Special Scoop
The Whys, The Whats and The Hows ? ทำไม, อะไร และเป็นอย่างไรกับธุรกิจอาหารไทยต่อจากนี้ไป?

เป็นคำถามที่มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐแทบทุกสาขาอาชีพตลอดจนลูกจ้างได้สอบถามกันมามากในระยะนี้ และส่งต่อมาให้สภาหอการค้าไทยให้ยื่นมือเข้ามารักษาผลประโยชน์ของธุรกิจไทย ช่วยเหลือเรียกร้องสิทธิว่าทำไมรัฐบาลกลางสหรัฐจึงเข้าตรวจสอบว่าด้วยกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดของร้านอาหารไทย และอาจจะมีการสนับสนุนยุยง (Incentive) ให้ลูกจ้างบอกเวลาการทำงานที่เกินกว่าความเป็นจริงเพื่อให้เรียกร้องเงินค่าจ้างกับนายจ้างย้อนหลังถึง 2-3 ปีได้ กลับยังมีการประพฤติปฏิบัติกับเจ้าของร้านจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจสอบบางคนที่อาจจะทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้คำพูด กิริยาที่ไม่สุภาพกับเจ้าของร้านทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกัน ทำราวกับว่าเขาเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรง จากการร้องเรียนของเจ้าของร้านอาหารไทยหลาย ๆ แห่งที่โดนการเข้าตรวจสอบมายังหอการค้าไทย

ซึ่งผมได้สอบถามและสภาหอการค้าได้เข้าร่วมประชุมกับผู้อำนวยการเขตลอสแองเจลิสของกระทรวงแรงงานสหรัฐ คือ นาง Kimchi Bui ร่วมกับท่านกงสุลใหญ่ เจษฎา กตเวทิน ซึ่งท่านก็รับฟัง และอธิบายให้พวกเราฟังถึงจุดประสงค์ของการเข้าตรวจสอบ ซึ่งหลาย ๆ สื่อก็ได้เสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมคิดว่าธุรกิจไทย โดยเฉพาะร้านอาหารไทย เป็นธุรกิจอันดับหนึ่งของเรา เป็นทูตของประเทศไทยในการทำให้คนต่างชาติรู้จักคนไทย รู้จักวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของเรา จนทำให้คนต่างชาติอยากจะไปเที่ยวเมืองไทยอยู่ทุก ๆ วันตลอดปี 365 วัน โดยทางรัฐบาลไทยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาให้พวกเขาเลย แต่กลับได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมมากมาย จากสินค้าส่วนประกอบในการทำอาหาร ทำให้คนงานไทยมีงานทำ มีเงินส่งกลับประเทศไทยให้กับญาติพี่น้องเป็นจำนวนเงินมหาศาลทุก ๆ ปี

ทางสภาหอการค้าเมื่อครั้งได้กลับไปเยี่ยมเยียนประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รายงานให้ท่านทราบถึงปัญหาแรงงานไทยที่ขาดแคลน ปัญหากฎหมายแรงงาน ซึ่งท่านรัฐมนตรียังสอบถามท่านปลัดกระทรวงว่า เรามีทูตแรงงานในสหรัฐหรือเปล่า ปลัดฯบอกว่าไม่มี แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทำไม และทำไมอีก 13 ประเทศที่มีคนไทย แรงงานไทยอยู่น้อยกว่าในสหรัฐกลับมี ซึ่งทางหอการค้าได้ย้ำถึงจุดประสงค์เดิมโดยได้แจ้งผ่านทางกงสุลใหญ่ ดำรง ใคร่ครวญ สมัยยังดำรงตำแหน่งอยู่ให้ช่วยสนับสนุน ว่าเราจำเป็นที่ต้องมีทูตแรงงานมาประสานงานกับเรา มาช่วยธุรกิจไทย คนงานไทย อย่างน้อยจะได้ลดกระแสความแรงที่ทางรัฐบาลสหรัฐจะปฎิบัติตรวจสอบแบบเหวี่ยงแหแบบที่เกิดขึ้นนี้ โดยไม่สนใจความรู้สึก และการร่วมมือช่วยเหลือให้พวกเราปฏิบัติตามกฎหมายอย่างอะลุ่มอล่วย (Letter of the Law VS Sprit of the Law)


สรุปว่าประเด็นที่เราต้องรับรู้ คือ

ในเรื่องกฎหมายแรงงานขั้นต่ำในรัฐแคลิฟอร์เนียคือ $8.00/ต่อชั่วโมง (รัฐบาลกลางจะคิด $7.25/ชั่วโมง) แต่เราต้องทำตามกฎหมายของรัฐ ฉะนั้น การที่เราให้คนงานแบบเหมาจ่ายต่อวัน เช่น คนครัววันละ 100 เหรียญ ต่อ 10 ชั่วโมง นั้น เขาจะคิดว่าเราจ่าย $10.00 ต่อชั่วโมง


$10 x 8 ช.ม. = $ 80.00
2 ช.ม.ล่วงเวลา $15 x 2 ช.ม. = $ 30.00 (เท่าครึ่ง $15/ช.ม.)
เจ้าของร้านต้องจ่าย = $ 110.00

ฉะนั้น ร้านนี้จ่ายน้อยไปวันละ 10 เหรียญ ทำกี่วันต่อปีคูณเข้าไป ถ้าทำ 2 ปี ก็จะต้องจ่าย และถ้าไม่ได้ให้เข้าพักทานอาหารก็ต้องบวกอีก 1 ชั่วโมง ที่ต้องจ่ายด้วย ถ้าไม่ให้คนงานหยุดพัก 10 นาที ทุก 4 ชั่วโมง ก็โดนไปอีก 1 ชั่วโมง

แต่ถ้าเรามีสัญญาที่บอกกับคนงานว่า เขาได้ชั่วโมงละ 8.00/ชั่วโมง ถึงแม้ว่าเราจะให้เขาวันละ 100 ต่อ 10 ชั่วโมง เราก็ยังไม่ผิดตามตารางคิดแบบสังเขป ดังนี้


$8 x 8 ช.ม. = $ 64.00
2 ช.ม. ล่วงเวลา $12 x 2 ช.ม. = $ 24.00
ต้องจ่ายจริง = $ 88.00

ต้องเข้าใจว่าลูกจ้างทำงานวันละเกิน 4 ชั่วโมง เขาต้องได้หยุดพัก 10 นาที (นายเจ้าจ่าย) ถ้าทำเกิน 5 ชั่วโมง ต้องให้เขาหยุดพักทานอาหาร 30 นาที (นายจ้างไม่ต้องจ่าย) แต่ห้ามไปใช้เขาทำอะไรทั้งนั้น

ทุก ๆ ร้านจะต้องมีคู่มือลูกจ้าง (Employee Handbook) ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดการหยุด การลา การร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ เช่น การละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) การเหยียดผิว (Discrimination) และอื่น ๆ อย่างละเอียด ซึ่งทางสภาหอการค้าฯกำลังดำเนินงานให้กับทุก ๆ ร้านให้มีคู่มือนี้จะได้ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในกรณีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

ผมขอนำความเห็นของหอการค้าฯเรื่องทูตแรงงานมาให้ท่านได้รับทราบ และผมขอย้ำว่า สภาหอการค้าไทยฯมีความต้องการเข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้อบรมธุรกิจไทย ให้ทำตามกฎหมายต่าง ๆ ของสหรัฐ เพื่อให้ธุรกิจไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป มาเป็นสมาชิกกับเราเถอะครับ ไม่ต้องไปสู้กับเขาคนเดียวให้เหนื่อยเปล่า ๆ รวมกันเราอยู่ต่างคนต่างอยู่มีแต่จะเจ๊ากับเจ๊งแน่นอน

เอาวลีฝรั่งที่บอกว่า…. ซึ่งผมคิดว่ามันใช้กับพวกเราได้นะครับ

“Just because you have always done something one way, does not mean it makes sense to do it that way now!!”


สภาหอการค้าไทยฯ ดำเนินการตามเจตนารมณ์เดิม ในการเสนอ และผลักดันให้กระทรวงแรงงาน จัดตั้ง ผู้แทน ที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์กับกฏหมายแรงงานของสหรัฐฯ ให้มาประจำ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


1.ปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงาน(ส.น.ร) ในต่างประเทศ อยู่ 13 แห่ง คือ ริยาด อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน ไทเป เกาสง และมาเลเซีย จากการศึกษาวิเคราะห์ถึงกิจกรรมต่างๆ ทำให้รู้ว่าตัวแทนของ สนร มีหน้าที่และกิจกรรมมากมาย ที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยในสหรัฐฯไทยได้ เช่น เมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม 2555 สนร มาเลเซียจัดโครงการส่งเสริมตลาดแรงงานไทยในมาเลเซีย สาขาผู้ประกอบอาหารไทย และพนักงานนวดไทย เราอยากเห็นโครงการแบบนี้ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในลอสแองเจลิสบ้าง

1.1 ส.น.ร. สามารถฝึกอบรมแรงงานไทยให้เข้าใจถึงกฏหมายแรงงานท้องถิ่น ให้คำแนะนำ สิทธิและหน้าทื่ของลูกจ้างและนายจ้าง ดังตัวอย่างจาก ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ. กรุงเทลอาวีฟ ที่ได้ออกเยื่อมคนงานไทยที่ MOSHAV BROSH ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทลอาวีฟ ประกอบกิจกรรมปลูกมันฝรั่ง มีคนงานไทย 6 คน จากการตรวจสอบ พบว่าสภาพความเป็นอยู่ไม่เหมาะสม

1.2 หน้าที่ของ ส.น.ร. อีกอย่างหนึ่งคือ การตรวจเยื่ยม แรงงานไทย แนะนำและรับฟังความเดือดร้อน หาทางแก้ใข เป็นคนเจรจากับนายจ้าง ก่อนที่ลูกจ้างจะเอาเรื่องไปฟ้องร้องผ่านกระบวนการของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น

1.3 ส.น.ร. จะหาโอกาสเข้าพบผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ทั้งของไทย และ ของคนท้องถิ่น เพื่อหาข้อมูลและความต้องการของแรงงานไทย เพื่อนำไปสู่การขยายตลาดแรงงานไทยในอนาคต

1.4 ส.น.ร. จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกจ้างและนายจ้างที่มีแรงงานไทยประจำอยู่ตลอดจน การสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ให้ทราบถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทย เสนอแก้ใขเพิ่มเติมกฏหมาย หรือกฏระเบียบ ที่เป็นอุปสรรค ในการว่าจ้างแรงงานไทย และจะเสนอรัฐบาลไทย เกี่ยวกับ ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนในบางสาขาอาชีพ เช่น พ่อ หรือ แม่ครัว คนนวดแผนโบราณ โดยเป็นตัวกลางเสนอให้รัฐบาลไทย ขอเพิ่มโควต้าชั่วคราว ของคนที่มีความรู้ ความสามารถ ให้ได้เข้ามาทำงานในประเทศสหรัฐฯมากขื้น แกัไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

1.5 ส.น.ร. จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาของลูกจ้างและนายจ้าง ของไทยที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้นายจ้างไทย ต้องปิดกิจการไปโดยเพราะความไม่รู้กับกฏหมายแรงงานท้องถิ่น และถูกเจ้าหน้าทีของรัฐบาลปรับลงโทษอย่างไม่ปราณี และในบางรายถึงกับถูกดำเนินคดือาญาในข้อหาที่เป็นคดีร้ายแรง เช่นหาว่าเป็นการค้ามนุษย์ เป็นผลให้แรงงานไทยต้องตกงานไปด้วยในที่สุด ส.น.ร. จะทำให้แรงงานไทย มีที่พึ่งพา ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยกันหาทางออกให้แรงงานไทย ที่มีปัญหากับนายจ้าง ก่อนทื่จะไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลับจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับแรงงานไทย และนายจ้าง ให้เขารู้ว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่มีสำนักงานในต่างประเทศอี่นๆถึง 13 แห่ง

1.6 ส.น.ร. จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสถานกงสุลไทยในสหรัฐ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทย โดยเฉพาะปัญหาการถูกหลอกลวง การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอัครทูตแรงงาน ทื่จะมาจะเป็นผู้ที่มีความจัดเจนกับความรู้ด้านกฏหมายแรงงานในสหรัฐฯโดยตรงและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรือองค์กรอื่นๆ

1.7 สภาหอการค้า สามารทที่จะทำงานกับอัครทูตแรงงานโดยตรงในกรณีที่มีปัญหาระหว่างนายจ้าง และ แรงงานไทย แนะนำอบรมวิชาชีพต่างๆ ที่ขาดแคลน ให้กับแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ

1.8 ส.น.ร ต้องช่วยเหลือแรงงานไทยโดยไม่คำนืงถึงสถานภาพของวีซ่าว่ามาอยู่ประเภทอะไร ถ้าทางกระทรวงแรงงานสามารถทำตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทางสภาหอการค้าไทยฯ มีความเห็นที่จะสนับสนุนการจัดตั้ง ส.น.ร. ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสถานกงสุลใหญ่ จะคิดทบทวน และสนับสนุนด้วย แรงงานไทยในสหรัฐ เป็นแรงงานที่ใหญ่ที่สุด ที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การมี ส.น.ร. เพื่อดูแล แรงงานไทย และสนับสนุนกิจกรรมด้านอื่นๆ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มีประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อแรงงานไทย ในปัจจุบัน และ อนาคฅ อย่างแน่นอน


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย