ชาวสวนเวอร์จิเนียคิดเงินลูกค้าแบบ 'แล้วแต่ให้' เพราะเชื่อในความซื่อสัตย์
เจ้าของสวนรายหนึ่งที่นำสินค้ามาขายที่ตลาดขายผักผลไม้ที่เมืองวอร์เรนตันรัฐเวอร์จิเนีย นำความคิดที่ไม่เหมือนใครมาดึงดูดลูกค้า
อัลวิน เฮนรี เชื่อว่า หากบอกลูกค้าให้จ่ายเงินตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม ลูกค้าจะใช้ความซื่อสัตย์ในการซื้อผักผลไม้ของเขา
ผลปรากฏว่า เกษตรกรรายนี้บอกว่าน้อยครั้งมากที่เขารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ และบางครั้งได้เงินมากกว่าที่เขาคาดไว้ด้วย
ลูกค้ารายหนึ่งที่ชื่อลินดา ไรท์บอกกับวีโอเอว่า "ฉันนึกว่าตัวเองฝันไป" เมื่อรู้ว่าเจ้าของร้านปล่อยให้ลูกค้าจ่ายเงินตามที่เห็นว่าเหมาะสม
คุณลินดาบอกว่า เธอรู้สึกว่ายิ่งต้องให้เงินผู้ขายเพิ่ม เพราะรู้สึกประทับใจในความเชื่อใจลูกค้าของเจ้าของสวนรายนี้
ดาร่า วีเบอร์ ลูกค้าอีกรายหนึ่ง กล่าวว่าเธอชอบในความยืดหยุ่นของระบบนี้ เพราะหากว่าเธอไม่มีเงินสดพอในการจับจ่ายวันนี้ เธอก็จะสามารถจ่ายเกินในวันหน้าได้
จุดเริ่มต้นของ "ระบบซื่อสัตย์" นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เมื่อครั้งที่ คุณอัลวิน เฮนรี เจ้าของฟาร์ม ไม่มีเวลาเก็บเงินลูกค้าและให้พวกเขาวางเงินเองก่อนเดินออกจากร้าน
และเมื่อเวลาผ่านไป ระบบดังกล่าวนอกจากจะประหยัดเวลาคุณอัลวินแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งด้วย
จอน เฮนรี ลูกชายของอัลวินบอกว่านี่คือสิ่งพิเศษของสังคมชนชทในอเมริกา ที่ผู้คนในชุมชนเชื่อใจกันและกัน
กำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ ถูกดัดแปลงเป็นสนามเด็กเล่น 'กระดานหก'
กำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ ถูกดัดแปลงเป็นสนามเด็กเล่น หลังสถาปนิกและศิลปินร่วมกันติดตั้ง 'กระดานหก' เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคนสองฟากฝั่งกำแพง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่านโยบายกีดกันชายแดนส่งผลต่อคนอีกฝั่งอย่างไม่มีทางเลี่ยง
โรนัลด์ ราเอล สถาปนิกและศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ และเวอร์จิเนีย ซาน ฟราเทลโล รองศาสตราจารย์สาขาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยซานโจเซในสหรัฐฯ พร้อมด้วยคอลเลกติโว โชเปเก ศิลปินชาวเม็กซิกัน ร่วมกันติดตั้งกระดานหก หรือไม้กระดก ที่กำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก ระหว่างเมืองซันแลนด์ในมลรัฐนิวเม็กซิโกและเมืองอนาปรา มลรัฐซิวดัดฮัวเรซ ช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และไม้กระดกได้รับความนิยมจากเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้กับแนวชายแดนดังกล่าว ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และเม็กซิโก
ราเอลให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เอ็นพีอาร์ถึงความตั้งใจในการติดตั้งไม้กระดกดังกล่าวที่กำแพงกั้นชายแดนทั้งสองประเทศ โดยระบุว่าแนวคิดนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009 หลังจากที่สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายสนับสนุนการติดตั้งรั้วเหล็กกั้นชายแดนเม็กซิโก แต่ยังไม่มีโอกาสพัฒนาต่อ จนกระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น
ล่าสุด ศาลสูงสหรัฐฯ อนุมัติให้รัฐบาลใช้งบประมาณทางการทหารในการสร้างกำแพงกั้นชายแดน ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ถือเป็นการยกระดับมาตรการกีดกันตามแนวชายแดน สกัดผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศแถบละตินอเมริกา ซึ่งมักจะใช้พรมแดนเม็กซิโกเป้นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ และทรัมป์เคยกล่าวว่า ผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้เป็นอาชญากรและ 'นักข่มขืน' แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งยืนยันว่า ชาวละตินอเมริกันจำนวนมากเป็นผู้ที่ต้องได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย
ราเอลและซานฟราเทลโลไม่ได้กล่าวต่อต้านนโยบายของทรัมป์ เพราะเขาให้เหตุผลว่า โครงการนี้ถูกคิดขึ้นตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่การติดตั้งไม้กระดกนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งหนึ่ง ย่อมส่งผลต่ออีกฝั่งหนึ่ง เช่นเดียวกับไม้กระดกที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่อยู่ตรงปลายแต่ละด้าน
ราเอลได้โพสต์วิดีโอขณะเด็กๆ ในสหรัฐฯ และเม็กซิโกเล่นไม้กระดกร่วมกัน แม้จะมีกำแพงกั้น แต่ก็ยังสามารถส่งเสียงหัวเราะและสนุกด้วยกันได้ และมอริชิโอ มาร์ติเนซ นักแสดงชาวเม็กซิกัน ได้นำวิดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ ทำให้มีผู้เข้าไปชมวิดีโอดังกล่าวมากกว่า 3.2 ล้านครั้ง หลังโพสต์วิดีโอไปได้ราว 3 วัน และมีคนจำนวนมากแสดงความชื่นชมโครงการดังกล่าวว่าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองฝั่ง แม้ว่านโยบายที่รัฐบาลบังคับใช้จะเป็นคนละเรื่องกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการดังกล่าวมีด้านมืดซ่อนอยู่ เพราะในขณะที่โครงการได้รับคำชื่นชมว่าเป็นการสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองด้าน แต่กลับไม่ยอมพูดถึงการบังคับใช้นโยบายของทั้งสองรัฐบาล
รัฐบาลทรัมป์เตรียมใช้กฎใหม่สกัด 'ใบเขียว' คนต่างด้าวที่ได้รับสวัสดิการรัฐ
กฎเกณฑ์ใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปฏิเสธการให้กรีนการ์ด แก่คนต่างด้าวที่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกัน กำลังจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องยากที่คนต่างด้าวฐานะยากจนจะได้รับสถานะการพำนักอาศัยและทำงานถาวรอย่างถูกต้องในสหรัฐฯ
กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดว่าผู้ที่จะได้รับกรีนการ์ด หรือใบแสดงสถานะการพำนักอาศัยและทำงานอย่างถาวรในสหรัฐฯ ต้องพิสูจน์ได้ว่าจะไม่เป็นภาระของรัฐบาล
แต่กฎเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะเพิ่มขอบเขตของโครงการสวัสดิการของรัฐที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะได้กรีนการ์ด หรือใบเขียว ซึ่งรวมถึง โครงการอาหาร ที่อยู่อาศัย และประกันสุขภาพสำหรับคนรายได้ต่ำ
ซึ่งหมายความว่า ต่อไปเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลเมืองสหรัฐฯ และคนต่างด้าว หรือ USCIS จะต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการสังคม การศึกษา รายได้ครัวเรือน และสุขภาพ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้กรีนการ์ดต่อผู้ที่สมัครคนนั้นหรือไม่ เป็นกรณีไป
กฎเกณฑ์ที่เรียกว่า public charge ฉบับใหม่นี้ ระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับสวัสดิการจากโครงการของรัฐ 1 โครงการขึ้นไป เป็นเวลานานกว่า 12 เดือนในช่วงเวลา 36 เดือนที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จะไม่สามารถขอกรีนการ์ดได้ และหากได้รับสวัสดิการจากสองโครงการภายใน 1 เดือน จะถูกนับรวมเป็น 2 เดือนด้วย
ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว มีคนต่างด้าวในอเมริกาสมัครขอกรีนการ์ดราว 544,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ราว 382,000 คนที่ต้องถูกพิจารณาภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้
เคน คุชชิเนลี รักษาการผู้อำนวยการ USCIS ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่นี้ต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ โดยบอกว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนการพึ่งตนเองในหมู่ผู้ที่ต้องการพำนักอาศัยและทำงานอย่างถาวรในสหรัฐฯ และเพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่ผู้ได้รับกรีนการ์ดกลายเป็นผู้พึ่งพาสวัสดิการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอนาคต
รักษาการผู้อำนวยการ USCIS กล่าวว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้จะไม่กระทบต่อโครงการรับคนเข้าเมืองจากเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่ให้แก่ผู้ลี้ภัย และยังยกเว้นต่อเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์หรือความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการขอกรีนการ์ดให้แก่สมาชิกในครอบครัวโดยพลเมืองสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ระบุว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในความพยายามที่อุกอาจที่สุดของรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ในการสกัดกั้นคนต่างด้าวในอเมริกา และเป็นการผลักดันไปสู่ระบบการคัดกรองคนเข้าเมืองโดยพิจารณาที่ทักษะความรู้เป็นหลัก มากกว่าการให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน
องค์กร Immigration Coalition ในนครนิวยอร์ก ซึ่งให้คำปรึกษาแก่องค์กรด้านคนเข้าเมืองกว่า 200 แห่ง บอกว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้เกิดจากความหวาดกลัวชาวต่างชาติ และเป็นการพยายามจำแนกกลุ่มทางสังคม ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้
ขณะที่ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่คนเข้าเมืองในสหรัฐฯ ระบุว่าจะฟ้องรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ที่ใช้กฎเกณฑ์ใหม่นี้เพื่อสกัดกั้นคนต่างด้าวที่ยากจน และเอื้อประโยชน์ให้คนผิวขาวและคนร่ำรวย
นอกจากนี้ นักวิจารณ์เกรงว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้จะยิ่งสกัดกั้นบรรดาคนต่างด้าวที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และยังทำให้ผู้ถือกรีนการ์ดและผู้ที่ได้รับสถานะพลเมืองสหรัฐฯ ไม่กล้าไปขอรับสวสัดิการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้พวกตนไม่ได้อยู่อาศัยในอเมริกาอีกต่อไป
มาอีกลูก! นาซ่าจับตาดาวเคราะห์น้อย ขนาดเท่าบิ๊กเบนพุ่งเฉียดโลก
มาอีกลูก! นาซ่าจับตาดาวเคราะห์น้อย – วันที่ 13 ส.ค. เอ็กซ์เพรสส์รายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการระบบขับเคลื่อนไอพ่น หรือเจพีแอล ขององค์การบริหารการบินและอวกาศประเทศสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า จับตาดาวเคราะห์น้อย “พีเจ” เตรียมพุ่งผ่านโลกในวันที่ 16 ส.ค.นี้
เจพีแอล คาดว่า ดาวเคราะห์น้อย พีเจ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 99 เมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าหอนาฬิกาบิ๊กเบนของอังกฤษ กำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วกว่า 5 หมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะมีระยะห่างจากโลกเพียง 4 ล้านก.ม. เท่านั้น (ถือว่าใกล้มากในสเกลระดับจักรวาล)
นอกจากนี้ เจพีเอล ยังตรวจพบว่า จะมีดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่จะลอยผ่านโลกไปในระยะใกล้เคียงกันในวันที่ 17 ส.ค. แต่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 19 เมตรเท่านั้น มีรหัสว่า พีเอ็น22
สนามบินฮ่องกงเปิดให้บริการตามปกติแล้ว คนไทยตกค้างกำลังทยอยเดินทางกลับ
(13 ส.ค.) เฟซบุ๊ก Royal Thai Consulate-General, Hong Kong ระบุว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ได้รับแจ้งจากการท่าอากาศยานฮ่องกงว่า ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินของทุกสายการบินตามปกติแล้วในวันนี้ (13 ส.ค. 62) อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านติดตามข่าวสารและประกาศของการท่าอากาศยานฮ่องกงอย่างใกล้ชิดที่ https://www.hongkongairport.com/en/
ในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งว่า คนไทยบางส่วนที่ตกค้างจากการยกเลิกเที่ยวบินเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 62 ได้ทยอยเดินทางกลับไทยแล้ว ซึ่งเที่ยวบินแรกที่ให้บริการบินกลับไทยคือ Hong Kong Airlines เมื่อเวลา 06.55 น. และ Cathay Pacific เวลา 08.55 น. โดยในส่วนของการบินไทย ได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินตามปกติ เริ่มตั้งแต่เที่ยวบินที่ TG601 เวลา 12.45 น.
สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแนะนำให้คนไทยทุกคนประสานทางสายการบินอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบสถานะของเที่ยวบิน และโปรดเผื่อเวลาในการเดินทางไปที่ท่าอากาศยานและการ check-in เนื่องจากมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ สามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน (+852) 6821 1545 หรือ (+852) 6821 1546
มีรายงานว่า ทางด้าน สายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินขาออกจากประเทศไทยไปยังฮ่องกงสามารถเดินทางได้ตามปกติแล้วเช่นกัน
• เที่ยวบิน FD508 จะบินในเวลา 06.30 น.
• เที่ยวบิน FD 504 จะบินในเวลา 15.25 น.
• เที่ยวบิน FD 502 จะบินในเวลา 17.40 น.
ส่วนขาเข้าในประเทศจากฮ่องกง มายังประเทศไทย
• เที่ยวบิน FD 509 จะถึงไทยเวลา 12.35 น.
• เที่ยวบิน FD505 จะถึงไทยเวลา 21.45 น.
• เที่ยวบิน FD503 จะถึงไทยเวลา 23.50 น.
บริจาคร่าง : ธุรกิจรับบริจาคร่างกายในสหรัฐฯ ช่องว่างกฎหมายที่นำไปสู่การค้าอวัยวะ
ชายชาวอเมริกันรายหนึ่งบริจาคร่างไร้วิญญาณของแม่ให้แก่ศูนย์วิจัยทางชีวภาพเพื่อโรคอัลไซเมอร์ แต่พบในภายหลังว่า ร่างกายของผู้เป็นมารดาถูกนำไปใช้ทดสอบระเบิด
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 ในสหรัฐฯ เอฟบีไอบุกเข้าตรวจสอบที่ศูนย์รับบริจาคที่ชื่อว่า "ศูนย์วิจัยทางชีวภาพ" ตั้งอยู่ในรัฐแอริโซนา ซึ่งรับบริจาคร่างกายผู้เสียชีวิต แต่จากการเข้าค้น กลับพบชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์หลายร้อยชิ้น ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ถูกปิดและโดนตั้งข้อหาค้าชิ้นส่วนมนุษย์
ในการเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เจอชิ้นส่วนมนุษย์แช่แข็ง 10 ตัน ในจำนวนนี้นับเป็นชิ้นส่วนอวัยวะได้ 1,755 ชิ้น ได้แก่ หัวมนุษย์ 281 ชิ้น หัวไหล่ 241 ชิ้น ขา 337 ชิ้น และกระดูกสันหลัง 37 ชิ้น
รายละเอียดของร่างกายที่บริจาค แต่ถูกนำไปทดสอบระเบิดถูกเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากเอกสารทางคดีของศาลซึ่งระบุว่า ญาติคนหนึ่งของผู้ที่บริจาคร่างฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศูนย์วิจัยฯ โดยเชื่อว่า จะถูกนำไปศึกษาวิจัยโรคอัลไซเมอร์ แต่ทราบในภายหลังว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้ใช้ร่างเป็นตัวทดสอบอานุภาพของระเบิด
จิม สตัฟเฟอร์ ลูกชายของหญิงวัย 73 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มาตลอดชีวิต ระบุว่าหลังมารดาเสียชีวิตแพทย์บอกเขาว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าโรคอัลไซเมอร์ของมารดาอาจมีอาการกลายพันธุ์ของโรคจึงต้องการศึกษาสมองเพื่อเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์
แต่ภายหลังแพทย์ด้านระบบประสาทระบุว่า ไม่สามารถรับร่างไว้ได้ เขาจึงติดต่อศูนย์วิจัยฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าค้าชิ้นส่วนมนุษย์มารับร่างของแม่ และยืนยันว่า ไม่ได้ระบุให้ศูนย์ฯ นำร่างไปใช้ทดสอบด้วยวิธีที่เกี่ยวข้องกับการระเบิด
มีข้อมูลบันทึกว่า ตั้งแต่ปี 2005-2014 ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ รับบริจาคร่างผู้ตายประมาณ 5,000 ศพ และแยกชิ้นส่วนของศพมากกว่า 20,000 ชิ้น
ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ร่างของมารดาชายชาวสหรัฐฯ รายนี้เป็นเพียงหนึ่งในร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกขายให้กับตัวแทนของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการทดลองทางการทหาร
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่าศูนย์วิจัยฯ ได้หลอกหลวงว่าชิ้นส่วนมนุษย์เหล่านี้ได้รับความยินยอมจากผู้บริจาคแล้วว่าจะถูกนำมาเพื่อการทดสอบที่ทำให้ร่างถูกทำลาย
ช่องว่างทางกฎหมายของการบริจาคร่างในสหรัฐฯ
ในสหรัฐฯ การบริจาคอวัยวะถูกรับรองอย่างถูกต้องโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่การบริจาคร่างกายที่เสียชีวิตยังเป็นอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้การซื้อขายร่าง ถือว่าเป็นอาชญากรรม แต่เมื่อมีผู้เสียชีวิตและต้องมีการจัดการศพ ก็มีการอนุโลมให้สามารถเก็บ "ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล" โดยเป็นค่าใช้จ่ายของการขนย้าย การขนส่งโลงใส่ศพ รวมไปถึงการกำจัดศพ
ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลนี้เอง ที่เป็นช่องว่างที่ทำให้ธุรกิจจัดการศพสามารถจัดการศพตามวิธีที่แต่ละแห่ง
มีการคาดการณ์ว่า ชาวอเมริกันหลายพันคนบริจาคร่างเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางการแพทย์ โดยเชื่อว่าเป็นการทำเพื่อการกุศล
ศูนย์รับบริจาคร่างของมหาวิทยาลัย ใช้ร่างของผู้บริจาคให้นักศึกษาแพทย์ศึกษา เช่นที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเปิดเผยขั้นตอนและวัตถุประสงค์การใช้ร่างอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ก็มีศูนย์ที่ใช้ร่างในการศึกษาทางนิติเวชศาสตร์ เช่นที่ศูนย์วิจัยมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเทนเนสซี ทำการวิจัยร่างกายมนุษย์ที่ตายแล้ว หรือที่รู้จักกันว่า "ฟาร์มศพ"
แบรนดิ ชมิทท์ ผอ. ศูนย์บริการด้านภายวิภาคแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ผู้ที่บริจาคร่างกายต้องแน่ใจว่าหน่วยงานที่รับบริจาคมีจุดประสงค์ในการนำร่างไปทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา คณะกรรมการกายวิภาคของรัฐ หรือบริษัทเอกชนก็ตาม เขายังกล่าวอีกว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันผู้บริจาคและผู้ที่ทำด้านการวิจัยทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีกฎหมายว่าด้วยการบริจาคอวัยวะของผู้เสียชีวิตที่กำหนดบุคคลที่สามารถทำการบริจาคอวัยวะแทนได้ การเปลี่ยนแปลง ระงับความยินยอมในการบริจาค รวมไปถึงประเภทของการนำอวัยวะไปใช้งาน เช่น การปลูกถ่าย การรักษา หรือการวิจัย แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ระบุว่าก็ยังมีไม่ครอบคลุมถึง การเปิดเผยความยินยอม การนำอวัยวะเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง การติดตามการนำร่างไปใช้ และวิธีการที่หน่วยรับบริจาคจะจัดการกับร่างผู้เสียชีวิตหลังเสร็จสิ้น