Special Scoop



กระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาของสหรัฐอเมริกา Criminal Justice System in the U.S.A.

เมื่อพวกเราได้อพยพมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เรายังมีโอกาสสมัครสอบเป็นพลเมืองของประเทศนี้อีกด้วย หรือถ้ามีบุตรหลานที่เกิดในประเทศนี้ ก็จะถือว่ามีสัญชาติเป็นคนอเมริกันโดยอัตโนมัติเลย คงมีเพียงประเทศเดียวในโลกนี้ที่เปิดโอกาสให้สิทธิ์นี้อยู่ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตีความใหม่ในการได้รับสัญชาติด้วยสิทธิพิเศษนี้สำหรับเด็กที่เกิดจากมารดาที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย

เนื่องจากศาลสูงสุดของอเมริกา (U.S. Supreme Court) ซึ่งมีผู้พิพากษา 9 ท่าน โดยการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา (U.S. Senate) ที่รับรอง ก็สามารถพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับการตีความของรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งผู้พิพากษา (The U.S. Supreme Court Justices) นี้ เป็นตำแหน่งตลอดชีพ ไม่มีการเกษียณอายุ นอกเสียจากแต่ละท่านจะลาออก หรือเสียชีวิตลง จึงถือว่าหมดวาระ ฉะนั้น อิสรภาพในการพิจารณาตัดสินคดีที่มีผลบังคับใช้ได้ทั่วประเทศจึงมีความสำคัญมาก ไม่มีใครสามารถก้าวก่ายการทำงานหรือถอดถอนตำแหน่งได้ ซึ่งประธานาธิบดีใหม่ก็ไม่มีโอกาสที่จะแต่งตั้งใครเพิ่มได้ หากผู้พิพากษาทั้ง 9 คนนี้ไม่ได้ลาออกหรือเสียชีวิต

ต่อเมื่อมีตำแหน่งว่างลง ประธานาธิบดีจึงจะสรรหาคนที่เหมาะสม เข้ามารับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ได้ ซึ่งก็ต้องมั่นใจว่าคนๆ นั้นมีอุดมการณ์และความคิดสอดคล้องหรือคล้ายกับประธานาธิบดีผู้แต่งตั้ง อีกทั้งมีผลงานและประวัติในการตัดสินคดีอย่างชอบธรรมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีพึงเห็นชอบ

ทีนี้เรามาพูดถึงกระบวนการดำเนินคดีอาญาในอเมริกา ซึ่งคนไทยไม่ค่อยจะสันทัดหรือเข้าใจ เมื่อตัวเองต้องตกเป็นจำเลยหรือโจทก์ ก็มีคำถามที่ต้องสอบถามกันมากมาย ฉะนั้น วันนี้จะเขียนอธิบายโดยสังเขปถึงกระบวนการ ก่อนที่จะถูกจับ และหลังการถูกจับ กระบวนการประกันตัว การขึ้นศาล และในที่สุด หากถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นอกเหนือจากการที่ท่านโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับโดยบังเอิญ เช่น จากการตั้งด่านตรวจเมาแล้วขับหรือผิดข้อหาอื่นๆ (Sobriety/DMV Checkpoint) หรือสายตรวจพบเห็นพิรุธ (Observation Arrest) รวมถึงการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจโดยผู้เสียหาย (โจทก์) ในเรื่องต่างๆ เช่น ถูกลักขโมย (Burglary), ฉ้อโกง (Embezzlement), ข่มขู่ (Threats), การทำร้ายร่างกาย (Assault & Battery) การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นต้น

หลังจากการแจ้งความแล้ว ทางตำรวจก็จะสืบหาพยาน สอบสวนเพื่อหาหลักฐานมาประกอบ เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของข้อหา (Elements of Crime) เมื่อตำรวจได้หลักฐานครบ ก็จะเขียนคำร้อง ขอให้ศาลเซ็นเพื่อออกหมายจับ หมายค้น และหลังจากจับ (Arrest) ผู้ต้องหาได้แล้ว ตำรวจมีเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ในการส่งผู้ต้องหาขึ้นศาล โดยผ่านสำนักงานอัยการที่จะเป็นโจทก์ เพราะเป็นกฎหมายอาญา (Criminal Law) ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นโจทก์แทน เมื่อมีผู้กระทำผิดละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ที่มีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนคดีแพ่ง หมายถึงผู้เสียหายที่เป็นบุคคลทั่วไป ฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพียงอย่างเดียว

ในระหว่าง 48 ชั่วโมงนี้ ตำรวจก็จะสืบสวน สอบถามผู้ถูกกล่าวหา ว่ามีข้อแก้ตัว หรือเหตุผลอะไรที่ได้กระทำผิดในข้อหานั้นๆ เพื่อทำรายงานส่งอัยการฟ้องศาลภายใน 48 ชม. ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ฉะนั้น ถ้าคุณถูกจับในวันศุกร์ และไม่มีเงินมาวางประกัน ก็ต้องนอนในคุกทั้งเสาร์และอาทิตย์ จนกว่าจะถูกนำตัวไปขึ้นศาลในวันอังคาร และก่อนที่จะมีการไต่สวน ตำรวจจะแจ้งสิทธิของคุณให้ฟัง เรียกว่า Miranda Rights ดังนี้

1. You have the right to remain silent. Do you understand?

คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พูดหรือให้การใดๆ คุณเข้าใจไหม (ผู้ต้องหาต้องตอบให้ชัดเจนว่า Yes (เข้าใจ) หรือ No (ไม่เข้าใจ) ไม่ใช่พยักหน้า

2. Anything you say may be used against you in court. Do you understand?

อะไรที่คุณให้การกับตำรวจ สามารถนำไปใช้ที่ศาลได้ คุณเข้าใจไหม ตอบ Yes หรือ No เช่นกัน

3. You have the right to an attorney during questioning. Do you understand?

คุณมีสิทธิ์ที่จะให้ทนายความของคุณอยู่ด้วย ในการระหว่างการไต่สวน คุณเข้าใจไหม Yes หรือ No

4. If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you, before any questioning. Do you understand?

ถ้าคุณไม่สามารถว่าจ้างทนายความได้ ทางการจะหาทนายความให้ ก่อนที่จะมีการไต่สวน คุณเข้าใจไหม ต้องตอบ Yes หรือ No

หลังจากนั้นแล้ว ตำรวจจะถามว่า Do you want to talk about what happened? ท่านมีอะไรจะพูดไหม ว่าเรื่องราวเกิดขึ้นอย่างไร

หลังจากนั้น ตำรวจจะให้โอกาสคุณโทรศัพท์หาใครก็ได้ 3 ครั้ง เช่น โทรหาญาติ ทนาย หรือเพื่อน เพื่อมาเยี่ยม หาหนทางช่วยเหลือ หรือประกันตัว แต่ก่อนที่จะอนุญาตให้โทรศัพท์ได้นั้น ตำรวจจะทำการถ่ายรูป พิมพ์นิ้วมือ ตรวจสอบประวัติ ว่ามีหมายจับในคดีอื่นๆ ด้วยไหม กระบวนการนี้เรียกว่า Booking หลังจากเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ก็จะมีการตีค่าประกันตัว ซึ่งมีมาตรฐานการคิดวงเงินประกันอย่างชัดเจน ว่าคดีอะไร มีค่าประกันตัวเท่าไหร่ (สามารถขออุทธรณ์จากคณะกรรมการได้ เพื่อขอลดวงเงินประกัน) เช่น คดีโกง ฉ้อฉล (Embezzlement) ถือเป็นคดีร้ายแรง (Felony) จะมีค่าประกันตัว $45,000.-

ในขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาอาจจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางค่าประกัน แต่ต้องสัญญาว่าจะมาขึ้นศาล ตามวันเวลาที่กำหนดให้ โดยตำรวจที่ให้ดุลยพินิจนี้ จะออกใบสั่ง “Notice to Appear” ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราวนี้ เรียกว่า “Release on Own Recognizance”

ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เรียกว่า “Arraignment” เพื่อเรียกตัวมาขึ้นศาล แจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ อัยการกับทนายความของผู้ต้องหา พร้อมด้วยผู้ต้องหา จะมีการเจรจาขอลดหย่อนข้อกล่าวหาบ้าง หรือออมชอม (Plea Bargain) เช่น จากคดีร้ายแรงลดมาเป็นคดีลหุโทษ แล้วผู้ต้องหาจะยอมรับผิดโดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป แต้ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรืออัยการไม่ยอมออมชอมหรือลดหย่อน ผู้ต้องหาก็จะถูกตัดสินโดยคณะลูกขุนถ้าเป็นคดีร้ายแรง (Felony) หรือหากเป็นคดีลหุโทษ (Misdemeanor) ผู้ต้องหามีสิทธิ์ขอเลือกตัดสินโดยผู้พิพากษา (Trial by Judge) หรือคณะลูกขุน (Trial by Jury) ก็ได้

โดยกระบวนการต่อไปเมื่อไม่มีการยอมความ คือการไต่สวนขั้นต้น “Preliminary Hearing” ซึ่งกระบวนการนี้ ผู้พิพากษาจะดูหลักฐานที่อัยการนำมาเพื่อให้ศาลพิจารณา ว่าผู้ต้องหาน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด มีหลักฐานอ้างอิง Probable Cause ที่สามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการตัดสินเอาผิดได้

ขั้นตอนต่อไปคือ “Pre-Trial Motion” ตำรวจ อัยการ ทนายความของจำเลย และจำเลย จะปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษา ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยจะเห็นหลักฐานต่างๆ ของอัยการ ที่จะนำมาใช้ในชั้นไต่สวน ว่าบางอย่างอาจไม่สมควรให้นำมาใช้ได้ โดยอาจจะนำพยานมายืนยัน เช่น ตำรวจมิได้มีหมายค้น แต่เข้าไปค้นบ้าน และนำเอาหลักฐานที่เก็บได้มาใช้ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้ที่ชั้นศาลได้ (Exclusionary Rule)

ต้องเข้าใจว่า กระบวนการยุติธรรมของอเมริกานั้น โดยพื้นฐานจะใช้ระบบ Presumption of innocence and beyond reasonable doubt คือ ศาลจะตั้งสันนิษฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้นบริสุทธิ์ก่อน และจะถูกพิสูจน์ทราบว่าผิดอย่างไม่มีข้อสงสัยเลย

ในขั้นตอนต่อไปคือ “Trial by Jury” การไต่สวนโดยใช้คณะลูกขุน (12 คน) กระบวนการนี้ก็จะมีการนำสืบพยานทั้งของโจทก์และจำเลย มีการซักถาม แย้งหลักฐานและพยานซึ่งกันและกัน (Cross examination) หลังจากนั้นทางศาลโดยผู้พิพากษา จะอธิบายและอ้างอิงกฎหมายที่จำเลยถูกกล่าวหา และองค์ประกอบของคดี เสร็จแล้วก็จะส่งคณะลูกขุนไปห้องรับรองเพื่อพูดคุยพิจารณาลงมติ (Deliberation) ว่าผู้ต้องหาถูกหรือผิดตามที่ถูกกล่าวหา จนกว่าจะได้มติเป็นเอกฉันท์ ว่าผู้ต้องหาผิดจริง ในข้อหาอะไรบ้าง โดยลูกขุนทั้ง 12 คน (ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็ถือว่าจำเลยไม่ผิด) ต้องลงมติเป็นเอกฉันท์ตัดสินว่าผิด แล้วรายงานแจ้งผู้พิพากษาบนบัลลังก์ ผู้พิพากษาก็จะแจ้งกำหนดว่าวันใดให้มาฟังการระวางโทษ จะลงโทษมากน้อยเท่าไร และในระหว่างนี้ อาจจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน เผื่อทางจำเลยอาจมีความจำนงค์ต้องการยื่นอุทธรณ์ก็เป็นได้

กฎข้อปฏิบัติที่กล่าวข้างต้น ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมขของคดีอาญาในอเมริกา หวังว่าจะเป็นประโยชน์ เวลาคุณอาจถูกจับ จะได้รู้ว่าสิทธิของคุณมีอะไรบ้าง ตำรวจจะไม่ถามว่า จำเลยหรือผู้เสียหาย อยู่ในสถานภาพอะไร (ผิดกฎหมายหรือเปล่า) อย่างไรก็ดี ควรตระหนักว่า อย่าทำผิดกฎหมายในประเทศนี้เลย ไม่สนุกแน่ๆ เพราะการเข้าไปในคุกที่มีผู้คนร้อยพ่อพันแม่ อีกทั้งสมาชิกแก๊งต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีอาการทางจิต มาอยู่ร่วมกันเป็นหมื่นคนในสถานกักกันที่แออัดแล้ว มันน่าเสียวไส้ หมดอิสรภาพ หมดท่า แถมมีผู้ช่วยเชอริฟที่จะกำหนดเวลาให้คุณกินนอนอีก ไม่สนุกแน่ มีแต่ความเครียด อกสั่นขวัญแขวนเลย เพราะคนเหล่านี้น่ากลัวมากนะครับ จะบอกให้…


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย