Special Scoop



เชียงรายรำลึก

“พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหนพ่อจากไปแต่เพียงกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้ จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอ และเราจะพบกัน รักพ่อสุดหัวใจ กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย”

นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของนายถวัลย์ ดัชนี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Doytibet Duchanee


นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) แจ้งว่า ดร.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2544 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันพุธที่ 3 กันยายน 2557 เวลาประมาณ 02.15 น. ด้วยโรคตับวาย ณ โรงพยาบาลรามคำแหง สิริรวมอายุ 74 ปี 11 เดือน

ดร.ถวัลย์ ดัชนี มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และความดัน เริ่มป่วยตั้งแต่เมื่อเดือน มิถุนายน 2557 และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง รักษาตัวมานาน ถึง 3 เดือน จากนั้นอาการทรุดหนักจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ดร.ถวัลย์จากไปด้วยอาการสงบ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นายถวัลย์ ดัชนี ที่ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

และทางครอบครัวจะจัดพิธีสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันที่ 4-10 กันยายน เวลา 19.00 น. และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน เวลา 17.00 น. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร


ถวัลย์ ดัชนี เกิดที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่


1.พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
2.นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
3.นายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)
4.นายถวัลย์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี

ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา จึงเรียนต่อชั้นประถมที่ซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น


ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8-9 ขวบก็มีความคิดแผลงๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้นเป็นต้น


เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"


ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ


คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับ สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน)ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี


ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย


ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลายๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่า (Gottorf Castle) " ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า

ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนี จะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา

นามสกุล เดิม ไม่ใช่ดัชนี แต่เป็น ดักชะนี เนื่องจาก บิดา ของปู่ มีอาชีพ ดักชะนี ขาย แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเพื่อความไพเราะและเหมาะสม

นายชาย ระบุว่า รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการสูญเสียศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่ที่มีคุณูปการต่อแผ่นดิน เพราะ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ได้อุทิศตนส่งเสริมงานด้านศิลปะมาอย่างมากมาย และได้สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ ทรงคุณค่า ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังและบุคลากรด้านศิลปะมาโดยตลอด ทำให้วงการศิลปะของไทยเกิดการพัฒนาและก้าวสู่สากล ในการนี้


ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัว “ดัชนี”

โดย... “พิสุทธิอาภรณ์”
6 กันยายน 2557