Special Scoop



ประธาน กกต.พานักศึกษา พตส. รุ่น 3 ศึกษาดูงานการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วยกรรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น นำทีมคณะนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่3 ซึ่งมี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นประธานนักศึกษา และในรุ่นที่ 3 นี้มีนักศึกษาจากทุกพรรคการเมืองกว่า 16 พรรค และภาคราชการรวมทั้งภาคเอกชน ดังเช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวัชระ เพชรทอง นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายประสาร มฤคพิทักษ์ และ นางสาวรพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ ซึ่งเป็นประธานฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาของรุ่นนี้

การศึกษาดูงานของนักศึกษา พตส.3 ได้เลือกประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่จะไปดูงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือ ส่งเสริมการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของประเทศ ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่ามีพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก และในขณะนี้เป็นระยะที่อยู่ระหว่างเตรียมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่คณะนักศึกษาจะได้ดูงานจากเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งของโลก เป้าหมายหลักของภารกิจครั้งนี้ คือการไปสังเกตุการเลือกตั้งของผู้สมัครับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรครีพับลิกันหรือที่เรียกว่า ไพรมารี่ อิเลคชั่นส์ ซึ่งจะมีขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือการศึกษาดูงานเพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา และศึกษาดูงานพรรคการเมืองทั้งพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ทั้งยังจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมกับสังเกตุการความตื่นตัวของชาวไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศไทยนอกราชอาณาจักรอีกด้วย นับเป็นประโยชน์สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม

เนื่องจากนักศึกษา พตส.3 นั้น ประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นกลไกขับเคลื่อน หรือเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง อันจะนำพาประเทศไปสู่การเมืองที่ประชาชนชาวไทยพึงปรารถนา แต่เพื่อประโยชน์สูงสุดของภารกิจนี้ คณะนักศึกษามีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ สมควรที่จะรวบรวมและเก็บประเด็นปัญหาที่สำคัญๆ ภายในประเทศเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกัน จึงจัดให้มีกิจกรรมทางวิชาการเพื่อสรุปบทเรียนตามสถานภาพของบริบทในสังคมไทย ที่กำลังเผชิญปัญหาด้วยการหาทางออกร่วมกัน จากเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่มีแต่ความขัดแย้ง แตกแยก ปราศจากความปรองดอง และนั่นคือที่มาของดินเนอร์ทอล์กในค่ำคืนนี้ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองในเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้ประเด็นไทยแลนด์สแตนด์อัพ เมืองไทยภาพใหญ่ในภาพเล็ก

กำหนดการดูงานของนักศึกษา พตส.3 เริ่มจากการเข้าชมอาคารรัฐสภาพ US Parliament เยี่ยมชม กกต.กลางของกรุงวอชิงตันดีซี อีกทั้งพบปะกับกรรมการพรรครีพับลิกัน (Republican) และพรรคเดโมแครต ฟังบรรยายสรุปเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จากสถานทูตไทย พบปะผู้นำชุมชนไทย เพื่อพูดคุยเรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไทยในกรุงวอชิงตันดีซี

นอกจากนั้นแล้วคณะนักศึกษาจะเดินทางไปพบปะกับชุมชนคนไทยในนครลอสแอนเจลิส เยี่ยมชมวัดไทยและร่วมทำบุญกับพี่น้องชาวไทยในนครลอสแอนเจลิส ซึ่งถือว่ามีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุดกว่า 250,000 คน และเข้าเยี่ยมคารวะกงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอสแอนเจลีส เพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งของชุมชนคนไทย และโอกาสสำคัญครั้งนี้ คณะได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ การจัด Primary Election หรือ การหยั่งเสียงเลือกผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย การศึกษาดูงานที่นครลอสแอนเจลีส นอกจากจะได้พบปะกับประชาชนคนไทยแล้ว ยังได้เข้าพบนายกเทศมนตรีอีกด้วย

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ นักศึกษา พตส.3 ทุกคน จะต้องทำการสรุป และจัดทำรายงานผลการศึกษาดูงาน และการนำเสนอผลการศึกษาดูงาน จากข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และการเลือกตั้งตลอดจนข้อมูลเฉพาะในเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศไทย โดยจัดแบ่งตามหัวข้อและประเด็นที่กำหนดให้ดังนี้


1. กลุ่มเลือกตั้งโปร่งใส่ หัวข้อ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา”
2. กลุ่มพร้อมใจใช้สิทธิ หัวข้อ “บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาและมลรัฐ / รัฐบาลท้องถิ่น กับการควบคุมการจัดการและสนับสนุนการเลือกตั้ง
3. กลุ่มผูกมิตรสมานฉันท์ หัวข้อ “ระบบพรรคการเมืองสหรัฐอเมริกา”
4. กลุ่มสร้างสรรค์ประชาธิปไตย หัวข้อ “การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกับความตื่นตัวของคนไทยในสหรัฐอเมริกา”