Special Scoop
เรื่องจำเป็น มารยาทอันพึงมี (ผู้ซื้อบ้าน)

ช่วงนี้เทรนด์ของตลาดการซื้อขาย-บ้านกำลังมาแรงค่ะ ถึงนักเศรษฐศาสตร์หรือกูรูผู้เชี่ยวชาญ ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีการออกมาแสดงความเห็นและวิเคราะห์ออกมาว่า ในช่วงนี้น่ะ ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงทรงตัว ถือเป็นช่วงนิ่งๆและก็จะยังทรงตัวอย่างนี้ ไปในระยะหนึ่ง ไม่น่าจะมีอัตราการซื้อ-ขายบ้านแบบพุ่งสูงมากไปกว่านี้อีกได้แล้วล่ะนะ แต่ดิฉันก็ยังอยูากับความเป็นปัจจุบัน เพราะมองไปทางไหน ก็เห็น open house ตลอด วันนี้ดิฉันก็เลยเลือกเขียนถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันค่ะ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของมารยาทสำคัญที่คุณ ในฐานะผู้สนใจซื้อบ้าน เมื่อประสบพบโอกาสเผื่อว่าคุณต้องการที่จะไปดูบ้านในวันหนึ่งวันใด คุณควรจะตระเตรียม และวางตัวอย่างไรให้พร้อม เพื่อที่จะสร้างความประทับใจกับทั้งตัว agent ที่โชว์บ้าน และกับเจ้าบ้านที่คุณอยากจะซื้อบ้านของเขาค่ะ

photo credit: www.premiermeansbusiness.com

การนัดหมาย

ลำดับแรกที่คุณต้องคำนึงถึง ก็คือในชีวิตการทำงานหรือProfessional Life ของคุณ คุณเคยพลาดการนัดหมาย เคยไปสาย และรู้สึกผิดรึเปล่าคะ? หรือในอีกกรณีคือ คุณรู้สึกอย่างไรกับคนที่ไม่ตรงต่อเวลา เบี้ยวนัด แถมยังไม่เคยบอก ไม่ได้แจ้งให้คุณรู้ล่วงหน้าเสียอีกต่างหาก มันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยใช่มั๊ยล่ะคะ? มารยาทที่ดีในเรื่องของการรักษาเวลานัดหมายเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เจ้าบ้านโดยส่วนใหญ่ต้องจัดเก็บและเตรียมพร้อมสภาพของบ้านให้เรียบร้อยพร้อมโชว์ Open House) ให้ผู้ที่สนใจจะซื้อ บางทีต้องเดินทางออกหาเรื่องออกไปข้างนอกบ้าน เพื่อที่จะให้ผู้สนใจสามารถใช้เวลาในการดูบ้าน สำรวจทุกซอกทุกมุมได้อย่างเต็มที่ คุณลองคิดดูสิคะว่าถ้าเจ้าของบ้านต้องกระเตงลูกเด็กเล็กแดงออกไปด้วย ส่วนใหญ่เค้าต้องแพลนกันเลยนะคะ แล้วถ้าบุคคลที่นัดหมายเกิด No Show ไม่บอกเหตุผล หายเงียบไปเลยซะอย่างนั้น แบบนี้ไม่ดีเลยค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็มาไกลขนาดนี้ โทรศัพท์แจ้งสถานะโดยเร็วแก่เจ้าบ้านหรือกับทางเอเจนท์ในกรณีที่คุณมีเหตุจำเป็น จะไปสาย ไปไม่ได้ ขอเลื่อนนัด...!! โทรไปบอกเค้าหน่อยเถอะนะคะ

photo credit to: www.msn.com

เคารพสิทธิ์ของเจ้าบ้าน

ในกรณีนี้คือคุณต้องเข้าใจก่อนค่ะว่า คุณจะไปดูบ้าน เพราะคุณสนใจที่จะซื้อ (สมมุติว่าเป็นเหตุผลหลัก) การที่คุณสนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไมาว่าจะเป็นในกรณีใดๆก็ตาม คุณต้องยอมรับเสียก่อนค่ะว่า คุณยังไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งนั้น บ้านก็เช่นกันค่ะ การที่คุณได้สิทธิ์เข้าไปสำรวจ เข้าไปดูเชยชมว่ามันจะเหมาะกับชีวิตของคุณหรือไม่ คุณก็ต้องเคารพในสิทธิ์และสิ่งสำคัญที่เจ้าบ้านร้องขอ หากเจ้าของบ้านแสดงความต้องการ ขอร้องเอาไว้ว่า ได้โปรดอย่าใส่รองเท้าเข้ามาในบ้าน ก็ได้โปรดอย่าใส่เลยนะคะ หรือการปล่อยให้เด็กเล็กวิ่งเล่นในระหว่างชมบ้าน ไอ้ที่ว่าวิ่งเล่นนี่ ดิฉันหมายถึง การปล่อยให้วิ่งเล่นแบบไร้ซึ่งการควบคุม อย่างนี้ ไม่ได้และไม่ดีค่ะ ดิฉันเคยอ่านบทความหนึ่ง เกี่ยวกับมารยาทของการดูบ้านเนี่ยล่ะค่ะ แล้วก็รู้สึกชอบในหนึ่งความคิดที่ว่า ให้ผู้เข้าดูบ้านลองจินตนาการเอาไว้ว่าคุณกำลังเข้าชมทำเนียบขาว (The White House) คุณควรจะปฏิบัติตนเฉกเช่นเดียวกันกับที่คุณเข้าชมบ้านของท่านประธานาธิบดีนั่นแหละค่ะ ซึ่งถ้าคุณใช้การจินตนาการเอาไว้อย่างนี้ คุณก็น่าจะรู้ว่าคุณควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร


ระวังเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์

การไปดูบ้านสักหลัง โดยส่วนใหญ่แล้วคุณจะถูกประกบตัวในช่วงระหว่างเข้าชม ด้วยเอเจนท์ของเจ้าบ้านค่ะ มีกรณีน้อยมากเลยจริงๆที่เจ้าบ้านจะคุมการโชว์บ้านด้วยตัวเอง เรื่องสำคัญที่คุณต้องรู้คือ เอเจนท์จะมีบทบาทหลักและสำคัญเอาเสียมากๆ ในการรายงานสถานการณ์ รวมถึงผู้เข้าชมบ้านคนไหนกันหนอที่สร้างความประทับใจ และเหมาะที่จะเสนอแก่เจ้าบ้าน สำคัญมากนะคะในกรณีที่มีผู้ต้องการจะซื้อบ้านหลังหนึ่งหลังใด จำนวนหลายคน แล้วที่สำคัญไปกว่านั้น หากคุณต้องการที่จะต่อรองราคา ด้วยเหตุผล ในเรื่องของความไม่สมบูรณ์แบบในบางส่วนของบ้าน คุณต้องรู้จักฉลาดพูดต่อรองสักนิดนึงค่ะ ความฉลาดในการต่อรองนั้นเป็นอย่างไร? ง่ายๆเลยค่ะ คือคุณต้องทำการบ้าน ในเรื่องการปรับปรุงบ้านสักนิดก่อนที่จะไปดูบ้าน หรือภายหลังก่อนจะเริ่มต่อรองราคา ตัวอย่างเช่น คุณเข้าไปดูบ้านหลังหนึ่งแล้วก็ชอบเลยล่ะ แต่อยากต่อราคาเลยเลือกที่จะอ้างเอาแบบข้างๆคูๆ ถึงเรื่องของสีและพรมของบ้านว่า อืม...มันเก่านะเนี่ย ลดหน่อยละกันเนอะ จะได้เอาเงิน มาเปลี่ยนสี/พรมของบ้านเสียใหม่ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการต่อรองที่ดีนะคะ ถามว่าเพราะอะไร? ก็เพราะราคาในการทาสีและเปลี่ยนพรมนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญและจะทำให้ราคาบ้านลดลงค่ะ แต่หากฉลาดต่อรอง แล้วเลือกที่จะพูดถึงเรื่อง การเปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อน หรือการปรับปรุงเรื่องระบบถ่ายเทอากาศของบ้านจะเหมาะสมกว่าค่ะ ผู้เข้าชมบ้านบางคน (คุณอาจคาดไม่ถึง) ถึงขนาดหลุด ลืมตัววิพากษ์วิจารณ์รสนิยมในการตกแต่งบ้าน ของเจ้าบ้านเลยก็มีนะคะ ไม่ดีค่ะ อย่าทำ

photo credit: www.msn.com

ปิด - ไม่ปิด ยังไงดี?

จั่วหัวข้อเอาไว้อาจจะทำให้คุณงงสักนิดนึง แต่จริงๆแล้วกำลังจะพูดถึงมารยาท ในเรื่องของการสื่อสาร และการตัดสินใจซึ่งจะเน้นหนักไปในเรื่องภายหลัง ที่เกือบจะถึง ขั้นสุดท้ายของการปิดการซื้อขายค่ะ ที่ว่าเป็นเรื่องของมารยาทในการสื่อสารก็เพราะว่า ในกรณีที่คุณ (ในฐานะผู้ซื้อ) ตกลงที่จะซื้อบ้านแล้ว กำลังอยู่ในช่วง Escrow โดยผู้ขาย (ตามข้อตกลง) ต้องจัดการซ่อมแซม ตระเตรียมบ้าน เพื่อให้พร้อมสำหรับการ Inspect ครั้นคุณจะเกิดหวาดกลัว เกิดความวิตกกังวลในช่วงตรวจสภาพบ้าน แล้วก็เกิดอยากจะมาดู มาคุม มาตรวจบ้านด้วยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ไม่ดีค่ะ คุณกำลังสร้างความลำบากทั้งทางกายและใจ ให้กับเจ้าบ้านเพราะเค้าอาจกำลังอยู่ในช่วงจัดการกับชีวิตเหมือนกัน ความวิตกกังวลไม่ได้มีน้อย ไปกว่าคุณเลย ร้ายไปกว่านั้น (คิดแล้วก็เหนื่อยแทนกับคนที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ค่ะ) คือผู้ซื้อที่ยังจะสามารถแสดงความต้องการต่อรองราคาไปอีกเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ...ฉันเพิ่งเจอนั่น เจอนี่ มันไม่สมกับราคาที่ฉันต้องเสียไปกับบ้านเอาเสียเลย... แบบนี้คุณสื่อสารไม่ดีพอ และไม่สมเหคุสมผลค่ะ การสื่อสารที่ได้ผลและมีคุณภาพที่สุดคือคิดให้ดีก่อนทำการสื่อสารค่ะ

จำไว้เลยนะคะ หากคุณสนใจที่จะซื้อบ้าน วางแผนให้ดี และเลือกที่จะสื่อสารพูดคุย อย่างชาญฉลาดค่ะ เรื่องที่ดิฉันเขียนให้คุณได้อ่านกันในสัปดาห์นี้ถือเป็นภาพรวมเท่านั้นเองนะคะ ดิฉันเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆท่าน หากคิดจะซื้อบ้าน หรือเคยได้ผ่านการซื้อ หรือขายบ้านมาแล้ว คุณคงมีเอเจนท์ที่คุณเชื่อถือ และสนิทสนมรู้ใจกัน การทำงานของเอเจนท์จะช่วยคุณได้ ในฐานะที่ปรึกษาค่ะ สำหรับทาง Gemsburg คุณสามารถติดต่อหาเราได้หากคุณต้องการปรึกษา เรื่องการปรับปรุง space ของบ้าน (Design & Spacing) และเรื่องทั่วไปในสารพันข่าวสาร และเรื่องราวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นะคะ สายตรงคือ 818.844.6538 หรือทางอีเมลก็ได้ค่ะที่ thanik@gemsburgco.com