Special Scoop



NO ONE IS ABOVE THE LAW… ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย!

จากคำพูดที่เน้นย้ำในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2016 ของนาง Eileen Decker อัยการสูงสุดกระทรวงยุติธรรม U.S. Attorney เขต California, Central (ซึ่งเธอได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อเดือนมิถุนายน 2015) มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และฟ้องอาญา บุคคลที่ทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง การละเมิดสิทธิของประชาชน (Civil Rights Violations) มาเฟีย นักการเมืองและคดีพิเศษอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงหลายๆ รัฐ โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลกลางต่าง ๆ เป็นเครือข่ายช่วยหาหลักฐาน เช่น FBI, DEA, ICE, ATF, IRS, US MARSHALL, US SECRET SERVICE เป็นต้น

คดีที่ทำต้องเป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของอัยการท้องถิ่น แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ รัฐ การฟอกเงิน การฉ้อโกงภาษี การละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เช่น จับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำผิดในกฎหมายของรัฐบาลกลางต่าง ๆ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่หลังจากประธานาธิบดีแต่งตั้งแล้ว ยังต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

ปัจจุบันมีอัยการสูงสุดเขตต่าง ๆ ถึง 94 เขต อัยการสูงสุดเขตต่าง ๆ จะขึ้นตรงกับ US ATTORNEY GENERAL คือ นาง LORETTA E. LYNCH ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา และได้รับการรับรองจากสภา ฯ เมื่อเดือนเมษายน 2015

สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐบาลเขต California, Central ฟ้องอาญากับ อดีตเชอริฟ ลี บาก้า ในคดีที่ให้ความเท็จกับสำนักงานเอฟบีไอ ในปี 2013 ซึ่งมี 2 กรณีที่ทางเอฟบีไอยื่นฟ้อง และทางอดีตเชอริฟยอมรับสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2016

1. กรณีปฏิเสธการย้ายสายลับ (นกต่อ) นายแอนโทนี่ บราวน์ ที่อยู่ในเรือนจำของแอลเอเคาน์ตี้ หลังจากที่รู้ว่า เขาเป็นผู้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ที่เข้าเยี่ยมเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2011

2. กรณีปฏิเสธการรับรู้ หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่เชอริฟไปข่มขู่เจ้าหน้าที่ของเอฟบีถึงบ้าน ที่สอบสวนเรื่องการใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกักขังในเรือนจำของแอลเอเคาน์ตี้ เพื่อให้หยุดการดำเนินการในการสืบหาความจริงในการละเมิดสิทธิผู้ถูกกักขัง การกระทำการรุนแรงต่อผู้ถูกกักขัง และกับญาติของผู้ถูกกักขังที่พยายามจะเข้าเยี่ยม

ซึ่งการยอมรับผิดในการให้การเท็จ ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง (Felony) ตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง มาตรา 18 U.S.C. Section 100 (A)(2) มีโทษจำสูงสุดถึง 5 ปี ปรับ $250,000

จากการต่อรองระหว่างอดีตเชอริฟ ลี บาก้า (Plea Bargain หรือ Plea Agreement) กับ ส.น.ง.อัยการสูงสุด ก็ตกลงกันว่า ทางอัยการจะเสนอให้ผู้พิพากษาลงโทษในสถานเบา คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และไม่มีค่าปรับ ซึ่งผู้พิพากษาของศาลรัฐบาลกลางจะดูสำนวนทั้งหมด และดูความเหมาะสมกับบทลงโทษที่เสนอขึ้นโดยอัยการสูงสุด และจะมีการตัดสินบทลงโทษในวันที่ 16 พฤษภาคม 2016 ปิดฉากชีวิตการเป็นตำรวจเชอริฟอาชีพกว่า 49 ปี ของท่านลงอย่างน่าเสียดาย…

ผมรู้จัก และคุ้นเคยกับท่านเชอริฟ ลี บาก้า ตั้งแต่ปี 2000 ตอนที่ได้เข้าสมัครและจบเป็นตำรวจเชอริฟอาสา (Sheriff Reserve) โดยท่านมอบประกาศนียบัตรให้ ท่านได้ให้ความเป็นกันเอง และช่วยเหลือสังคมไทยมาโดยตลอด เช่น การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของชุมชนไทย แปลเอกสารของเชอริฟเป็นภาษาไทย จัดทำเทปวิดีโอโดยให้ผมเป็นวิทยากร อธิบายการป้องกันภัยพิบัติให้กับชุมชนไทยผ่านสถานีโทรทัศน์ IPTV (ในอดีต) นอกจากนั้นยังเข้าร่วมงานฉลองปีใหม่ไทยเป็นประจำ สนับสนุนให้ผมเขียนบทความในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมให้กับชุมชนไทย และรณรงค์ให้คนไทยมาสมัครเป็นเด็ปปิตี เชอริฟ เป็นต้น


ประวัติของท่านโดยสังเขป

มารดาของท่าน ลี บาก้า เกิดที่เมือง Michoacan, Mexico ถูกพาเข้ามาในอเมริกาอย่างผิดกฏหมาย ตอนเธอมีอายุได้ 1 ขวบ ต่อมามีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ ท่านบาก้านั้น เกิดที่อีสท์แอลเอ สมรสกับภรรยาคนแรก มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน แล้วก็เลิกรากัน ต่อมาปี 1999 สมรสกับนาง Carol Chiang อยู่กันมาจนปัจจุบัน

1964 จบไฮสกูลที่ Benjamin Franklin High School - East LA

1964 เข้าเป็นทหารนาวิกโยธินอาสา - US Marine Corps Reserve

1965 สอบเข้าเป็นเด็ปปิตีเชอริฟ แอลเอเคาน์ตี้ (Deputy Sheriff) ทำงานในหลายกรม เช่น ทำงานในทัณฑสถาน, สายตรวจ, ฝ่ายบุคคล เป็นครูฝึกเชอริฟ ทำอยู่รวม 16 ปี

1981 ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าสถานี (Captain) ที่เมือง Norwalk

1992 ได้เลื่อนเป็นผู้บังคับการเชอริฟ (Chief Deputy)

1998 ได้รับการเลือกตั้งเป็นเชอริฟของแอลเอเคาน์ตี้คนที่ 30 ของแอลเอเคาน์ตี้เชอริฟที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 160 ปี ท่านได้รับเลือกติดต่อกันถึง 4 สมัย สมัยละ 4 ปี จนถึงปี 2014 แต่ต้องตัดสินใจลาออกอย่างกะทันหันจากข่าวการทำร้ายผู้ที่ถูกกักขังและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดในเรือนจำในความรับผิดชอบของท่าน โดยทางเอฟบีไอได้เริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เชฟริฟบางส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วด้วย


การศึกษา

1971 ปริญญาตรี (Bachelor’s Degree, BA) จาก Cal-State Los Angeles

1973 ปริญญาโท (Master of Public Administration - MPA) ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย U.S.C.

1993 ปริญญาเอก (Doctorate of Public Administration - PHD) จาก U.S.C. ด้านการบริหาร นโยบาย และการพัฒนาองค์กร (Policy, Planning and Development)


มูลเหตุของการถูกดำเนินคดี

2011 American Civil Liberties Union (A.C.L.U.) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงผลประโยชน์ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นเอ็นจีโออิสระ (Non-Profit and Nonpartisan) คอยรักษาสิทธิของประชาชนในด้านมนุษยธรรม การเหยียดผิว เพศ ศาสนา โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิของคนชั้นล่างที่ไม่สามารถต่อสู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งทาง A.C.L.A ได้รับการร้องเรียนจากญาติของผู้ถูกกักขังในทัณฑสถานของแอลเอเคาน์ตี้ ว่าได้ถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่เชอริฟที่ดูแล และมีการปกปิดกีดกันเมื่อผู้ถูกกักขังได้ทำเรื่องร้องเรียน โดยแจ้งว่ามีการทำเป็นกระบวนการ ผู้ต้องขังบางรายสามารถนำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด โทรศัพท์ โดยการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่เชอริฟบางคนที่ดูแลในเรือนจำเหล่านี้ ที่ทาง ส.น.ง.เชอริฟ โดยมีท่าน ลี บาก้า เป็น ผู้บัญชาการในขณะนั้น ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด

แต่กระแสข่าวการถูกซ้อมของผู้ถูกคุมขัง ก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทาง A.C.L.U. ได้ตัดสินใจส่งเรื่องให้กับกระทรวงยุติธรรม (U.S Dept. of Justice) เพื่อขอให้เข้าสอบสวน โดยกระทรวงยุติธรรมได้มอบเรื่องให้กับทาง Federal Bureau of Investigation (F.B.I.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือข่าย มีเจ้าหน้าที่หลายแขนงในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาต่าง ๆ นี้

นั้นจึงเป็นที่มาของการสอบสวนเชิงลึก แบบลับสุดยอด เรียกว่า ยุทธการ “Operation Pandora’s Box” (การเปิดกล่องแห่งความชั่วร้าย) ซึ่ง FBI ได้ใช้ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำที่ดาวน์ทาวน์ ชื่อ นาย แอนโทนี่ บราวน์ ที่ต้องคดีร้ายแรง คือปล้นธนาคาร เป็นนกต่อ… คอยส่งข้อมูล บอกชื่อของเจ้าหน้าที่ พร้อมภาพถ่าย ที่กระทำการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกักขัง และส่งให้กับ F.B.I.(Agent) เอเจ้นท์ ที่ไปเยี่ยมเป็นรายสัปดาห์ โดยนายบราวน์สามารถให้สินบนเจ้าหน้าที่บางคนเพื่อเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปถ่ายรูปในสถานที่กักขังได้อีกด้วย

อีกไม่นานต่อมา ทาง ส.น.ง เชอริฟได้รับทราบจากการรายงานจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ถึงการกระทำของนายบราวน์ที่เป็นนกต่อส่งข้อมูลให้กับเอเย่นต์ของ F.B.I. ทำให้ทางเชอริฟไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ทางเอฟบีไอมาก้าวก่ายการทำงานของ ส.น.ง.เชอริฟ ก็เลยรีบย้ายนายบราวน์ไปอยู่ในเรือนจำอื่น โดยเปลี่ยนชื่อนักโทษให้นายบราวน์ด้วย เพื่อไม่ให้เอเจ้นท์ต์เอฟบีไอมาติดต่อเยี่ยมเพื่อเอาข้อมูลได้อีก ทางเชอริฟยังจัดเจ้าหน้าที่ถึง 13 คน ดูแลนายบราวน์ตลอด 24 ช.ม. เพื่อไม่ให้มีการติดต่อกับเอฟบีไออีก ตามสำนวนคดีที่ยื่นฟ้องศาลของเอฟบีไอนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทั้ง 13 คนนี้ได้รับจดหมายขอบคุณผ่านทางอีเมล จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ส.น.ง.เชอริฟ รวมถึงเบอร์ 2 รองเชอริฟ Undersheriff Paul Tanaka ในการร่วมมือดูแลนายบราวน์ แต่เชอริฟ ลี บาก้า บอกว่าเขาย้ายนายบราวน์เพื่อความปลอดภัยของนายบราวน์เองเป็นกรณีพิเศษ แล้วยังส่งเจ้าหน้าที่เชอริฟไปถึงที่บ้านของ F.B.I. Agent ที่เป็นผู้ประสานงานกับนายบราวน์ เหมือนกับเป็นการข่มขู่คุกคาม เพื่อให้ยุติการสืบสวนของ F.B.I. โดยพลัน แต่ทาง F.B.I. ได้รวบรวมหลักฐานมากพอสมควร โดยได้เริ่มฟ้องและจับกุมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึง 18 คน ซึ่ง 8 คน ได้ถูกตัดสินจากคณะลูกขุนว่าผิดในข้อหาต่าง ๆ เช่น ในการละเมิดสิทธิของผู้ถูกคุมขัง (Civil Right Violations) พยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอันควร (Excessive Force) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นถึงรองเชอริฟ Paul Tanaka ที่กำลังจะถูกขึ้นศาลในเดือนมีนาคมนี้ เพราะท่านรองปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

แล้วท่านเชอริฟเห็นว่าหลักฐานของทางเอฟบีไอคงมีมาก เลยได้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการต่อรอง (Plea Bargain หรือที่รู้จักกันในนาม Plea Agreement) ยอมความกับสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐบาลกลาง U.S Attorney ดีกว่า เพื่อแลกกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาของความผิดในการให้ความเท็จเพียงข้อเดียว โดยให้อัยการเสนอผู้พิพากษาเพื่อลดหย่อนการรับโทษในสถานเบา ท่าน ลี บาก้า จึงยอมรับสารภาพผิดตามกฎหมาย คือ 18 U.S.C. Section 100 (a)(2) - Willfully Making False Statement เจตนาให้การเท็จ แต่จะไม่ถูกฟ้องในข้อหา Obstruction of Justice 18 U.S.C. Section1503 ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีโทษสูงสุด ติดคุก 5 ปี ขึ้นทัณฑ์บนอีก 3 ปี ปรับ $250,000 และ $100 ค่าธรรมเนียมศาล

ตามข้อตกลงกับทางอัยการสูงสุดที่จะเสนอ ตามระเบียบการตัดสินการลงโทษ (Sentencing Guideline) สำหรับโทษสถานเบา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 0-6 เดือน ขึ้นทัณฑ์บน 3 ปี (Supervised Release) โดยผู้พิพากษาจะต้องอนุมัติกับการเสนอบทลงโทษนี้ ในวันที่ 16 พ.ค. 16 โดยทางอัยการยังจะเสนอว่าไม่ต้องเสียค่าปรับ $250,000

เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ให้พวกเราที่อยู่ในประเทศนี้ว่า ไม่มีใครจะอยู่เหนือกฎหมายได้ ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนและมาจากไหน ต้องปลงให้ได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยั่งยืนค้ำฟ้า มีขึ้นก็มีลง มีเกิดก็มีดับ มีสุขก็มีทุกข์ เพียงแต่ว่าที่นี่มีมาตรฐานเดียว กฎหมายที่นี่จีงศักดิ์สิทธิ์ ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แน่นอนที่สุด


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย