Special Scoop
Living Trust ตอนที่ 2

…คุณผู้อ่านคงจะนึกภาพออกตามไปด้วยอย่างคร่าวๆแล้วนะคะ สำหรับการทำงาน และประโยชน์ ของเอกสารหรือกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ ก็อย่างที่ได้อธิบายนั่นล่ะค่ะว่า เมื่อคุณวางแผนและเริ่มจัดการ ตั้งกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ขึ้นมา คุณอาจเรียกตัวเองว่า เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนหรือ Trustee ในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ คุณสามารถนำเอาข้อมูลรายได้ และทรัพย์สินของคุณ มารวมกันไว้ทั้งหมด หรืออาจจะแล้วแต่ความต้องการของคุณ แล้วคุณก็สามารถเริ่มร่าง เอกสารลิฟวิ่ง ทรัสต์กับทนายความ หรือจะให้ดี สมัยนี้คุณสามารถหาแบบฟอร์มตัวอย่างการจัดทำ ลิฟวิ่ง ทรัสต์เอาได้เลยจากอินเตอร์เนท แล้วร่างเอกสารความต้องการของคุณไปก่อนคร่าวๆ แล้วให้ทนายช่วยตรวจสอบดูก็ได้ค่ะ ประหยัดทั้งเงินและเวลา

เอกสารฉบับที่คุณเตรียมนี้นอกจากที่จะช่วยให้คุณได้ชี้แจงแสดงความต้องการเป็นลายลักษณ์ อักษรเพื่อการแบ่งทรัพย์สินแล้ว คุณยังสามารถที่จะเจาะจงไปได้เลยนะคะถึงหนี้สินที่คุณมี ว่าคุณต้องการจะจัดการกับมันอย่างไร ซึ่งเมื่อถึงกรณีที่คุณไม่สามารถจัดการบริหารกับลิฟวิ่ง ทรัสต์ ได้อีกต่อไป (เสียชีวิต หรือ เป็นบุคคลทุพพลภาพ) บุคคลหรือสถาบัน ที่คุณได้เขียนแต่งตั้ง เอาไว้ในเอกสารจะกลายเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน (Trustee) ไปโดยปริยาย แล้วคุณในฐานะผู้จัดทำและสร้างกองทุนนี้ขึ้นก็จะกลายเป็น Trustor หรือ Grantor / Settlor ค่ะ ส่วนTrustee ที่คุณได้มอบอำนาจไว้ให้นี้เอง ที่จะเป็นผู้ดำเนินการแบ่งสรรกองทุนของคุณ ตามที่คุณได้เขียนแสดงความต้องการไว้เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้นค่ะ Trustee จะเป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดจัดการจ่ายหนี้และภาษีที่ตกค้างตามที่คุณได้ระบุไว้ จัดแบ่งทรัพย์สินให้กับครอบครัวของคุณตามที่คุณได้ระบุไว้อีกเช่นกัน โดยการดำเนินการส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการในชั้นศาลหรือขออำนาจศาลก่อนเลยค่ะ

หากคุณผู้อ่านเกิดความสนใจเห็นผลประโยชน์ของการทำลิฟวิ่ง ทรัสต์ขึ้นมาในทันทีทันใด อยากจะรีบจัดการทำมันขึ้นมาเสียเดี๋ยวนี้ หยุดก่อนค่ะ อย่าเพิ่งรีบร้อนจนเกินไป เพราะการทำลิฟวิ่ง ทรัสต์นี้ ไม่ได้มีความเหมาะสมไปกับทุกคนหรอกนะคะ คุณอาจจะพอคาดเดาออกว่า การทำเอกสารนี้เหมาะสำหรับคุณผู้อ่านที่มีทรัพย์สิน ในจำนวนค่อนข้างสูง นอกเหนือไปจากเงินสดและเงินฝากในสถาบันทางการเงินโดยเฉพาะในเรื่องของอสังหาริมทรัพย์

ดิฉันขอสรุปให้คุณได้ทราบถึงบุคคลในสามกรณีใหญ่ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น หรือจะได้รับประโยชน์ ในการทำลิฟวิ่งทรัสต์ซึ่งมีดังนี้ค่ะ

1. หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกัน ยังไม่มีบุตร และมีทรัพย์สินร่วมกันในจำนวนที่ไม่สูงนัก หากข้อตกลงในการแต่งงานเป็นแบบง่ายๆคือหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสิ้นชีวิตลงทรัพย์สินที่สั่งสมมา ร่วมกันจะตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งทันที คุณจะไม่ได้รับประโยชน์ในการทำลิฟวิ่งทรัสต์ค่ะ

2. บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีทรัพย์สินรวมกันในจำนวนไม่สูงมากนัก มีอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการบริหารทรัพย์สินที่ไม่ซับซ้อน

3. บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีความต้องการให้ศาลเป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์ของตน

โดยสรุปก็คือยิ่งทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ของคุณมีมูลค่ามากเท่าใด ความจำเป็นหรือสมควร ที่จะจัดทำกองทุนลิฟวิ่งทรัสต์เพื่อจัดการกับทรัพย์สินของคุณในกรณีที่คุณเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงโดยไม่ทันตั้งตัว ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยกันค่ะและหากในกรณีที่คุณมีกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ไว้อยู่แล้วแต่คุณเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกระทันหันจนกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ (Incapacitated) บุคคลที่ได้แต่งตั้งไว้ให้เป็นผู้จัดการกับกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ของคุณ จะสามารถดำเนินงานได้ทันในขณะที่คุณยังมีชีวิตยู่ หากไม่มีลิฟวิ่ง ทรัสต์ และคุณมีคู่สมรส ที่จดทะเบียนกันตามกฎหมาย (Domestic Partnership) ทรัพย์สินที่ได้รับในช่วงระยะเวลา ที่แต่งงานกันนั้น ในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเรียกว่าเป็น Community Property หรือทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ใดๆก็ตาม ที่คุณได้รับ หรือเป็นเจ้าของ ก่อนที่คุณจะจดทะเบียนสมรสนั้น ก็จะถือเป็นทรัพย์สินนอกเหนือจากการสมรส (Separate Property) ของแต่ละบุคคลนั่นเองค่ะ

ดังนั้นหากคุณกลายเป็บบุคคลไร้ความสามารถ คุณมีคู่สมรส หรือบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่คุณไม่มีกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ คู่สมรส หรือบุคคลที่คุณใช้ชีวิตอยู่ด้วยถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะกลายเป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน ของคุณทันที แต่หากคุณไม่มีคู่สมรส หรือคุณมีทรัพย์สิน มีอสังหาริมทรัพย์ ที่ถืออยู่นอกเหนือสินสมรส ศาลจะแต่งตั้งผู้ดูแลตัวบุคคลและทรัพย์สิน (Conservatorship) เพื่อให้เป็นผู้จัดการกับทรัพย์สินของคุณผ่านกระบวนการในชั้นศาล Probate Court ที่ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียวล่ะค่ะ

สำหรับกระบวนการในช่วงก่อนที่ศาลจะแต่งตั้งผู้ดูแลตัวบุคคลและทรัพย์สิน ลำดับแรกคือ ทางศาลจะพิจารณาก่อนค่ะว่าคู่สมรสของคุณนั้น จะสามารถบริหารจัดการกับทรัพย์สิน ทั้งหมดที่คุณมีอยู่หรือไม่ ศาลจะพิจารณาถึงกรณี และความเป็นไปได้ที่อาจเกิดกรณีคดโกงฉ้อฉล ในทรัพย์สิน ด้วยข้อมูลที่ศาลมี ศาลจะพิจารณาไปถึงอิทธิพลต่างๆโดยรอบที่อาจส่งผลถึงทรัพย์สิน ตามกรณีของแต่ละบุคคล จากนั้น ศาลจึงจะแต่งตั้งผู้ดูแลตัวบุคคลและทรัพย์สิน (ซึ่งอาจเป็นคู่สมรส ญาติของคุณ หรือบุคคลอื่น เช่น ทนายความที่คุณ หรือคู่สมรสของคุณต้องการ) เพื่อจัดการกับทรัพย์สินที่คุณเหลือไว้ หรือมีอยู่ โดยบุคคลที่แต่งตั้งนี้ จะคอยรายงานถึง ความคืบหน้า ในการจัดการกับทรัพย์สินอยู่เรื่อยๆตามลำดับค่ะ หากในกรณีที่คุณไร้ซึ่งคู่สมรส และญาติเพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สิน ทางศาลก็จะแต่งตั้งผู้ปกครองสาธารณะ (public guardian) ให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินค่ะ

การที่ศาลแต่งตั้งผู้ดูแลตัวบุคคลและทรัพย์สินนั้น ก็เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สิน ที่คุณมีเหลือทิ้งไว้อยู่ ในขณะที่คุณไม่สามารถจัดการกับมันได้ เพราะศาลเห็นว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เปราะบางที่สุด ในการที่คุณจะจัดการกับทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ของคุณ ศาลต้องการแสดงถึงความเป็นกลาง และให้การจัดการนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมมากที่สุด แต่ด้วยกระบวนการที่ถือเป็น เรื่องงานราชการสาธารณะ กระบวนการการทำงาน จึงจะใช้เวลาค่อนข้างสูงและมีความยืดหยุ่นน้อยในเรื่องของการจัดการอสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์รายได้อื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คุณมีการวางแผนและจัดทำกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์เอาไว้อยู่แล้วค่ะ

เรื่องของลิฟวิ่ง ทรัสต์ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะคะ ฉบับหน้าจะเป็นเรื่องราวแบบเจาะลึก กับเนื้อหาของตัวเอกสารลิฟวิ่ง ทรัสต์ รวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และ ข้อควรคำนึงถึง ในการทำลิฟวิ่งทรัสต์ หากคุณผู้อ่านมีข้อสงสัยใดๆ โทรศัพท์ หรือส่งอีเมล เข้ามาถามกันได้นะคะที่ (323) 518-2746, ployn@kolawoffice.com