Special Scoop



ไดอารี่ กลับไทยช่วงโควิด-19

ครั้งหลังสุดที่กลับไทยยังเป็นความทรงจำที่ดี เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ช่วยดูแลนักร้อง Brian Hyland,ลูกชาย Bodi Hylandและ PeggyMarch ที่ไปแสดงคอนเสิร์ตLive in Bangkokณ ศูนย์วัฒนธรรม เพลงดังของ Brianคือ Sealed With a Kiss, Gypsy Womanและเพลงดังของ Peggyคือ I Will Follow Him, I Wish I Were a Princessส่วน Bodi เป็นมือกลองที่พ่อสอนมากับมือตั้งแต่ 3 ขวบ เลยเป็นมือกลองมืออาชีพให้พ่อตั้งแต่วัยรุ่น

เป็นเวลานานหนึ่งปีแล้วที่จะได้กลับไทยอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการเดินทางกลับมาตุภูมิ ที่เรียกว่า Repatriation Flightในเดือนมกราคม 2564 โดยต้องลงทะเบียนและจองตั๋วผ่านเว็บไซต์สถานกงสุลไทย thaiconsulatela.orgใช้ข้อมูลพาสปอร์ตไทยเพื่อการกักตัว 14 วันที่ทางรัฐบาลไทยอุปการะจัดเตรียมให้(State Quarantine) เมื่อการลงทะเบียนได้รับการตอบรับ ก็จะมีเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ จองตั๋วเที่ยวเดียวโดยตรงผ่านลิงก์สายการบินที่ระบุมาให้ จึงเลือก ANA Airline $950รวมภาษีแล้ว รายละเอียดของไฟลท์ที่คอนเฟิร์มจองและจ่ายเงินแล้ว ก็ต้องส่งกลับไปในเว็บไซต์สถานกงสุล เพื่อออก Certificate of Entry (COE)เพื่อใช้เข้าประเทศไทย และก่อนออกเดินทาง 72 ชั่งโมง ไม่สามารถพบหมอที่คลินิกได้เพราะการจำกัดผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องพบหมอ เลยใช้การคุยสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับหมอว่าสุขภาพดี ไม่มีอาการของโควิด-19 ไม่มีไข้ สามารถบินได้ จึงไปรับเอกสาร Fit to Flyในวันรุ่งขึ้น

วันบิน21 มกราคม มาถึง ณ สนามบิน LAXต้องตรวจเช็คกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลที่ตั้งโต๊ะก่อนถึงเคาน์เตอร์สายการบิน เพื่อตรวจสอบรายชื่อ เอกสารทุกอย่างครบ และรับข้าวเหนียวไก่ทอดฟรี พร้อมหน้ากากอนามัย (ซึ่งตอนนี้ ทราบว่าไม่มีบริการนี้แล้ว)ถึงจะไปเข้าแถวเช็คอินเคาน์เตอร์ANA เขาเคร่งครัดเรื่องน้ำหนักมาก ต้องเอาของเกิน 2-3กก. ย้ายไปอีกกระเป๋าหนึ่งที่เบากว่า

เครื่องบินมีผู้โดยสารน้อยมากสมกับราคาที่จ่าย เพราะได้ที่นั่งทั้งแถวของตัวเองที่เอนลงนอนได้สบาย ต้องสวมใส่แมสก์ไว้ตลอดเวลาแม้ลงนอน ลืมหน้ากากพลาสติกที่คลุมทั้งหน้า ที่เป็นประโยชน์ให้ความมั่นใจเพิ่มอีกระดับ เพราะต้องอยู่ที่อากาศไม่ถ่ายเทสิบกว่าชั่วโมง ต่างคนต่างประจำที่ของตัวเอง ไม่เดินเพ่นพ่าน โดยส่วนตัวจะไม่ใช้เวลานานในห้องน้ำ เพราะเป็นห้องปิดตลอดเวลา ทุกคนมีมาตรการของตัวเอง เปลี่ยนเครื่องที่ Narita เพื่อเข้าไทย ถึงสุวรรณภูมิใกล้เที่ยงคืน มาตรการรักษาระยะห่าง การตรวจวัดไข้ แสดงเอกสารทุกอย่างที่พกมา ผ่าน ต.ม. รับกระเป๋า และเดินไปขี้นรถโค้ชที่จัดเตรียมไว้ โดยทั่วไปคนจะรู้ว่าเข้ากักตัวที่โรงแรมไหน ก็ตอนขึ้นรถนี่เอง จะไปกรุงเทพฯ หรือชลบุรี สังเกตจากผู้เคยเดินทางว่า ถ้าไฟลท์ลงกลางคืน คงจะไม่เอาเราตะลอนๆ ไป 2 ชั่วโมงเพื่อไปต่างจังหวัด จึงน่าจะส่งไปโรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนไฟลท์กลางวันก็มีสิทธิ์จะไปเข้าโรงแรมในต่างจังหวัดที่ไกลแต่ดีและใหม่หน่อย

ถึงโรงแรมเกรซ Grace Hotelในซอยนานา ใจกลางกรุงเทพฯ ในสุขุมวิทซอย 3 ก็ใกล้ตี 2 แล้ว ตรวจเอกสาร บัตรประชาชน อาหารที่แพ้ หรือไม่ทาน ก่อนเดินเข้าตัวโรงแรม เพื่อรับกุญแจห้อง ประทับใจเมื่อเห็นห้องใหญ่ มีห้องทานอาหารเป็นส่วนตัว นั่งทำงานและมองลงมาเห็นถนน มีทั้งรถและคนเดินไปมา ไม่คิดว่าจะเหงาเลย ก็ดีใจที่โชคดีได้รับความอนุเคราะห์

โชคดีที่ถูกกักตัวในห้องที่ค่อนข้างใหญ่ อยู่ชั้น 6 ในตึก 7 ชั้น ด้านหน้าโรงแรม มีหลายตึก น่าจะเป็น 500 ห้อง เช็คสต็อค มีอะไรบ้างที่โรงแรมให้ น้ำขวด 3 แพ็ค ปรอทวัดอุณหภูมิ แชมพู ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน แฟ็บ ตื่นเช้ามา เช็คในห้องอาหารมีจาน ช้อนส้อม เปิดลิ้นชักต่างๆ เห็นว่ามีถุงขยะ 5 ใบขนาดกลาง บวกลบคูณหาร เอ แล้วใบหนึ่งจะใส่ขยะ 2-3 วัน เชียวหรือ ก็เริ่มเครียดแล้ว จะโทรเบอร์ 0 โอเปอเรเตอร์เพื่อข้อซักถามต่างๆ ก็ไม่มี ความเครียดโดยไม่รู้ตัวทำให้ความดันสูง รู้เมื่อวันที่ 4 ของการกักตัว ที่จะต้องไปตรวจโควิดครั้งแรก ใครที่เคยกรอกประวัติที่สนามบินว่าต้องทานยาประจำอะไรบ้าง ก็จะต้องตรวจความดันก่อนตรวจ Swab PCRที่จมูก ถึงได้รู้ว่าความดันสูง 170/100

บ่ายนั้นจึงมีหมอพร้อมพยาบาลตามมาถึงในห้องพัก ในชุด PPE เต็มยศ มาวัดความดันให้เพื่อติดตามผล คุยกันในระยะห่างแค่ 2-3 ฟุต คงไม่ได้รังเกียจเรามาก เราคิด... แต่ มองตาคุณหมอหนุ่ม ตกใจ ตาซ้ายคุณหมอแดง ห้อเลือด เหมือนเส้นเลือดฝอยแตก และต้องมาตรวจคนไข้ ทำให้ใจไม่ดีว่าคุณหมอได้ดูแลตัวเองดีหรือเปล่าเนี่ย คุณหมอถามว่า นอกจากยาช่วยระบาย และคาลาไมน์ทาแก้ผื่นคันแล้วจะเอายานอนหลับไหม อูย! ไม่เอาค่ะคุณหมอ ไม่เคยทาน ไม่มีปัญหาการนอนค่ะ ยาทุกอย่างส่งมาที่หน้าห้องในเย็นนั้น

ทางโรงแรม มีแผนกพยาบาลประจำที่โรงแรมทุกวันเป็นรายอาทิตย์จากโรงพยาบาลรัฐต่างๆ เพื่อดูแลผู้กักตัว ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับสุขภาพ และมีคุณหมอที่กำหนดเข้าเวรมาตรวจคนไข้ เฉพาะคนที่มีปัญหา มีโรคประจำตัวต่างๆ แต่อีกแผนกคือแผนกที่จะรับรายงานอุณภูมิที่เราใช้ปรอทตรวจวัดเองใต้ลิ้น และโทรไปแจ้งรายวันทุกเช้าเย็น พอแผนกพยาบาลแจ้งมาว่าจะเอาเครื่องวัดความดันมาทิ้งไว้ให้ตรวจวัดเองก็ยินดีไม่ต้องรบกวนหมอหรือพยาบาลมาทำให้ เพราะพอหมอพยาบาลมาตรวจเสร็จ ออกไปหน้าห้อง เห็นใช้เวลาในการถอดชุด PPE5 นาที แล้วก็พับๆ เพื่อเอาไปทิ้ง

พยาบาลใส่ใจดีมาก โทรมาถามความคืบหน้า เลยต้องบอกว่าก็เครียด เครียดตั้งแต่เห็นถุงขยะที่โรงแรมจัดให้ไว้เพียงไม่กี่ใบ น่าจะมีการสื่อสารแจ้งผู้มากักตัวว่า ของทุกอย่างสั่งซื้อจากโรงแรมได้หมด อดใจไม่ได้จึงถามพยาบาลไปว่า อ้อ คุณหมอที่มาตรวจความดันให้น่ะ ตาแดงมากเหมือนเส้นเลือดฝอยแตก ทำให้กลัวว่าคุณหมออายุรเวทพร้อมดูแลตัวเองได้ไหม ถึงมาดูแลคนไข้ จึงได้คำตอบว่า เป็นหมอจากแผนกรังสี แต่มาช่วยตรวจได้แค่เป็นการตรวจเรื่องความดันโลหิตทั่วๆ ไป

หลังจากความดันเป็นปกติแต่ก็สูงนิดหน่อย เลยได้ใช้เครื่องแค่ 2 วันก็คืนไป และผลตรวจโควิดครั้งแรกเป็นลบ ผู้ใดที่เป็นบวก จะต้องย้ายออกไปกักตัวที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งมี 2 คน คนหนึ่งจากอเมริกา อีกคนจากตะวันออกกลาง มาเปลี่ยนเครื่องที่ Narita บินเข้ามาไฟลท์เดียวกัน

วันที่ 7 ของการกักตัว ได้รับโทรศัพท์จากกรมสุขภาพจิต ถามไถ่เรื่องอาการสุขภาพต่างๆ ได้รับคำถามจากเสียงผู้ชายที่คุยดีกันเองมากๆ ถามว่ามีความเครียดไหม ใหม่ๆ เครียดค่ะ ตอนนี้ไม่แล้วค่ะ คิดว่าทางโรงแรมควรมีมาตรการการสื่อสารที่ดีกว่านี้ เท่านั้นแหละค่ะ แล้วยังเครียดอยู่ไหมครับ ไม่ค่ะ ไม่แล้ว การนอนเป็นอย่างไรครับ ก็โอเค กลางคืนหลับๆ ตื่นๆ บ้าง ถ้าเพลีย ก็นอนกลางวันค่ะ เอายานอนหลับไหมครับ เอ่อ ยานอนหลับหรือคะ ไม่เคยทาน แต่... (ถ้าลองดู ก็น่าจะดี ถามกันอยู่นั่นแหละ) อ้อ ได้ค่ะ ครับจะได้หลับดีขึ้น คำถามต่อมา...(ช็อคค่ะ)คุณเคยคิดจะฆ่าตัวตายไหมครับ(ฮ่ะ)!ไม่ค่ะ (ในใจคิดว่า ไม่เคยคิดเลย หรือ...เราควรจะเริ่มคิด รึเปล่า) สอบถามไป จึงได้รู้ว่านี่เป็นบริการใหม่ ตรวจเช็คสุขภาพจิตผู้กักตัว เพราะก่อนหน้า จะมีข่าวคนกระโดดตึกฆ่าตัวตาย จากการถูกกักบริเวณจนเกิดความเครียด เย็นนั้น จึงได้รับยานอนหลับมาส่งหน้าห้อง เพียง 1 เม็ด

วันที่ 8 ของการกักตัว ได้รับแจ้งว่าขอตรวจโควิดรอบ 2 เร็วกว่าปกติ 1 วัน เพราะทำงานไม่ทัน คนล็อทใหม่มากักตัวเพิ่ม ความดันสูงปกติ และผลตรวจโควิดในวันรุ่งขึ้นก็เป็นลบNo News is good newsคือเขาไม่แจ้งก็แปลว่าเป็นลบ เพราะถ้าเป็นบวก คงรีบแจ้งและมาลากตัวไปทันที

มาวิเคราะห์ดูแล้ว โรงแรมก็เลี้ยงอาหารครบ 3 มื้อ ข้าวและกับข้าว 1 อย่างทุกมื้อ แกงเผ็ด ผัดเผ็ด ก็มาแต่เช้าไม่มีข้าวก็เป็นเส้นบ้าง ปริมาณไม่มาก แต่พออิ่มสำหรับผู้หญิง ส่วนข้าวสวยก็เหลือทุกมื้อ มีผลไม้ หรือขนมหวานสลับ 1 อย่างต่อวัน มีนมเปรี้ยวให้ตอนเช้า โดยรวมพอใช้ได้ อาหารไม่ค่อยมีผัก ไม่มีสลัด และไม่มีสลัดขาย จึงคิดว่าอาหารพวกแกงเผ็ด และกับข้าวที่เค็ม บวกการไม่ได้กินผักเพียงพอ ไม่ได้มีกิจกรรม หรือการเคลื่อนไหวมาก มีส่วนทำให้ความดันขึ้นสูง

ทางแผนกครัวโรงแรมมีขายอาหารและเครื่องดื่มตามเมนู และเมนูขนมผลไม้ในไลน์ เพราะสั่งอาหารจากข้างนอกไม่ได้เลย ก็ถือว่าเป็นรายได้ให้ทางโรงแรม ในราคา 100 กว่าบาท ชากาแฟเย็นแก้วละ 80-90 บาท ยกหูโทรสั่งได้ แต่ไม่ส่งทันที ต้องรอเป็นชั่วโมงๆหรือเป็นรอบ

เพื่อนคนแรกโทรมา ถามว่ากักตัวที่ไหน ครั้งแรกได้คุยไปคร่าวๆ ว่าอยู่โรงแรมนานา พออีกหลายวันมีโอกาสได้คุยกันอีก จึงต้องบอกเธอว่า อยู่โรงแรมเกรซ Graceซอยนานา เธออุทานว่า ดิสเกรซ Disgrace เราบอกว่า Grace ค่ะ เธอสวนมาอีกว่า Disgrace(แปลว่า น่าอับอายขายหน้า)แล้วหัวเราะ จึงได้ถามกลับไปว่าหัวเราะเรื่องอะไรหรือ เพื่อนรุ่นพี่นี้ เป็นผู้ดีเก่าชาวเหนือ เป็นลูกทูตในสมัยกระโน้น เล่าเรื่องให้ฟังว่า ชื่อโรงแรมนี้กลับมาหลอนเธออีกครั้งซึ่งเล่าว่าสมัยปลายๆ ปี 70’sปี 1978-1979 ยุคนั้น โรงแรมนี้โด่งดังมาก เพราะมี coffee shopด้านล่าง เป็นสถานที่นัดพบ มีทหารอเมริกัน และยุคหลังๆ ก็ชาวตะวันออกกลาง มานัดเจอสาว เหตุเพราะเพื่อนคนนี้เป็นวัยรุ่นกลับจากนอกในสมัยนั้น ใส่กางเกงขาสั้น ผ่านๆ มาแถวโรงแรม และได้ถูกทักทายไปอย่างเสียๆ หายๆ เลยต้องฮากันไป เพราะเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักกันดี เราก็ได้แต่ฟังตำนาน

เพื่อนผู้ใหญ่ชายสูงวัยอีกคนโทรมา ตกใจว่ามาเมืองไทยหรือ กักตัวหรือ ไม่น่าเชื่อเลย เสียงทางไลน์แจ๋วเลย ใช่ค่ะ วันๆ ไม่ว่างเลย โทรทัศน์ยังไม่เคยได้เปิดเลย 7 วันแล้ว เสียงเพื่อนถามมาว่า ใช้ รีโมท ไม่เป็นเหรอ (ขำในใจ) อ๋อไม่มีเวลาดูเลยค่ะ มีงานทำทุกวันเลย จนเช็คเอ๊าท์ออกจากโรงแรม ก็ไม่มีโอกาสได้แตะรีโมทโทรทัศน์เลย

หากถามว่าถ้าอยากได้อะไรที่ลืมเตรียมไป ก็ต้องตอบว่า มีดปอกผลไม้ ที่ตัดเล็บ ถุงมือไว้ซักผ้า ซองชากาแฟที่บังเอิญโรงแรมนี้ไม่มีให้ เครื่องวัดความดันพกติดตัว ยาหอม ยาเขียว ยาระบาย ผงอาหารเสริมผักและผลไม้ แต่ก็ไม่ลืมที่ได้ซื้อรองเท้าแตะไว้ใส่ในห้อง ส่วนเพื่อนหรือญาติเอาของมาฝากให้ที่โรงแรมได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำอาหาร เครื่องดื่ม หรือยา ของทุกอย่างที่ขาดก็หาซื้อเพิ่มจากโรงแรมได้ด้วยเงินสด เงินบาทเท่านั้น เพราะไม่สะดวกซื้อผ่านแอ๊ปของร้านเซเว่นข้างล่างโรงแรม ที่จะต้องมีบัญชีไทย พร้อมเพย์ จ่ายล่วงหน้า แต่ละโรงแรมมีของใช้ที่เตรียมไว้ให้แตกต่างกันไป ข้อสำคัญคืออ่านเอกสารทุกอย่างที่วางไว้บนโต๊ะ และสแกนคิวอาร์โคดทุกอย่างที่เขาแนะนำ จะได้เข้ากลุมไลน์รับข่าวสาร รายการอาหารประจำวัน

ครบ 15 วันกักตัว เช้าวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ทุกคนก็แยกย้าย บ้านใครอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็นั่งแท็กซี่ไปเองหากไม่มีญาติมารับ ถ้าท่านใดอยู่ต่างจังหวัด ก็ติดต่อแจ้งไว้ล่วงหน้า เพราะมีบริการส่งฟรีถึงตัวเมืองจังหวัด ข้อมูล ณ ขณะนั้น


สถานที่ประทับใจต่างๆ ที่ได้ไป

เดือนกุมภาพันธ์ มีโอกาสไปหนองคาย-อุดรฯ 2 วันกับคุณสามี ที่ไปเรื่องงานราชการ งานจบมีผู้ช่วยขับรถพาไปหลายวัด วัดศรีชมภูองค์ตื้อ วัดโพธิ์ชัย ที่ประทับใจที่สุด คือวัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย กราบองค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีสกายวอล์คเล็กๆ ที่เป็นแลนด์มาร์คเหนือแม่น้ำโขง เป็นทางเดินพื้นกระจกไม่ได้ใหญ่มากส่วนบริเวณรอบวัด ร่มรื่นด้วยพรรณไม้มากมาย แต่ไม่พบเห็นผู้มาเที่ยวชมวัดในช่วงกลางเดือน 2 นี้เลย ผลพวงจากการล็อคดาวน์พิษโควิดระบาดรอบสองในไทย สถานการณ์ช่วงนั้นแม้ดีขึ้น ก็ไม่มีผู้คนมาวัด อีกทั้งวัดก็ปิดเร็วขึ้นด้วย เจอแต่แม่ชีจากทางเหนือมาปฏิบัติธรรม และอีกวัดที่ประทับใจมาก คือวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี กราบองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน(พระธรรมวิสุทธิมงคล)และหลวงพ่อสุดใจ ทันตมโน พระอุปัฏฐากเมื่อครั้งหลวงตายังมีชีวิตอยู่ ที่ผู้เขียนได้รวบรวมเขียนประวัติและการมรณภาพของหลวงพ่อสุดใจ เมื่อปลายพฤษภาคมปีที่แล้ว ได้เดินชมในศาลา เห็นอัฐิธาติพระอริยสงฆ์มากมายเป็นบุญตาเหลือเกินได้ชมรอบกุฏิขององค์หลวงตา ลานเดินจงกรมขององค์ท่านปีติ และรู้สึกซาบซึ้งยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเที่ยววัดป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ได้แวะเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กราบนมัสการพระเมธีธรรมาจารย์ เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราฃรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

วันที่ 1 เมษายน ก็ได้เข้ากราบสรีระสังขาร เจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)เบื้องหน้าโกศมณฑป ณ อาคารบุญญาวาส วัดธรรมมงคล เขตพระโขนง และกราบองค์พระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นามว่า พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล


เตรียมตัวกลับบ้าน

อยู่ไทยจนเพลิน ร่วม 3 เดือน คิดว่าได้เวลาต้องกลับอเมริกาแล้ว อย่างแรก คือการหาตั๋วเครื่องบิน โทรไปบริษัทที่เคยเห็นชื่อในเว็บไซต์กงสุลเพื่อเช็คราคา อยู่ราว 22,000 บาท สำหรับ Japan Airline เลยทำการเช็คเว็บต่างๆ ทั้งไทย และเทศ ว่าจะจ่ายเงินบาทด้วยบัตรเครดิตไทยคุ้ม หรือจ่ายเป็นเงิน US หากใช้บัตรอเมริกันที่ไม่เสีย 3%จึงได้ตัดสินใจเข้าเว็บ Cheaptickets.co.thได้ส่วนลดพิเศษใช้มาสเตอร์การ์ด เป็นเงินไทย 19,451 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจจะซื้อโดยตรงจากสายการบินก็ดี เพื่อความสบายใจในกรณีต้องเลื่อนตั๋ว ฉุกเฉิน หรือผลโควิดเป็นบวกที่อาจจะเดินทางไม่ได้ ต้องเปลี่ยนตั๋วเป็นต้น

กฎของทาง CDCคือจะต้องตรวจโควิดแบบ Swab PCR ก่อนเดินทาง 3 วัน จะไม่ใช้คำว่า 72 ชั่วโมง เพราะบางครั้งนับได้ 70 กว่าชั่วโมง แต่มันยังเป็น 3 วันอยู่ เช่นเราเดินทางวันพฤหัสฯ เย็นหรือกลางคืน ก็จะต้องเริ่มตรวจเย็นวันจันทร์ หากต้องนับ 72 ชม. แต่อนุโลมการใช้ 3 วัน เพราะคุณไปตรวจเช้าวันจันทร์ เพื่อรับผลวันอังคารได้ เป็นต้น ซึ่งทางสายการบินจะขอเอกสารที่เป็นชื่อตรงกับพาสปอร์ต ระบุว่าผลโควิดเป็นลบ ถึงจะขึ้นเครื่องได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เอกสาร fit to fly จากหมอ

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน มาถึง ต้องไปตรวจโควิด จากการบ้านที่ทำมา จึงรีบออกจากบ้าน 6 โมงกว่า นั่งรถไฟฟ้า บีทีเอส 2 ต่อ ต่อที่ 2 คือสายสีเขียว สุขุมวิท ไปถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาติ เดิน 5 นาทีถึงสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง บางเขน เพราะที่นี่จะคิดค่าตรวจถูกที่สุด 1,500 บาท พร้อมใบรับรองแพทย์ หากไม่มีวิกฤตจะรับบัตรคิว รอตรวจได้ ปรากฏว่าวันนั้นเป็นเช้าวันแรกทำการ ผู้คนกลับจากหยุดสงกรานต์ เกิดการระบาดรอบ 3 เข้าแล้ว คนชุลมุนวุ่นวาย อีกฟากเป็นแผนกตรวจโควิดฟรีที่คนมาเข้าแถวหลายร้อยคนร่วมพันคน รับบัตรคิวกันไปแล้ว แต่แผนกเสียเงินเพื่อตรวจโควิดฝั่งนี้อลหม่าน ไม่มีการแจกบัตรคิว

จึงถามเจ้าหน้าที่ว่าจะมารับบัตรคิวเสียเงินตรวจโควิดเพื่อกลับต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ชุลมุนกัน ไม่มีคำตอบให้ เพราะวันนั้น เป็นวันที่บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ นัดหมายตามAppointmentมีคิวล่วงหน้าแล้วให้พนักงานบุคลากรมาตรวจหาเชื้อโควิดกัน เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ เริ่มขานชื่อกันตั้งแต่ 8.00 น. เราจึงโทรไปเบอร์มือถือสถาบัน ไม่มีคนรับ โทรเบอร์ออฟฟิศ ดังเป็น 10 ครั้งถึงมีคนรับสายแจ้งเขาว่าอยู่ที่นี่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจกบัตรคิว จะรอนานไหม เพราะต้องการเสียเงินตรวจเพื่อกลับต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตอบมาว่าที่นี่มีแต่คนป่วย มีแต่เชื้อโรค ทางที่ดีให้ไปตรวจโรงพยาบาลดีที่สุด เลยถามว่าไปที่ไหนได้คะ ได้คำตอบว่ารามาธิบดี ไม่เป็นไร เราเตรียมแผน 2 ไว้แล้ว คิดว่าไปดีกว่า รอเป็นชั่วโมงจะได้บัตรคิวไหมก็ไม่รู้

นั่งรถไฟฟ้าลงไปทางคูคต อีก 4 สถานี ถึงป้ายโรงพยาบาลภูมิพล เพื่อมาที่นี่ จากการสอบถามหลายวันก่อนหน้า ให้มาเข้าคิว 7.30 น. แต่เริ่มงาน 8.00 น. ใจตุ้มๆ ต่ำๆ 9.40 น.แล้ว จะได้บัตรคิวไหมหนอเลยเวลามา 2 ชม.แล้ว เพราะคิดว่าบัตรคิวอาจหมด เพราะเขาแจกประมาณ 200 ใบ มาถึงในส่วนด้านนอกชั้นล่างโรงพยาบาล เข้าคิวคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะถามแต่ละคนว่ามีอาการอะไร ซักถามข้อมูลถ้าพบปะกับผู้ติดเชื้อ มีอาการ ก็จะได้บัตรคิว แค่สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อ หรือยังไม่ครบ 5 วันหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และไม่มีอาการ ก็ไม่ให้ตรวจ ไม่ให้บัตรคิว เพราะเปลืองน้ำยาที่ตรวจไปก็จะยังไม่พบเชื้อ อย่างน้อย 5 วันจึงจะแสดงอาการ ไม่ต้องมาตรวจแล้วตรวจอีก ต้องคัดกรองเป็นรายคน เพราะข่าวออกก่อนหน้านั้นว่าทางการสูญเสียงบ 50 ล้านบาทจากการตรวจทุกคนโดยไม่คัดกรอง และบางโรงพยาบาลก็มีข่าวน้ำยาหมดก็มี

พอถึงคิวเรา ก็แจ้งไปว่าไม่มีอาการ แต่จะมาตรวจเสียเงิน 2,250 บาท รวมใบรับรองแพทย์ เลยได้บัตรคิว 63 ตะลึงมากว่าทำไมบัตรคิวยังเหลืออีกเยอะ สำหรับคนไทยที่มาตรวจแบบไม่เสียเงินด้วย เป็นคิวเดียวกัน คิวตรวจฟรีมีเอกสารหลายหน้าให้กรอก อาการต่างๆ ไทม์ไลน์ต่างๆ ในหลายวันที่ผ่านมา จึงเห็นหน้าตาต่างคร่ำเครียด กรอกข้อมูลต่างๆ แต่คิวเสียเงินก็สะดวก รอคิวแค่ 2-3 คนเท่านั้นเอง ไม่ต้องกรอกอะไรเลย แค่ให้บัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อทำประวัติในคอมพิวเตอร์ ให้ชื่อตามพาสปอร์ตอเมริกัน ขอให้เขาพิมพ์ชื่อนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้สำแดงแก่สายการบินและเมื่อมาถึงอเมริกา ตรวจวัดความดันอีกโต๊ะหนี่ง วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไปอีกโต๊ะเพื่อจ่ายเงินแล้วนำใบเสร็จไปเบิกชุดตรวจ เข้าห้องปฏิบัติการเล็กๆ แคบๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจ ยื่นแขน 2 ข้าง เหนือศอก ออกจากกระจก

เรามีหน้าที่ทำตามคำสั่งผ่านกระจกแก้ว เช่น กดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมถุงมือ ใส่ถุงมือยาวให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 แขน หยิบ อุปกรณ์Swabให้เจ้าหน้าที่ เงยหน้าให้เจ้าหน้าที่Swabจมูก เก็บใส่ขวดปิดฝา ถอดถุงมือให้เจ้าหน้าที่ ถอดถุงมือตัวเราเอง ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมืออีกครั้ง หยิบชุดตรวจออกไปส่งโต๊ะข้างนอกได้ รวมใช้เวลาทั้งหมด 1 ชม. คือเข้าคิวคัดกรองรับบัตรครึ่งชั่วโมงอยู่แผนกทำบัตรและตรวจอีกครึ่งชั่วโมง และทุกอย่างก็จบด้วยดี ไม่ต้องไปเสียค่าตรวจในระดับแพงๆ แบบปูพรม แต่นัดเวลาได้

วันรุ่งขึ้นช่วงเย็นจึงไปขอรับผลเป็นเอกสารกระดาษ 1 ใบ ตรวจชื่อนามสกุลถูกต้อง และขอfit to flyใบแพทย์ได้ โดยเอาผลตรวจ ไปตึกแผนกผู้ป่วยนอก ไม่ได้อยู่ในตัวโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ทำจดหมายรับรองให้ ไม่ต้องพบแพทย์ แต่รอ 20 นาที ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้ แค่อยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน อย่างไร และก็ให้ฟรี สองสถานที่ตรวจโควิดที่กล่าวมาคิดราคาตรวจคนไทยและคนต่างชาติเท่ากัน ไม่คิดเพิ่มค่าใบแพทย์fit to fly ส่วนบางโรงพยาบาลอื่นๆ คิดค่าตรวจแพงกว่านี้ 3,000 ถึง 6,000 บาท และบางที่คิดคนต่างชาติแพงขึ้น และหากต้องการใบแพทย์ ก็คิดเพิ่มอีก 500 บาท

ออกเดินทางจากไทยวันพฤหัสฯ ที่ 22 เมษายน บินกลับถึง LAXโดยสวัสดิภาพ ไม่มีเจ้าหน้าที่สนใจตรวจเอกสารผลโควิดเลย แต่ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ ด่านสุดท้ายที่ปกติจะยื่นใบสีขาวใบสำแดงศุลกากร(Customs Declaration) ว่ามีของต้องสำแดงไหม ก็ยกเลิกไม่ใช้แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ด่านสุดท้ายถามว่า เดินทางมาจากไหน และตะโกนเสียงดังให้เจ้าหน้าที่สแกนกระเป๋าได้ยิน ก่อนที่กระเป๋าทุกใบใหญ่เล็กต้องผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ทั้งหมด ควรเป็นเช่นนี้มานานแล้ว


หวังว่าเรื่องเล่า คงเป็นเกร็ดสาระมาแชร์กัน ขำขันคลายเครียดบ้าง จากไดอารี่ของผู้เขียน

ลีนา ดีสมเลิศ