Special Scoop
ข้อสังเกตจากการไปร่วมเดินรณรงค์หาเสียงผู้ว่า กทม. กับ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และทีมงานกลุ่มพลังกรุงเทพ

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555 ย่านตลาดเทเวศน์ เวิ้งนาครเกษม และย่านสะพานเหล็ก

1. ใช้คนติดตามจำนวนมากเกินไป และการแบ่งหน้าที่ยังไม่ชัดเจนว่า ใครควรจะทำหน้าที่ อะไร และเมื่อไร และยังขาดการส่ง"ทีมล่วงหน้า" เข้าไปในชุมชนก่อนที่ผู้สมัครจะลงพื้นที่จริง

2. ทีมล่วงหน้าดังที่เสนอนั้น ต้องมีการทำการบ้านล่วงหน้าเกี่ยวกับชุมชนนั้นๆ เช่น เข้าไปเก็บข้อมูล ศึกษาปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาที่ผู้บริหารกทม. ชุดเดิมได้ทำไปแล้วหรือที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อนำโจทย์ดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและได้ผลมานำเสนอกับประชาชนต่อไป การลงพื้นที่นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้สะท้อนสภาพปัญหาที่รอการแก้ไขรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาท้องถิ่นกับผู้สมัคร เพื่อผู้สมัครจะได้นำไปเป็นข้อมูลเพื่อสังเคราะห์เป็นนโยบายเสริมหรือแผนปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุดต่อไป

3. ทีมล่วงหน้าต้องเข้าไปพบกับบรรดาผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ บางคนอาจอึดอัดในการให้ข้อมูลเพราะมีเรื่องฝักฝ่ายทางการเมืองในพื้นที่ เราก็ต้องเสนอช่องทางที่สะดวกใจในการให้ข้อมูลแก่คนเหล่านี้ เช่น เปิดโทรศัพท์สายตรงมายังที่ทำการกลุ่มพลังกรุงเทพ เพื่อทำการบันทึกข้อมูลไว้ โดยฝ่ายที่ให้ข้อมูลไม่ต้องเปิดเผยตนเอง หรือ อาจใช้ช่องทางสื่อสังคมเข้าเสริมด้วยก็ได้ หรือ หากในพื้นที่นั้น มีผู้หลักผู้ใหญ่หรือนักธุรกิจ ผู้เป็นที่ยอมรับนับถือในชุมชน ทีมล่วงหน้าก็ควรเข้าหาเพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันดี เป็นการกรุยทางไปสู่การเปิดพื้นที่หรือเวทีให้ผู้สมัครของเราได้เข้าไปพบปะและชี้แจงนโยบายให้สมาชิกในชุมชนได้คุ้นเคยและรู้จักผู้สมัครได้ดียิ่งขึ้นในภายหลัง เป็นต้น

4. ทีมล่วงหน้ายังต้องนำสโลแกนหาเสียงที่ว่า ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน ประหยัด อันเป็นคุณลักษณะเด่นของผู้สมัคร มาทำการบ้านต่อไปว่า ผู้สมัครจะสามารถนำคุณลักษณะดังกล่าวมาใช้ในการทำหน้าที่ผู้ว่ากทม. ได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างไรบ้าง เพราะชาวบ้านอาจตั้งคำถามนี้กับผู้สมัครได้ รวมทั้งชาวบ้านอาจคิดเปรียบเทียบถึงการทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่า กทม. กับการทำหน้าที่ ผบ.ตร.ในอดีตของผู้สมัครว่ามันมีความแตกต่างกันพอสมควร ผู้สมัครจะให้ความมั่นใจแก่ประชาชนในการทำหน้าที่ใหม่นี้ให้ประสบความสำเร็จได้แค่ไหน เพียงไร

5. สำหรับทีมผู้ติดตามนั้น ควรจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของบรรดาผู้สนับสนุนไว้ แล้วเชิญชวนให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมอาสาสมัคร พร้อมทั้งจดชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือขอนามบัตรจากผู้ประกอบการธุรกิจและห้างร้านทั้งหลายที่ผู้สมัครไปเยี่ยมเยียนไว้ เพื่อเอาไว้โทรศัพท์ติดตามเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นแกนนำในการระดมเสียงสนับสนุน ย้ำเตือนให้เครือข่ายของพวกเขาอย่าพลาดการไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครในวันเลือกตั้งเนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยที่มักเป็นประเภทปากบอกว่าสนับสนุน แต่เอาเข้าจริงวันเลือกตั้งกลับนอนหลับทับสิทธิ หรืออยู่นอกเขตกทม. ไม่ไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเสียอย่างนั้น โดยทีมงานอาสาสมัครนั้น ควรมีข้อความ "อาสาสมัคร" แสดงไว้ที่เครื่องแต่งกายอย่างชัดเจน เพื่อชูภาพลักษณ์ว่า ผู้สมัครนั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากให้การสนับสนุนและมาช่วยรณรงค์หาเสียงด้วยแรงศรัทธาและอุดมการณ์อย่างแท้จริง มิได้เป็นการจ้างหรือกะเกณฑ์มา

6. หน้าที่อันสำคัญอีกประการหนึ่งของทีมงานรณรงค์หาเสียงทุกคน คือ เมื่อได้ข้อมูลวันเลือกตั้งที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ รวมทั้ง ทราบเบอร์ผู้สมัครอย่างเป็นทางการแล้ว จะต้องเผยแพร่ข้อมูลนี้ไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องกระตุ้นเตือนให้ผู้มีสิทธิฯ ไปตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งของตนแต่เนิ่นๆ และเตรียมบัตรประชาชนหรือใบแทนไว้ให้พร้อมก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การใช้สิทธิไม่ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสื่อสารข้อมูลนี้ไปยังอาสาสมัครประจำชุมชนในทุกเขตเลือกตั้งอย่างถูกต้องและฉับไว

7. ต้องแน่ใจว่า ข้อมูลหมายเลขผู้สมัครอย่างเป็นทางการ ข้อมูลวันเลือกตั้งและเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปรากฏอยู่ในสื่อรณรงค์หาเสียงทุกประเภทและทุกช่องทางอย่างถูกต้องและครบถ้วน

8. แบนเนอร์รณรงค์หาเสียง หรือ ป้ายแนะนำตัวผู้สมัคร จะต้องนำไปติดให้ครบถ้วนทั้ง 50 เขตเลือกตั้งก่อนถึงวันเลือกตั้ง

9. ทีมงานจะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคม ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น endorsement แก่ผู้สมัคร หรือเป็นการให้การรับรองผู้สมัครอย่างเป็นทางการจากบุคคลหรือองค์กรเหล่านั้น อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่มีแนวทางหรืออุดมการณ์สอดคล้องกันในการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยอาจนำข้อมูลเหล่านี้ไปแสดงไว้ในสื่อรณรงค์ต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ของผูสมัคร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและยังเป็นการสร้างแนวร่วมการสนับสนุนที่ดีอีกด้วย เช่น มูลนิธิปวีณา หงสกุล, มูลนิธิ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง, มูลนิธิเมาไม่ขับ, องค์กรพิทักษ์สิทธิผู้พิการ ฯลฯ

10. มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสำคัญของชาว กทม. เช่น ปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกหนักหรือน้ำหลาก ต้องมีแผนการประสานงานล่วงหน้ากับรัฐบาลแต่เนิ่นๆ มีการหารือร่วมกัน มีโครงการลอกคูคลองอย่างต่อเนื่องและทันกาล ไม่ให้เกิดภาพความแห่งความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ แทนที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ชื่นใจ

11. ให้สัญญาประชาคมว่าจะจัดการปัญหาเรื้อรังหมักหมมใน กทม. ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น จัดระเบียบบาทวิถีไม่ให้ถูกยึดครองโดยพ่อค้าแม่ค้า หรือร้านรวงต่างๆ แก้ปัญหามอเตอร์ไซค์หรือยวดยานอื่นมาใช้เป็นทางวิ่งหรือฝ่าฝืนจอดรถ มาเฟียที่จอดรถ ส่งเสริมการใช้จักรยานและทำทางวิ่งสำหรับจักรยานให้เป็นจริง ขจัดปัญหาสุนัขจรจัด หรือแก้ปัญหาขอทานเร่ร่อนหรือคนจรจัดให้หมดไปจากกทม. เป็นต้น

12. ต้องมีแผนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนับแต่วันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งให้ชัดเจนว่า พื้นที่ใดที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก หรือมีฐานเสียงของพรรคการเมืองคู่แข่ง ก็ต้องมีการเข้าพื้นที่ไปพบปะประชาชนบ่อยเป็นพิเศษเพื่อแสวงหาเสียงสนับสนุนให้มากขึ้น


คิด ฉัตรประภาชัย