Special Scoop
หนึ่งเสียง หนึ่งโหวต มีความหมายมากกว่าที่คุณคิด (ภาคพิเศษ)

สองสัปดาห์ก่อนผมได้เขียนถึงความสำคัญของสิทธิของพวกเรา และหน้าที่ในการช่วยสนับสนุนให้ประชาธิปไตยของประเทศนี้แข็งแรงขึ้นไป โดยการไปใช้สิทธิ์ลงทะเบียนออกเสียง ซึ่งต้องไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 20 ตุลาคม 2557 เพื่อสามารถไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเพื่อเลือกผู้แทนที่เราชอบ และกฎหมายอื่นๆ ที่จะมีผลกระทบกับเราทั้งทางตรง หรือทางอ้อม ในวันเลือกตั้ง วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ก็มีหลายๆ ท่านที่โทรมาขอคำแนะนำ โดยเฉพาะคุณนพพรที่อุตส่าห์เขียนอีเมล์มาชม ขออนุญาตนำลงและขอบคุณมากๆ ที่เป็นกำลังใจให้ครับ


“สวัสดีครับคุณคิด
ฤดูเลือกตั้งมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้วครับ บ้านผมมีสิทธิ์อยู่สามเสียง ไม่อยากให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ. ผมได้ติดตามผลงานและเฝ้าดูคุณมานาน อีกทั้งยังเคยขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายบางประการนานมาแล้ว
ซึ่งโดยสรุปได้ว่าคุณมีความปราถนาดีต่อชุมชนไทยอย่างแท้จริง มีความตรงไปตรงมา และให้ความรู้ต่อชุมชนไทยมานาน
ผมเองบอกตามตรงว่าไม่ค่อยได้สนใจเรื่องราวการเมืองรอบตัวเท่าใดนัก ( my bad ) ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ผมนึกถึงคุณทุกที เพราะผมเชื่อมั่นว่าคุณคิดต้องเลือก Propositions และบุคคลที่ จะต้องเป็นผลดีต่อส่วนรวมของชุมชนไทยเรา
แต่ไม่กล้าที่จะถาม วันนี้ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ทำให้เสียงของผมสูญเปล่าไป
ผมจึงเขียนมาขอความเห็นของคุณคิดว่า มีความเห็นเช่นใดบ้างครับ

ด้วยความเคารพครับ” - Nopporn

การกระตุ้นคนไทยให้พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบ้านนี้เมืองนี้ ให้นักการเมืองรู้ว่า เราก็เป็นชุมชนหนึ่งที่มีเสียงสนับสนุน และมีเงินทุนที่จะช่วยเขาได้ เราไม่ต้องการเป็นส่วนเกินที่ไม่มีนักการเมืองมาใส่ใจ หรือแคร์เรา และหลายๆ รายโทรมาถาม เล่าว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย ได้รับใบลงคะแนน (Ballot) เพราะเคยลงทะเบียนไว้ แต่ไม่รู้จะเลือกใคร กฎหมาย/มาตรการ (Measures) หรือข้อเสนอ (Propositions) ก็ไม่เข้าใจ

วันนี้ผมจะอธิบายถึงการออกเสียงว่ามีกี่แบบ และต่างกันอย่างไร แล้วจะขอเสนอคำแนะนำ และเหตุผลที่ผมเลือกในระดับรัฐ และท้องถิ่นนะครับ


การลงคะแนนมี 3 แบบ โดยย่อ

หลังจากที่เราได้ลงทะเบียนในมณฑลที่คุณอยู่แล้ว คนไทยส่วนใหญ่เมื่อได้เป็นคนอเมริกันแล้ว หลังจากการสาบานตน ตอนที่จะเดินกลับไปที่รถก็จะมีโต๊ะให้ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีโต๊ะของพรรคการเมืองใหญ่ๆ 2-3 พรรค เช่น พรรคเดโมแครต (Democratic), พรรคริพับลิกัน (Republican), พรรคอิสระอเมริกา (American Independent) หรือพรรคแห่งความสงบอิสระ (Peace and Freedom)

พวกเราส่วนใหญ่ก็ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิในตอนนั้น และถ้าไม่ได้ย้ายบ้านไปไหน ก่อนเลือกตั้งสัก 3-4 อาทิตย์ก็ควรจะได้รับบัตรลงคะแนน ตัวอย่างของทางการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีการลงคะแนนเสียง 3 แบบ

1. ไปลงคะแนนที่สถานที่เลือกตั้ง (Polling Station) ในเขตใกล้บ้านคุณในวันเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม

2. ขอใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์ (Vote-by-mail หรือเรียกว่า Absentee Ballots) โดยการส่งบัตรลงคะแนนเสียงก่อนวันเลือกตั้ง เพราะบัตรลงคะแนนจะต้องให้ทางการได้รับก่อน หรือในวันเลือกตั้งเป็นอย่างช้า ถ้าได้รับหลังจากวันเลือกตั้งก็ถือว่าบัตรนั้นเป็นโมฆะ อันนี้ต้องลงทะเบียนก่อนว่า ขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนทางไปรษณีย์

3. การลงคะแนนแบบไม่ได้รับบัตรลงคะแนน (Provisional Ballots) จากการย้ายบ้าน หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่ท่านจำได้ว่าได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ไว้ก่อนแล้ว ก็สามารถจะไปสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งใกล้บ้านท่านได้ ถ้าไม่มีชื่อในทะเบียนในเขตนั้น ก็บอกเขาว่าเคยลงทะเบียนไว้ และจะขอใช้สิทธิ์นี้ คือขอลงก่อน แล้วทางการจะไปตรวจสอบคุณสมบัติของท่านในภายหลัง ว่าเราเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนหรือไม่ ก่อนที่จะนับคะแนนเรา


ผมขอบอกว่า ผมเลือกใคร กฎหมายไหน อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว จะเลือกตามผมก็ไม่ว่ากัน ถึงแม้ว่าผมชอบพรรคริพับลิกัน แต่บางตำแหน่งผมจะเลือกตัวบุคคลที่คิดว่าจะดีกับชุมชนไทยเรา

ในระดับรัฐ

1. ผู้ว่าการรัฐ (Governor) ขอเลือก นาย นีล คาชคารี (Neel Kashkari) จากพรรคริพับลิกัน ซึ่งเป็นคนหนุ่มมีไอเดียในการช่วยเหลือทุกชุมชน ไม่เห็นด้วยกับรถไฟด่วนความเร็วสูงของผู้ว่าการปัจจุบัน และไม่เห็นด้วยที่จะโอนผู้ต้องหามาให้ทางเคาน์ตี้รับผิดชอบ

2. รองผู้ว่าการรัฐ (Lieutenant Governor) ขอเลือก นาย รอน เนห์ริ่ง (Ron Nehring) จากพรรคริพับลิกัน ตำแหน่งนี้ไม่ค่อยมีอำนาจและบทบาทอะไรมาก ถ้าผู้ว่าการรัฐยังอยู่ในตำแหน่ง ส่วนใหญ่ก็ไปเปิดร้าน ตัดริบบิ้นอะไรทำนองนั้น

3. เลขาธิการรัฐ (Secretary of State) ขอเลือกนาย พีท ปีเตอร์สัน (Pete Peterson) จากพรรคริพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษา น่าจะดีกว่าคู่ต่อสู้จากพรรคเดโมแครต

4. ผู้ควบคุมการเงินของรัฐ (State Controller) ขอเลือกนางแอชลีย์ สเวเรนจิน (Ashley Swearengin) จากพรรคริพับลิกัน ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Fresno มีผลงานดี สามารถดูแลงบประมาณของเมือง Fresno ให้สมดุลได้

5. เหรัญญิก (Treasurer) ขอเลือก นาย จอห์น เชียง (John Chiang) จากพรรคเดโมแครต ที่มีประสบการณ์จากอดีตที่เคยเป็นกรรมาธิการด้านภาษี เป็นผู้ควบคุมการเงินของรัฐ

6. อัยการสูงสุดของรัฐ (Attorney General) ขอเลือกนาย รอน โกลด์ (Ronald Gold) จากพรรคริพับลิกัน ที่อุตสาห์มาหาเสียงกับชุมชนไทย มีความตั้งใจจะช่วยเหลือพวกเรา

7. กรรมาธิการด้านประกันภัย (Insurance Commissioner) ขอเลือกนาย เท็ด เกนส์ (Ted Gaines) จากพรรคริพับลิกัน แทนคนปัจจุบัน ที่ไม่เห็นมีผลงานอะไร

8. กรรมาธิการด้านภาษีเขต 3 (แอลเอ) (Member State Board of Equalization 3rd District) ขอเลือกนาย เจอโรม อี ฮอร์ตัน (Jerome E. Horton) จากพรรคเดโมแครต ปัจจุบันเป็นประธานกรรมาธิการด้านภาษีอยู่ มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ มาโดยตลอด

ตำแหน่งสุดท้ายที่จะขอแนะนำ ถ้าท่านอยู่ในแอลเอเคาน์ตี้ เมืองอะไรก็ได้ (LA County) คือตำแหน่ง นายอำเภอ ที่ดูแลตำรวจเชอริฟกว่า 10,000 คน เจ้าหน้าที่ธุรการกว่า 8,000 คน มีงบประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญต่อปี และตำรวจเชอริฟสำรองกว่า 900 นาย รวมถึงผมด้วย… โดยขอเลือก Chief. Jim McDonnell หัวหน้าตำรวจจากเมืองลองบีช ท่านมาพบกับชุมชนไทยเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมานี้ 29 ตุลาคม ท่านน่ารัก ยินดีช่วยเหลือชุมชนไทย มีประวัติและผลงานที่เด่นชัด

นอกเหนือจากตำแหน่งหลักเหล่านี้ ก็ยังมีมาตรการต่างๆ (Measures) ที่เราต้องลงคะแนนที่จะสนับสนุนหรือไม่ ดังนี้

1. Proposition 1 “NO” การจัดการบริหารเรื่องน้ำ รัฐจะออกพันธบัตรมีมูลค่ากว่า $7.545 พันล้านเหรียญ ผมไม่เชื่อว่าเงินจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง ต่อให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ

2. Proposition 2 “NO” อนุญาตให้มีการโอนงบประมาณจากบัญชีเงินรายได้ทั่วไปมาปิดงบประมาณด้านอื่นๆ น่าจะไม่ดี เพราะเงินจะมีการโอนกันไปทั่ว

3. Proposition 45 “NO” เกี่ยวกับการขึ้นค่าประกันสุขภาพ โดยให้กรรมาธิการด้านประกันภัยของรัฐเป็นผู้ตัดสิน ไม่น่าจะดี ที่ให้คนๆ เดียวมีอำนาจ

4. Proposition 46 “NO” ให้มีการตรวจการเสพยา หรือแอลกอฮอล์กับหมอ และจำกัดค่าเสียหายแค่ $250,000 ต่อคดี ที่คนไข้จะฟ้องหมอได้ ไม่เห็นด้วยครับ

5. Proposition 47 “NO” ให้อำนาจการฟ้องเป็นลหุโทษสำหรับคนที่ถูกจับในคดียาเสพติด ยกเว้นคนที่เคยถูกจับมาก่อน ผมก็ไม่เห็นด้วย

6. Proposition 48 “NO” อนุญาตให้อินเดียนแดงเผ่า North Fork Rancheria และ Wiyot Tribe เปิดบ่อนคาสิโนได้ ไม่เห็นด้วย แค่มีอยู่ 55 แห่ง คนไทยก็ไปเล่นจนหมดตัวไปมากแล้ว ไม่เอาด้วยละครับ


อย่าลืมไปลงคะแนนกันในวันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2014 ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม นะครับ


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย