ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



5 ดาวเทียมไทย เสี่ยงเจอพายุสุริยะปี 2567 จอดำสัญญาณดับ ใครกระทบบ้าง

พายุสุริยะปี 2567 คาดรุนแรงหนักในรอบ 11 ปี จับตาปรากฏการณ์วันต่อวัน หากเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อดาวเทียมไทย 5 ดวง มีหน้าที่สำคัญ ในระบบการสื่อสารภายในประเทศอย่างไร จึงพามาทำความเข้าใจหน้าที่ของดาวเทียมสัญชาติไทยแต่ละดวง

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ GISTDA กล่าวว่า ในปี 2567 มีการคาดการณ์ผลกระทบจากพายุสุริยะจะมีความรุนแรงมากขึ้นในรอบ 11 ปี โดยสภาพอวกาศนี้ จะมีความรุนแรงแปรผันตามรอบของวัฏจักรสุริยะ ซึ่งมีวงรอบหมุนกลับมาทุก 11 ปี และเนื่องจากปี 2567 ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงสูงสุด จะมาถึงไวกว่าที่หน่วยงานการบริหารจัดการมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกาหรือ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) เคยคาดการณ์ไว้ กล่าวคือมีความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดได้มากและรุนแรง

โดยผลกระทบจะส่งผลรบกวนการทำงานของดาวเทียมของไทย ที่โคจรอยู่ในอวกาศ และระบบการสื่อสารบนโลก เนื่องจากอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์สามารถสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียม ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติชั่วคราวหรือถาวร

ปัจจุบันประเทศไทยมีดาวเทียมที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมถึงการให้บริการในด้านสื่อสาร, นำทาง, ภาพถ่าย, ดังนี้

- THEOS (Thai Earth Observation System) ดาวเทียม THEOS/THEOS-2 เป็นดาวเทียมในกลุ่มดาวเทียมที่ใช้ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์ทางการเกษตร นอกเหนือไปกว่านั้นยังสำรวจภัยพิบัติด้วย เช่นอุทกภัย และวาตภัย เป็นต้น

- ไทยคิวบ์เซต (ThaiComSat) ไทยคิวบ์เซต 4/6 (Thaicom-4/6) เป็นดาวเทียมสื่อสารที่ให้บริการในการส่งสัญญาณโทรทัศน์, อินเทอร์เน็ต, และบริการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

- BIRD (Thailand Bird Satellite) ดาวเทียม BIRD เป็นโปรเจกต์ร่วมกับประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาและพัฒนาทักษะด้านดาราศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม

- NAPA-1 (Nanosatellite for Pico and Nanosatellite Advanced Missions) ดาวเทียม NAPA-1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่พัฒนาขึ้นโดยภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและวิจัยด้านนวัตกรรมทางดาราศาสตร์

- N-SAT-1 (NECTEC Satellite-1) ดาวเทียม N-SAT-1 เป็นดาวเทียมที่สร้างขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (NECTEC) มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านดาราศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์


พันธุ์ใหม่! เมียนมาพบ “งูพิษอิระวดี’ ในภูมิภาคทางใต้ของประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ วารสารวิทยาศาสตร์ซูคีย์ส (ZooKeys) รายงาน การค้นพบงูสายพันธุ์ใหม่ในภูมิภาคอิระวดี และภูมิภาคย่างกุ้ง ทางตอนใต้ของเมียนมา

24 ธันวาคม 2566:สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ว่าคิน ออน ชาน นักสัตววิทยา และเพื่อนร่วมงาน ได้ค้นพบงูสายพันธุ์ใหม่ ที่แตกต่างจากงูสกุลไตรเมียร์เรซูรัส (Trimeresurus) หรืองูหางไหม้ ระหว่างการศึกษาทางพันธุกรรม

ทั้งนี้ งูสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “งูพิษอิระวดี” (Ayeyarwady pit viper) ตามชื่อของแม่น้ำอิระวดี โดยงูมีลักษณะลายสีบางส่วนเหมือนกับงูเขียวหางไหม้ลายเสือ และงูพิษหางแดง

คณะนักวิจัยยืนยันว่างูที่ค้นพบเป็นสายพันธุ์ใหม่ หลังจากเปรียบเทียบกับงูในสกุลไตรเมียร์เรซูรัสอันเป็นที่รู้จักแล้ว โดยส่วนหลังของงูสายพันธุ์ใหม่มีสีเขียว แต่ไม่มีลายที่ชัดเจนหรือสีเข้ม

อนึ่ง การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นแผนที่อันมีประโยชน์ต่อการศึกษาในอนาคต และเน้นย้ำความจำเป็นของการสุ่มเก็บตัวอย่างแบบมุ่งเป้า ในภูมิภาคอิระวดีและรัฐมอญของเมียนมา.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : CAS-Myanmar Herpetology Survey team


'วันเหมายัน' กลางคืนยาวนานสุด ปีนี้ ตรงกับวันอะไร ทำไมเรียก 'ตะวันอ้อมข้าว'

'วันเหมายัน' กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปีนี่ ตรงกับวันอะไร ทำไมถึงเรียกว่า 'ตะวันอ้อมข้าว' ใน 1 ปี เกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับการ ขึ้น-ตก ดวงอาทิตย์ อะไรบ้าง

'วันเหมายัน' (Winter Solstice) กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี วันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน 'วันเหมายัน' (อ่านว่า เห-มา-ยัน) คือ วันที่มีช่วงเวลา กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. 2566 ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 'NARIT' เปิดข้อมูล 'วันเหมายัน' โดยในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดใน 'วันเหมายัน' ของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และเวลากลางวันที่สั้นที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ 'วันเหมายัน' ยังนับเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

สำหรับ "ฤดูกาล" บนโลก เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง สังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ ดวงอาทิตย์ จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

ในระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบ ดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือน มี.ค.

วันครีษมายัน (Summer Solstice) วันที่กลางวันยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือน มิ.ย.

วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือน ก.ย.

วันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือน ธ.ค.

'ตะวันอ้อมข้าว' มีผลต่อการเกษตรที่ต้องใช้ธรรมชาติในการเพาะปลูกแทน เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอย่างในปัจจุบัน เมื่อเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว เกษตรกรควรวางแผนในการเพาะปลูกพืชผัก เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการแสงมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งในช่วงนี้แดดจะแรงและอากาศจะแห้งกว่าปกติ ทำให้พืชที่ต้องการความชื้นอาจแห้งตายจากการขาดน้ำและเหี่ยวเฉาได้ จึงต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้ดี


รู้และเข้าใจกรดไหลย้อนกันให้ดีกว่าเดิม

วันอังคาร ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566,กรดไหลย้อน เป็นโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะประชากรวัยทำงาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และคุณภาพการทำงาน แม้จะเป็นโรคที่พบบ่อย แต่เนื่องจากอาการของโรคมีความหลากหลาย และซ้ำซ้อนกับโรคหรือภาวะอื่นได้ การให้การวินิจฉัยอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และยังลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นด้วย บทความนี้ จะตอบคำถามที่พบบ่อยในผู้ป่วยกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนคืออะไร

คือภาวะที่เกิดจากการที่มีสารจากกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร จนผู้ป่วยเกิดอาการ จนรบกวนการใช้ชีวิต หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการอักเสบ เป็นแผล บริเวณหลอดอาหารส่วนปลาย ก็เป็นผลจากกรดไหลย้อนได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการใดๆ ก็ได้

อาการอะไร ให้นึกถึงกรดไหลย้อน

อาการของโรคกรดไหลย้อน แบ่งตามตำแหน่งของหลอดอาหาร

● กรดไหลย้อนหลอดอาหาร มีอาการ แสบร้อนยอดอกเรอเปรี้ยว และ /หรือ จุกแน่นหน้าอก อาการมักเกิดหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อใหญ่ๆ

● กรดไหลย้อน นอกหลอดอาหาร มีอาการที่หลากหลาย ได้แก่ จุกคอ ไอเรื้อรัง หอบหืด กระแอมเป็นเสมหะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรหาสาเหตุอื่นก่อนจะสรุปว่าเป็นกรดไหลย้อน

ควรปฏิบัติตนเช่นไร ทำอย่างไร หากมีอาการของกรดไหลย้อน

● ลดน้ำหนัก หากมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน

● รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานอาหารพร่ำเพรื่อ

● หากมีอาการตอนเข้านอนกลางคืน ให้เลี่ยงอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และนอนศีรษะสูง

● รับประทานยาลดการหลั่งกรด หรือ ยากลุ่มอัลจิเนต เพื่อบรรเทาอาการ

● ลด หรือ เลี่ยงอาหารมัน และแอลกอฮอล์ เพราะมักกระตุ้นให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบ

กรดไหลย้อน มีอาการแค่ไหนจึงควรไปพบแพทย์

● อาการไม่ดีขึ้นหลังปรับการใช้ชีวิตแล้ว

● อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา

● อาการดีขึ้น แต่หยุดยาไม่ได้

อาการร่วมใดที่ต้องรีบไปพบแพทย์

● กลืนติด กลืนเจ็บ

● มีภาวะซีด และ/หรือ ถ่ายดำ

● น้ำหนักลด

● มีน้ำหรืออาหารไหลย้อนออกมาบ่อยๆ

● มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน

กรดไหลย้อน เป็นเรื้อรังได้หรือไม่ และก่อให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่

กรดไหลย้อน มีอาการเรื้อรังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากตอบสนองกับการรักษาไม่ดี ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม กรณีที่กรดไหลย้อนจนเกิดการอักเสบรุนแรง (วินิจฉัยโดยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น) ของหลอดอาหารส่วนล่าง และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร

ยารักษากรดไหลย้อน

1.ยาลดการหลั่งกรด เป็นยาเม็ด รับประทานง่าย ประสิทธิภาพดี ข้อจำกัดคือ ยาส่วนใหญ่ต้องกินก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที และอาจมีผลต่อการดูดซึม หรือการออกฤทธิ์ของยาอื่นๆ

2.ยาที่ออกฤทธิ์ลดความเป็นกรด ได้แก่ alum milk และยากลุ่มอัลจิเนต มีทั้งชนิดน้ำและเม็ด ออกฤทธิ์เร็ว รับประทานเพื่อระงับอาการกำเริบเป็นครั้งคราวได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องกินตามมื้ออาหาร และมีผลต่อยาอื่นน้อยมาก

● ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อดูรอยโรคที่มีการอักเสบของหลอดอาหารส่วนล่าง

● การสอดสายเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหลอดอาหาร เพื่อดูความกระชับของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และประเมินแรงบีบไล่อาหารของหลอดอาหาร

● การใส่สายวัดความเป็น กรด ด่าง ในหลอดอาหาร วิธีนี้ผู้ป่วยจะมีสายเล็กๆ สอดใส่ผ่านรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง โดยส่วนปลายสายอยู่ในกระเพาะอาหาร ส่วนต้นสายจะโผล่ออกมาทางรูจมูก และติดต่อกับอุปกรณ์บันทึกข้อมูลชนิดติดตามตัว เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และต้องบันทึกรายละเอียดของอาการด้วยเพื่อใช้ประกอบในการแปลผล

กรดไหลย้อนรักษาโดยการผ่าตัดได้หรือไม่

มีการรักษาผ่านการส่องกล้องเพื่อไปทำให้หูรูดหลอดอาหารกระชับขึ้น ทั้งนี้ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย และพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ ดังนั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว


กล้องฮับเบิลอาจช่วยไขปริศนาวงแหวนดาวเสาร์

ในทศวรรษ 1980 ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 ลำ ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา บินผ่านดาวเสาร์และถ่ายภาพวงแหวนเล็กๆรอบดาวหลายพันเส้น ที่น่าประหลาดก็คือเจอรูปแบบคล้ายซี่ล้อในแนวรัศมีอันมืดมิดในระนาบวงแหวนที่เคลื่อนไปมาขณะโคจรรอบดาวเสาร์

ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซา และองค์การอวกาศยุโรป ได้เข้ามามีบทบาทสอดส่องไปที่ดาวเสาร์และเหล่าวงแหวน ขณะที่เคยเชื่อกันว่าวงแหวนที่เป็นสีเข้มคืออนุภาคฝุ่นที่ลอยอยู่เหนือระนาบวงแหวนด้วยพลังไฟฟ้าสถิต และดูจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากตามฤดูกาลที่ยาวนาน 7 ปีของดาวเสาร์ แถมยังอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์เนื่องจากถูกลมสุริยะพัดถล่ม

ทว่าภาพถ่ายดาวเสาร์ครั้งใหม่โดยฝีมือของฮับเบิล เมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดาวเคราะห์วงแหวนอยู่ห่างโลกราว 1,368 ล้านกิโลเมตร ความคมชัดพิเศษของฮับเบิลเผยให้เห็นซี่ล้อที่พาดลงไปบนวงแหวนดาวเสาร์ แต่เป็นไปในลักษณะชั่วคราว มันหมุนไปพร้อมวงแหวน และคงอยู่เพียง 2 หรือ 3 รอบของการหมุนรอบดาวเสาร์เท่านั้น

มีทฤษฎีหลักว่า ซี่ล้อเชื่อมโยงกับสนามแม่เหล็กอันทรงพลังของดาวเสาร์ โดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็ก ทว่าก็ยังไม่มีทฤษฎีใดที่จะทำนายซี่ล้อได้อย่างสมบูรณ์ เชื่อว่าการสังเกตของฮับเบิลอย่างต่อเนื่องอาจช่วยไขปริศนานี้ได้ในที่สุด ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2524 ยานวอยเอเจอร์ 2 ของนาซา ได้ถ่ายภาพซี่ล้อวงแหวนเป็นครั้งแรก ต่อมายานอวกาศแคสซินีของนาซา ก็ยังได้เห็นซี่ล้อดังกล่าวในระหว่างทำภารกิจนาน 13 ปี จนกระทั่งยานแคสซินีอวสานตัวเองไปในปี 2560.

Credit : NASA, ESA, STScI, Amy Simon (NASA-GSFC).


เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สัญญาณเตือนโรคไบโพลาร์

วันอังคาร ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566, โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ร่วมด้วย

การแสดงออกทางอาการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) หรือเรียกว่า ขั้วบวก โดยจะอารมณ์ดี คึกคัก ครื้นเครง พลังงานล้นเหลือ ทำกิจกรรมต่างๆ ปริมาณมาก ความคิดพรั่งพรู พูดมาก ไม่มีสมาธิถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย หุนหันพลันแล่น ไม่หลับไม่นอน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและ 2.กลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) หรือเรียกว่า ขั้วลบ จะมีอาการรู้สึกเศร้าไม่มีความหวัง ไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกผิดอ่อนเพลีย เสียความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยชอบ ไม่มีสมาธิจดจ่อ พฤติกรรมการกินเปลี่ยน มีปัญหาการนอนหลับ มีความคิดอยากตาย

ทั้งนี้ โดยปกติในแต่ละวัน คนเราจะมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติรับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือ เกิดอารมณ์ขั้วบวกหรืออารมณ์ขั้วลบเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวแนะนำควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม

อาการรุนแรงที่ควรรีบมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน คือ มีความคิดอยากตาย มีอาการทางจิต/อาการคล้ายโรคจิตเภทที่รุนแรง กระสับกระส่ายมาก ไม่สามารถดูแลตัวเองได้

การวินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วเริ่มจากการซักประวัติโดยละเอียดร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคจากภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายโรคอารมณ์สองขั้ว

สำหรับการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วรักษาได้โดยใช้ยากลุ่มควบคุมอารมณ์ ยาต้านเศร้าและยารักษาอาการทางจิต ตามอาการร่วมกับการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัดและการปรับการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีมีอาการรุนแรงทางจิตหรือมีความคิดอยากตาย ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อมูลเพิ่มเติมของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล BMHH ติดต่อสอบถาม 02-5891889 หรือ e-mail contact@bmhh.co.th