ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เผยฝุ่น PM 2.5 มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 4 ล้าน ในปี 2562

การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของ “หมอกฤตไท” หรือ นพ.กฤตไท ธนสมบัติ เจ้าของเพจ “สู้ดิวะ” เมื่อเช้าวันที่ 5 ธันวาคม 2566 สร้างความโศกเศร้าอาลัย และตอกย้ำให้เห็นถึงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นมหันตภัยเงียบ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตราย และคร่าชีวิตผู้คนในหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก

ตามรายงานของเว็บไซต์ State of Global Air ระบุว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายหลายโรค รวมทั้งโรคหัวใจ และมะเร็งปอด เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2562 มากกว่า 4 ล้านราย เพิ่มขึ้นมากกว่าสิบปีที่แล้วถึงประมาณ 23%

นอกจากนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง 69 อย่าง ที่ถูกพิจารณาว่ามีศักยภาพทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายของชาวโลกนั้น ฝุ่น PM 2.5 นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงลำดับที่ 6 ตามหลัง ความดันเลือดสูง การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงจากสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ

ขณะนี้ ทวีปเอเชีย และแอฟริกา กลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยง สัมผัสฝุ่น PM 2.5 สูงสุดในโลก โดยจีน และอินเดีย เป็นสองประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5 มาระยะยาว มากที่สุดในปี 2562 โดยที่จีนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 1.42 ล้านราย และอินเดีย 980,000 ราย

... ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลานาน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังอันตรายกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในทวึปเอเชีย หลังจากช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และภูมิภาคโอเชียเนีย (กลุ่มประเทศ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก) มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยงสูดดมฝุ่น PM 2.5 ได้สูงชันขึ้น

ส่วนภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง มีผู้เสียชีวิตจากการปัจจัยเสี่ยงฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นระดับปานกลาง สวนทางกับประเทศร่ำรวย มีรายได้สูง รวมทั้งยุโรปตอนกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง มีอัตราเสียชีวิตจากปัจจัยฝุ่น PM 2.5 ลดลงระดับปานกลาง

ทั้งนี้ ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และน้ำมัน โดยฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นฝุ่นที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากสามารถผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด และกระแสเลือดได้ง่าย ทำให้มีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น.

ที่มา : stateofglobalair.org


นักดาราศาสตร์เผยจานฝุ่นดาวฤกษ์เกิดใหม่พบในกาแล็กซีอื่น

ดวงอาทิตย์หรือแม้แต่ดาวฤกษ์อื่นๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อกลุ่มเมฆก๊าซและฝุ่นระหว่างดวงดาวที่หนาแน่น ยุบตัวลงภายใต้แรงดึงดูดของมันเอง เมื่อดาวดวงหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ใจกลางกลุ่มเมฆก๊าซ วัสดุที่เหลือจะก่อตัวเป็นจานหมุนรอบดาวฤกษ์ เพื่อหล่อเลี้ยงการเติบโตของดาวฤกษ์ และจานหมุนมักจะเป็นแหล่งก่อเกิดดาวเคราะห์

ที่ผ่านมาดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่มีจานทรงกลมหมุนรอบ มักถูกสังเกตการณ์เฉพาะในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเท่านั้น แต่เมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอรัม ในอังกฤษ เผยว่า จากการใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array-ALMA) ก็ได้ค้นพบจานฝุ่นก๊าซกำลังหมุนรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่งชื่อ HH 1177 ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าและส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ตั้งอยู่ในกาแล็กซีเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สุดแห่งหนึ่งของทางช้างเผือก นั่นก็คือกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ดาวฤกษ์ที่กำลังเติบโตดวงนี้มีการสะสมสสารจากจานฝุ่นก๊าซที่วนรอบๆ โดยมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10-20 เท่า และอาจส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10,000 เท่า

นักดาราศาสตร์อธิบายว่า เมื่อสสารถูกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงไปยังดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว มันก็จะมีลักษณะเรียบแบนจนกลายเป็นจานหมุน ซึ่งจานฝุ่นก๊าซที่ค้นพบในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่นั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12,000 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือใหญ่กว่าจานฝุ่นก๊าซที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์ ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นเมื่อราวๆ 4,500 ล้านปีก่อนประมาณ 10 เท่า.


เป็น 'ความดันโลหิตสูง' ออกกำลังกายได้หรือไม่ ออกกำลังกาย แล้วดีอย่างไร?

การ 'ออกกำลังกาย' สม่ำเสมอในผู้ป่วย 'ความดันโลหิตสูง' เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการรักษาและควบคุมความดันโลหิต แต่ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพและรับคำแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม

ผศ.ดร.สิทธา พงษ์พิบูลย์ ผู้ชำนาญการด้านฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และการออกกำลังกาย โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยยืนยันแล้วว่าผู้ที่มี “ความดันโลหิตสูง” การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การควบคุมอาหารและ ออกกำลังกาย สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ผลดีกว่าการพึ่งยาเพียงอย่างเดียว

ในผู้ที่มีปัญหา ความดันโลหิตสูง การ ออกกำลังกาย สม่ำเสมอจะสามารถช่วยควบคุม ความดันโลหิต ได้ โดยช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ลดไขมันทั้งในร่างกายและหลอดเลือด ทำให้ความต้านทานในหลอดเลือดลดลง หัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น ทำให้ปริมาณเลือดที่สูบฉีดแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น ระดับพลาสมานอร์อิพิเนฟริน ลดลง ผลโดยรวมจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง และยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การเผาผลาญดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการปวดข้อต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น

การ ออกกำลังกาย จึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการรักษาและควบคุม ความดันโลหิต แต่การออกกำลังกายในคนที่เป็น ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพและรับคำแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อผลการออกกำลังกายที่ดีและมีความปลอดภัย

วิธีดูแลตัวเองในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ผู้ที่เป็น ความดันโลหิตสูง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจระดับของความดันโลหิตเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

กินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับของ ความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตสูง เช่น ลดน้ำหนักตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มแอลกอฮอล์ เลิกบุหรี่ และลดความเครียด

งดกินอาหารรสเค็ม ทอด และมีไขมันสูง ให้เปลี่ยนมากินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ฯลฯ ให้มากขึ้น

วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอและจดบันทึกลงในสมุดเพื่อนำไปให้แพทย์ผู้รักษาใช้ประกอบการรักษา ความดันโลหิตสูง

หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ หายใจติดขัด แน่นหน้าอกหรืออ่อนเพลียผิดปกติ และควรสังเกตอาการตอบสนองของความดันโลหิตหลังจากที่ทำกิจกรรมต่างๆ

** การออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาและควบคุม ความดันโลหิต แต่การออกกำลังกายในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพและรับคำแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อผลการออกกำลังที่ดีและมีความปลอดภัย


ภูเขาไฟ‘เมราปี’ ในอินโดนีเซียปะทุ นักปีนเขาดับ 11 ศพ

วันอังคาร ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566:จาการ์ตา/มะนิลา (เอเอฟพี/รอยเตอรส์/บีบีซี นิวส์) - ภูเขาไฟเมราปีในอินโดนีเซียเกิดปะทุและระเบิดครั้งใหญ่ ทำให้นักปีนเขาเสียชีวิตถึง 11 ศพ และสูญหายอีก 12 คน ขณะที่มีรายงานแผ่นดินไหวล่าสุดขนาด 6.9 นอกชายฝั่งทางใต้ของฟิลิปปินส์ เกิดขึ้นซ้ำในพื้นที่เดิมเมื่อวันเสาร์

ทีมกู้ภัยและค้นหาของอินโดนีเซียเปิดเผยว่าในเช้าวันที่ 4 ธ.ค. พบร่างนักปีนเขาที่เสียชีวิตแล้ว 11 ศพ แต่ยังมีผู้สูญหายอีก 12 คน ขณะนี้การค้นหาต้องระงับลงเนื่องจากภูเขาไฟเมราปียังปะทุต่อเนื่อง จนอาจจะเกิดอันตรายต่อทีมกู้ภัยและค้นหาได้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเปิดเผยว่า ในระหว่างที่ภูเขาไฟระเบิดนั้นมีคนอยู่ในพื้นที่ 75 คน ส่วนเมื่อวานนี้ มีนักปีนเขาที่ได้รับการอพยพลงมา 49 คน หลายคนได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟลวกและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ภูเขาไฟเมราปีปะทุและระเบิดรุนแรงเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 3 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีกลุ่มควันและเถ้าถ่านภูเขาไฟลอยสูงขึ้นไปในอากาศเป็นระยะทางถึง 3 กิโลเมตร สำนักงานป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซียได้ยกระดับเตือนภัยขึ้นเป็นระดับ 2 จากทั้งหมด 4 ระดับ พร้อมประกาศห้ามประชาชนเข้าไปภายในรัศมี 3 กิโลเมตรจากปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งขณะนี้มีเถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมไปทั่วพื้นที่โดยรอบ ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงพืชผลการเกษตรเป็นบริเวณกว้าง

ภูเขาไฟเมราปีมีความสูง 2,891 เมตรตั้งอยู่ในจังหวัดชวาตะวันตก เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 127 ลูกของอินโดนีเซียที่ยังมีการปะทุอยู่ ในปีนี้ ภูเขาไฟเมราปีเคยระเบิดมาแล้ว 2 ครั้ง ขณะที่เมื่อปี 2473 เคยเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,300 ศพ

ด้านสำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอส แจ้งว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 นอกชายฝั่งทางใต้ของฟิลิปปินส์เช้าวานนี้ ที่ระดับความลึก 30 กิโลเมตร ห่างจากเทศบาลฮินาตวนบนเกาะมินดาเนาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 72 กิโลเมตร เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ในวันอาทิตย์ และขนาด 7.6 ในวันเสาร์ในพื้นที่เดียวกัน ทางการท้องถิ่นแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง หลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ และมีแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวหรืออาฟเตอร์ช็อกขนาดเกิน 6 อย่างต่อเนื่องตลอดวันอาทิตย์

แผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ทำให้มีการเตือนภัยสึนามิทั่วภูมิภาคแปซิฟิก ก่อนยกเลิกในเวลาต่อมา


ยูเนสโก้ ‘สงกรานต์ในไทย’เป็นมรดกโลก จัดงานใหญ่ 7 ธ.ค.

ยูเนสโก้ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์’ เป็นมรดกโลก ด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ‘เศรษฐา’ นำฉลองใหญ่ลานคนเมือง 7 ธ.ค. ‘แอนโทเนีย’ ในชุด นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ปี 67

วันที่ 6 ธ.ค.2566 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เตรียมจัดงานใหญ่ ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ จะประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในวันที่ 6 ธ.ค. เวลา 17.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย

“ในวาระที่น่ายินดีของประชาชนชาวไทย รมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก” นายโกวิท กล่าว

ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์วาระที่สำคัญนี้ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และเผยแพร่องค์ความรู้สงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศ

นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันให้กับชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และยอมรับในระบบสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชนชาติ

นายโกวิท กล่าวอีกว่า เตรียมจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และวัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 7 ธ.ค. เวลา 18.00 น.จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ร่วมแสดงความยินดีในวาระสำคัญยิ่ง

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมภาคีร่วมงาน

ภายในงานจะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย น.ส.แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว และมีการแสดงดนตรีโดยวงสุนทราภรณ์ ในเวลา 19.00 น.ที่ลานคนเมือง กทม.อีกด้วย

จึงขอเชิญชวนประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความยินดี และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง ซอฟต์พาวเวอร์ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป


นักดาราศาสตร์เผยแนวคิดใหม่การกำเนิดดาวเคราะห์นอกระบบ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีทีมนักดาราศาสตร์ได้ออกแบบและสร้างเครื่องมือใหม่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต หรือเพนน์ สเตต ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถตรวจจับแสงจากดาวฤกษ์ที่เย็นเป็นพิเศษและสลัว เครื่องมือดังกล่าวมีชื่อว่า Habitable Zone Planet Finder ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์ Hobby–Eberly ขนาด 10 เมตรในทางตะวันตกของรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เครื่องมือนี้วัดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ในความเร็วของดาวฤกษ์ในขณะที่ดาวเคราะห์ดึงแรงโน้มถ่วงมาบดบังดาวฤกษ์ เหมาะสำหรับตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบ

ล่าสุด เครื่องมือ Habitable Zone Planet Finder ได้ตรวจพบดาวฤกษ์แคระดวงเล็กๆ ชื่อ LHS 3154 มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา มีมวลน้อยกว่าดวงอาทิตย์ถึง 9 เท่า และส่องสว่างน้อยกว่าถึง 100 เท่า แต่ที่น่าแปลกใจก็คือนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่คือ LHS 3154b หนักกว่าโลกมากกว่า 13 เท่า กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเล็ก LHS 3154 ซึ่งดาวฤกษ์ดังกล่าวไม่น่าจะมีสสารในปริมาณที่จำเป็นในจานฝุ่นก๊าซที่ล้อมรอบ จนนำไปสู่การก่อตัวดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เช่นนี้

นักดาราศาสตร์อธิบายว่า ดาวเคราะห์ก่อตัวในจานหมุนที่ประกอบด้วยก๊าซและฝุ่น จานพวกนี้จะดึงเม็ดฝุ่นเกาะตัวกันเป็นก้อนกรวดให้มารวมตัวกันจนกลายเป็นแกนของแข็งของดาวเคราะห์ เมื่อแกนกลางก่อตัวขึ้น ดาวเคราะห์ก็สามารถดึงฝุ่นแข็งเข้ามาด้วยแรงโน้มถ่วง รวมถึงก๊าซที่อยู่รายรอบ เช่น ไฮโดรเจน ฮีเลียม อย่างไรก็ตาม มันต้องใช้มวลและวัสดุจำนวนมากจึงจะประสบความสำเร็จในการก่อตัวดาวเคราะห์.