Special Scoop
ท้ายที่สุดสำหรับการขอใบเขียวผ่านผู้ว่าจ้าง (EB-2/EB-3)

สัปดาห์นี้เรามาอ่านกันต่อเลยค่ะ ถึงขั้นตอนที่สอง (เพิ่งสองเท่านั้นเองหรือนี่!) สำหรับการขอรับใบเขียวผ่านทางผู้ว่าจ้าง (EB-2 และ EB-3) ภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 มาแล้วในการขอ PERM กับทาง DOL (Department of Labor) ในลำดับที่สองตามกันมาติดๆ ในช่วงขั้นตอนนี้ ผู้ว่าจ้างต้องทำเรื่องเพื่อยื่นขอรับใบเขียว (หรือยื่นฟอร์ม I-140) กับทาง USCIS เพื่อสมัครรับใบเขียวให้กับลูกจ้างจากต่างแดน ซึ่งในส่วนของการยื่นฟอร์มสมัครที่ว่านี้ ก็เพื่อให้ทาง USCIS มั่นใจได้กับประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ค่ะ

1) ให้มั่นใจว่า PERM ที่ได้รับการตรวจผ่านมาแล้วนั้น ได้รับการตรวจผ่านมาแล้วจริงๆค่ะ

2) ให้มั่นใจว่าผู้ว่าจ้างนั้นจะสามารถจ่ายเงินเดือนตามอัตราที่ได้ยื่นเรื่อง ยื่นข้อเสนอไว้จริง

3) ให้มั่นใจอีกเป็นครั้งสุดท้ายว่าลูกจ้างจากต่างแดนมีความสามารถ มีคุณสมบัติที่ตรงตามตำแหน่งที่ประกาศรับจริง

ในการยื่นเรื่องผ่านฟอร์ม I-140 เพื่อขอรับใบเขียวนั้น แท้จริงแล้วมันก็เหมือนกับเป็นขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ ทั้งในส่วนของทางนายจ้างและลูกจ้าง เรื่องของหลักฐานสำคัญต่างๆ แต่ลที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเลยนะคะ ก็คือเรื่องของสภาวะทางการเงินเนี่ยล่ะค่ะ ว่าทางผู้ว่าจ้างจะสามารถจ่ายเงินได้ตรงตามข้อเสนอที่ให้ไว้แก่บุคลากรจากต่างแดนหรือไม่ โดยจะพิสูจน์ดูเอาจากหลักฐานการยื่นภาษีประจำปีของบริษัท/องค์กรของผู้ว่าจ้างค่ะ ทาง USCIS จะเปรียบเทียบส่วนของผลกำไร หรือเงินทุนคงเหลือปัจจุบัน ว่ามีเท่ากัน หรือเหลื่อมล้ำเป็นส่วนเกิน ออกมาในจำนวนมากพอที่จะสนับสนุนให้บริษัท/องค์กรสามารถว่าจ้างบุคลากรจากต่างแดนได้ สำหรับในอีกหนึ่งกรณีเพื่อเป็นตัวช่วยในการพิจารณาส่วนนี้ก็คือ ผู้ว่าจ้างจะสามารถแสดงหลักฐาน ทางการเงินจากการเริ่มจ่ายเงินเดือนแก่ลูกจ้างจากต่างแดน ซึ่งสามารถที่จะเริ่มขึ้นได้ทันที ภายหลังจากที่ได้ไฟล์ PERM ไปแล้ว และ จากหลักฐานนี้ จะต้องสามารถแสดงได้ว่าลูกจ้างได้รับเงินเดือนตรงตามจำนวน ในข้อเสนอหรืออาจจะมากกว่า ในทุกเดือน ไม่มีตกหล่นไปไหน หรือในบางกรณี อาจมีความจำเป็น ต้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ เพื่อแสดงให้ทาง USCIS ได้เห็นว่าทางบริษัท/องค์กร จะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนแก่ลูกจ้างจากต่างแดนได้ แต่กรณีจำพวกนี้ถือว่าน้อยมากค่ะ ส่วนใหญ่ถ้าทางผู้ว่าจ้างไม่สามารถแสดงหลักฐานการยื่นเสียภาษีรายปี หรือเมื่อคำนวณสถานะทางการเงิน เอาจากผลกำไรและทุนที่คงเหลือแล้วไม่เป็นเหตุเป็นผลกันกับอัตราเงินเดือนที่ได้เสนอไว้แก่บุคลากรจากต่างแดน ทาง USCIS มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธและถอดถอนเรื่องที่ร้องขอได้โดยทันทีค่ะ

ในส่วนของเนื้อหาโดยละเอียดและการกรอกฟอร์ม I-140 เพื่อเริ่มต้นดำเนินเรื่องในส่วนของทาง USCIS นั้น ดิฉันต้องขอจบเรื่องไว้เท่านี้นะคะ เพราะหากลงละเอียดเกินไป ก็กลัวเสียเหลือเกินค่ะว่าคุณจะเข้าใจผิด แล้วอาจจะเริ่มกรอกแบบฟอร์มตามที่เขียนเล่าแปลไว้โดยที่ไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเสียก่อนแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุนะคะ ดังนี้แล้ว ดิฉันขออนุญาติผ่านค่ะ ผ่านไปเล่าถึงขั้นสุดท้ายในขั้นตอนที่ 3 เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่า (Adjustment of Status) และดำเนินการเรื่องผ่านสถานกงสุลฯ หรือสถานฑูตท้องถิ่น (Consular Processing) เพื่อให้ได้รับใบเขียวจากสถานะ EB-2 และ EB-3 ผ่านทางผู้ว่าจ้างค่ะ

ในขั้นตอนที่สามนี้ สำหรับผู้ว่าจ้างที่ผ่านมาได้ถึงขั้นตอนนี้ คงจะถอนหายใจเฮือกใหญ่ไปตามๆกัน ด้วยความโล่งอกนะคะ เพราะนี่คือโค้งสุดท้ายแล้วก่อนที่ทุกอย่างจะเสร็จสิ้นและผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ขั้นตอนก็มีความคล้ายคลึงกันกับการเปลี่ยนสถานะวีซ่าให้เป็นใบเขียวผ่านทางครอบครัวนั่นแหละค่ะ คือเมื่อผ่านมาถึงขั้นตอนสุดท้ายนี้ ก็จะเน้นหนักไปในเรื่องของตัวบุคคลที่มีสิทธิ์จะได้รับใบเขียว เสียมากกว่าที่จะสืบประวัติของประวัติของผู้ยื่นเรื่อง ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้ว่าจ้าวนั้่นเอง ขั้นตอนนี้ จะเป็นการตรวจสอบประวัติ (Background Check) ว่าบุคลากรจากต่างแดนนั้น มีประวัติในทางอาชญากรรมติดมาหรือไม่ หรือมีประวัติใดๆ ที่อาจส่งผลให้บุคคลไม่ได้รับสิทธิ์ในการได้รับใบเขียวนั่นเองค่ะ

หากคุณผู้อ่านยังจำกันได้ถึงบทความที่ดิฉันเคยเขียนเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่าคงจะยังพอจำกันได้อย่างคร่าวๆว่าการเปลี่ยนแปลงสะานะวีซ่านั้นจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ถือวีซ่าแล้วต้องการเปลี่ยนสถานะอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว หากบุคคลยังพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอน หรือนอกสหรัฐฯ การดำเนินการในส่วนนี้ จะเรียกว่าเป็นกระบวนการดำเนินงานผ่านทางสถานฑูตฯ/สถานกงสุลฯของสหรัฐฯ (Consular Processing) ในประเทศที่ผู้ถือวีซ่าอาศัยอยู่ค่ะ โดยสำหรับในช่วงของการเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่าในจุดนี้ มีข้อสังเกตุสำคัญ บางประการที่คุณควรรู้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

- ในช่วงระหว่างการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนสถานะวีซ่า บุคลากรจากต่างแดนและสมาชิกในครอบครัว จะได้รับเอกสารสำคัญสองแบบค่ะ

1) Temporary Employment Authorization Document หรือ บัตร EAD ซึ่งเรียกกันง่ายๆก็คือใบอนุญาติให้ทำงานแบบชั่วคราว และ

2) Advance Parole (travel document) หรือ เอกสารใบอนุญาติเพื่อการเดินทาง

- เอกสารทั้งสองคือ EAD และ Advance Parole Document จะมีอายุการใช้งานในระยะเวลาตั้งแต่ 12-24 เดือน และสามารถต่ออายุการใช้งานได้ โดยบุคคลากรสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอต่ออายุเอกสารทั้งสองนี้เป็นเวลา 4 เดือนล่วงหน้าก่อนที่จะถึงวันหมดอายุค่ะ

- ในช่วงระหว่างที่รอการเปลี่ยนสถานะวีซ่านั้น บริษัท/องค์กรผู้ว่าจ้าง จะต้องสามารถดำเนินกิจการไปได้เรื่อยๆ และต้องสามารถแสดงหลักฐานได้ว่ายังมีความต้องการที่จะว่าจ้างบุคลากรจากต่างแดนในตำแหน่งที่มีความต้องการอยู่

- หากการเปลี่ยนแปลงสถานะยังอยู่ในช่วงดำเนินการมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป บุคลากรจากต่างแดนสามารถที่จะตอบรับตำแหน่งงานอื่นที่มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนกันกับตำแหน่งที่ทางผู้จ้างได้ตกลงว่าจ้างบุคลากรไว้ก่อนหน้า *แต่ต้องเป็นบริษัทหรือองค์กรเดียวกันนะคะไปตอบรับงานกับองค์กร/บริษัทอื่นไม่ได้*

สำหรับเรื่องของการขอใบเขียวแบบ EB-2 และ EB-3 ผ่านผู้ว่าจ้าง โดยสรุปแล้วมีเพียงเท่านี้จริงๆค่ะ 1. คือการขอ PERM จาก Department of Labor 2. ยื่นฟอร์ม I-140 กับทาง USCIS ภายหลังจากที่ได้รับ PERM แล้ว และท้ายที่สุดคือการเปลี่ยนสถานะวีซ่าไม่ว่าจะภายในหรือนอกประเทศสหรัฐฯ หากจะถามว่ายากมั๊ย กับการดำเนินงานผ่านส่วนต่างๆเหล่านี้? ดิฉันตอบได้เลยว่ายากค่ะ ต้องมีการพูดคุยและปรึกษา กับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายก่อนจึงจะดีที่สุดอย่างแน่นอน สัปดาห์นี้ไม่มีอะไรมากค่ะ ขอจบเรื่องเล่าของการขอใบเขียว ผ่านทางการทำงานแบบ EB-2 และ EB-3 ไว้เท่านี้ สัปดาห์หน้ามีเรื่องเล่าของการขอใบเขียวแบบนี้ มาเล่าให้อ่านกันต่ออีก แต่คราวนี้สนุกแน่นอนเพราะจะเป็นเรื่องการขอแบบ EB-1 ซึ่งจะเป็นใบเขียวสำหรับผู้บริหาร ผู้จัดการระดับ Executive ทั้งหลาย ติดตามอ่านกันต่อฉบับหน้านะคะ