Special Scoop



คุณอาจหนีกฎหมายได้ … แต่ ไม่มีใครหนีกฎแห่งกรรมได้ !

ข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจของชาวไทย… เมื่ออดีต พระเณรคำ หรือ นายวิระพล สุขผล (Wirapol Sukphol หรือ Phra Vimuttiyarn) อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ 5 ข้อหาในคดีอาญาร้ายแรง (Felony) จากประเทศไทย โดย Department of Special Investigation (D.S.I.) ได้แก่

1. ฉ้อโกง 2. กระทำชำเราผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี 3. ฉ้อโกงประชาชน 4. ความผิดฐานฟอกเงิน และ 5. ความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์พ.ศ.2550

ซึ่งขณะนี้ถูกจับได้โดยหน่วยงานของ Homeland Security Investigations ( H.S.I.) รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 หลังหลบหนีคดีมานานกว่า 3 ปี ได้พักอาศัยที่เมือง เลค เอลสินอร์ Lake Elsinore, Riverside County รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของนครลอสแอนเจลิสประมาณ 79 ไมล์ (126 กม) และกำลังรอการตัดสินของศาลรัฐบาลกลาง (Federal Court)ในเมืองริเวอร์ไซด์ ว่าจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่

ผมได้รับการสอบถามจากหลายท่านเกี่ยวกับกฎหมายของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ว่ามีคดีอะไรที่เข้าข่าย มีกฎระเบียบที่ทางการยึดถือปฏิบัติอย่างไร และมีการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีหลายคดีที่ผู้ต้องหายังลอยนวลอยู่ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ

ถึงแม้ว่าตำรวจท้องที่ เชอริฟ หรือ ซิตี้โปลิส จะไม่ได้รับรู้ หรือรับรายงานถึงรายละเอียดต่างๆ มากนัก เพราะส่วนใหญ่ทางตำรวจที่มีหน้าที่จัดการในเรื่องนี้ คือ U.S. Marshals, F.B.I., D.E.A., หรือ H.S.I. ( I.C.E.) เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ติดต่อระหว่างประเทศ ส่วนในทางประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ส.น.ง. ตำรวจแห่งชาติ ผ่านทางกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ส.น.ง. อัยการสูงสุด ส.น.ง. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองปราบปราม และ D.S.I. เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของกฎหมายฉบับนี้โดยสังเขป…

ประเทศไทยนั้น เรามีพระราชบัญญัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 (2008) ซึ่งรวบรวมต่อจากฉบับเดิมในปี พ.ศ. 2472 (1929) ปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญา (Extradition Treaty) การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 14 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิจิ เบลเยี่ยม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ลาว บังคลาเทศ และกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีสนธิสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องคดีอาญาอื่นๆ เรียกว่า Treaty on Mutual Assistance in Criminal Matters กับประเทศต่างๆ อีก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ โปแลนด์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย และ เบลเยี่ยม แต่ถ้าประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญา ก็จะถือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทน (Reciprocity)

โดยทั่วไป หลักการของการยื่นคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี คือ ความผิดของผู้ร้ายต้องเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง (Felony) ที่สามารถลงโทษได้ทั้งในประเทศที่ร้องขอ และประเทศที่รับคำร้องขอด้วย (Double Criminality)

2. ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษแล้วในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน สรุปว่า จะต้องไม่พิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลเดียวกัน ในความผิดที่กระทำในครั้งเดียวกันเป็นซ้ำสอง (Double Jeopardy)

3. ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเนื่องมาจากการขัดแย้งทางการเมืองเป็นต้นเหตุ

สำหรับข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทางสหรัฐฯ ทำกับประเทศไทยนั้นก็มีลักษณะคล้ายกันตามข้อ 1-3 แต่มีเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีทางทหาร (The offense is not exclusively military in nature) คำร้องในการขอให้จับผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ประเทศผู้ร้องขอต้องรับรองหมายจับพร้อมรายละเอียดของที่มาของการตั้งข้อหา (Probable Cause) ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมสู่กระบวนการพิจารณาคดีหรือเปล่า มีคำรับรองถึงการตัดสินของศาลประกอบการร้องขอหรือเปล่า คดีต้องไม่หมดอายุความ เป็นต้น

ในกรณีที่ต้องการให้ประเทศที่ถูกร้องขอให้ควบคุมตัวผู้ร้ายข้ามแดนทันทีนั้น ก็สามารถทำได้ (Provisional Arrest) แต่ประเทศที่ร้องขอต้องยื่นหลักฐาน เอกสารประกอบภายใน 30 วันหลังจากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้ มิฉะนั้น ศาลก็สามารถมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ร้ายดังกล่าวได้

ดังนั้น ต้องเข้าใจว่าสนธิสัญญาเป็นข้อสัญญาที่ตกลงทำกันระหว่างประเทศที่มีอิสรภาพทั้งสองประเทศ สามารถที่จะเจรจาทำความเข้าใจตามสัญญาเป็นรายไป และสัญญานี้มีข้อตกลงที่แตกต่างกันระหว่างประเทศคู่สัญญาได้ ยกตัวอย่างประเทศเม็กซิโก แคนาดา มาเก๊า และประเทศในยุโรป จะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาประเทศสหรัฐฯ หากโทษของคดีที่ผู้ร้ายถูกกล่าวหามีโทษถึงขั้นประหารชีวิต นอกเสียจากอัยการสหรัฐฯ จะรับรองว่าอัยการจะไม่เสนอขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิต เมื่อผู้ต้องหาถูกตัดสินในภายหลังว่าผิดในคดีนั้นๆ

โดยทั่วไป ประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่รับคำร้องในการขอให้จับผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศนี้ ถ้าหากเป็นคดีทางการเมือง ที่มีต้นเหตุจากความขัดแย้งกัน หรือเกี่ยวข้องกับคดีทางทหาร (Military and Political Offenses) ส่วนในเรื่องสัญชาตินั้น ประเทศสหรัฐฯ ไม่คำนึงว่าผู้ต้องหาจะเป็นสัญชาติใด โดยอ้างอิงว่าเป็นบุคคลโดยใช้คำว่า (Persons) แทนในสนธิสัญญาร่วม และสุดท้ายเรื่องค่าใช้จ่าย ประเทศผู้ร้องขอต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินเรื่อง เช่น ถ้าผู้ต้องหาคัดค้านการส่งตัวกลับ ประเทศผู้ร้องขอก็ต้องตั้งทนายแก้ต่าง รวมถึงการรับผิดชอบ ค่าแปลเอกสารต่างๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ และผู้ร้ายของประเทศผู้ร้องขอด้วย

คดีตัวอย่างอันโด่งดังที่สหรัฐฯ ได้ร้องขอให้ประเทศไทยจับผู้ต้องหาสำคัญของทางการสหรัฐฯ ได้แก่ นายวิคเตอร์ โตเจวิช บุช หรือรู้จักกันในนาม “วิคเตอร์ บุช” ข้อหาสมคบค้าอาวุธสงคราม ในขณะเดียวกันการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อมาดำเนินคดีในประเทศไทย เช่น คดีนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ คดีนักศึกษาไทยฆ่าแล้วหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ คดีฝรั่งแคนาดาฆ่าหั่นศพสาวไทยใส่กระเป๋าเดินทาง และหลบหนีข้ามประเทศ อนึ่ง… หากทางการฝ่ายใดต้องการตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเร่งด่วน และไม่ต้องการผ่านกระบวนการตามสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ ก็สามารถขอให้ประเทศปลายทางที่ถูกร้องขอ ยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศนั้นได้ จากนั้นทางอิมมิเกรชั่น (Immigration) ก็สามารถไปควบคุมตัว และส่งต่อให้ประเทศที่เจ้าตัวอยู่ได้เลย ถ้ามีหลักฐานการกระทำผิดคดีอาญาร้ายแรง ก็จะถูกระบุเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาในประเทศนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ ผมขอสรุปว่า เมื่อโลกไม่มีพรมแดน ถ้าคุณกระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรง แล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ อย่าคิดว่าคุณจะหนีได้ตลอดรอดฝั่ง คุณอาจจะหนีเงื้อมมือกฎหมายได้เพียงชั่วคราว แต่คุณก็ไม่สามารถหนีกฎแห่งกรรมได้แน่นอน


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย