ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ทีมวิจัยศึกษาการยืดออกของเวลาในเอกภพยุคแรก

ปรากฏการณ์ “การยืดออกของเวลา” (Time Dilation) เป็นสิ่งท้าทายการศึกษาค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์มาช้านาน ลองคิดถึงภาพยนตร์ที่ตัวละครเดินทางไปนอกโลกกับยานความเร็วสูง เมื่อวันหนึ่งเขากลับมายังโลกก็พบว่าครอบครัว เพื่อนฝูงต่างเฒ่าชแรแก่ชราและจากโลกนี้ไป หรือลองกลับไปหาหนังแอนิเมชันเรื่อง “ไลท์เยียร์” (Lightyear) ที่บัซ ไลท์เยียร์ ทดสอบการบินไฮเปอร์สปีดหลายครั้ง ซึ่งผลที่ได้มาคือเวลาชีวิตของเขาเดินช้ากว่าคนอื่น เมื่อกลับมาพบเพื่อนฝูงในแต่ละครั้ง ชายหนุ่มก็เห็นว่าคนเหล่านั้นสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดทีมวิจัยที่นำโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในออสเตรเลีย เผยผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับ “การยืดออกของเวลา” ในเอกภพหรือจักรวาล โดยใช้การสังเกตหลุมดำที่มีระดับความรุนแรงที่เรียกว่า “ควาซาร์” (quasar) ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นวัตถุที่มีแสงสว่างมหาศาลและมีพลังงานมากมาย มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์หลายล้านถึงพันล้านเท่า แลคล้ายดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง อยู่ห่างไกลจากโลกมาก โดยปกติจะอาศัยอยู่ที่ใจกลางของกาแล็กซี พวกมันกลืนกินสสารที่อยู่รายรอบด้วยแรงดึงดูดอันมหึมา และปลดปล่อยกระแสรังสีรวมถึงลำอนุภาคพลังงานสูง มีสสารเรืองแสงหมุนรอบตัวมัน

ทีมวิจัยได้ใช้ควาซาร์เป็น “นาฬิกา” เพื่อวัดเวลาในอดีตอันไกลโพ้น โดยสังเกตความสว่างของควาซาร์ 190 แห่งทั่วจักรวาล ย้อนหลังไปถึง 1,500 ล้านปี หลังจากเหตุการณ์บิ๊กแบง ที่เป็นทฤษฎีกำเนิดเอกภพและเปรียบเทียบความสว่างของควาซาร์เหล่านี้ที่ความยาวคลื่นต่างๆ กับความสว่างของควาซาร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทีมพบว่าความผันผวนบางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆในปัจจุบัน เกิดขึ้นช้ากว่าควาซาร์ที่เก่าแก่ที่สุดถึง 5 เท่า สิ่งนี้ชี้ว่าเวลาและอวกาศเกี่ยวพันกัน และเอกภพก็ขยายตัวตั้งแต่บิ๊กแบง นั่นจึงเป็นไปตามทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ตไอน์สไตน์.


‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ คืนถิ่น ภารกิจเชื่อมสัมพันธ์ ‘ไทย-ศรีลังกา’

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังคงมีเรื่องให้ได้ลุ้นกันตลอดเวลาจนหลายคนละเหี่ยใจ ข่าวดีๆ ที่สร้างความสุขให้กับคนไทยในช่วงที่ผ่านมาข่าวหนึ่งคือการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่ไปทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี ในศรีลังกา มานานกว่า 20 ปีกลับสู่ประเทศเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งจากการตรวจสอบอาการเบื้องต้นของสัตวแพทย์พบว่า ขาหน้าซ้ายงอไม่ได้ ตาขวาเป็นต้อกระจก มีปัญหาที่เล็บและฝ่าเท้า ทั้งยังพบแผลฝีที่สะโพกทั้งสองข้าง

โดยรวมตั้งแต่ไปอยู่ที่ศูนย์วิจัยและเฝ้าระวังโรค สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พลายศักด์สุรินทร์ก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่อาจอ่อนเพลียจากการเดินทางข้ามประเทศ ค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับควาญของออป. ที่ล้วนแต่เป็นควาญมากฝีมือได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่ระหว่างการฝึกให้เข้าใจภาษาไทย ได้ใช้ชีวิตแบบสบายๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง และค่อยๆ ให้การรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ต่อไป

การนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านเกิด ได้ปลุกกระแสความไม่พอใจต่อการปฎิบัติต่อช้างไทยในศรีลังกา มีเสียงเรียกร้องให้นำพลายประตูผาและพลายศรีณรงค์ ช้างไทยอีก 2 เชือกที่ยังอยู่ในศรีลังกากลับไทยมาให้หมด แต่ก็เป็นเช่นที่ท่านทูตพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับมติชนว่า ภารกิจในการนำศักดิ์สุรินทร์กลับไทยนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทางการศรีลังกาในทุกระดับ เป็นความพยายามร่วมกัน หรือ collective effort อย่างแท้จริง

ในฐานะที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังศรีลังกาและเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เฝ้าดูภารกิจสำคัญในการพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านด้วยตนเอง สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้และสัมผัสคือชาวศรีลังกาจำนวนมากก็ให้ความสนใจกับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทยเช่นเดียวกัน มีคนศรีลังกาที่มาบอกแสดงความเสียใจพร้อมกับขอโทษที่ไม่สามารถดูแลช้างไทยได้ดีจนต้องนำเขากลับมารักษาตัวในไทย และมีชาวศรีลังกาจำนวนมากที่หอบลูกจูงหลานพร้อมกับบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวพากันมายังสวนสัตว์เดฮิวาลา ที่พลายศักดิ์สุรินทร์มาพักรอขณะตกมันและยังใช้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว เพื่อมาร่วมอำลาพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นครั้งสุดท้าย

แม้แต่ในวันเดินทางกลับที่ต้องมีการขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ในเวลาราวเที่ยงคืน บนถนนหน้าสวนสัตว์ที่ไม่ได้กว้างใหญ่นัก ก็มีชาวศรีลังกาจำนวนมากรวมทั้งสื่อมวลชนศรีลังกาที่มาร่วมส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาจะได้เห็นจะเป็นเพียงกรงเหล็กขนาดใหญ่ที่มีเพียงสติกเกอร์รูปพลายศักดิ์สุรินทร์ติดอยู่ด้านนอกเท่านั้นก็ตาม

ทางการศรีลังกาได้จัดรถตำรวจนำขบวนและรถตำรวจเพื่อปิดท้ายรถขนกรงขนาดใหญ่ ที่มีรถของทีมสัตวแพทย์และควาญช้าง รวมถึงรถของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ของไทยที่มุ่งหน้าไปยังสนามบิน มีการจัดวางกำลังตำรวจในทุกๆ สี่แยกที่ขบวนรถจะเคลื่อนผ่านตลอดเส้นทางจนถึงสนามบิน เพื่อให้แน่ใจว่าการเดินทางไปยังสนามบินเป็นไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย

ภารกิจการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านจะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทางการศรีลังกา ตั้งแต่ครั้งแรกที่ท่านทูตพจน์ได้ติดต่อกับสำนักงานประธานาธิบดีศรีลังกา นายกรัฐมนตรีทิเนศ คุณวรรเทนะ ของศรีลังกา ถึงกับมาเป็นประธานการประชุมระหว่างสถานทูตไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของศรีลังการด้วยตัวเอง สมเด็จพระสังฆราชของศรีลังกา ตลอดจนเจ้าอาวาสวัดคันเดวิหาร ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พลายศักดิ์สุรินทร์ในศรีลังกา ที่เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทยเพื่อรักษาอาการป่วยเรื้อรัง

กว่าจะมาถึงวันที่พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับบ้านเกิด ณ สนามบินเชียงใหม่

อย่างที่ทุกคนได้เห็น มีผู้อยู่เบื้องหลังมากมายที่ทำงานกันอย่างเต็มที่และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแข่งกับเวลา ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยในศรีลังกาทุกคน ข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และผู้คนอีกมากมายที่พร้อมจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ “งานช้าง” ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งรวมถึงความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพลายศักดิ์สุรินทร์เอง ขนาดที่สัตวแพทย์หลายคนที่เข้าร่วมในภารกิจนำช้างกลับบ้านครั้งนี้ถึงกับออกปากว่า พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างที่สุภาพและเชื่องอย่างยิ่ง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับศักดิ์สุรินทร์เป็นผลจากการดูแลที่ขาดความรู้ของควาญช้างและคนไม่กี่คน เราไม่ควรไปตีความว่านั่นคือแนวปฏิบัติของคนศรีลังกากับช้างทั้งหมด หรือไปกล่าวโทษประเทศศรีลังกาว่าไม่ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เช่นที่ท่านนายทิเนศได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับมติชนว่า ศรีลังกาให้การดูแลช้าง แต่ไม่มีโรงพยาบาลหรือการดูแลโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหมือนในไทย

ซึ่งศรีลังกาหวังว่าไทยจะมีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้มาให้ศรีลังกาในอนาคต

แนวคิดของนายกรัฐมนตรีทิเทศในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งใจที่จะให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และออป. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศรีลังกา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ช้างไทยอีก 2 เชือกที่อยู่ในศรีลังกาเท่านั้น แต่จะช่วยให้การดูแลช้างทั้งใหมดในศรีลังกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ทั้งยังสอดคล้องกับที่คณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย Peradeniya ในเมืองแคนดี ซึ่งเป็นคณะสัตวแพทย์เพียงแห่งเดียวในศรีลังกา ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาพยาบาลช้างกับไทยเช่นกัน

สิ่งที่พูดได้คือภารกิจที่กินเวลาเกือบ 1 ปีในครั้งนี้ ไม่ได้ง่าย เต็มไปด้วยปัญหาให้ต้องปรับแก้กันไปตลอดทาง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และที่สำคัญที่สุดคือด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจระหว่างไทย-ศรีลังกา “งานช้าง” ครั้งนี้จึงผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย

นับเป็นภารกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือบนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองชาติอย่างแท้จริง


2 นวัตกรรมเพื่อการรักษา 'มะเร็ง' เพิ่มโอกาสหายขาด – ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

'มะเร็ง' เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด เพราะหลายคนคิดว่าโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะไม่มีทางรักษาหายและทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ

ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานี เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ศึกษาวิจัยนวัตกรรมการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลแบบใหม่ ที่เรียกว่า Cancer Vaccine และ Cancer Avatar เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสหายขาด และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง เป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เหมาะกับผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการรักษาหลักตามมาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น แต่ผลการรักษายังไม่ดีขึ้น

นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึง 2 นวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งว่า การรักษาด้วย Cancer Vaccine เป็นการนำโปรตีนเซลล์มะเร็งที่ได้จากก้อนมะเร็งของผู้ป่วยมาสกัดเป็นวัคซีนแบบจำเพาะบุคคลเพื่อช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวในร่างกายรู้จักหน้าตาของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย และเมื่อใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะทำให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกายในระดับไมโครซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อดีของการรักษาด้วย Cancer Vaccine คือ เป็นการรักษาที่จำเพาะ เพราะผลิตมาจากโปรตีนจำเพาะบนผิวเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย, มีผลข้างเคียงน้อยมาก เพราะกลไกการทำงานเน้นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็ง ดังนั้น เซลล์ปกติในร่างกายจะไม่ถูกทำลายไปด้วย, เมื่อใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น, ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากสามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือในระดับไมโครซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาได้

ส่วนการรักษาด้วย Cancer Avatar คือ กระบวนการทดสอบการตอบสนองต่อยาก่อนที่จะใช้ในผู้ป่วยจริง วิธีการคือตัดชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นตัวแทนมะเร็งของผู้ป่วยจริงๆ จากนั้นจึงนำมาทดสอบกับยารักษาแต่ละสูตรเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์มะเร็ง ก่อนเริ่มใช้ยากับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจและความแม่นยำในแนวทางการรักษาขั้นต่อไปได้

ข้อดีของการรักษาด้วย Cancer Avatar คือ สามารถทดสอบประสิทธิภาพของยากับเซลล์มะเร็งที่เป็นตัวแทนของก้อนมะเร็งในร่างกายผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ ก่อนนำไปให้ผู้ป่วยจริง ช่วยให้สามารถเลือกยาที่มีอัตราการตอบสนองสูงสุดให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น, เพิ่มความมั่นใจในแนวทางการรักษาให้กับผู้ป่วยมะเร็ง สามารถเลือกยาที่มีประสิทธิภาพสูง และลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นได้, เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจรหัสพันธุกรรมมะเร็งมาใช้ร่วมกัน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่แม่นยำและเหมาะสมกับรอยโรคมากที่สุด


เครียด-พักผ่อนน้อย ระวัง 'โรคปลายประสาทอักเสบ' ทำ 'ปากเบี้ยว' ไม่รู้ตัว

มดดำ คชาภา อัปเดตอาการ 'ปากเบี้ยว' เป็นอาการที่เป็นเกี่ยวกับ 'โรคปลายประสาทอักเสบ' ซึ่งเกิดจากความเครียดและพักผ่อนน้อย

หลังจาก มดดำ คชาภา มีอาการปากเบี้ยวผิดปกติ ขณะกำลังดำเนินรายการแฉ ที่เจ้าตัวคิดว่าเกิดจากการรักษาฟัน ล่าสุด มดดำก็ได้ออกมาอัปเดตอาการดังกล่าวที่หลายคนเป็นห่วง โดยระบุข้อความว่า อาการปากเบี้ยวที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวกับการรักษาฟัน แต่เป็นอาการที่เป็นเกี่ยวกับโรคเส้นประสาท คู่ที่ 7 อักเสบ ซึ่งเกิดจากความเครียดและพักผ่อนน้อย จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้าเบี้ยวครึ่งซีกอย่างที่เห็น

สาเหตุของการ โรคปลายประสาทอักเสบ อาการ และวิธีการรักษาโรคนี้กันค่ะ

โรคปลายประสาทอักเสบ พบได้ในคนที่มีอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น ได้แก่

ผู้ป่วยเบาหวาน

ทำงานหนักพักผ่อนน้อย

ดื่มสุราหรือแอลกอฮอลล์เป็นประจำ

สูบบุหรี่

รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่

ร่างกายขาดวิตามินบางชนิด เช่น บี 1 บี 6 และ บี 12

รับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท

ในร่างกายของคนเรา ระบบประสาทส่วนปลายจะทำหน้าที่รับคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลาง แล้วส่งต่อคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกได้ ระบบประสาทส่วนปลายจะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นสายไฟฟ้าในการนำคำสั่งไปตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งเส้นประสาทส่วนปลายที่ออกจากสมองมี 12 คู่ซ้ายและขวา แต่ละคู่ควบคุมการทำงานในแต่ละส่วนของร่างกายที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไป

ลักษณะของอาการผิดปกติที่พบ เมื่อมีการอักเสบของ โรคปลายประสาทอักเสบ ต่างๆ

ถ้าเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ส่วนหนึ่งของอาการนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในช่วงที่ร่างกายทำงานหนัก พักผ่อนน้อย

ถ้าเกิดการอักเสบ จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เกิดอาการบ้านหมุน ตามมา บางรายได้ยินเสียงแว่วในหู หรือมีอาการหูดับ

ถ้าเกิดการอักเสบ มักจะพบในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน อาการที่พบบ่อย คือ เห็นภาพซ้อนแนวใดแนวหนึ่ง

หากเกิดการอักเสบ จะมีอาการปวดเสียว ปวดแปร๊บๆ บนใบหน้า ลักษณะอาการคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต มักเกิดอาการด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า

แนวทางการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคเส้นประสาทอักเสบได้เบื้องต้น คือ

พักผ่อนให้เพียงพอ

กินอาหารให้ครบ 5 หมู่

เลิกดื่มแอลกอฮอล์

งดสูบบุหรี่

ปรับรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ให้เครียดมากเกินไป

หากพบอาการผิดปกติแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาให้ถูกต้อง และเหมาะสม เนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาทบางตำแหน่งมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบางชนิด เมื่อได้รับการแก้ไข ได้รับวิตามินเสริมให้เพียงพอ ก็ทำให้หายจากอาการได้ บางกรณีต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งการรักษาที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้หายจากอาการที่สร้างความเจ็บปวดและรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นไปอย่างปกติขึ้น

ข้อมูล : โรงพยาบาลสินแพทย์


ขี้หลง 'ขี้ลืม' ปัญหาสำคัญใน 'ผู้สูงอายุ' แพทย์แนะวิธีแก้ไขไว้ให้ดังนี้

ใครๆ ก็มองว่า ผู้สูงอายุสมองจะเสื่อมลง ความจำไม่ดี ขี้หลง 'ขี้ลืม' แต่แท้จริงแล้ว 'ผู้สูงอายุ' สามารถรักษาให้สมองทำหน้าที่เป็นปกติได้อีกนาน ถ้าเข้าใจวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ถูกต้อง

คนทั่วๆ ไป มักจะเข้าใจว่า เมื่ออายุมากแล้วสมองจะเสื่อมลง ความจำไม่ดี ขี้หลง ขี้ลืม หมดความคิดความอ่าน ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ดี ช่วยตัวเองไม่ได้ ฯลฯ แต่แท้จริงแล้ว ผู้สูงอายุ สามารถรักษาให้สมองทำหน้าที่เป็นปกติได้อีกนาน ถ้าเข้าใจวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ถูกต้อง

แล้วในส่วนของสมองเราจะดูแลอย่างไร ให้ยั่งยืนยาวนาน วันนี้ แพทย์ประจำโรงพยาบาลรามคำแหง มีเคล็ดไม่ลับที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ มาแนะนำคุณผู้อ่าน กันด้วย

สำหรับเคล็ดไม่ลับในการดูแลสมองให้ยั่งยืนยาวนาน คือ การดูแลสุขภาพ เพราะสุขภาพของร่างกายจะมีผลต่อสมองอย่างมาก โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ จึงควรดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญคือ อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ผู้สูงอายุ มักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่ม เพราะเคยชินต่อการรับประทานอาหารด้วยปริมาณที่เคยได้รับ วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการเผาผลาญในร่างกายน้อย ดังนั้น อาหารที่เพิ่มขึ้นจึงไปพอกพูนเป็นไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนี้อาจจะทำให้ เป็นเบาหวาน และหรือมีไขมันไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดผ่านไปสมองไม่สะดวก

ผู้สูงอายุควรจะต้องกำหนดอาหารที่บริโภคแต่ละครั้งให้น้อยลง และอย่ากินแต่อาหารที่ตัวเองชอบ

การทำกิจกรรมเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีโดยการเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน รำมวยจีน ว่ายน้ำ ฯลฯ และงานอดิเรกบางอย่างเช่น ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ออกงานรื่นเริงบันเทิงต่างๆ พบปะเพื่อนฝูงที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน การเล่นเกม การอ่านหนังสือ เย็บปักถักร้อยซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม และอาการขี้หลง ขี้ลืม ได้อย่างดีทีเดียว

สุดท้ายคือ การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ผู้สูงอายุควรจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถตรวจพบความผิดปกติบางอย่างได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดโรคหรืออาการนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการรักษาได้ก่อนที่จะสายเกินแก้นั่นเอง

...ถ้าสามารถดูแลสุขภาพของร่างกายได้ครบทั้งหมดตามที่หมอบอกย่อมส่งผลให้สมองยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานต่อไปได้อีกยาวนานทีเดียว...