยและในอเมริกาตราหน้าว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง เสียอนาคต ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะไม่นำตัวผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว เพราะเขายังเคารพสิทธิของผู้ต้องหา/ผู้ถูกกล่าวหา เพราะถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการตัดสินจากศาลเท่านั้น (Presumption of Innocence Until Proven Guilty)

อีกประการหนึ่ง… ที่ตำรวจไทยชอบทำตามธรรมเนียมประเพณีมาช้านาน คือ การนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำสารภาพ ที่บ่อยครั้งที่ผู้ต้องหาถูกญาติ เพื่อนฝูงของผู้เสียหายมาประชาทัณฑ์ จนดูเหมือนว่าตำรวจอยากเอาผู้ต้องหามาขึ้นศาลเตี้ย เพื่อให้ประชาชน ญาติมิตร เพื่อนฝูง เอาคืน โดยการเตะต่อยผู้ต้องหาให้สาแก่ใจ ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหาเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดจากกระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถึงแม้ว่าจะยอมสารภาพด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ประกอบกับสำนวนตำรวจที่ทำแบบละเอียดรอบคอบหนาแน่นแล้ว ทำไมจึงต้องไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในหลายกรณี ตำรวจก็ไม่สามารถให้ความปลอดภัยกับผู้ต้องหาได้หรือว่านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยากจะทำเอาหน้ากันแน่

ผมจึงใคร่ขอร้องให้นายกฯ รีบๆ ปฏิรูปการทำงานของตำรวจไทยในสองกรณีนี้โดยด่วน การอบรมเพื่อฝึกความเข้าใจ พัฒนาความรู้กับตำรวจให้รู้ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายต่างๆ ที่จะถูกนำมาใช้ ให้มันสมกับเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมาย กฎหมายไทยมีเยอะ ออกมาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทั้งผู้ต้องหา และโจทก์ ถ้าใช้โดยไม่มีวิจารณญาณแล้ว กฎหมายก็อาจถูกใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ตรงประเด็น ผมเห็นด้วยกับท่านนายกฯ ที่ว่าก่อนที่จะปฏิรูประบบ ต้องปฏิรูปและพัฒนาตัวข้าราชการเองก่อน ต้องให้ความรู้ มีช่องทางที่เขาจะไปเรียนเพิ่มเติมได้ มิฉะนั้นการปฏิรูปก็จะทำได้ยาก

ประเทศไทยมีคนเก่ง มีด็อกเตอร์มากมาย แต่เราหาคนดีที่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสนอ ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมของชาตินั้นช่างน้อยเหลือเกิน… ขอฝากไว้ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เพื่อโปรดพิจารณา


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย