Special Scoop



เกษียณอายุการทำงานมีด้วยหรือ และบรรดากิ๊กโปรดทราบ

ผมต้องขอขอบคุณหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะแฟนคลับที่ติดตามคอลัมน์บทความที่ได้เข้ามาทักทายกันในงานต่างๆ ที่ผมได้ไป ขอบคุณในคำชมแล้วบอกอยากให้เขียนต่อ บางท่านบอกว่า ได้ซื้อหนังสือ “คิด แบบ คิด ฉัตรประภาชัย”แล้ว อุตส่าห์พกติดตัวมาให้เซ็นต์ชื่อ ตามมาถ่ายรูปกันถึงที่วัดไทยในงานสงกรานต์ เสียงสนับสนุนทุกท่านมีความหมายมากสำหรับผม เป็นกำลังใจที่ต้องเขียนต่อ ซึ่งผมมีเจตนาที่จะแชร์ข้อมูล ประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาเล่าสู่กันฟัง เพราะความรู้หรือข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นบ่อเกิดแห่ง “พลัง” สำหรับทุกๆ ท่าน ดังที่วลีฝรั่งบอกว่า “Knowledge is Power” โดยเฉพาะท่านที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ขอให้หมั่นอ่านหนังสือพิมพ์ไทยก็ยังดี ไม่ใช่ทำงานกับคนไทย กลับมาบ้านก็ดูละครไทย ไม่สนข่าวคราวอะไรทั้งนั้น เวลาเดือดร้อนจึงไม่รู้เรื่อง…

เข้าเรื่องเกษียณอายุดีกว่า จากพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ สิ้นกำหนดเวลารับราชการ หรือการทำงาน

สำหรับผมแล้ว… “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่การทำงานย่อมไม่มีวันสิ้นสุด” จนกว่าเราจะหมดกำลังกาย สมองหมดสภาพตอบสนองคำสั่งเรา หรือหมดลมหายใจ” เพราะถ้าเราหยุดทำงาน ชีวิตก็จะอยู่อย่างไม่มีความหมาย 33% ของคนที่เกษียณจะเป็นโรคซึมเศร้า และถ้าเป็นโรคนี้แล้ว Immune Cells (เซลส์ภูมิต้านทาน) ของร่างกายก็จะอ่อนแอตามมาด้วย สารพัดโรคก็จะเข้ามาเยี่ยมเยียนท่านได้อย่างง่ายขึ้น แบบแทบจะตั้งตัวไม่ทัน เพราะมันจะเข้ามาเป็นทีม เช่น เบาหวาน, ความดัน, ตับ, ไต, ไอเรื้อรัง เป็นต้น

ตามสถิติจาก U.S. Department of Health and Human Services Center for Disease Control and Prevention National Center (กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา) สำรวจเก็บสถิติสรุปผลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2014 ว่า

คนที่มีอายุ 35 ปีในประเทศนี้ จะมีอายุยืนยาวถ้ารักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย กินอย่างเข้าใจ อยู่อย่างมีความหมาย (หวัง) ดังนี้

99% จะอยู่ถึงอายุ 40 ปี
96% จะอยู่ถึงอายุ 50 ปี
89 % จะอยู่ถึงอายุ 60 ปี
76 % จะอยู่ถึงอายุ 70 ปี
52 % จะอยู่ถึงอายุ 80 ปี
35 % จะอยู่ถึงอายุ 85 ปี
18 % จะอยู่ถึงอายุ 90 ปี
6 % จะอยู่ถึงอายุ 95 ปี
1% จะอยู่ถึงอายุ 100 ปี

มิน่าเล่า รัฐบาลพยายามที่จะยืดเวลาการเกษียณอายุออกไป เพราะถ้าจะต้องจ่ายเงินโซเชียว เงินบำเหน็จให้คนที่มีอายุ 63-65 ปีขึ้นไปแล้ว เงินกองกลางคงหมดก่อนมาถึงรุ่นลูกหลานเรา เพราะคนรุ่นใหม่เสียภาษีไม่ทันมาจ่ายให้กับ 50% ของจำนวน ผู้เกษียณที่จะอยู่ถีงอายุ 80 ปี

ฉะนั้น…จึงเป็นที่มาที่ว่าผมยังเกษียณการทำงานไม่ได้ เพราะยังอยากช่วยเหลือคนไทย โดยเฉพาะชุมชนไทย ที่เรายังขาดแคลนผู้นำที่มีคุณภาพมาช่วยกันผลักดันให้ทุกๆ คนพัฒนาตนเอง ที่มีใจรักอะไรก็คิดหาทางทำให้ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปในประเทศนี้ เพราะว่าประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามามีส่วน เข้ามาพัฒนาประเทศ ดังคำพูดของ สตีฟ จ๊อบส์ (อดีต CEO, APPLE ที่เสียชีวิตไปแล้ว) หากทำอะไรด้วยใจรัก (Passion), พากเพียรธรรม อุทิศตนช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า คิดนอกกรอบ ต่างกับคนอื่น ทุกคนก็จะประสบผลสำเร็จแน่นอน

และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคงยังเกษียณการทำงานไม่ได้… คุณมิเชล ก็ดีแสนดี รักลูกน้อง บอกว่าต้องให้ผมมาช่วยท่าน เพราะเป็นตำแหน่งใหม่ที่ท่านเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้เอง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของเคาน์ตี้ออเร้นจ์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน มีเมืองในเคาน์ตี้นี้ถึง 32 เมือง ดูแลจัดงบประมาณบริหารงานของหน่วยงานของเคาน์ตี้ 23 หน่วยงานใหญ่ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับเรา เช่น

- กองประเมินที่ดิน (Assessor) จัดประเมินค่าภาษีที่ดินและบ้านของคุณ

- กรมอัยการ (District Attorney) ฟ้องร้องในคดีอาญาต่างๆ ของเคาน์ตี้ และรัฐ

- ดูแลสนามบินในเคาน์ตี้ เช่น John Wayne Airport

- ส.น.ง. เชอริฟของเคาน์ตี้ (Sheriff-Coroner Department) ดูแลและอนุมัติงบประมาณ ประจำปี ถึง 800 ล้านเหรียญ

- ส.น.ง. สาธารณสุข (Health Care Agency) รวมถึง Health Inspection ที่เข้าตรวจสอบความสะอาดของร้านอาหาร

- กรมการบันทึกเอกสาร (Clerk-Recorder)

- ส.น.ง. ทนายความสาธารณะ (Public Defender) กรณีที่เราไม่มีเงินจ้างทนายเองในคดีอาญา ก็สามารถขอให้ ส.น.ง. นี้เป็นตัวแทนเราได้ฟรี รวมถึง Probation กรมคดีรอลงอาญา ที่ต้องดูแลผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินดำเนินคดีว่าผิดแล้ว ศาลอาจจะให้ลดโทษ รอลงอาญา ซึ้งต้องรายงานตัวกับกรมนี้

- ส.น.ง. สวัสดิการสังคม (Social Service Agency) ซึ่งดูแลคนที่ไม่มีอินชัวรันส์สุขภาพ ไม่มีเงินพอในการดำรงชีพ ออกบัตรให้ซื้ออาหาร (EBT) รับแจ้งคนแก่ที่ถูกทำร้าย ทรมาณ ถ้าเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ หรือกำพร้า ก็จะจัดหาที่อยู่ให้ เป็นต้น

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนซึ่งคุณมิเชล เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร 5 คน ที่จัดงบประมาณลงไปดูแล ถึง 5.6 พันล้านเหรียญ ต่อปี มีพนักงานกว่า 18,000 คน

ผมก็เลยคิดว่ามันน่าจะสนุก ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะหลังจากที่ผมดูแลเรื่องภาษีจากกรมสรรพากร/สรรพสามิตของรัฐแคลิฟอร์เนียมาเกือบ 30 ปี เรามีแต่เก็บเงินภาษีเพื่อพัฒนารัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ตอนนี้เรามีโอกาสมาดูแลว่าหน่วยงานเหล่านี้ เอาเงินภาษีที่เราเก็บได้มาใช้จ่ายอะไรบ้าง มีคนจาก ส.น.ง. ต่างๆ แบบผู้อำนวยการทั้งนั้น มาขอพบคุณมิเชล เพื่อขออธิบายโปรเจ็คท์ต่างๆ แล้วขอให้สนับสนุนงบประมาณให้ (Lobby) ผมก็มีโอกาสเข้าไปรับฟังในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส ได้รู้จักตัวเป้งๆ ทั้งนั้น เพราะคุณมิเชลฉลาด รู้ว่าผมชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากหน่วยงานเหล่านี้ จะได้รู้ว่าจะติดต่อใครถึงจะรู้ผลว่าเขาช่วยเหลือคนของเราจริงหรือเปล่า ซึ่งการทำงานก็คล้ายกับ Board of Supervisors ของแอลเอเคาน์ตี้เหมือนกัน แต่แอลเอมีเมืองในเคาน์ตี้ถึง 87 เมือง ดูแลงบถึง 14.7 พันล้านเหรียญต่อปี มีประชากรกว่า 10 ล้านคน

หน้าที่อีกอย่างที่สำคัญของคณะกรรมการบริหาร ก็คือการคัดเลือกประชาชนในเขตที่แต่ละกรรมการดูแลอยู่มาเป็นอนุกรรมการ (Commission) ในการเป็นหูเป็นตาให้กับกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นงานที่มีเกียรติ ถ้าหากคุณรู้ตัวว่ามีความรู้ความสามารถ และอยู่ในเขต 10 เมืองของคุณมิเชล คือ Buena Park, Costa Mesa, Cypress, Fountain Valley, Huntington Beach, LA Palma, Los Alamitos, Seal Beach, Stanton, Newport Beach ก็สามารถมาสมัครได้

อนุกรรมการ (Boards, Commissions and Committees) มีกว่า 80 อนุกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน มีโควต้าของคุณมิเชลเกือบทุกอนุกรรมการ ซึ่งผมดูรายชื่อก็ไม่เห็นมีคนไทยสักกะคน ถ้ามีใครรู้จักที่อยากเข้ามาเป็นอนุกรรมการที่เป็นผู้กำกับนโยบายของหน่วยงานใหญ่ๆ ของเคาน์ตี้ เช่น Airport Commission ดูแลการบริหารของสนามบิน, Assessment Appeals Board ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินในกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนขออุทธรณ์การลดภาษีที่ดิน อนุกรรมการชุดผู้นี้เป็นผู้ตัดสินลดหย่อนภาษีที่ดิน คอนโด บ้านได้เลย, Planning Commission ดูแลการขออนุญาตในการปลูกบ้าน ต่อเติมบ้าน และอื่นๆ แต่แน่นอนคนที่จะได้รับเลือกเป็นตัวแทนของคุณมิเชล ก็ต้องเป็นคนที่ท่านรู้จัก ไว้วางใจ และรู้จักทัศนคติ วิสัยทัศน์ของท่าน เพื่อจะได้ไปเป็นตัวแทนท่าน

คนไทยเรายังไม่รู้ถึงความสำคัญอันนี้ เราช่วยสนับสนุนนักการเมือง เราต้องขอเขาให้เลือกคนของเราเข้าไปนั่งเป็นอนุกรรมการเหล่านี้ จะได้ดูแลเป็นปากเสียงให้เราได้ อย่าเรียกนักการเมื่องเพื่อมาถ่ายรูป ขอเงินเรา แต่ไม่เคยช่วยคนของเราให้ได้ทำงานกับเขาของรัฐบาลมากขึ้น เช่นมาเป็นอนุกรรมการของซิตี้ ของเคาน์ตี้ หรือของสเตท เพราะนักการเมืองทุกระดับมีโควต้าในการแต่งตั้งได้

ก็มีคนไทยโทรเข้ามาปรึกษา บ้างก็มาหา ขอความช่วยเหลือตั้งแต่ ขับรถเมา ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ จากอดีตสามี ถูกจับอยู่ในคุกจะไปประกันตัวอย่างไร ซึ่งบางเรื่องก็มีเขียนในหนังสือของผมแล้ว ถ้าอยู่แอลเอ ก็หาซื้อได้ที่ร้านทองหล่อ ในตลาด LAX-C ไชน่าทาวน์ หรือร้านดอกหญ้า ในเขตออเร้นจ์เคาน์ตี้ ก็มีวางขายที่ตลาดไทยลาว ในเมืองแอนนาไฮม์ นะครับ ถ้ายังหาไม่ได้อีก ก็โทร 714-803-3333 ก็ได้ครับ

ส่วนเรื่องอื่นๆที่จะเล่ากันในอีกสองอาทิตย์ ก็ค่อยติดตามกันนะครับ แต่มีเรื่องด่วนวันนี้ จะเล่าให้ฟังเผื่อใครที่เป็นเบอร์ 1 (เมียหลวง) อยากทำตาม นางเชลลี่ สเตอร์ลิง (Shelly Sterling) อดีตเมียเก่าเจ้าของทีมบาสเก็ตบอล Clippers กับนายดอนัลด์ สเตอร์ลิง (Donald Sterling) อายุ 80 ปี เศรษฐีพันล้านชาวยิว กับกิ๊ก (Mistress) นางสาวV. Stiviano อายุ 31 ปี ลูกครึ่งแอฟริกัน-อเมริกัน กับฮิสแปนิค คบกันอยู่ 2 ½ ปี ขณะที่นายดอนัลด์ ยังแต่งงานกับนางเชลลี่อยู่ ได้ซื้อคอนโดในเมืองเบเวอร์ลี่ฮิลส์ 1.8 ล้านเหรียญให้ ซื้อรถให้ 3 คัน Ferrari, Bentley และ Range Rover รวมถึงของขวัญเพชรนิลจินดากว่า 3.6 ล้านเหรียญ เรื่องมันเกิดแตกเพราะนายดอนัลด์ปากเสีย ดันไปบอกกิ๊กทางโทรศัพท์เพราะบางคำพูดว่า “เธอไม่ควรคบหาสมาคมกับคนผิวดำนะ” กิ๊กอัดเทปไว้ แล้วคงจะขอเงินอะไรเพิ่มอีกไม่ได้ เลยจัดการส่งเทปต่อไปให้ใครต่อใครจนต้องขายทีม Clippers ไปในที่สุดถึง 2 พันล้านเหรียญ (2 Billion Dollar) ให้กับนาย Steve Bailmer, CEO เก่าของ Microsoft นายดอนัลด์ ซื้อทีม Clippers ในปี 1981 เพียง 12 ล้านเหรียญเท่านั้นเอง

เขานักบริหารการลงทุนยอดเยี่ยม แต่มาตายเพราะปาก นางเชลลี่ชนะคดีในศาลแพ่งวันที่ 15 เมษายนนี้ เรียกเงิน 2.6 ล้านเหรียญคืนจากกิ๊ก V. Stiviano โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า นายดอนัลด์ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาเงินระหว่างสมรส เรียกว่า สินสมรส (Community Property) มาปรนเปรอกิ๊กได้ กิ๊กก็รู้ว่าเขาแต่งงานแล้ว ดังนั้นก็ขอเตือนกิ๊กทั้งหลายว่า อย่าดีใจว่ามีเจ้าสัว อาเสี่ย มาเลี้ยงดู ซื้อรถ ซื้อบ้านให้ เพราะวันดีคืนดีเบอร์ 1 เขาจะขอเอาคืนได้ เพราะคุณสามีไม่เคยขออนุญาต และเบอร์ 1 ก็ไม่ยินยอม เป็นคดีตัวอย่าง… ถ้านำไปใช้ที่เมืองไทยได้ ก็คงจะดีนะครับ คดีมีผลบังคับหลังจาก 15 วันของวันตัดสิน ถ้าไม่มีการยื่นอุทธรณ์

แต่ผมรับรองว่า อุทธรณ์ก็แพ้ จะมาอ้างว่าเจ้าสัวซื้อของเหล่านี้ให้เอง รักนายดอนัลด์เหมือนพ่อ โดยไม่มีเซ็กส์มาเกี่ยวข้อง ต่อให้อมพระมาพูด ศาลท่านคงไม่เชื่อ กิ๊กเมืองไทยเรียกเจ้าสัวว่า ป๋าๆ ทั้งนั้น เหตุผลเพราะเมียหลวงเขาไม่รู้ไม่เห็น และก็ไม่ยอมด้วยต่างหาก


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย