Special Scoop
ความหวังของแรงงานไทยในอเมริกา!!

รมว.กระทรวงแรงงาน พณฯ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ กล่าวย้ำว่าสำนักงานแรงงานไทยต้องมาประจำในนครลอส แอนเจลิสแน่นอน นายเผดิมชัย ได้เดินทางมาเยือนนครลอสแอนเจลิสอย่างไม่เป็นทางการและได้มีโอกาสพบปะพูดคุยปัญหาของธุรกิจไทยโดยเฉพาะเรื่องแรงงานไทย กฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ ตลอดจนการปฏิบัติแบบเคร่งครัดของหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลที่ทำกับธุรกิจด้านอาหารไทย และสปา ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา กับคุณมิเชล ปาร์ค สตีล รองประธานกรรมการด้านภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ไทยแลนด์พลาซ่า เมื่อเย็นวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการประสานการพบปะเป็นอย่างดีจากคุณอยุธ อาสาพาหุ เจ้าของร้านไอยรา ใกล้สนามบินแอลเอ และไทยแลนด์พลาซ่า บรรยากาศการพบปะเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง

คุณมิเชลได้เล่าถึงการที่มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือสังคมไทยตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบัน เล็งเห็นว่าธุรกิจไทยยังขาดผู้แทนนักการเมืองที่มีความจริงใจเข้ามาช่วยธุรกิจไทยอย่างจริงจัง ชุมชนไทยควรสนับสนุนคนไทย-อเมริกัน เข้ามาเรียนรู้ถึงระบบการเมืองท้องถิ่น เข้าไปอาสาทำงานกับสมาชิกสภาเทศบาลเมือง ของรัฐ หรือของรัฐบาลกลาง เมื่อรู้ถึงระบบต่างๆ ชุมชนก็ต้องสนับสนุนพวกเขาให้ลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสารพัดที่เกิดกับธุรกิจไทย และคนไทย โดยรวม

คุณมิเชลได้ยกตัวอย่างชุมชนเกาหลีที่ได้สนับสนุนการลงสมัครเลือกตั้งของเธอมา 2 สมัยเกือบ 100% ได้เงินสนับสนุนจากชุมชนเกาหลี (ครั้งแรกได้ 1.3 ล้านเหรียญ) ฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่มีแววที่จะสนับสนุนได้ ก็ควรจะชี้นำและสนับสนุนทุนทรัพย์ในการหาเสียง ถ้าชุมชนไทยมีผู้แทนของคนไทยเองก็สามารถเข้าใจปัญหาและยังรู้ถึงวัฒนธรรม ประเพณี ในการปฏิบัติกับลูกน้องฉันญาติมิตร การเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเป็นบุคลิกอันดีของคนไทย คุณมิเชลได้กล่าวต่อถึงความพยายามของท่านที่สนับสนุนให้ชุมชนไทยเรียนรู้ถึงกฎหมายด้านภาษีต่างๆ รวมถึงได้จัดทำเว็บไซต์ภาษาไทย (www.boe.ca.gov/members/msteel) มีหนังสือด้านอาหาร การตรวจสอบภาษี และอื่นๆอีก 10 ฉบับเขียนเป็นภาษาไทย ตลอดจนได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภาษีของชุมชนไทยจากนักธุรกิจไทยด้วย

รมว.กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวขอบคุณ คุณมิเชลที่ได้ดูแลช่วยเหลือชุมชนไทยมาโดยตลอดระยะเวลา 6 ปีกว่า ท่านเผดิมชัยได้รับทราบปัญหาต่างๆจากสภาหอการค้าไทยในครั้งที่ไปเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2011 สมัยที่นายสุทิน ทิวาศาสตร์เป็นประธาน และนายคิด ฉัตรประภาชัย เป็นเลขาธิการ ท่านยังสนับสนุนการจัดตั้งทูตแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการพลเรือน (กพ.) และทางกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไม่สามารถจัดปรับอัตราเพิ่มให้ได้ ท่านจึงได้เปลี่ยนแผนโดยการดูประเทศ 13 ประเทศที่มีทูตแรงงานอยู่ว่า ประเทศไหนที่ไม่มีความจำเป็นก็จะยกเลิกแล้วนำมาประจำที่แอล.เอ.นี้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ติดเพียงการปรับงบนิดหน่อย เนื่องจากค่าเงินบาทกับดอลล่าร์ที่แตกต่างกัน ท่านได้เห็นความสำคัญและเห็นด้วยกับเหตุผลตามจดหมายที่คุณคิดได้ส่งให้เมื่อเดือนเมษายน 2012 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงแรงงานจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเห็นสำนักงานทูตแรงงานมาช่วยธุรกิจไทยในแอล.เอ.ในเร็ววันนี้

เหตุผลบางส่วนที่คุณคิด ฉัตรประภาชัย ที่ปรึกาของคุณมิเชล และอดีตเลขาธิการสภาหอการค้าไทยได้เขียนขอให้ สถานกงสุญใหญ่แอล.เอ.ช่วยสนับสนุนในครั้งนั้น เหตุผลที่ต้องมี

“ปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน มีสำนักงานแรงงานในต่างประเทศอยู่ 13 แห่ง คือ ริยาด อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน ไทเป เกาสง และมาเลเซีย จากการศึกษาวิเคราะห์ถึงกิจกรรมต่างๆ ทำให้รู้ว่าตัวแทนของ ส.น.ร. มีหน้าที่และกิจกรรมมากมาย ที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยในสหรัฐฯไทยได้

เช่นเมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม 2555 ส.น.ร. มาเลเซียจัดโครงการส่งเสริมตลาดแรงงานไทยในมาเลเซีย สาขาผู้ประกอบอาหารไทย และพนักงานนวดไทย เราอยากเห็นโครงการแบบนี้ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในลอสแอนเจลิสบ้าง

1.1 สำนักงานแรงงาน (ส.น.ร.) สามารถฝึกอบรมแรงงานไทยให้เข้าใจถึงกฏหมายแรงงานท้องถิ่น ให้คำแนะนำ สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้าง ดังตัวอย่างจากฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ที่ได้ออกเยี่ยมคนงานไทยที่ MOSHAV BROSH ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทลอาวีฟ ประกอบกิจกรรมปลูกมันฝรั่ง มีคนงานไทย 6 คน จากการตรวจสอบ พบว่าสภาพความเป็นอยู่ไม่เหมาะสม

1.2 หน้าที่ของ ส.น.ร. อีกอย่างหนึ่งคือ การตรวจเยี่ยมแรงงานไทย แนะนำและรับฟังความเดือดร้อนหาทางแก้ไข เป็นคนเจรจากับนายจ้าง ก่อนที่ลูกจ้างจะเอาเรื่องไปฟ้องร้องผ่านกระบวนการของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น

1.3 ส.น.ร. จะหาโอกาสเข้าพบผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ทั้งของไทย และของคนท้องถิ่นเพื่อหาข้อมูลและความต้องการของแรงงานไทย เพื่อนำไปสู่การขยายตลาดแรงงานไทยในอนาคต

1.4 ส.น.ร. จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกจ้างและนายจ้างที่มีแรงงานไทยประจำอยู่ตลอดจนการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกลาง และท้องถิ่น ให้ทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการว่าจ้างแรงงานไทย และจะเสนอรัฐบาลไทยเกี่ยวกับ ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนในบางสาขาอาชีพ เช่น พ่อ หรือแม่ครัว คนนวดแผนโบราณ โดยเป็นตัวกลางเสนอให้รัฐบาลไทย ขอเพิ่มโควต้าชั่วคราว ของคนที่มีความรู้ความสามารถให้ได้เข้ามาทำงานในประเทศสหรัฐฯ มากขึ้น แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

1.5 ส.น.ร. จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาของลูกจ้าง และนายจ้าง ของไทยที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้นายจ้างไทย ต้องปิดกิจการไปโดยเพราะความไม่รู้กฎหมายแรงงานท้องถิ่น และถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปรับลงโทษอย่างไม่ปราณี และในบางรายถึงกับถูกดำเนินคดีอาญามันข้อหาที่เป็นคดีร้ายแรง เช่นหาว่าเป็นการค้ามนุษย์ เป็นผลให้แรงงานไทยต้องตกงานไปด้วยในที่สุด ส.น.ร.จะทำให้แรงงานไทยมีที่พึ่งพา ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยกันหาทางออกให้แรงงานไทยที่มีปัญหากับนายจ้างกลับจะเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับแรงงานไทยและนายจ้าง ให้เขารู้ว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่มีสำนักงานในต่างประเทศอื่น ๆ ถึง 13 แห่ง

1.6 ส.น.ร.จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสถานกงสุลไทยในสหรัฐ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทย โดยเฉพาะปัญหาการถูกหลอกลวง การค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอัครทูตแรงงาน ที่จะมาจะเป็นผู้ที่มีความจัดเจนกับความรู้ด้านกฎหมายแรงงานในสหรัฐฯ โดยตรงและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หรือองค์กรอื่น ๆ

1.7 ส.น.ร. ต้องช่วยเหลือแรงงานไทยโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของวีซ่าว่ามาอยู่ประเภทอะไร”


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมมีความเห็นที่จะสนับสนุนการจัดตั้ง ส.น.ร.ในประเทศสหรัฐอเมริกา แรงงานไทยในสหรัฐฯเป็นแรงงานที่ใหญ่ที่สุดนอกราชอาณาจักรไทย การมี ส.น.ร. เพื่อดูแลแรงงานไทย และสนับสนุนกิจกรรมด้านอื่น ๆ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มีประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อแรงงานไทย ในปัจจุบัน และอนาคตอย่างแน่นอน.


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย