Special Scoop



การตามคืนสมบัติล้ำค่ากลับแผ่นดินไทย

ทับหลังปราสาทเขาโล้น และทับหลังปราสาทหนองหงส์


ขบวนการปล้นสมบัติชาติไทย

การค้าโบราณวัตถุมีมาช้านานกว่า 60 ปี ประมาณว่า ปี พ.ศ. 2500-2520 (ค.ศ.1957-1977) เป็นช่วงที่ประเทศไทยสูญเสียศิลปวัตถุล้ำค่ามากที่สุด การโจรกรรมขนใส่รถบรรทุก แล้วส่งออกทางเรือ ไปยังยุโรปเพื่อประมูลค้าขาย ซึ่งเบื้องหลังก็คือคนไทยลงมือขโมยสมบัติชาติตัวเอง โดยการทำตามใบสั่งฝรั่ง ในช่วงนั้น เป็นยุคสงครามเวียดนาม หรือสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2 ของเวียดนามเหนือ-ใต้ ลาว และเขมร ปี พ.ศ. 2498-2518 (ค.ศ.1955-1975)

ทับหลัง 2 ชิ้นที่ได้คืน

เป็นศิลปะยุคเขมรแบบบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ 16 อายุประมาณ 1 พันปี ทับหลังทั้งสองทำจากหินทราย และเป็นศิลปะสมัยลพบุรี (ศิลปะเขมรโบราณในไทย) มีหลักฐานภาพถ่ายว่าทับหลังทั้งสองเคยประดิษฐานอยู่เหนือกรอบประตูปราสาท ซึ่งทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ได้หายไปในช่วงปี พ.ศ. 2508-2510

1.ทับหลัง ปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว เป็นสลักพระอินทร์เหนือเกียรติมุข

ปราสาทเขาโล้น เป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นยอดเขาเตี้ยๆ อยู่บนเชิงเขาสะแกกรอง ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โดยมีปรางค์ 4 องค์ และปัจจุบันเหลืออยู่เฉพาะปรางค์องค์กลาง โดยปราสาทด้านหน้า 2 หลัง และด้านหลัง 1 หลัง ได้ปรักหักพังไปตามกาลเวลา

2.ทับหลัง ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ เป็นสลักพระยมทรงกระบือ

ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่บ้านโนนดินแดง ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ซึ่งก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง สร้างขึ้นบนพื้นฐานคติสัญลักษณ์แห่งเขาพระสุเมรุ คือศูนย์กลางแห่งจักรวาล ความเชื่อของศาสนาฮินดู

การค้นพบทับหลัง

ทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้น ได้เปิดให้ชมอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ ชองมูนลี Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture, Asian Art Museum of San Francisco นครซานฟรานซิสโก มีผู้ที่พบเบาะแสปราสาทหนองหงส์โดยบังเอิญ จากการติดตามทวงคืนประติมากรรมสำริดอื่นๆ ของหน่วยงานประเทศไทย จึงได้พบว่าทับหลังปราสาทหนองหงส์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ และทำให้ได้พบเจอทับหลังปราสาทเขาโล้นที่นี่ด้วยเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) หลังทราบข่าว กงสุลใหญ่แอลเอ ณ ขณะนั้น นายธานี แสงรัตน์ ได้เดินทางไปถึงพิพิธภัณฑ์เยี่ยมชมตรวจสอบ จึงได้ช่วยดำเนินประสานงานอีกแรงในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย (อีก 2 ปีถัดมา นายธานี ได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นทูตที่ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ณ ประเทศไทย)

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการติดตามโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรกลับคืนสู่ประเทศ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการทวงคืนฯ ดำเนินงานกับกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา U.S. Department of Homeland Security และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ ถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคง สหรัฐอเมริกา Homeland Security Investigations (HSI)

ลำพังการทวงคืนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้แต่การจะมีข้อมูล ภาพถ่าย หลักฐานประวัติศาสตร์ กระบวนการต่างๆ ที่ซับซ้อน ลำบาก ใช้เวลา และความพยายามจากทุกฝ่าย วัตถุโบราณต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของเอกชน หรือบุคคลที่ซื้อต่อๆ กันมาด้วยราคาแพง การจะให้คืนกันง่ายๆ ฟรีๆ จึงไม่อาจยอมรับกันได้ง่ายนัก แต่ในกรณีนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจาก U.S. Department of Homeland Security และกระทรวงยุติธรรม U.S. Department of Justice ในการสืบสวน และรวบรวมหลักฐานข้อมูลต่างๆ คงอาจไม่เป็นผลสำเร็จ

คดีความ ซึ่งทำให้ได้คืน

ทับหลังถูกซื้อขายออกจากประเทศไทยในราคาชิ้นละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 470,000 บาท ต่อมานายเอเวอรี่ บรันเดจ Avery Brundage (เสียชีวิต ปี 1975) นักค้าและสะสมวัตถุโบราณ อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้ติดต่อซื้อสะสมไว้ในคอลเลคชั่น แม้ทราบดีว่า 1 ใน 2 ทับหลัง ได้ถูกนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทับหลังปราสาทหนองหงส์อยู่ในความครอบครองของบริษัทประมูลศิลปวัตถุและโบราณวัตถุแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และทับหลังปราสาทเขาโล้นอยู่ในความครอบครองของแกลอรีอีกแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลัง นายบรันเดจได้บริจาคทับหลังให้เมืองซานฟรานซิสโก ใหัจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในความดูแลรับผิดชอบของเคาน์ตี้ ซึ่งทางรัฐบาลไทยเรียกร้องขอทับหลังทั้งสองชิ้นคืน แต่ไม่เป็นผล

นายเดวิด เคลเลอร์ David Keller (Special Agent) นักสืบ/เจ้าหน้าที่พิเศษฝ่ายสืบสวนความมั่นคง บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรม (The National Property Act) ในการช่วยทวงคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยไป ให้กลับสู่ประเทศภูมิลำเนาอย่างชอบธรรม

การสืบสวน โดย Homeland Security Investigations (HSI) โดยนายเดวิด เคลเลอร์ David Keller นักสืบ Special Agent ซานฟรานซิสโก รับมอบหมายในกรณีนี้ที่สหรัฐอเมริกาได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ในปี 2017 และใช้เวลากว่า 3 ปี สืบสวน จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม 2020 จึงเริ่มกระบวนการร้องเรียนทางกฎหมาย โดย U.S. Justice Department ได้ฟ้อง File Complaint กับทาง SF Asian Art Museum ในคดีแพ่ง Federal Lawsuit โดยคำตัดสิน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา จึงมีข้อยุติ ตกลงให้ทางพิพิธภัณฑ์ ในความดูแล รับผิดชอบของซิตี้ และเคาน์ตี้ นครซานฟรานซิสโก ส่งมอบ 2 ทับหลังที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum คืนแก่รัฐบาลไทย โดยกฎหมาย Federal Law ให้ HSI นำร่องในการสืบสวนว่าด้วยสิ่งครอบครองทางศิลปะและวัฒนธรรม และกฎหมายศุลกากร ให้อำนาจ HSI ยึดสิ่งครอบครองทางศิลปะที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย จะด้วยการสูญหายหรือโจรกรรมมาก็ตาม

นาย โรเบิร์ต มินซ์ Robert Mintz ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Deputy Director กล่าวว่า ทางผู้ดูแลศิลปะวัตถุ มีส่วนรับผิดชอบต่อแหล่งที่มาว่าถูกต้อง ซึ่งเราก็มีข้อบัญญัติ Bylaws ขององค์กรด้วยที่อาจทำให้การดำเนินเรื่องล่าช้าด้วยขั้นตอนต่างๆ แต่ก็ดีใจที่ทับหลังทั้งสองชิ้นจะได้กลับถิ่นฐานเดิม

นาย เคลเลอร์ สรุปกล่าวว่าฝ่ายสืบสวนคาดว่าทับหลังได้ถูกโจรกรรมออกจากประเทศไทย โดยนักค้าวัตถุโบราณชาวยุโรป ซึ่งปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า $700,000

ส่วนนายเทตั้ม คิง Tatum King นักสืบ/special agent ซานฟรานซิสโก อีกคน กล่าวเสริมว่า พิพิธภัณฑ์ และนักสะสมโบราณวัตถุ ควรตรวจเช็ครายการ ข้อมูลศิลปะวัตถุในครอบครองซึ่งอาจจะเป็นของโจรกรรมมาก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น พิพิธภัณฑ์เป็นด่านหน้าสำหรับโบราณวัตถุเหล่านี้ นายคิงกล่าว...

พิธีส่งมอบ

ระหว่างหน่วยงาน HSI และสถานกงสุลใหญ่ แอลเอ ได้จัดขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2021 ณ Crozier Fine Arts, 2010 E. 15th St, Los Angeles มีผู้ร่วมงานฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายไทย ดังนี้

1.David A. Prince, HSI Los Angeles, Special Agent in Charge

2.Tatum King, HSI San Francisco, Special Agent in Charge

3.Stephanie Hinds, Acting U.S. Attorney Northern District of California รักษาการอัยการ

4.นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นประธานในพิธี

5.นายมังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ผู้รับมอบ ลงนามข้อตกลง

6.นายฟาบิโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก

7.นายพิษณุ โสภณ กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก

พร้อมแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

พิธีบวงสรวงตามคติศาสนาพราหม์ มีการร่ายรำกฤษดาภินิหาร เพื่อแสดงความเคารพเทพเทวดาและอัญเชิญทับหลังกลับประเทศไทย และพิธีการลงนาม Certificate of Transfer ของ U.S. Immigration and Customs Enforcement

เดินทางกลับ

ทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น

ได้เดินทางออกจากนครลอสแอนเจลิส ในช่วงดึกของวันที่ 26 พฤษภาคม และถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลากลางคืนของวันที่ 28 พฤษภาคม โดยทางกรมศิลปากรมีแผนจัดแสดงทับหลังดังกล่าว ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคม 2021

ดังนั้น คนไทยในสหรัฐอเมริกาควรช่วยกันเป็นหูเป็นตา เห็นคุณค่าสมบัติชาติที่เป็นมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นคุณค่าทางใจ หาค่าประมาณมิได้ และในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีสมบัติทางศิลปะ วัตถุโบราณอีกมากมาย ซึ่งเราอาจจะได้คืนมาอีกในอนาคตหากพิสูจน์ทราบได้ ตราบใดที่ยังมีการลักลอบค้าขายโบราณวัตถุในตลาดมืด

และต้นเหตุจากบทเรียนนี้ก็คือความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ไทยที่มีการปล่อยปละละเลย ให้โบราณวัตถุ สมบัติอันล้ำค่า ออกจากดินแดนแผ่นดินไทยได้อย่างไร...


ลีนา ดีสมเลิศ