Special Scoop



กฐินพระราชทาน และประเพณีลอยกระทง

กราบเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนมาร่วมบำเพ็ญบุญถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และประเพณีลอยกระทง ในวันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ยูเอสเอ (วัดชิโนฮิลส์ เดิม) เมืองชิโนฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้กับผมและครอบครัว โดยได้รับหนังสือสำเนากองกิจการในพระองค์ 904 ที่ พว 0005.1/6873 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2562

เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อเชิญไปทอดถวาย ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ยูเอสเอ เมืองชิโนฮิลส์ ในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2562

ความหมายของคำว่ากฐินพระราชทาน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เขียนไว้ว่า “กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือ เอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)”


การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ

- พิเศษเพราะเป็นสังฆทาน มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

- พิเศษเพราะเป็นการถวายทานตามกาล ไม่มีทั่วไป เรียกว่า “กาลทาน” ตามพระธรรมวินัยกำหนดการไว้ คือ มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียงหนึ่งเดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละครั้งเดียว และจะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ 5 รูป หากวัดใดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ถึง 5 รูป จะต้องนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ มาร่วมพิธีกรรมให้ครบ 5 รูปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ องค์สงฆ์ 5 รูป ตามพระวินัยบัญญัติดังกล่าว มี 4 รูป เป็นองค์พยาน และอีก 1 รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน ภาษาสังฆกรรมของพระเรียกว่า “ปัญจวรรค”

ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ ถ้าทอดก่อน หรือทอดหลังกำหนดนี้ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกทายิกาผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่น จะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

- พิเศษเพราะมีอานิสงส์ทั้งสองฝ่าย คือ อานิสงส์สำหรับพระภิกษุผู้รับกฐิน และอานิสงส์สำหรับผู้ถวายกฐิน

อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน มีดังนี้

1. ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย

2. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ

3. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น

4. ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่

5. ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป

6. ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ

7. เป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ทำหน้าที่สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อสืบสานให้ศาสนาพุทธแพร่หลายให้กับประชาชนตราบนานแสนนาน

8. มีส่วนสร้างอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิสงฆ์ และพัฒนาวัดพระธาตุดอยสุเทพ ยูเอสเอ รัฐแคลิฟอร์เนีย

ผมจึงขอเชิญชวนชาวกัลยาณมิตรทุกท่าน และแฟนคอลัมน์ได้มาร่วมทำบุญใหญ่กันในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2562 นะครับ


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย