ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 23 เมษายน 2565

องค์การสวนสัตว์ฯประสบความสำเร็จ ฟื้นฟูเหล่าประชากร…‘นกกระสาคอขาว’

“นกกระสาคอขาว” เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนี้ หรือ ไม่เคยรู้จักมาก่อน ประเทศไทยของเรา มีนกในวงศ์นกกระสา (Family Ciconiidae) ประมาณ 10 ชนิดใน 5 สกุล (Genus) ซึ่งทั้งหมดถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

“นกกระสาคอขาว” เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนี้ หรือ ไม่เคยรู้จักมาก่อน วันนี้ โครงการรักษ์กระสาจะพาไปรู้จักเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นเดิมประเทศไทยของเรา มีนกในวงศ์นกกระสา (Family Ciconiidae) ประมาณ 10 ชนิดใน 5 สกุล (Genus) ซึ่งทั้งหมดถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในจำนวนนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของประเทศไทย (Extirpated in Thailand) 2 ชนิด คือ นกกระสาคอดำ และนกตะกราม ส่วนนกกระสาคอขาวที่เป็นตัวละครหลักที่เราจะมาเล่าให้ฟังในครั้งนี้กับผองเพื่อนกระสาอีกบางชนิด เช่น นกกระสาปากเหลือง กับ นกกระสาคอขาวปากแดง กำลังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในกลุ่มนกกระสาที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันและมีสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติตามประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP) และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) รวมถึงมีแนวโน้มการลดลงหรือสูญพันธุ์ ของประชากรอย่างต่อเนื่องในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่านกกระสาคอขาวในธรรมชาติของประเทศไทยเหลือเพียง 2-4 ตัวเท่านั้น และไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในธรรมชาติของประเทศไทย ตลอดช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา

นกกระสาคอขาว ชื่อภาษาอังกฤษคือ “Asian Wooyneck” หรือ “Woolly-necked Stork” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ciconia episcopus” ถึงแม้จะถูกเรียกว่า “นกกระสาคอขาว” แต่ไม่ได้มีสีขาวเฉพาะแค่ที่คอ แต่จะมีขนสีขาวที่ท้องและก้นด้วย ลักษณะเด่นชัดคือมีขนคอเป็นปุยสีขาว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “woolly” ลักษณะสำคัญอื่น ๆ ของนกกระสาคอขาวที่มีเช่นเดียวกับนกกระสาอื่น ๆ คือ มีขายาว สีออกส้มแดง จะงอยปากยาวสีดำ ปลายปากสีน้ำตาลแดงคอยาว มีวงปีกกว้าง เวลาบินขาจะเหยียดตรงไปทางด้านท้าย เมื่อยืนจะสูงประมาณ 86-95 เซนติเมตร หน้าผากและขนที่หัวมีสีดำ ขอบบนหนังตาสีเหลือง กินแมลง กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่อาศัยที่ค่อนข้างหลากหลายเป็นอาหาร

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รวมถึงมหาวิทยาลัยบูรพา และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก) ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาวและการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวอย่างเงียบ ๆ มานานหลายปี ซึ่งต่อมาได้ทำการทดลองปล่อยนกกระสาคอขาวที่ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ในสภาพการเพาะเลี้ยงและผ่านการฟื้นฟูพฤติกรรมคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มรดกโลก ดินแดนแห่ง “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัทแปซิฟิค เฮลธ์ แคร์ จำกัด เพื่อให้นกกระสาคอขาวที่เป็นนกกระสาขนาดกลางที่แทบไม่พบแล้วในธรรมชาติของประเทศไทยได้ฟื้นฟูประชากรขึ้นได้ใหม่อีกครั้ง ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีการใช้กระบวนการศึกษาวิจัยและใช้เวลานานหลายสิบปีจึงประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกกระสาคอขาวจากจำนวนไม่กี่ตัว จนมีฐานประชากรนกกระสาคอขาวที่มั่นคง มีจำนวนมากพอและมีองค์ความรู้ที่จะจัดทำโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อกู้วิกฤติก่อนการสูญพันธุ์ครั้งนี้ รวมถึงคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และสร้างต้นทุนให้กับพื้นที่ธรรมชาติที่ทำการปล่อยสำหรับสรรพชีวิตต่าง ๆ

พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นบ้านแห่งใหม่ให้กับนกจำนวน 14 ตัวนี้มีนกเพศผู้ 2 ตัว รับบทนำเครื่องระบุพิกัดตำแหน่ง GPS ขนาดเล็กติดตัวไปด้วย และแล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่านกกระสาคอขาวทั้ง 14 ตัว ที่กล้าแกร่งมากเพียงพอแล้วจึงได้เริ่มออกโบยบินสู่ธรรมชาติอันกว้างใหญ่เป็นครั้งแรกของชีวิต ถึงตอนนี้แม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการออกเดินทางอันแสนยาวไกลของเหล่านกกระสาคอขาว แต่ทีมงานวิจัยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวและพันธมิตรกลุ่มเล็ก ๆ นี้ก็หวังว่าคนไทยทุกท่าน จะช่วยกันส่งกำลังใจให้กับนกกระสาคอขาวตัวน้อย ที่เป็นกลุ่มตัวแทนของพี่น้องนกกระสาคอขาวอีกหลายสิบชีวิตที่กำลังอยู่ระหว่างการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างขะมักเขม้น ในการเข้าต่อสู้กับวิกฤติได้รับโอกาสในการอยู่รอด มีการแพร่กระจายตั้งต้นเผ่าพันธุ์ใหม่ในบ้านตามธรรมชาติของพวกเค้าได้อีกครั้ง และขอให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสังคมที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นของปวงชนชาวไทยสืบต่อไป


ตัวอย่างดวงจันทร์จาก “ฉางเอ๋อ-5” ช่วยให้เข้าใจ “การผุพัง” ในอวกาศ

ซินหัว รายงานว่าสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนเปิดเผยว่าตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่นำกลับมายังโลกโดย ภารกิจฉางเอ๋อ-5 ของจีน ช่วยให้คณะนักวิจัยเข้าใจผลกระทบของละติจูดต่อ การผุพังในอวกาศ (space weathering) บนดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น

ผลกระทบของอุกกาบาตขนาดเล็ก และรังสีลมสุริยะซึ่งเป็นกระบวนการผุพังในอวกาศส่วนใหญ่ได้ดัดแปลงองค์ประกอบและพื้นผิวขนาดเล็กส่วนใหญ่ของดินบนดวงจันทร์

คณะนักวิจัยอธิบายคุณสมบัติการผุพังในอวกาศของแร่ธาตุต่างๆ จากเศษหินบะซอลต์ของตัวอย่างจากดวงจันทร์ โดยสังเกตพบว่าคุณสมบัติการผุพังขึ้นอยู่กับชนิดของแร่นั้นๆ

การศึกษาดังกล่าวนำโดย นายหลิน หยางถิ่ง และ นายหลี่ จินหัว จากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และร่วมมือกับนักวิจัยจีนหลายคน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจดหมายงานวิจัยธรณีฟิสิกส์

คณะนักวิจัยใช้ชุดวิธีวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลทางสัณฐานวิทยา (morphological) การศึกษาแร่ (mineralogical) และผลึกศาสตร์ (crystallographic) จากเศษหินบะซอลต์ชิ้นหนึ่งของตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ โดยแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ปรากฏอยู่บนผิวเม็ดดิน

นายกู่ ลี่ซิน นักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และผู้เขียนรายงานวิจัยคนแรก กล่าวว่าความเข้าใจกระบวนการและกลไกการผุพังในอวกาศอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของวัตถุพื้นผิวดวงจันทร์และสภาพแวดล้อมในอวกาศ

การศึกษานี้ยังพบว่าดินจากดวงจันทร์ที่นำกลับโลกโดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 นั้นไม่มีความแตกต่างทางโครงสร้างขนาดเล็กที่มีนัยสำคัญจากตัวอย่างที่เก็บมาโดยภารกิจอะพอลโลของสหรัฐฯ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเล็กน้อยที่ขึ้นอยู่กับละติจูดต่อการผุพังในอวกาศบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 กลับสู่โลกเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2563 โดยเก็บตัวอย่างดวงจันทร์รวม 1,731 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและดินบนพื้นผิวดวงจันทร์


“โซลาร์เซลล์” โผล่เรียงรายบนเนินเขาในกว่างซีจ้วงของจีน

โครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ บนภูเขาในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน เตรียมใช้งานอย่างเป็นทางการ

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองไป่เซ่อ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 100 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างในตำบลเจียงเฉิง อำเภอเถียนตง เมืองไป่เซ่อ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ซือเจี้ยนหรง เจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง กล่าวว่า การก่อสร้างเริ่มต้นเดือน ก.ค. 2564 ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,250 ไร่ ใช้เงินทุนรวม 570 ล้านหยวน ( ราว 3,020 ล้านบาท ) และจะผลิตไฟฟ้า 171 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยเตรียมเริ่มเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้า ในปลายเดือน เม.ย.

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อำเภอเถียนตงได้ดึงดูดเงินทุนหลายประเภทอย่างแข็งขัน เพื่อลงทุนในโครงการพลังงานใหม่และส่งเสริมการก่อสร้างโครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และยานพาหนะพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นไปตามการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA


จีนเตรียมส่งลูกเรือชุดใหม่ไปสถานีอวกาศเทียนกง ในเดือนมิ.ย.นี้

รัฐบาลจีนประกาศแผน เตรียมส่งนักบินอวกาศชุดใหม่ 3 คน ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกง ในเดือน มิ.ย. นี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่าสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) เผยแพร่แถลงการณ์ เกี่ยวกับรายละเอียดเบื้องต้น ของภารกิจในอนาคตบนสถานีอวกาศเทียนกง คือภารกิจ “เสินโจว-14” มีกำหนดออกเดินทางในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมลูกเรือ 3 คน มีกำหนดประจำการในอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อประกอบโมดูลอีก 2 ชิ้น เข้าสู่สถานีอวกาศเทียนกง...

ทั้งนี้ จีนส่งชิ้นส่วนหลักของสถานีอวกาศเทียนกง คือ “เทียนเหอ” เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ขณะที่ชิ้นส่วนหลักอีกสองชิ้น ที่ลูกเรือของภารกิจเสินโจว-14 มีหน้าที่ต้องประกอบ คือ โมดูล “เวิ่นเทียน” ซึ่งจะมีการส่งในเดือน ก.ค. นี้ และตามด้วย “เมิ่งเทียน” ในเดือน ต.ค.

การประกาศดังกล่าวของซีเอ็นเอสเอเกิดขึ้น หลังลูกเรือ 3 คนจากภารกิจ “เสินโจว-13” เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกงมานาน 6 เดือน นานที่สุดเป็นสถิติใหม่ โดยทำลายระยะเวลาประมาณ 90 วัน ของภารกิจเสินโจว-12 ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2564

สำหรับลูกเรือ 3 คนของภารกิจเสินโจว-13 ได้แก่ นายไจ๋ จื้อกัง นายเย่ กวงฟู่ วัย และ น.ส.หวัง ย่าผิง ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน ในภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติ และเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน ซึ่งปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศด้วย

โครงการสถานีอวกาศของจีนคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของรัฐบาลปักกิ่ง หลังสามารถส่งยานสำรวจไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ และเดินทางกลับถึงโลกได้อย่างปลอดภัย เมื่อปลายปี 2563 ซึ่งซีเอ็นเอสเอวางแผนให้สถานีอวกาศโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 15 ปี โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในปีนี้ พร้อมทั้งยืนยันเปิดรับความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES


นักโบราณเผยคดีหลักฐานเก่าแก่ของปฏิทินพยากรณ์ชาวมายา

แหล่งโบราณคดีซาน บาร์โตโล ในป่าทางตอนเหนือของกัวเตมาลา มีชื่อเสียงจากการค้นพบจิตรกรรมฝาผนังชาวมายา ที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในยุคก่อนคลาสสิกของชาวมายา ครอบคลุมตั้งแต่ 400-250 ปีก่อนคริสตกาล ยุคนี้นับเป็นรากฐานการเบ่งบานของวัฒนธรรมมายาในยุคคลาสสิกในเวลาต่อมา

การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีซาน บาร์โตโลเมื่อปี 2544 นักวิจัยได้พบเศษชิ้นส่วนฝาผนังราว 7,000 ชิ้น บางชิ้นก็เล็กเท่าเล็บมือ บางชิ้นก็มีใหญ่กว่า ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ชิ้นส่วนผนังเหล่านี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังวาดอยู่ และเป็นของกลุ่มโครงสร้างขนาดใหญ่เรียกว่า Las Pinturas ที่ชาวมายาสร้างขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

และบ่อยครั้งที่ชาวมายาจะสร้างของใหม่ทับซ้อนของเก่า โครงสร้างก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ Las Pinturas มีลักษณะซ้อนเป็นชั้นเหมือนหัวหอม หากเจาะเข้าไปถึงชั้นในสุดก็จะพบโครงสร้างและภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเก่าแก่ได้ ทั้งนี้ ทีมได้วิเคราะห์เศษผนัง 11 ชิ้นที่เจอในช่วงปี 2545-2555 พบว่ามีชิ้นส่วน 2 ชิ้นเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว แสดงถึงสัญลักษณ์วันที่เรียกว่า “7 Deer”

ซึ่งหลังการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีก็พบว่า 2 ชิ้นส่วน “7 Deer” มีอายุระหว่าง 300-200 ปีก่อนคริสตกาล ปฏิทินนี้มี 260 วัน ประกอบด้วยตัวเลข 13 ตัว และ 20 วันที่มีสัญลักษณ์ต่างกัน เช่น กวาง อย่างไรก็ตาม 260 วันไม่ได้รวมกันเป็นปี แต่เป็นวัฏจักรคล้ายกับสัปดาห์ 7 วัน

และเมื่อพิจารณาแล้วทีมวิจัยคาดว่า “7 Deer” อาจเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของปฏิทินมายา หรือแม้กระทั่งอาจเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนเมโซอเมริกาก็เป็นได้.