อาการปวดหลังหรือรู้สึกชาที่ปลายนิ้ว อาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยในตอนแรก แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคไขสันหลังอักเสบ" ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ส่งผลต่อการทำงานของไขสันหลัง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจลุกลามจนรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตหรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
นายแพทย์กิติเดช บุญชัย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของไขสันหลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองและร่างกาย การอักเสบนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาท โดยอาการของโรคไขสันหลังอักเสบ ได้แก่
เริ่มมีอาการชาและอ่อนแรงที่ปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง
อาการชาค่อยๆ ลุกลามไปที่ขาทั้ง 2 ข้าง
บางรายอาจมีอาการปวดหลังแบบฉับพลันนำมาก่อน
หลังจากนั้นขาจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนกระทั้งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ขับถ่ายไม่ได้
อาการรุนแรงขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน
อาจมีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดคอ ร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคไขสันหลังอักเสบ สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่ค่อยสัมพันธ์กับทางพันธุกรรมหรือครอบครัว โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ภาวะโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือ โรคเอสแอลอี (SLE) หรือในคนไข้ที่มีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน
การติดเชื้อไวรัส เช่น HIV, herpes vitus, herpes simple, EBV หรือ poliovirus เป็นต้น
การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซิฟิลิส (Syphilis)
ติดเชื้อพวกปรสิต หรือ เชื้อรา
การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบแพทย์มักเริ่มด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพร่วมกับประเมินการทำงานของระบบประสาทจากวิธีการตรวจต่างๆ เช่น
การทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นการอักเสบบริเวณไขสันหลัง ปลอกหุ้มใยประสาทที่เสียหาย และความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อไขสันหลังหรือหลอดเลือด
การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ หรือช่วยประเมิน โปรตีนและเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อาจจะพบได้มากกว่าคนปกติและการตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาเชื้อโรคต้นเหตุของไขสันหลังอักเสบ
การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ เช่น เกิดจากการติดเชื้อต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติในระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา
สำหรับการรักษาในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการกำเริบของโรคจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี
อย่างไรก็ตาม โรคไขสันหลังอักเสบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
เคยรู้สึกไหมว่าทำไมบางคนดื่มกาแฟแล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงไปตลอดวัน แต่สำหรับบางคนไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งดื่มกาแฟเสร็จยิ่งง่วงนอน สาเหตุนี้มาจากอะไรกันแน่
คาเฟอีน จัดเป็นสารอัลคาลอยด์กลุ่มหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และก่อโทษ โดยสามารถพบได้ในธรรมชาติ ที่มักนำมาประกอบอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มหลายๆ ชนิด
เมื่อคนเราได้รับคาเฟอีนไปแล้วส่วนใหญ่จะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มกาแฟ ที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมจากคนทั่วโลกเป็นต้น
แน่นอนว่าอาจมีคนที่ดื่มกาแฟแล้วยังไม่รู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่า ยังมีความรู้สึกถึงอาการง่วงนอนและอ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายต่อคาเฟอีนที่ได้รับไม่เหมือนกัน
โดยสาเหตุหลักๆ ที่ดื่มกาแฟแล้วยังง่วงอยู่มาจากการที่คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เมื่อดื่มแล้วอาจจะทำให้เกิดการเข้าห้องน้ำบ่อยมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำจึงอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยเพลียได้ รวมถึงตัวคาเฟอีนเองยังสามารถก่อสารซีโรโทนิน ที่มีผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดการผ่อนคลายมากขึ้น สิ่งนี้อาจทำให้ตัวเราเองง่วงนอนได้
รวมถึงการดื่มกาแฟเป็นประจำในทุกๆ วัน ยังส่งผลให้ร่างกายปรับตัวตามการรับปริมาณคาเฟอีนได้มากขึ้น จึงทำให้การดื่มกาแฟวันละ 1-2 แก้ว อาจจะไม่สามารถส่งผลต่อความตื่นตัวได้เท่าที่ควร โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า “อาการดื้อคาเฟอีน”
ทั้งหมดยังไม่รวมถึงผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ การหมุนเวียนของเลือดไม่คงที่ การหลับนอนที่ไม่เพียงพอ การรับคาเฟอีนเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว อาการเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และอยากจะพักผ่อนเพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่สามารถเกิดขึ้นได้
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ น้ำตาลในเครื่องดื่มตามสูตรกาแฟบางชนิดที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ระบบการเผาผลาญก็จะทำงานในการดูดซึมเอาน้ำตาลไปใช้ และทำให้เรารู้สึกง่วงนอนได้
นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องของคาเฟอีนในเมล็ดพันธุ์กาแฟ การคั่ว การบ่มต่างๆ มีส่วนทั้งหมดต่อรสชาติและระดับคาเฟอีน คนที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าเมล็ดกาแฟแบบคั่วเข้มจะมีคาเฟอีนที่สูง และกาแฟแบบคั่วอ่อนจะมีระดับคาเฟอีนที่ต่ำลงซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะเมล็ดกาแฟคั่วอ่อนจะมีระดับคาเฟอีนที่สูงกว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้ม เนื่องจากการคั่วยิ่งอ่อนยิ่งส่งผลต่อสารคาเฟอีนที่คงไว้เยอะกว่านั่นเอง ซึ่งถ้าหากผู้ดื่มอยากได้ความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าต้องดื่มกาแฟในระดับคั่วอ่อน และถ้าหากอยากลดระดับคาเฟอีนควรที่จะเลือกดื่มกาแฟคั่วเข้มเป็นต้น
สรุปได้ว่าการตื่นตัวจากการดื่มกาแฟ ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล การเลือกสรรกาแฟที่ใช่และชื่นชอบ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มอย่างเหมาะสมต่อตนเองเพื่อให้ระดับคาเฟอีนที่ได้รับเข้ามาก่อประโยชน์ในร่างกายอย่างเหมาะสมมากที่สุด
ผลจากการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยท็อกซิก-ฟรี ฟิวเจอร์และสถาบันเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแห่งอัมสเตอร์ดัม มหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 203 รายการที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำ พบว่า 85% ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีสารหน่วงการติดไฟผสมอยู่ในปริมาณสูง ...
งานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารคีโมสเฟียร์ มีเมแกน หลิว ผู้จัดการด้านวิทยาศาสตร์และนโยบาย เป็นผู้ร่วมดูแลโครงการวิจัย เธออธิบายว่า สารหน่วงการติดไฟหรือ Retardant คือสารชนิดเดียวกันกับสารที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์
สารชนิดนี้จะพบในอุปกรณ์ที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำเท่านั้น ไม่มีในพลาสติกสีอื่น เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และเคลือบสารหน่วงการติดไฟเหล่านี้มักจะมีสีดำ...
หลิวชี้ว่า ความจริงแล้วก็ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็งได้ในการผลิตอยู่แล้ว และระบบการรีไซเคิลก็ทำให้สารนี้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนในหลาย ๆ ทาง และจากการตรวจสอบก็พบสารนี้อยู่ในปริมาณที่น่ากังวลใจ
ผลการศึกษาพบว่า พลาสติกที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อาจถูกนำไปรีไซเคิลและกลายเป็นวัสดุผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวซึ่งไม่ได้ต้องการคุณสมบัติการหน่วงการติดไฟเท่าไหร่นัก และกลับกลายเป็นว่า ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสสารอันตรายนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กและสตรีในวัยเจริญพันธุ์...
นักวิจัยระบุว่า ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารนี้ ได้แก่ การก่อโรคมะเร็ง, รบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ, เป็นพิษต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์
แม้จะไม่ได้เปิดเผยชื่อยี่ห้อหรือผู้ผลิต แต่ทีมวิจัยพบสารหน่วงการติดไฟในระดับสูงสุดในเครื่องใช้ประเภทไม้พาย, ถาดซูชิที่เป็นบรรจุภัณฑ์วางขายตามร้านค้า และสร้อยคอลูกปัดพลาสติก
หนึ่งในสารเคมีอันตรายที่ตรวจพบในภาชนะคือสารต้องห้ามที่เรียกว่า decaBDE ซึ่งใช้ทำชิ้นส่วนด้านนอกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษายังเผยให้เห็นว่าสารดังกล่าวแทรกซึมเข้าสู่บ้านของเราผ่านทางวัสดุพลาสติกรีไซเคิล เช่น การนำวัสดุของตู้เครื่องรับโทรทัศน์ไปรีไซเคิลเป็นภาชนะจัดเก็บอาหาร
เฮเทอร์ สเตเปิลตัน ศาสตราจารย์ดีเด่นจากสถาบันโรนี-ริเชล การ์เซีย-จอห์นสันแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวแนะนำว่า ควรพยายามกำจัดเครื่องใช้ในครัวที่เป็นพลาสติกสีดำทิ้งไป หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ให้น้อยลง
หากว่ายังไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใช้เสี่ยงอันตรายเหล่านี้ได้ในทันที ก็ควรหลีกเลี่ยงการนำไปใช้หรือสัมผัสของของร้อนเป็นเวลานาน ๆ อย่างไรก็ตาม ควรเปลี่ยนเครื่องใช้นั้นทิ้งไปในทันทีหากมันละลายหรือเสียรูปเนื่องจากความร้อน
สำหรับตัวเลือกภาชนะหรือเครื่องใช้ในครัวที่ดีกว่าพลาสติกสีดำคือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ ไม้และเซรามิก แต่ก็ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ...
หนุ่มใหญ่ชาวตรังวัย 51 ปี เพาะเลี้ยงนกแก้วมาคอว์ นกกระตั้ว นกปรอดหัวโขนขายสร้างรายได้งาม โดยเฉพาะนกแก้วมาคอว์ที่ฝึกบินได้ตามคำสั่ง ราคาหลักหมื่นถึงหลักล้านบาท ส่วนไข่นกแก้วราคาฟองละ 13,000-250,000 บาท ทุกตัวมีใบอนุญาตถูกต้อง ขายมานานกว่า 15 ปีแล้ว
นายราชัน สรรเพชร หรือ บังราชัน อายุ 51 ปี เจ้าของราชาฟาร์ม เลขที่ 28/1 หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ใช้พื้นที่ว่างข้างบ้านเนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ เปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงนกแก้ว นกกระตั้วและนกปรอดหัวจุกรายใหญ่ใน จ.ตรัง ตอนนี้มีมากกว่า 250 ตัว ได้รับใบอนุญาตจากกรมป่าไม้ถูกต้องมานานกว่า 15 ปีแล้ว นายราชันบอกว่าชอบนกมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีสีสันสวยงาม เสียงร้องไพเราะ น่ารัก จึงหัดเลี้ยงเรื่อยมา จากเลี้ยงเล่นๆ จนกลายเป็นอาชีพ
เริ่มจากการเพาะเลี้ยงนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุก ราคาหลักร้อย ขยับขึ้นมาหลักพัน และพัฒนาต่อยอดมาเป็นนกกรงหัวจุกเผือก ราคาหลักแสน เคยขายได้สูงสุดถึงคู่ละ 1,500,000 บาท เมื่อปี 2565 ต่อมาขยายธุรกิจเลี้ยงนกแก้วมาคอว์และนกกระตั้วเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 100 ตัว เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้านกบินอิสระที่นำไปฝึกบินตามคำสั่ง รวมทั้งนำไปบินโชว์ สร้างสีสันความเพลิดเพลินตามจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ
ส่วนไข่นกแก้วมาคอว์เริ่มต้นที่ใบละ 13,000-250,000 บาท แต่มีไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า เรียกว่าต้องจองกันล่วงหน้านานนับเดือนถึงจะได้เป็นเจ้าของ
ผู้สนใจติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ราชาฟาร์มตรัง หรือโทร. 08-1747-7478
ทรงวุฒิ นาคพล
วันนี้ขอมอง “ปลาหมอคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) ผ่านข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในหลายช่องทางตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งจากสื่อมวลชน เกษตรกร-ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ด้วยคำถามว่าข้อเท็จจริงของใครที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะต่างคนต่างมีมุมมองตามพื้นฐานความรู้และความเชื่อของตน และที่สำคัญที่สุดยังไม่การพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจากแหล่งเดียวกันกับที่บริษัทเอกชนผู้ขออนุญาตนำเข้าเพียงรายเดียว หรือเป็นปลาที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายจากหลักฐานการส่งออกของทางราชการที่เปิดเผยต่อสาธารณชน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ ให้ข้อมูลการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของต้นตอปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในประเด็นนี้อาจมีข้อจำกัดหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการนำข้อมูลมาใช้ เช่น การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ด้วย DNA barcoding ของปลาหมอคางดำที่ระบาดในปัจจุบัน ควรดำเนินการด้วยจำนวนยีนที่มากขึ้น เช่น control region (D-loop) cytochrome b และ/หรือ cytochrome oxidase subunit 1 (COI) จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการระบุสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ แทนการอ้างอิงจากข้อมูลพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดในอดีตเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สมบูรณ์ทั้งในแง่ที่มาของตัวอย่างที่ทำการศึกษา ลำดับนิวคลีโอไทด์ และความถูกต้องในการแปลผลการทดลองที่ได้ ทำให้ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของปลาหมอคางดำที่เคยระบาดในอดีต และปลาที่กำลังระบาดในปัจจุบันของประเทศไทยได้
นอกจากนี้ ฐานข้อมูลพันธุกรรม (genetic database) ของปลาหมอคางดำที่ประเทศไทยที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ มีตัวอย่างอ้างอิงน้อย โดยใช้ตัวอย่างปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำปี 2560 ในการเทียบเคียง DNA โดยไม่มีตัวอย่างปลาที่มีการนำเข้าในปี 2553 รวมทั้งตัวอย่างปลาที่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งหากสามารถเทียบ DNA ของปลาหมอคางดำที่เคยระบาดในอดีต และปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดในปัจจุบัน จะทำให้การพิสูจน์พันธุกรรมที่มา (origin of stocks) มีความน่าเชื่อถือ และมีความสมบูรณ์เพียงพอ แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างปลาที่มีการนำเข้าในปี 2553 ก็ตาม
การพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สำหรับปลาหมอคางดำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบระดับความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในประเทศไทย กับการพิสูจน์แหล่งที่มาของปลาหมอคางดำต้นตอของการระบาด ต้องใช้ชนิดของเครื่องหมายดีเอ็นเอที่ต่างกัน และควรมีการจัดทำข้อมูลการเก็บตัวอย่างและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงแหล่งที่มาของตัวอย่าง (พิกัดภูมิศาสตร์ละเอียด รวมทั้งลักษณะพื้นที่ของแหล่งน้ำเปิดหรือแหล่งน้ำปิด เช่นบ่อกุ้ง บ่อปลาร้าง หรือเป็นปลาจากการเลี้ยง) วันเวลาและขนาดของตัวอย่างปลา (ปลาหมอคางดำมีพฤติกรรมการรวมฝูงของปลาจากครอบครัวเดียวกันหรือเป็นเครือญาติกัน การเก็บตัวอย่างลูกปลาหรือปลาขนาดสมบูรณ์พันธุ์ที่อยู่ในฝูงเดียวกันมาตรวจสอบพันธุกรรม อาจได้ปลาจากครอบครัวเดียวกัน) และประวัติการเคลื่อนย้ายปลา (เช่นปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำที่ติดต่อกันอาจมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ในขณะที่ปลาจากแหล่งน้ำที่ไม่ติดต่อกับแหล่งระบาดเริ่มต้นมีพันธุกรรมที่เหมือนกัน เนื่องจากการเคลื่อนย้าย)
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น มีผลต่อการแปลผลการทดลองที่ได้ การสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมที่ครอบคลุม จะทำให้มาตรฐานการพิสูจน์หลักฐานมีความน่าเชื่อถือในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด การที่ไม่มีตัวอย่างเปรียบเทียบที่ครอบคลุมการระบาดในปัจจุบันที่เพียงพอ หรือตัวอย่างปลาหมอคางดำชุดที่มีการนำเข้า อาจทำให้ผลการพิสูจน์ที่มาไม่สามารถชี้ชัดได้ในทางกฎหมาย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานความถูกต้องของการส่งออกปลาหมอคางดำของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 ของบริษัทผู้ส่งออก 11 ราย จำนวน 320,000 ตัว ไปยัง 17 ประเทศ ทั้งที่มีเอกสารราชการยืนยันว่าเป็นการส่งออกปลาหมอสีคางดำ โดยไม่มีการขออนุญาตนำเข้า หากแต่เป็นการชี้แจงของบริษัทผู้ส่งออกจำนวน 6 ราย รวมถึงการยอมรับของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการลงชนิดของปลาที่ส่งออกในเอกสารผิดพลาดทั้งหมด แต่ไม่มีการสอบสวนสาเหตุของความผิดพลาดดังกล่าว
ความร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ด้วยการกำจัดปลาให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและควบคุมการแพร่กระจายของปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัด มีความสำคัญมากกว่าการถกเถียงกันว่าใครเป็นคนนำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้ามาในประเทศของเรา ตามแผนปฏิบัติการควบคุมปลาหมอคางดำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงวางไว้ 7 มาตรการ ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การจับปลาออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดและเร็วที่สุด 2. การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดจากแหล่งน้ำไปใช้ประโยชน์ 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5. การให้ความรู้กับประชาชนการสังเกตระวังป้องกัน เพื่อเดินหน้าสู่มาตรการที่ 6 ตามแผนระยะกลางและระยะยาวโดยการใช้เทคโนโลยีด้านการเหนี่ยวนำโครโมโซมปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างลูกปลาที่เป็นหมัน ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป และขั้นตอนสุดท้ายคือการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยมีกรมประมงเป็นแกนหลัก ร่วมกับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ