Special Scoop



สยามเมืองยิ้ม ตอน 3

เมื่อเสร็จภารกิจส่งนักร้องกลับอเมริกาแล้ว ก็ถึงเวลาออกเยี่ยมญาติพี่น้อง และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และสิ่งหนึ่งที่ต้องทำเป็นประจำ คือการได้ไปไหว้บรรพบุรุษ คือคุณพ่อคุณแม่ ที่สุสาน อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยเอาดอกไม้ธูปเทียน ผลไม้ 5 อย่าง และขนมไปเซ่นไหว้ ภาวนาขอพรให้ท่านคุ้มครอง เป็นศิริมงคลกับตนเองและครอบครัว ซึ่งพอได้ทำแล้วก็สุขสบายใจ

ถ้าทุกคนกลับเมืองไทยและมีบรรพบุรุษฝังที่สุสาน ก็ไปกราบไหว้แสดงความเคารพก็จะดีนะครับ ผมเห็นบางสุสาน รกมาก หญ้าขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีลูกหลานมาดูแลกันเลย ผมเชื่อและเห็นมาหลายคน ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ จะไม่มีวันตกอับ ต้องทำตั้งแต่ตอนท่านอยู่ด้วยนะ ไม่ใช่ตอนเสียแล้วค่อยมาทำ อย่างนี้ไม่ได้ผลเท่าใด และโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะ จะเตรียมหรือสร้างสุสานไว้ก่อนมรณะอย่างยิ่งใหญ่

โดยฮวงจุ้ยหรือทำเลที่ดีต้องใกล้น้ำ ติดกับภูเขา หรือด้านหน้าเป็นบ่อน้ำ ลำธาร เป็นช่องน้ำก่อเกิดกระแสพลังที่โอบอุ้ม เพื่อความโชคดีและร่ำรวย ส่วนด้านหลังเป็นภูเขา หรือมีภูเขาล้อมรอบ เพื่อความสูงศักดิ์ ตามความเชื่อที่ว่าการสร้างสุสาน เป็นการสร้างอนาคตหรือส่งผลที่ดีต่อลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป ทำแล้วลูกหลานจะดี หรือสามารถปรับเปลี่ยนชะตากรรมให้ดีขึ้นได้ เป็นต้น ซึ่งลูกหลานก็ต้องดำเนินชีวิตอย่างมีสติ และอยู่ในธรรมอันดีด้วย และถือการเป็นบ้านสุดท้ายในโลกมนุษย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานได้เห็นถึงความภาคภูมิใจของบรรพบุรุษ

จึงเป็นที่มาของเทศกาล “เช็งเม้ง” ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีในการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน ซึ่ง “เช็ง” หมายถึงความสะอาด บริสุทธิ์ และ “เม้ง” หมายถึงความสว่าง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2561 ส่วนผมนั้นกลับเมืองไทยเมื่อใด ก็จะแวะไปกราบไหว้ เพราะถือฤกษ์สะดวก

ต่อมา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมเยียน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฉายา “วีรบุรุษนาแก” หรือ “มือปราบตงฉิน” ปัจจุบันอายุ 69 ปี (เกิด 3 กันยายน 2491) เป็นนักเรียนนายร้อยฯ รุ่น 24 ตอนนี้ท่านก็ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคการเมืองเต็มตัว มีพรรคของท่านเอง ชื่อ “พรรคเสรีรวมไทย” พร้อมที่จะส่งคนลงสมัครครบทุกเขต ถ้าจะมีการเลือกตั้งตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวล่าสุดว่า เลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ท่านเสรีบอกไม่อยากเชื่อ เพราะเลื่อนมา 4 ครั้งแล้ว

เราได้พูดคุยกันถึงปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. ว่า เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจเป็นอย่างมาก ประชาชนแทบจะไม่เชื่อมั่นกับตำรวจที่จะมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนได้เลย ตั้งแต่คดีครูจอมทรัพย์ คดีหวย 30 ล้าน คดีการบุกรุกป่าล่าเสือดำ ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนคาดหวังให้ตำรวจทำคดีอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรงไปตรงมา มีมาตรฐานเดียว แต่ผลออกมานั้น มันกลับกลายเป็นว่า ตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบหรือระดับภาค ทำคดีสอบสวนผิดพลาด เดือดร้อนเจ้าทุกข์ ต้องมาร้องเรียนกับกองบังคับการตำรวจปราบปราบ หรือที่เรียกตามประสาชาวบ้าน “กองปราบ” ซึ่งขึ้นอยู่ภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตามสโลแกน หรือคำขวัญที่ว่า “เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” โดยมี พล.ต.ท. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. เป็นผู้บัญชาการสอบสวนกลาง มาช่วยให้ความเป็นธรรม

จนมีการตำหนิการทำงานระดับผู้การเมืองกาญจนบุรี พล.ต.ต. สุทธิ พวงพิกุล (นรต. รุ่น 37) ที่มีการก้าวก่ายในการแก้สำนวนจากทางโรงพักให้สมบูรณ์ ชี้นำให้ครูปรีชาเป็นเจ้าของหวยในคดีหวยอลเวง 30 ล้าน ท่านฐิติราชถึงกับบอกว่า ผู้การกาญจนบุรี “ทำผิดโดยสุจริต มีวุฒิภาวะต่ำ ประสบการณ์อ่อน” โดยจะตั้งข้อหาตามความผิดมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ในเรื่องนี้ ท่านผู้การเมืองกาญจนบุรี จบจากนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 รับราชการมาหลายสิบปีกว่าจะขึ้นเป็นนายพล แสดงว่าการสรรหาคนที่มาเป็นผู้นำล้มเหลว ท่านเสรีหรือบิ๊กตู่บอกว่า จะปฏิรูปตำรวจได้ เราต้องปฏิรูปทั้งคนและระบบ เพราะถ้าคนไม่พัฒนา ต่อให้ระบบดีก็ไปไม่ได้ ในทางตรงข้าม มีระบบแต่คนไม่มีประสิทธิภาพ คนดีก็สามารถพัฒนาได้ ฉะนั้นต้องพัฒนาทั้งสองอย่าง สุดท้ายต้องเลือกคนดีเข้ามาเป็นผู้นำหน่วย เลิกใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้เงินแลกเปลี่ยน ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำทุกคนให้เป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่อยู่ที่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ในที่สุดมีโอกาสมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้พบและฟังจากตำรวจผู้ปฏิบัติถือกฎหมาย เป็นสายตรวจ สน.ปทุมวัน ส.ต.ต. หัสนัย สาธรสุทธิ์ ตำรวจสายตรวจไฟแรงที่ติดต่อผมผ่านทาง FB Messenger สนใจในวิชาชีพตำรวจอเมริกา พอมีโอกาสก็เลยไปพูดคุยเล่าประสบการณ์กัน น้องเขาน่ารัก ถามมาก่อนว่า “พี่ครับ คิดค่าวิทยากรเท่าไรครับ” ทำให้สงสัยว่าวิทยากรที่เคยมาพูดนั้น คงมีการคิดสตางค์ไหม ผมเลยบอกว่า รายการนี้ฟรีหมด แถมเอาของไปแจกด้วย เช่น ไฟฉาย เสื้อ หนังสือ เป็นต้น

เริ่มจากการบรรยายอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจอเมริกา ตั้งแต่กระบวนการสมัคร สรรหา ตลอดจนการฝึกอบรม 23 อาทิตย์ และเงินเดือน ซึ่งมันต่างจากเมืองไทยทุกอย่าง ตำรวจชั้นประทวนคือตั้งแต่นายดาบจนถึงพลตำรวจนั้น ได้รับการอบรมน้อย การพัฒนาเสริมทักษะมีจำกัด แต่การทำงานต้องสัมผัสกับประชาชนมากที่สุด ขณะที่ตำรวจสัญญาบัตรหรือนายร้อยเรียนโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. 4 ปี หรือปริญญาตรี-โท มาเรียน 1 ปี แต่กลับไม่ได้สัมผัสกับประชาชนมากเท่าสายตรวจ

ตลอดจนอธิบายถึง 3 C ที่ตำรวจอเมริกาใช้ปฏิบัติคือ

C ที่ 1 = Command Presence

C ที่ 2 = Control

C ที่ 3 = Communication

Command Presence: คือความพร้อมในท่วงท่าและเครื่องแบบในเวลาปฏิบัติงาน ตำรวจอเมริกาเวลาแต่งครื่องแบบแล้ว จะต้องเนี้ยบ สง่างาม เพราะมันมีผลต่อการอยู่รอดปลอดภัย (Survival) เหมือนกับเสือในป่า ที่จะเลือกแกะที่อ่อนแอ ก่อนเข้าไล่ล่า จับฆ่าเป็นอาหาร เฉกเช่นกับผู้ร้ายทั้งหลาย ที่เขาจะเล่นงานกับเหยื่อที่อ่อนแอกว่า ฉันใดก็ฉันนั้น ฉะนั้นการแต่งเครื่องแบบที่เรียบร้อย พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่สมบูรณ์ครบครัน มีร่างกายและหน้าตาที่สะอาด ดูเข้มแข็ง จะทำให้ผู้ร้ายเกรงกลัว เกรงใจ ไม่กล้าคิดจะขัดขืนต่อสู้กับตำรวจ

Control: คือความสำคัญในการตัดสินใจและการควบคุมสถานการณ์ ตำรวจที่มีความรู้และประสบการณ์ จะต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ได้ในทุกกรณี แยกคู่กรณีออก ไม่ให้มาราวีต่อกัน หรือโต้เถียงกัน เพราะ Police is always in charge!

Communication: คือการติดต่อสื่อสารหรือถ่ายโอนข้อมูลที่สำคัญ อาชีพตำรวจไม่ใช่งานเหมือนอาชีพอื่นๆ เพราะเวลาแต่งเครื่องแบบออกปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจจะไม่รู้ว่าจะต้องไปเจอมหาโจร คนร้าย คนบ้า ที่จะยิงเรา หรือเจอคนบ้า โรคจิต อาจจะถูกยิงตายในหน้าที่ มิได้กลับบ้าน ดังเช่นตำรวจเมืองโพโมน่า ที่ถูกโจรยิงตายผ่านประตูเมื่อเร็วๆ นี้ มีอายุแค่ 30 ปี

ฉะนั้นการสื่อสารกับเพื่อนร่วมกะ ที่เข้าเวรด้วยกัน สำคัญมาก เพราะต่างจะเข้ามาเป็นตัวเสริมช่วยกันทันที และยามคับขัน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ตำรวจอเมริกามีกลยุทธ์ในการปฏิบัติหน้าที่ แต่บางครั้งมันก็พลาดได้ เพราะอยากจะจับผู้ร้ายโดยเร็ว เป็นที่มาของการสูญเสียถึงชีวิต ตั้งแต่ปีใหม่ 2018 มานี้ มีตำรวจต้องตายในหน้าที่มากถึง 17 คนแล้วทั่วอเมริกา

หลังจากนั้น จึงได้สอบถามถึงความรู้สึกของตำรวจไทย ซึ่งส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันดังนี้

1) เงินเดือนน้อย ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เวลาทำงานไม่เป็นไปตามตาราง คือไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา ทั้งยังต้องซื้ออุปกรณ์เองเกือบทุกอย่าง ทั้งปืน แล็บท็อปคอมพิวเตอร์ กุญแจมือ เสื้อเกราะกันกระสุน วิทยุสื่อสาร และอื่นๆ ที่ต้องจัดหาจัดซื้อกันเอง ส.ต.ต.ได้เงินเดือนประมาณ 1 หมื่น 5 พันบาท ควรขึ้นเป็น 30,000 บาท ถึงจะพออยู่ได้ ไม่ต้องขอชาวบ้านหรือพ่อค้าในพื้นที่

2) นโยบายและระเบียบที่สั่งการลงมาจาก สนง. ตำรวจแห่งชาติ มาจากเบื้องบนลงสู่ผู้ปฏิบัติด้านล่าง ไม่เคยเลยที่จะถามไถ่ชั้นล่างว่ามันทำได้ไหม ผู้ปฏิบัติด้านล่างไม่มีส่วนร่วมในการออกระเบียบ ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ลงมาดูแลรับฟัง เช่น การออกกฎห้ามนั่งท้ายรถกระบะ

3) ไม่มีการกระจายอำนาจ ส่วนใหญ่คำสั่งมาจากส่วนกลาง มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนก็สับสน โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า ไม่รู้ว่าวันไหน หน่วยไหน จะมาจับ (ไถ) ประชาชนคลางแคลงใจมากขึ้นว่าตำรวจทำงานให้ใครกันแน่ ให้ประชาชน หรือผู้มีอิทธิพลธุรกิจสีเทา

4) ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจใน สนง.ตำรวจแห่งชาติ ไม่มีความกระตือรือร้นในการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะแต่ละท่านนั้น กว่าจะได้นั่งตำแหน่งสำคัญเป็น ผบ. หรือ รอง หรือ ผู้ช่วย ล้วนใกล้เกษียณอายุราชการทั้งนั้น ใครจะมานั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการถูกคนด่า แล้วจะเดือดร้อนทำไม ดังที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า สังคมไทย

-ถ้าเงียบเฉย จะมีชีวิตที่ปลอดภัย

-ถ้าพูดความจริงครึ่งๆ กลางๆ จะถูกชมว่าอยู่เป็น และน่ารัก แต่…

-ถ้าพูดความจริง ตรงไปตรงมา จะถูกตำหนิว่า “ไม่รักชาติ”

ฉะนั้น เราควรต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมที่มันแย่แต่กลับทำการเหมือนปกติ

ผมมีโอกาสเข้าอบรมฟังนักพูดสร้างสรรค์ พูดให้กับตำรวจในหัวข้อ “Be Better, Do More or Simply to Have Fun” โดยนาย Paul Butler มีช่วงหนึ่งเขาบอกว่าการจะเปลี่ยนวัฒนธรรม ควรมีระบบแบบนี้ Culture-Image-Attitude-Action (วัฒนธรรม-ภาพลักษณ์-ทัศนคติ-ปฏิบัติ)

สุดท้าย ตำรวจสายตรวจในเมืองไทย ไม่สามารถจับรถที่ทำผิดกฎจราจรได้ เพราะเขาจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตำรวจจราจร หรือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยจราจร หรือให้เป็นเจ้าพนักงานจราจร ถึงจะออกใบสั่งได้ มิน่าเล่า ผู้กระทำผิดจราจรในเมืองไทย ไม่เกรงกลัวตำรวจสายตรวจเลย เพราะไม่มีสมุดใบสั่งที่จะเขียน สถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น มีมากที่สุดในระดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้ เพราะคนขับรถที่ทำผิดกฎจราจร ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะตำรวจสายตรวจไม่จับ ถ้าจับก็ต้องเรียกตำรวจจราจรมาออกใบสั่ง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ทำให้เสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายในแต่ละปี


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย