Special Scoop



จิตอาสา… หนทางอยู่ร่วมกันในสังคม

ปัจจุบันสังคมธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย อันเกี่ยวเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการแข่งขันสูง

เจ้าของธุรกิจไทยบางส่วนยังเป็นคนรุ่นบุกเบิก (First Generation) ที่ยังไม่สันทัดทางภาษา และบ้างก็ไม่พยายามที่จะศึกษาเทคโนโลยีแบบใหม่ ๆ และไม่มีความรู้ในการพัฒนาเชิงรุกในการทำธุรกิจ (Innovative Driven Strategies) ฉะนั้นพวกเราที่พอมีความรู้ ความสามารถ และพอมีเวลาที่จะเอื้ออำนวย ควรช่วยกันออกมาเพื่ออาสาในการช่วยเหลือนักธุรกิจเหล่านี้ ได้เรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง แก้ไข ส่งเสริมให้ธุรกิจดีขึ้น หรือชักจูงลูกหลานให้สืบสาน ต่อยอดธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณปู่ย่า ตายายต่อไป

ผมขอสนับสนุนโครงการสนับสนุนธุรกิจคนไทยในไทยทาวน์ เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีที่เรียกว่า “20 Year Thai Town Anniversary Passport” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากท่านกงสุลใหญ่แอลเอท่าน มังกร ประทุมแก้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในไทยทาวน์โดยมีรางวัลมากมายทั้งตั๋วเครื่องบินไปกลับ แอลเอ กรุงเทพ สำหรับลูกค้าที่มาอุดหนุนร้านคนไทยกว่า 45 แห่ง เป็นกำลังใจกับนายกสภาไทยทาวน์ คุณ ตัน พัฒนะและทีมงานที่ขยันเดินสาย ชักชวนร้านค้าให้เข้าร่วมในโครงการนี้ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 October to 30 November 2019 ช่วยกันมาอุดหนุนและเชิญชาวต่างชาติมารู้จักไทยทาวน์และประเทศไทยกันมาก ๆ นะครับ

การสร้างจิตสำนึกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวม จึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาจากเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของสังคมนั้น ยากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ เพราะฉะนั้นเราทุกคนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ที่อยู่ในสังคมทั้งหมด ต้องให้ความร่วมมือ โดย ออกมาจากกระดอง หรือโซนความสบายของตัวเอง (Comfort Zone) ที่อยู่อย่างสุขกาย สุขใจ ประสบผลสำเร็จในชีวิตการงาน การค้ากันแล้ว บ้างกลัวออกมาให้เปลืองตัวทำไม เพราะมีสิทธิ์ถูกวิพากวิจารณ์ ถูกด่า จากคนบางพวกตามสุภาษิตที่ว่า “มือไม่พาย ยังเอาเท้าราน้ำ” ถ้าคิดแบบนี้ชุมชนเราจะดีขึ้นได้อย่างไร ออกมาเถอะครับ มาแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน เกื้อหนุนกัน เพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น และมีคนไทยที่มีคุณภาพ ชุมชนไทยจึงจะมีประสิทธิภาพโดยรวม

ชุมชนไหนจะเข้มแข็งได้ ก็เพราะคนของเขาเข้มแข็ง มีศักยภาพ มีความรู้ มีความสามัคคี มีน้ำใจ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมมาก ๆ ยอมเสียสละได้ทุกเมื่อ และผมเชื่อแน่ว่าการทำงานเป็นอาสาสมัครนั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดและแก้ปัญหาของสังคมไทยได้ดี สร้างคนให้เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นและสังคมโดยรวม พร้อมที่จะอาสา โดยสละแรงกาย แรงใจ เวลา หรือทรัพย์สินเงินทอง เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม จึงเป็นที่มาของบทความของผมในวันนี้

อาสาสมัคร (Volunteer) ถือเป็นหัวใจขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non Profit Organization) และองค์กรต่าง ๆ เพราะหากไม่มีพวกเขาแล้วไซร้ องค์กรก็คงขาดพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม โดยอาสาสมัครทุกคนในทุกองค์กรมีเป้าหมายเดียวกัน คือการเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ ด้วยจิตอาสา เพื่อต้องการให้สังคมของเขาพัฒนาได้ดีขึ้น ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะหลัง เกือบสิบปีมานี้ เราจะได้ยินแต่คำว่า “จิตอาสา” (Volunteer Spirit) เสมอ แทนคำว่า “อาสาสมัคร” แต่บางท่านอาจไม่รู้ว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ผมจึงอาสาแชร์ข้อมูลที่ได้ค้นคว้ามา

อาสาสมัคร (Volunteer) หมายถึง ผู้ที่สมัครใจ และอาสาเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ และทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน องค์กร และสังคม โดยสมัครใจ เพื่อการดูแล ป้องกัน แก้ปัญหา เพื่อพัฒนาสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งอื่นใด ผลตอบแทนที่อาสาสมัครได้รับ คือ ความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และสังคมโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การอาสาเข้ามาทำงานในสมาคม องค์กรต่าง ๆ การอาสามาเป็นนายก เป็นคณะกรรมการ หรือผู้สนับสนุนในหน้าที่ต่าง ๆ ที่ตนถนัด เป็นต้น

จิตอาสา (Volunteer Spirit/Mind) หมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจ พร้อมจะเสียสละเวลา ให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือ ลงแรง ร่วมใจ ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคม ช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม ยกตัวอย่างเช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ การแยกขยะ แม้แต่การประหยัดน้ำปะปาหรือไฟฟ้าที่เป็นของส่วนรวม โดยใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า หรือบางคนที่ลุกขึ้นมาทำความดีกันคนละนิด หรือใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มี เพื่อช่วยงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนหรือสังคมโดยรวม

อีกความหมายที่ผมชอบ จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยให้ความหมายจิตอาสาว่า คือการรู้จักเอาใจใส่ เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด รับผิดชอบ เน้นความเรียบร้อย ประหยัด

สรุป จิตอาสา หรือ จิตสำนึกสาธารณะ เป็นการตระหนักรู้ตัว หรือเป็นจิตส่วนที่รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน เพื่ออะไร เป็นอย่างไรขณะที่ตื่นอยู่นั่นเอง เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ค้วยการสละเวลา แรง และ/หรือ สมอง เข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา ‘จิตวิญญาณ’ ของเราด้วย

ฉะนั้น อาสาสมัคร ไม่ว่าด้วยแรงจูงใจใด ๆ ในช่วงเริ่มต้น แต่หากขาดซึ่งความรักในสิ่งที่ทำด้วย “จิตอาสา” ในเวลาต่อมา… ผลงานที่ออกมาก็เป็นเพียงสิ่งที่เราทำสนุก ๆ เพื่อฆ่าเวลาที่ไม่รู้จะทำอะไรเท่านั้น ไม่มีคุณค่าใดเพื่อสร้างจิตวิญญาณและพัฒนาจิตสำนึกเพื่อสังคม

สังคมไทยในประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ซึ่งมีคนไทยอยู่ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน แต่ทำไมอาสาสมัครและจิตอาสาของเรามีน้อยเหลือเกิน แบบที่ทราบกันว่า คนไทยเป็นคนเก่งมาก แต่คนที่จะกล้าหาญออกมาอาสาช่วยเหลือสังคมนั้นน้อยมาก เราจึงเห็นแต่คนหน้าเดิม ๆ ที่ออกมาเป็นอาสาสมัคร/จิตอาสา ซึ่งบางครั้งอาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครด้วยความเกรงใจ ถูกขอใช้ชื่อเอาไปใส่ บางคนจึงมีชื่อติดอยู่ในสมาคมต่าง ๆ หลายสมาคม บางครั้งก็สงสัยว่า แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะเอาเวลาที่ไหนไปช่วยสมาคมได้จริง ๆ

จึงขอสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อรณรงค์ส่งเสริม “อาสาสมัคร ด้วยจิตอาสา” หรือ ‘อุดมการณ์ของอาสาสมัคร” เพื่อให้สังคมไทยมีจิตสำนึกในการออกมาแบบจิตอาสา ช่วยเหลือคนในสังคมของเรามากขึ้น ทุกคนต่างมีฝีมือ มีความสามารถเฉพาะตัว ที่สามารถนำออกมาแชร์แบ่งปัน ช่วยเหลือส่วนรวมได้ ผลตอบแทนของอาสาสมัคร คือ ได้รับความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ส่วนของจิตอาสา คือ การที่มีส่วนจากการให้ ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา เพราะจิตอาสานั้น จะมุ่งเน้นในการให้มากกว่าการรับ ช่วยให้สังคมน่าอยู่ เป็นสังคมที่มีคุณภาพที่ทุกคนสามารถอยู่รวมกันได้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

คุณลักษณะที่ดีของอาสาสมัคร

1. มีความประพฤติที่ซื่อตรง มีความคิด เป็นอิสระในการเลือกที่จะอาสาจะทำหรือไม่ทำตามความสามารถ ประสบการณ์ และความรู้หรือมีพรสวรรค์

2. มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อสังคม รวมทั้งการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และส่วนรวม

3. ไม่หวังรางวัล หรือผลตอบแทนเป็นเงินทอง และไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ การงานที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วตามหน้าที่

4. ต้องมีความรักความปรารถนาที่จะให้ และมีจิตใจที่จะทำความดี เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงการเสียสละเวลา โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ

พฤติกรรมหลักของอาสาสมัคร หมายถึงการที่บุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยสมัครใจและไม่หวังผลตอบแทน

1. ช่วยเหลือผู้อื่นโดยเข้าร่วมกิจกรรมบริการชุมชน ได้แก่การเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ผู้เดือดร้อน เมื่อมีโอกาส

2. ยอมเสียสละโดยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เสียสละเงิน เวลาเพื่อผู้อื่นและสังคม

3. มุ่งมั่นพัฒนาใฝ่หาความรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและเผยแพร่แก่ผู้อื่น และช่วยรณรงค์ให้ผู้อื่นเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครหรือจิตอาสาด้วยกัน

พฤติกรรมหลักของจิตอาสา/จิตสำนึกสาธารณะ หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่มาจากใจบริสุทธิ์ เริ่มจากการคิดดี ทำดี เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ จากการที่เรามีจิตอาสามาก ๆ

1. งดเว้นการกระทำที่จะส่งผลทำให้เกิดความชำรุดเสียหายของทรัพย์สินส่วนรวม

2. มีส่วนร่วมดูแล และรักษาทรัพย์สินส่วนรวม

3. การเคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ทรัพย์สินส่วนรวม

4. ใช้ชีวิตแบบ “มีแต่ให้” มากกว่า “เอาแต่ได้”

5. คำนึงถึงสาธารณะมากกว่าความเป็นส่วนตัว ทำความดีเพราะเห็นคุณค่าของความดี

ทุกคนควรมีส่วนร่วม เผื่อแผ่ ดูแลสังคมไทย ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ร่วมกัน ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ทำดีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่เพียงแต่รอดูว่าใครจะรับผิดชอบเรื่องอะไร แต่ควรต้องออกมามีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยกัน การจะเป็นจิตอาสา ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่เราต้องมีจิตใจเป็น “จิตอาสา” ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เพียงเราแต่ละคนคิดและทำความดีกันคนละนิดเพื่อสังคม แล้วสังคมไทยเราน่าจะงดงามขึ้นอีกไม่น้อย

ขออนุญาตนำคำสอนของท่าน ว. วชิรเมธี ที่ว่า

อย่า... เป็นนักจับผิด

อย่า... มัวแต่คิดริษยา

อย่า... เสียเวลากับความหลัง

อย่า... พังเพราะไม่รู้พอ


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย