Special Scoop



ปิดตำนานแอลเอเคาน์ตี้เชอริฟคนที่ 30… Sheriff Leroy “Lee” Baca

NO ONE IS ABOVE THE LAW… ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย! เป็นคำพูดที่เน้นย้ำในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2016 ของนาง Eileen Decker อัยการสูงสุดรัฐบาลกลาง สังกัดกระทรวงยุติธรรม U.S. Attorney เขต California, Central (ซึ่งเธอได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2015) ในการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับในการทำร้ายร่างกายผู้ถูกกักขัง และถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง ในเรือนจำของแอลเอเคาน์ตี้

นาง Decker มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และฟ้องอาญา บุคคลที่ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง การละเมิดสิทธิพลเมือง (Civil Rights Violations) มาเฟีย นักการเมือง และคดีพิเศษอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงข้ามรัฐ โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลกลางต่าง ๆ เป็นเครือข่ายช่วยหาหลักฐาน และมีความชำนาญ เช่น F.B.I., D.E.A., I.C.E., A.T.F., I.R.S., U.S. Marshals, U.S. Secret Service เป็นต้น

คดีที่ทำต้องเป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของอัยการท้องถิ่น แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องข้ามรัฐ การฟอกเงิน การฉ้อโกงภาษี การละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เช่น การจับนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ทำผิดกฎหมายของรัฐบาลกลางต่าง ๆ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่หลังจากประธานาธิบดีแต่งตั้งแล้ว ยังต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

ปัจจุบันมีอัยการสูงสุดของรัฐบาลกลางในเขตต่าง ๆ ถึง 94 เขต โดยอัยการสูงสุดเหล่านี้จะขึ้นตรงกับ U.S. Attorney General คือ นาย Jefferson “Jeff” Sessions ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และได้รับการรับรองจากสภา ฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017

สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐบาล เขต California, Central เป็นโจทย์ ฟ้องอาญากับ อดีตเชอริฟ ลี บาก้า ในคดีที่ให้การเท็จกับนักสืบของสำนักงานเอฟบีไอ ในปี 2013 ซึ่งมี 2 ข้อหาที่ทางเอฟบีไอยื่นฟ้อง ซึ่งต่อมาทางอดีตเชอริฟยอมรับสารภาพเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2016

1. กรณีปฏิเสธการย้ายสายลับ (นกต่อ) นายแอนโทนี่ บราวน์ ที่อยู่ในเรือนจำของแอลเอเคาน์ตี้ หลังจากที่รู้ว่าเขาเป็นผู้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ที่เข้าเยี่ยมเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2011

2. กรณีปฏิเสธการรับรู้ หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่เชอริฟไปข่มขู่ว่าจะจับกุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่เอฟบีไอถึงบ้าน ที่กำลังสอบสวนเรื่องการใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกักขังในเรือนจำของแอลเอเคาน์ตี้ เพื่อให้หยุดการดำเนินการในการสืบหาความจริงในการละเมิดสิทธิผู้ถูกกักขัง การกระทำการรุนแรงต่อผู้ถูกกักขัง และกับญาติของผู้ถูกกักขังที่พยายามจะเข้าเยี่ยม

ซึ่งการยอมรับผิดในคำให้การเท็จ ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง (Felony) ตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง มาตรา 18 U.S.C. Section 100 (A) (2) มีโทษจำสูงสุดถึง 5 ปี ปรับ $250,000

จากการต่อรองระหว่างอดีตเชอริฟ ลี บาก้า (Plea Bargain หรือ Plea Agreement) กับ ส.น.ง. อัยการสูงสุด ก็ตกลงกันว่า ทางอัยการจะเสนอให้ผู้พิพากษาลงโทษในสถานเบา คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และไม่มีค่าปรับ ซึ่งผู้พิพากษาของศาลรัฐบาลกลางได้ดูสำนวนทั้งหมด และความเหมาะสมกับบทลงโทษที่เสนอขึ้นโดยอัยการสูงสุด และได้มีการตัดสินบทลงโทษในวันที่ 16 พฤษภาคม 2016 นั้น ปรากฏว่าผู้พิพากษา ท่าน Percy Anderson ไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่า บทลงโทษที่เสนอมา มันน้อยไป เพราะขนาดรอง ผ.บ. เชอริฟ นาย Paul Tanaka ยังโดนผู้พิพากษาคนนี้ตัดสินจ๋าคุกในคดีเดียวกันนี้ถึง 5 ปี ท่านเชอริฟบาก้าจึงตัดสินใจขอต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหา โดยการกลับคำสารภาพเป็นการปฎิเสธทุกข้อหา

เดือนธันวาคม 2016 คณะลูกขุน (jurors) 12 คน ที่ถูกคัดเลือกมาทำหน้าที่เป็นผู้ฟังการว่าความของอัยการสูงสุดจากรัฐบาลกลาง และของทนายฝ่ายจำเลย ผลปรากฏว่า 11 คน ลงมติให้เชอริฟบาก้าไม่มีความผิดตามคำฟ้อง มีเพียงคนเดียวที่ว่าท่านผิด (ในคดีอาญา คณะลูกขุนทั้ง 12 คน จะต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ คือ 12 เสียง ว่าจำเลยถูกหรือผิด) จึงเกิดการ Deadlock หรือ Hung Jury ขึ้น… ดังนั้น อัยการมีสิทธิ์ที่จะไม่ฟ้องต่อ ถ้าคิดว่าหลักฐานไม่แน่นพอ หรือจะยื่นฟ้องใหม่อีกก็ได้ ถ้าคิดว่ามีโอกาสชนะ เรื่องก็เลยไม่จบเพราะอัยการสูงสุดเชื่อมั่นว่าเขาสามารถที่จะชนะคดีได้ ถ้ามีการนำคดีขึ้นศาลฟ้องอีก แถมยังมีการเพิ่มข้อหาใหม่อีก รวมเป็น 3 ข้อหา คือ

1. Conspiracy to obstruct justice การสมรู้ร่วมคิดในการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

2. Obstruction of justice การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

3. Making false statement to federal investigators ให้การเท็จกับเจ้าหน้าที่สืบสวนของรัฐบาลกลาง (F.B.I.)

ในการต่อสู้ครั้งที่สองนี้ คณะลูกขุนชุดใหม่ ทั้ง 12 คน ได้ตัดสินให้เชอริฟ ลี บาก้า ผิดทั้ง 3 ข้อหาข้างต้น และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2017 ผู้พิพากษาคนเดิม ท่าน Percy Andersonได้ลงโทษจำคุกเชอริฟ ลี บาก้า 3 ปี ปรับ 7,500 เหรียญ โดยย้ำว่า เชอริฟเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรที่รักษากฎหมาย จะปัดความรับผิดชอบในการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชามิได้ แต่ที่ลงโทษสถานเบานี้ เพราะเชอริฟได้รับใช้ชุมชนมาอย่างยาวนานถึง 49 ปี และยังมีโรคประจำตัวอีก คือโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) ผู้พิพากษายังได้สั่งให้เชอริฟรายงานตัวที่เรือนจำของรัฐบาลกลางเพื่อเริ่มรับโทษในวันที่ 25 กรกฎาคม 2017 เป็นการจบตำนานอดีตหัวหน้าเชอริฟอย่างน่าเศร้าสลด ท่านเป็นลูกหม้อของสำนักงานแอลเอเชอริฟ ปัจจุบันมีอายุ 74 ปี

ชุมชนไทยและผมรู้จัก และคุ้นเคยกับท่านเชอริฟ ลี บาก้า ตั้งแต่ปี 2000 ตอนที่ได้เข้าสมัครและจบเป็นตำรวจเชอริฟอาสา (Reserve Deputy Sheriff) โดยท่านมอบประกาศนียบัตรให้ ท่านได้ให้ความเป็นกันเอง และช่วยเหลือสังคมไทยมาโดยตลอด เช่น การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเชอริฟของชุมชนไทย การแปลเอกสารของหน่วยงานเชอริฟเป็นภาษาไทย การจัดทำเทปวิดิโอโดยให้ผมเป็นวิทยากร อธิบายการป้องกันภัยพิบัติให้กับชุมชนไทยผ่านสถานีโทรทัศน์ IPTV (ในอดีต) นอกจากนั้นท่านยังเข้าร่วมงานฉลองสงกรานต์ ปีใหม่ไทยเป็นประจำ สนับสนุนให้ผมเขียนบทความในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมให้กับชุมชนไทย และรณรงค์ให้คนไทยมาสมัครเป็นเด็ปปิตี เชอริฟ เป็นต้น


ประวัติของท่านโดยสังเขป

มารดาของท่าน ลี บาก้า เกิดที่เมือง Michoacán, Mexico เธอถูกพาเข้ามาในอเมริกาอย่างผิดกฎหมายตอนเธออายุ 1 ขวบ ต่อมามีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ ส่วนท่านบาก้านั้น เกิดที่อีสท์แอลเอ สมรสกับภรรยาคนแรก มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน แล้วก็เลิกรากัน ต่อมาปี 1999 สมรสกับนาง Carol Chiang อยู่กินกันมาจนถึงปัจจุบัน

1964 จบไฮสกูลที่ Benjamin Franklin High School - East LA

1964 เข้าเป็นทหารนาวิกโยธินอาสา - US Marine Corps Reserve

1965 สอบเข้าเป็นเด็ปปิตีเชอริฟ แอลเอเคาน์ตี้ (Deputy Sheriff) ทำงานในหลายกรม เช่น ทำงานในทัณฑสถาน, สายตรวจ, ฝ่ายบุคคล และเป็นครูฝึกเชอริฟ ทำอยู่รวม 16 ปี

1981 ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าสถานี (Captain) ที่เมือง Norwalk

1992 ได้เลื่อนเป็นผู้บังคับการเชอริฟ (Chief Deputy)

1998 ได้รับการเลือกตั้งเป็นเชอริฟของแอลเอเคาน์ตี้ คนที่ 30 ของแอลเอเคาน์ตี้เชอริฟ ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 160 ปี ท่านได้รับเลือกติดต่อกันถึง 4 สมัย สมัยละ 4 ปี จนถึงปี 2014 แต่ต้องตัดสินใจลาออกอย่างกะทันหันจากข่าวการทำร้ายผู้ที่ถูกกักขังและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดในเรือนจำในความรับผิดชอบของท่าน โดยทางเอฟบีไอได้เริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เชอริฟถึง 20 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย


การศึกษา

1971 ปริญญาตรี (Bachelor’s Degree, BA) จาก Cal State Los Angeles

1973 ปริญญาโท (Master of Public Administration - MPA) ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย U.S.C.

1993 ปริญญาเอก (Doctorate of Public Administration - PHD) ด้านการบริหาร นโยบาย และการพัฒนาองค์กร (Policy, Planning and Development) จาก U.S.C.


มูลเหตุของการถูกดำเนินคดี

2011- American Civil Liberties Union (A.C.L.U.) เป็นองค์กรอิสระที่เข้มแข็งมาก ไม่แสวงผลประโยชน์ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง (Non-Profit and Nonpartisan) เป็นเอ็นจีโออิสระ คอยรักษาสิทธิของประชาชนในด้านมนุษยธรรม การเหยียดผิว เพศ ศาสนา โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิของคนชั้นล่างที่ไม่สามารถต่อสู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งทาง A.C.L.U. ได้รับการร้องเรียนจากญาติของผู้ถูกกักขังในทัณฑสถานของแอลเอเคาน์ตี้ ว่าได้ถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่เชอริฟที่ดูแล และมีการปกปิดกีดกันเมื่อผู้ถูกกักขังได้ทำเรื่องร้องเรียน โดยแจ้งว่ามีการทำเป็นกระบวนการ ผู้ต้องขังบางรายสามารถนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าไปได้ เช่น ยาเสพติด โทรศัพท์มือถือ โดยการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่เชอริฟบางคนที่ดูแลในเรือนจำเหล่านี้ ที่ทาง ส.น.ง. เชอริฟ โดยมีท่าน ลี บาก้า เป็น ผู้บัญชาการในขณะนั้น ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด

แต่กระแสข่าวการถูกซ้อมของผู้ถูกกักขัง ก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทาง A.C.L.U. ได้ตัดสินใจส่งเรื่องให้กับกระทรวงยุติธรรม (U.S. Dept. of Justice) เพื่อขอให้เข้าสอบสวน โดยกระทรวงยุติธรรมได้มอบเรื่องให้กับทาง Federal Bureau of Investigation (F.B.I.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในเครือข่าย มีเจ้าหน้าที่หลายแขนงในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหาต่าง ๆ นี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการสอบสวนเชิงลึก แบบลับสุดยอด เรียกว่า ยุทธการ “Operation Pandora’s Box” (การเปิดกล่องแห่งความชั่วร้าย) ซึ่ง F.B.I. ได้ใช้ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำที่ดาวน์ทาวน์ ชื่อ นาย แอนโทนี่ บราวน์ ที่ต้องคดีร้ายแรง คือปล้นธนาคาร เป็นนกต่อ… คอยส่งข้อมูล บอกชื่อของเจ้าหน้าที่ พร้อมภาพถ่าย ที่กระทำการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกักขัง และส่งให้กับ F.B.I. Agent ที่ไปเยี่ยมเป็นรายสัปดาห์ โดยนายบราวน์สามารถให้สินบนเจ้าหน้าที่บางคน เพื่อเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปถ่ายรูปในสถานที่กักขังได้อีกด้วย

อีกไม่นานต่อมา ทาง ส.น.ง. เชอริฟ ได้รับทราบจากการรายงานของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ถึงการกระทำของนายบราวน์ที่เป็นนกต่อ ส่งข้อมูลให้กับตำรวจของ F.B.I. ทำให้ทางเชอริฟไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ทางเอฟบีไอมาก้าวก่ายการทำงานของ ส.น.ง. เชอริฟ ก็เลยรีบย้ายนายบราวน์ไปอยู่เรือนจำอื่น โดยเปลี่ยนชื่อนักโทษให้นายบราวน์ด้วย เพื่อไม่ให้เอฟบีไอเอเจ้นต์มาติดต่อเยี่ยมเพื่อเอาข้อมูลได้อีก ทางเชอริฟยังจัดเจ้าหน้าที่ถึง 13 คน ดูแลนายบราวน์ตลอด 24 ช.ม. เพื่อไม่ให้มีการติดต่อกับเอฟบีไออีก ตามสำนวนคดีที่ยื่นฟ้องศาลของเอฟบีไอนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทั้ง 13 คนนี้ ได้รับจดหมายขอบคุณผ่านทางอีเมล จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ส.น.ง. เชอริฟ รวมถึงเบอร์ 2 คือ รองเชอริฟ Undersheriff Paul Tanaka ในการร่วมมือดูแลนายบราวน์ แต่เชอริฟ ลี บาก้า บอกว่าเขาย้ายนายบราวน์เพื่อความปลอดภัยของนายบราวน์เองเป็นกรณีพิเศษ แล้วยังส่งเจ้าหน้าที่เชอริฟไปถึงบ้านของ F.B.I. Agent ที่เป็นผู้ประสานงานกับนายบราวน์ เหมือนกับเป็นการข่มขู่คุกคาม เพื่อให้ยุติการสืบสวนของ F.B.I. โดยพลัน แต่ทาง F.B.I. ได้รวบรวมหลักฐานมากพอสมควร โดยได้เริ่มฟ้องและจับกุมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึง 20 คน ซึ่ง 11 คน ได้ถูกตัดสินจากคณะลูกขุนว่าผิดในข้อหาต่าง ๆ เช่น ในการละเมิดสิทธิของผู้ถูกคุมขัง (Civil Right Violations) พยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) และการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอันควร (Excessive Force) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นถึงรองเชอริฟ Paul Tanaka ก็ถูกจำคุกถึง 5 ปี

เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ให้พวกเราที่อยู่ในประเทศนี้ว่า ไม่มีใครจะอยู่เหนือกฎหมายได้ ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนและมาจากไหน ต้องปลงให้ได้ว่า ไม่มีอะไรหรือใครที่จะอยู่ยั่งยืนค้ำฟ้า มีขึ้นก็มีลง มีเกิดก็มีดับ มีสุขก็มีทุกข์ เพียงแต่ว่าที่นี่มีมาตรฐานเดียว กฎหมายที่นี่จึงศักดิ์สิทธิ์ ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นการเน้นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นแน่นอนที่สุด!


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย