ยาน ‘กระต่ายหยก-2’ ของจีน ท่อง ‘ด้านไกล’ ดวงจันทร์ ทะลุ 1,000 ม.แล้ว
ศูนย์โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน เผย ยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ กระต่ายหยก-2 หรือ 'อวี้ทู่-2' เคลื่อนที่บนด้านไกลของดวงจันทร์เกิน 1,000 เมตรแล้ว
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ศูนย์โครงการอวกาศและการสำรวจดวงจันทร์ สังกัดองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยเมื่อ 7 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า 'อวี้ทู่-2' หรือ 'กระต่ายหยก-2' ซึ่งเป็นยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ของยานสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ได้เคลื่อนที่บนด้านไกลของดวงจันทร์ (ด้านตรงข้ามกับด้านของดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลก) คิดเป็นระยะทาง 1,003.9 เมตรแล้ว เมื่อถึงเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี (6 ม.ค. 65)
ยานอวี้ทู่-2 บันทึกภาพสิ่งที่คลุมเครือแต่น่าสนใจ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 80 เมตร ระหว่างการปฏิบัติภารกิจวันที่ 36 บนดวงจันทร์ โดยสิ่งดังกล่าวดูมีรูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ทางขอบฟ้าทิศเหนือ ถัดจากหลุมอุกกาบาตยัง (young) ซึ่งกลายเป็นภาพที่จุดกระแสความสนใจและถกเถียงกันบนโลกออนไลน์
ยานอวี้ทู่-2 ได้เข้าใกล้วัตถุลึกลับประมาณ 10 เมตร กล้องพาโนรามาบนยานฯ ได้ถ่ายภาพสีของวัตถุข้างต้น โดยคณะนักวิจัยสันนิษฐานว่าวัตถุนั้นอาจเป็นก้อนหิน ซึ่งบังเอิญมากที่วัตถุนั้นดูเหมือนกระต่ายหยก
ทั้งนี้ ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศวันที่ 8 ธ.ค. 2561 ได้ลงจอดอย่างนุ่มนวลบนปากปล่องภูเขาไฟฟอน คาร์เมน (Von Karman Crater) บริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) บนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562
ปัจจุบันยานอวี้ทู่-2 กำลังปฏิบัติภารกิจวันที่ 38 บนดวงจันทร์ และยังคงอยู่ในสภาพปกติดี โดยมีแผนการตรวจดูหินดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และตรวจจับหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังหินในลำดับถัดไป สำหรับระยะเวลาบนโลกกับดวงจันทร์นั้น แตกต่างกัน โดย 1 วัน และ 1 คืนบนดวงจันทร์ เทียบเท่ากับ 14 วัน และ 14 คืนบนโลก.
ขอบคุณ ข้อมูลและภาพ : Xinhuathai
ตะลึง อังกฤษพบฟอสซิล "มังกรทะเลยักษ์" จากช่วงต้นยุคไดโนเสาร์ 250 ล้านปีก่อน
ซากฟอสซิลความยาวกว่า 10 ม.โผล่ขึ้นจากดินโคลน ระหว่างการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่อังกฤษ นักบรรพชีวินวิทยาไปตรวจสอบพบว่าคือ "มังกรทะเลยักษ์" นักล่าแห่งท้องทะเลโลกดึกดำบรรพ์
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นักบรรพชีวินวิทยาในอังกฤษ เปิดเผยการค้นพบฟอสซิล "มังกรทะเล" หรือ "อิกทิโอซอรัส" (Ichthyosaur) อดีตนักล่าใหญ่ที่สุดแห่งท้องทะเล ในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อช่วง 250 ล้านปีก่อน และสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน
โดยฟอสซิลนี้มีขนาดยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน คาดว่าตัวนี้อาจมีอายุเก่าแก่ประมาณ 180 ล้านปี เป็นซากฟอสซิลขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งที่นักบรรพชีวินวิทยาเคยขุดพบมา
บริเวณนี้เป็นอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติรัตแลนด์ ใกล้เมืองเลสเตอร์ ซึ่งนายโจ ดาวิส เจ้าหน้าที่กองทุนสัตว์ป่ารัตแลนด์ ซึ่งทำงานอยู่ที่นี่ได้ค้นพบซากฟอสซิลโผล่ขึ้นมาจากโคลน ระหว่างการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำตามปกติ เมื่อเดือนก.พ. ปีที่แล้ว จากนั้นก็เริ่มมีการสำรวจ และทำการขุดตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา
นักบรรพชีวินวิทยาบอกว่า ที่น่าทึ่งคือ เป็นการพบซากฟอสซิลทั้งตัว ส่วนหัว ลำตัวและหาง ถือเป็นหนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์บรรพชีวินวิทยาของอังกฤษเลยทีเดียว โดยระบุว่ามังกรทะเลมีฟันขนาดใหญ่ และมีดวงตาใหญ่ รูปร่างของมันดูคล้ายโลมาขนาดยักษ์ เชื่อว่ามังกรทะเลตัวใหญ่ที่สุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25 เมตร
เชื่อว่ามันต้องสูญพันธุ์ไปพร้อมกับสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อื่นๆ หลังจากอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ตกมายังโลก หรืออาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอดีต ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาให้นักบรรพชีวินวิทยาทำการศึกษาเรื่อยมา.
BBC
ดาวเทียมอิสราเอล‘เทาแซต-3’ เริ่มทดสอบเทคโนโลยีป้องกัน‘รังสีคอสมิก’
11 มกราคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (TAU) เปิดเผยว่าเทาแซต-3 (TauSat-3) ดาวเทียมของอิสราเอลซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันระบบในอวกาศจากรังสีคอสมิก ได้เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) อย่างปลอดภัยแล้ว
เทาแซต-3 ซึ่งมีขนาดเท่ากับกล่องรองเท้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อทดสอบเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า “คอตส์-แคปซูล” (COTS-Capsule) ซึ่งเป็นเทคนิคสำหรับการตรวจจับและลดความเสียหายจากรังสีคอสมิกที่มีต่อระบบต่างๆ ในอวกาศ
คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาลัยฯ ออกแบบและสร้างดาวเทียมดังกล่าว โดยดาวเทียมนี้จะประจำการและปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยปัจจุบันดาวเทียมดังกล่าวกำลังดำเนินการเชื่อมต่อกับสถานีภาคพื้นโลก
คณะนักวิจัยเผยว่าคอตส์-แคปซูลจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์สมัยใหม่สามารถใช้งานในอวกาศได้ด้วยการผนวกปกรณ์เหล่านั้นในไว้สภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้อง
คณะนักวิจัยระบุว่าปัจจุบัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นจะต้องผ่านการดัดแปลงโดยเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงรังสี ทว่าการป้องกันโดยคอตส์-แคปซูลจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการดัดแปลง
“เทคนิคนี้จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยสามารถใช้งานได้เลย ทั้งประหยัดเวลาในการพัฒนาและประหยัดต้นทุนผลิตภัณฑ์อวกาศได้อย่างมีนัยสำคัญ” คณะนักวิจัยกล่าว
ทั้งนี้ ดาวเทียมเทาแซต-3 ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ก่อนจะถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วยยานคาร์โก ดรากอน ซี209 (Cargo Dragon C209)
อะไรก็เป็นไปได้! ‘เล่นหิมะ’กลางทะเลทรายใหญ่สุดของจีน
11 มกราคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน เมืองเหอเถียน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายทากลิมากัน ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นเมืองที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนตกน้อย และไม่มีหิมะตกในช่วงฤดูหนาว
ด้วยเหตุนี้ พื้นที่หลายแห่งในเมืองเหอเถียนจึงได้เปิดสกีรีสอร์ตริมทะเลทรายโดยการสร้างหิมะเทียมขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทางตอนใต้ของซินเจียง ซึ่งอาศัยอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นและมีหิมะปกคลุม เข้ามาสัมผัสกับกิจกรรมกีฬาน้ำแข็งและหิมะกันอย่างสนุกสนาน
สกีรีสอร์ตอู่อีน่าเค่อ ซึ่งตั้งอยู่รอบนอกของอำเภอโม่อวี้ เป็นสกีรีสอร์ตแห่งแรกของเมืองเหอเถียนที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากจากการจัดกิจกรรมความบันเทิงหลากหลาย อาทิ การเล่นสกี การขับรถสโนว์โมบิล และการขี่อูฐ โดยช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สกีรีสอร์ตแห่งนี้รองรับนักท่องเที่ยวสูงสุดเกือบ 1,800 คนต่อวัน
"ธารน้ำแข็งทเวตส์" อาจละลายใน 3 ปี กับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น 65 ซม.ทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผย "ธารน้ำแข็งทเวตส์" (Thwaites Glacier) ธารน้ำแข็งที่กว้างที่สุดในโลกอาจพบจุดจบภายในไม่เกิน 10 ปี หรือไวที่สุดภายในอีก 3 ปีนี้เท่านั้น
"ธารน้ำแข็งทเวตส์" (Thwaites Glacier) อยู่ทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งคนทั่วโลกรู้จักกันในอีกชื่อว่า "ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก" (Doomsday Glacier) เพราะเป็นธารน้ำแข็งนี้มีขนาดความกว้างมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 120 กิโลเมตร หรือขนาดพอ ๆ กลับประเทศสหราชอาณาจักร และ เกาะฟลอริดาสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากธารนี้ละลายจะส่งผลต่อการยกระดับน้ำทะเลครั้งใหญ่ของโลก
รายงานล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ The International Thwaites Glacier Collaboration (ITGC) ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธารน้ำแข็งแห่งนี้ที่อาจเกิดขึ้นภายใน 5-10 ปี หรือเร็วกว่านั้นเป็นไปได้ว่าอาจพบจุดจบภายในเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งแม้ครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการร์ว่าสถานการณ์ "วันโลกาวินาศ" เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นภายในอีกหลายศตวรรษ แต่ด้วยข้อมูลล่าสุด ธารน้ำแข็งทเวตส์กำลังตอบสนองต่อโลกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว มันกำลังละลายอย่างรวดเร็ว และกำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งสะท้อนว่ามันกำลังย่นระยะเวลาการละลาย ส่วน "วันโลกาวินาศ" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธารน้ำแข็งทเวตส์แตกสลายและปล่อยน้ำทั้งหมดลงสู่มหาสมุทร เมื่อนั้นระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 65 เซนติเมตร
ทำไมธารน้ำแข็งทเวตส์ถึงละลายเร็วขึ้นเช่นนี้?
ปกติ "ธารน้ำแข็งทเวตส์" จะไหลไปบรรจบทะเลแล้วเริ่มละลายเมื่อพบกับกระแสน้ำที่อุ่นจากน้ำทะเล แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่า นอกเหนือจากการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งแล้ว น้ำทะเลลึกลงไปภายใต้ธารน้ำแข็งยังอุ่นขึ้นด้วยทำให้ภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเลและภูเขาน้ำแข็งเหนือน้ำทะเลคลายการยึดเกาะออกจากกัน
นอกจากนี้การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลงยังพัดน้ำจากชายฝั่งมาสู่ธารน้ำแข็งทเวตส์ผ่านช่องทางน้ำแข็งเดิมที่ถูกละลายไปแล้วจากกระแสน้ำอุ่น ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนที่ทำให้ ธารน้ำแข็งทเวตส์อ่อนตัวลงเร็วขึ้นกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน
เมื่อธารน้ำแข็งอ่อนตัวลง ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการแตกหักของพื้นผิวที่อาจแพร่กระจายไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง หิ้งน้ำแข็ง ทั้งหมดจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ เปรียบเทียบให้เห็นภาพมันจะคล้ายการแตกของหน้าต่างรถ
"พัฒนาการ" ที่ว่านี้เกิดจากการพัฒนาการความก้าวหน้าของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งเป็นความก้าวหน้านี้ที่ทำให้สภาพภูมือกาศโลกเปลี่ยนไป เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของโลกที่ เร็วและรุนแรงขึ้นทุกที
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทเวตส์แสดงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากกว่าระบบน้ำแข็งอื่น ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกา ทเวตส์สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วประมาณ 900,000 ล้านเมตริกตัน ตั้งแต่ 2543 การสูญเสียน้ำแข็งประจำปีของมันเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้สูญเสียน้ำแข็งกว่า 45,000 ล้านเมตริกตันต่อปีซึ่งมากกว่า