Special Scoop



อย่าตกเป็นเหยื่อของผู้หวังดี (แต่อาจ) ประสงค์ร้าย!

ผู้หวังดีประสงค์ร้าย คือคนที่มาทำเป็นหวังดีต่อเรา แต่ลึก ๆ แล้วนั้น ต้องการทำให้เราเกิดความเสียหาย เดือดร้อน ในภายหลัง

ผมได้รับโทรศัพท์จากคนไทยหลายรายเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์ ที่เราคนไทยด้วยกันเอาเปรียบกันเอง ทั้งที่จงใจหรือจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม จะด้วยการที่ผู้ซื้อยินยอมกับคนขาย เพราะความอยากที่จะขับรถใหม่ บ้างก็ต้องการรถเพื่อการใช้ชีวิตที่นี่ที่จะต้องหารถขับไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ แต่ทว่าไม่มีเครดิต เนื่องจากอยู่แบบวีซ่าหมดอายุเพราะมาแบบทัวริสต์ หรือบางกรณีที่อยู่อย่างถูกต้องเป็นพลเมืองที่นี่แล้ว แต่เครดิตเสียด้วยประการต่าง ๆ เช่น เคยล้มละลายมา เคยบิดพริ้วไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต หรือเคยเซ็นรับประกันเงินกู้ให้กับคนรู้จัก (co-sign) เป็นต้น

บุคคลหรือผู้ซื้อเหล่านี้ที่อยู่ในสถานการณ์บีบบังคับนั้น กลับกลายมาเป็นเหยื่อของนายทุนคนไทย จึงทำให้เป็นที่มาของการซื้อ-ขายต่อเงินดาวน์รถที่ได้ลงให้กับทางดีลเลอร์ไป คนขายบางรายยอมยกรถของตัวเองให้คนอื่น (ผู้ซื้อ) ไปผ่อนต่อฟรี (ฟรีเงินดาวน์/ค่างวดที่จ่ายไปแล้ว) จากสถาบันเงินกู้ โดยทางแบงค์ไม่ได้รับรู้เรื่องด้วยเลย คนขายบางรายที่หัวเซ็งลี้ (หัวพ่อค้า) จะรับเงินผ่อนค่างวดจากคนซื้อ แล้วผ่อนต่อกับแบงค์ตัวเองเสียอีก เช่น ถ้าคนขายกำลังผ่อนแบงค์อยู่เดือนละ $300 แต่คนขายหัวใส ให้คนซื้อมาผ่อนกับเขาในจำนวนที่สูงกว่า เช่น $500 โดยที่คนขายได้กำไรเบาะ ๆ ทุกเดือน โดยจะออกใบกู้ยืมผูกมัดคนซื้ออีกฉบับหนึ่งก็มี (เป็นการโอนลอย ๆ ไว้ เพื่ออำพราง)

ด้วยคนซื้อที่อยากจะได้รถ บวกกับคนขายที่อยากจะขายรถ จึงเกิดเป็นขบวนการตลาดนัดย่อย ซื้อ-ขาย-ผ่อนต่อ รถ ที่ผิดกฎหมายstrong> โดยมีการอนุญาตให้ผ่อนเงินดาวน์อีกด้วย สรุปคือ คนซื้อรายนี้ต้องผ่อนทั้งเงินดาวน์ (ที่เจ้าของเดิม หรือคนขายในขณะนี้ ได้ลงไว้ตอนซื้อรถ) บวกค่างวดในจำนวนที่ถูกบวกเพิ่มจากค่างวดจริง บวกค่างวดประกันภัยรถอีก โดยไม่มีการแจ้งให้กองทะเบียนยานพาหนะ DMV (Department of Motor Vehicle) รับทราบ เพราะทุกครั้งที่มีการซื้อขายรถยนต์ ทางหน่วยงานรัฐ BOE (State Board of Equalization) จะเรียกเก็บภาษีการขายได้อีก 8-10% คือ Sales and Use Tax ตามอัตราซิปโคด(zip code) ที่อยู่ของเจ้าของรถ หรือในกรณีนี้คือผู้ซื้อรถนั่นเอง ปัญหาต่าง ๆ ของการทำผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีประเภทนี้มีหลากหลาย เช่น บางรายจะแจ้งราคาของรถที่ซื้อมาถูกกว่าราคาที่ซื้อจริง ก็มีให้เห็นกันบ่อย

ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนคือ ผู้ขายบอกว่าผู้ซื้อไม่ได้โอนชื่อเป็นเจ้าของใหม่ ทำให้เจ้าของเดิมยังได้รับใบต่อทะเบียนรถ บวกค่าปรับมาหลายปี ผู้ขายก็ผิดที่ละเลยการแจ้งขายให้กับ DMV อีกรายก็ทำนองเดียวกัน แต่กำลังผ่อนกับผู้ขายอยู่ และผู้ซื้อดันไปให้เพื่อนยืมรถขับ แล้วไปเกิดอุบัติเหตุ แล้วใครจะรับผิดชอบ อีกรายผู้ซื้อผ่อนกับผู้ขายได้หลายเดือนแล้ว แต่ผู้ขายไม่ได้ส่งค่างวดให้กับธนาคาร จนตอนนี้รถถูกธนาคารยึดไปแล้ว ผู้ซื้อก็เดือดร้อน และตามหาผู้ขายไม่เจอ

วันนี้ก็ขอสรุปกฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่พบบ่อย และการทำความเข้าใจในการซื้อขายรถ มาเล่าสู่กันฟัง

ในกรณีที่เราซื้อรถจากบริษัทขายรถหรือดีลเลอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก DMV เรียกว่า California-Licensed Car Dealers นั้น ผู้บริโภค (คนซื้อ) มีสิทธิต่าง ๆ มากพอสมควร ดีลเลอร์จะต้องทำตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2006 เรียกว่า “Car Buyer’s Bill of Rights” ดังนี้

1) ดีลเลอร์จะต้องบอกกับคนซื้อว่า เขาได้ไปตรวจสอบเครดิตของคุณจากบริษัทไหน แจ้งผลออกมาเป็นอย่างไรตามคะแนนที่ได้รับ ทุกคนสามารถขอดูประวัติเครดิตของตัวเองได้ฟรีปีละหนึ่งครั้ง หรือแจ้งให้บริษัททราบในกรณีที่เราโดนขโมยบัตรเครดิตหรือไอดี เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นระบุว่าเราตกเป็นเหยื่อของ Identity Theft ชึ่งบริษัทตรวจเช็คเครดิตใหญ่ ๆ ในอเมริกามี 3 บริษัท คือ

1.1 EQUIFAX www.equifax.com ขอประวัติเครดิตได้ที่ 1-800-685-1111 กรณีตกเป็นเหยื่อถูกขโมยบัตรหรือไอดี แจ้งที่ ID (FRAUD) 1-800-525-6285

1.2 EXPERIAN www.experian.com ขอดูประวัติเครดิตได้ที่ 1-888-397-3742 กรณีตกเป็นเหยื่อถูกขโมยบัตรหรือไอดี แจ้งที่ 1-888-397-3742

1.3 TRANS UNION www.tuc.com ขอดูประวัติเครดิตได้ที่ 1-800-916-8800 กรณีตกเป็นเหยื่อถูกขโมยบัตรหรือไอดี แจ้งที่ 1-800-680-7278

2) ถ้าคนซื้อต้องการที่จะให้ดีลเลอร์หาแหล่งเงินกู้ให้จากธนาคารต่าง ๆ กฎหมายระบุว่า ดีลเลอร์สามารถบวกดอกเบี้ยเพิ่มจากอัตราที่ทางธนาคารหรือแหล่งเงินกู้คิดกับดีลเลอร์ เพื่อบวกเพิ่มกับคนซื้อได้ดังนี้

2.1 ถ้าเงินกู้ที่มีระยะการชำระเงินเกินกว่า 60 เดือน หรือ 5 ปี สามารถบวกดอกเบี้ยเพิ่มได้อีก 2%

2.2 ถ้าเงินกู้มีระยะการชำระเงิน 60 เดือน หรือน้อยกว่า สามารถบวกดอกเบี้ยเพิ่มได้อีก 2.5%

สรุป เราควรหาแหล่งเงินกู้เอง จะได้ไม่ต้องเสียค่าดอกเบี้ยเพิ่มให้กับดีลเลอร์โดยไม่จำเป็น ดีลเลอร์เขาอนุญาตให้เราไปหาแหล่งเงินกู้จากที่อื่นได้ โดยให้บอกกับดีลเลอร์ว่า เราจะเอาเงินส่วนต่างที่เหลือหลังจากหักเงินดาวน์แล้ว มาใช้คืนภายใน 7-10 วัน

3) ดีลเลอร์จะต้องระบุอย่างชัดเจนในสัญญาซื้อขายว่า ดอกเบี้ยจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผ่อนเดือนละเท่าไร ระยะเวลาที่ต้องผ่อน หมดผ่อนงวดเมื่อไหร่ รวมยอดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไร เป็นต้น

สำหรับการซื้อรถใช้แล้ว หรือรถมือสอง-สาม นั้น ถ้าซื้อจากดีลเลอร์ที่มีไลเซ่นส์กับทาง DMV เขาจะต้องทำตามกฎหมายดังนี้

1) ห้ามดีลเลอร์ใช้คำว่า เป็นรถ “Certified” นอกจากรถคันนั้นจะได้รับการตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียด และมีรายงานผลการตรวจให้ผู้ซื้อดูได้ โดยรถต้องไม่มีปัญหาที่บริษัทรถยนต์เรียกคืน… หรือการเรียกคืนรถที่มีระบบไม่ปลอดภัยจากกฎหมายของรัฐบาลกลาง (Federal Safety Board)… หรือรถใหม่หรือเก่าที่ผู้ซื้อคืนได้ เพราะมีปัญหาต่อเนื่องหรือซ่อมไม่ได้ (โดยได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย “California Lemon Law”)

2) ห้ามดีลเลอร์นำรถที่ถูกชน หรือมีการปรับเปลี่ยนไมล์ (Mileage) มาขายเป็นรถ Certified

3) ห้ามดีลเลอร์ขายรถเก่าขายรถ Salvage โดยไม่เปิดเผยสถานภาพจริงของรถ โดยทั่ว ๆ ไปรถที่ถูกทางบริษัทอินชัวรันซ์ขายทอดเป็น “Salvage” เนื่องจากความเสียหายและราคาค่าซ่อมรถมากกว่าราคาซื้อขายในตลาด เรียกว่า Total Loss นั้น บริษัทอินชัวรันซ์จึงขายทอดตลาดในราคาถูก ๆ แก่อู่ซ่อมรถ โดยอู่พวกนี้ก็จะไปหาซื้อรถประเภทนี้มาซ่อม ย้อมแมวขายให้กับคนซื้อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยคนซื้อนึกไม่ถืงว่า ทำไมรถแค่หนึ่งหรือสองปีนั้น มีราคาถูกกว่าปกติ นึกว่าเป็นการลดราคาอย่างกระหน่ำ ที่ไหนได้พอจ่ายเงินไปแล้ว อีกประมาณ 10 วันก็ได้ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ (Pink Slip) จึงรู้ว่าถูกหลอกเสียแล้ว เพราะใน Pink Slip จะมีตัวพิมพ์พาดไว้กลางเอกสารว่า “Salvage” (แปลได้ว่า “ซากที่ถูกกู้กลับมาใช้งานใหม่”) รถที่อาจจะเสี่ยงกับปัญหาความปลอดภัยหรือเครื่องยนต์นั้น ไม่มีใครอยากได้สักเท่าไร ดังนั้นราคารถก็อาจจะถูกเหมือนเศษเหล็ก ความปลอดภัยในการขับขี่ก็ไม่มีการรับรอง ฉะนั้น ควรต้องตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อน โดยขอดูประวัติรถจาก Car Fax ก่อนก็ดี ที่ www.carfax.com โดยให้ไอดีของรถที่จะซื้อ เสียเงินประมาณ $30-40 เขาจะให้รายละเอียดทุกอย่างของรถนั้น ดังนั้น หากเจอรถที่ระบุว่าเป็น “Salvage” ก็ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรซื้อโดยเด็ดขาด

4) ถ้าผู้ซื้อซื้อรถส่วนตัวมือสองจากดีลเลอร์ที่มีราคาต่ำกว่า $40,000 ผู้ซื้อมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาได้ภายใน 2 วัน จากวันที่ทำการซื้อขาย (Two-day Contract Cancellation Option Agreement) แต่ผู้ซื้อต้องซื้อประกันสำหรับการยกเลิกนี้ เป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $75-$399 ขึ้นอยู่กับราคารถ ถ้าไม่แน่ใจว่ารถจะดีอย่างที่คิดหรือจากการโฆษณาที่เย้ายวน ก็สามารถซื้อประกันยกเลิกสัญญานี้ได้ จะได้นำรถไปคืนได้ แต่ผู้ซื้อก็อย่าหลงดีใจว่าได้รถไปขับฟรี ๆ สองวัน เพราะทางดีลเลอร์มีสิทธิ์หักค่าธรรมเนียมการคืนรถ (Restocking Fee) จากผู้ซื้อได้ตามกฎหมายเช่นกัน ตั้งแต่ $175-$500 ซึ่งผู้ซื้อสามารถเอาเงินประกันการยกเลิกมาหักจากยอดเงินนี้ได้ และจ่ายส่วนต่าง หมายเหตุ: คุณอาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วรถที่ราคาเกิน $40,000 ผู้ซื้อไม่ได้รับการคุ้มครองในข้อนี้เลยหรือ ใช่ครับ ไม่ได้ เพราะถือว่าพวกคุณเป็นคนมีเงิน และ/หรือ น่าจะมีการศึกษาสูงพอที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ในกรณีซื้อหรือขายรถยนต์ระหว่างบุคคลทั่วไป (Private Party) ควรกรอกและส่ง Notice of Transfer and Release of Liability (NRL) ให้ DMV ทันที ใบนี้สำคัญ ซึ่งระบุว่าคนขายไม่มีความรับผิดชอบในกรณีที่รถหรือผู้ซื้อเกิดอุบัติเหตุ หรือกรณีคนซื้อนำรถไปใช้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้ขับปล้นจี้ชาวบ้าน หรือมีตั๋วจอดรถผิด คนขายก็ไม่ต้องรับผิดชอบหากมีการฟ้องร้องในภายหลัง


หลักเกณฑ์ทั่วไป คือ

1) โทรนัด DMV เพื่อโอนชื่อ หรือถ้าเป็นสมาชิกของ AAA ก็มีบริการฟรีซึ่งทำหน้าที่แทน DMV ฉะนั้น ควรไปโอนชื่อกันให้เรียบร้อย กรณีที่ผู้ซื้อต้องไปจ่ายเงินที่คนขายยังค้างชำระกับแบงค์นั้น ซึ่งแบงค์ยังเป็นผู้เก็บใบการแสดงการเป็นเจ้าของรถอยู่ หรือที่เรียกกันว่า Pink Slip จนกว่าจะชำระเงินกู้ครบ ทางธนาคารถึงจะเซ็นใบ Pink Slip ให้ผู้ซื้อได้

2) รถที่มีอายุน้อยกว่า 4 ปี อาจจะได้รับการยกเว้นการตรวจควันดำ (Smog Certificate) คนขายต้องไปทำให้คนซื้อ (ใบ Smog สามารถใช้ได้ภายใน 90 วันจากวันที่ตรวจผ่าน)

3) คนซื้อต้องจ่ายค่าภาษี (Use Tax) ซึ่งมีอัตราเดียวกับ Sales Tax ในเขตที่เขาอาศัยอยู่ โดยจ่ายผ่านที่ DMV ถ้าไม่มีการโอนภายใน 30 วัน DMV จะเก็บค่าปรับบวกดอกเบี้ยด้วย

4) คนซื้อต้องแจ้ง DMV ภายใน 10 วัน จากวันที่มีการซื้อขาย ส่วนคนขายต้องแจ้ง DMV ภายใน 5 วัน หลังจากการขายรถให้กับเจ้าของใหม่ โดยกรอกแบบฟอร์ม “Notice of Transfer and Release of Liability” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. รายละเอียดของรถ

- ทะเบียนรถ (License Plate Number)

- เลขไอดีรถ 5 ตัวสุดท้าย (Last Five Digits of The Vehicle Identification Number)

- ยี่ห้อรถ

- ปีของรถ

2. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ

3. ตัวเลขไมล์ของรถในวันขาย

4. วันที่ซื้อขาย

5. ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย

ซึ่งสามารถทำ Online ได้ที่ www.dmv.ca.gov

สรุป สิ่งที่ควรทำในการซื้อ-ขายรถจากบุคคลทั่วไป

- ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นรถ Salvage หรือเปล่า

- ตรวจสอบประวัติของรถจาก CARFAX

- ผู้ซื้อควรจ่ายค่าภาษีโอนตามราคาจริงที่ซื้อมา

- ผู้ซื้อควรหาแหล่งเงินกู้เอง หรือหาคนค้ำประกัน co-sign

- ผู้ขายควรแจ้งการขาย/โอนรถภายใน 5 วัน

- ผู้ซื้อควรแจ้งการซื้อ/โอนรถภายใน 10 วัน

สิ่งที่ไม่ควรทำในการซื้อ-ขายรถจากบุคคลทั่วไป

- ผู้ซื้อสมรู้ร่วมคิดกับคนขายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

- ผู้ซื้อและผู้ขายสมยอมแจ้งราคารถที่ต่ำกว่าราคาซื้อขาย เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษีให้น้อยลง

- ผู้ซื้อยอมเซ็นให้มีการโอนลอย

- ผู้ซื้อและผู้ขายเซ็นสัญญาเงินกู้กันเอง หรือผ่อนดาวน์ ผ่อนต่อ โดยไม่มีการแจ้ง DMV หรือธนาคารที่เป็นเจ้าของ Pink Slip

- ผู้ซื้อตกเป็นเหยื่อให้ผู้ขายหลอก หรือเอาเปรียบ

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง และแน่นอนที่สุดคือ การทำอะไรให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่แรก ก็จะไม่สร้างปัญหาและเรื่องปวดหัวตามมาทีหลัง


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย