ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ยานอวกาศ “โอไรออน” ทุบสถิติเดินทาง “ห่างโลกที่สุด” 4.3 แสนกิโลเมตร

ยานอวกาศ “โอไรออน” – บีบีซี รายงานว่า ยานอวกาศ “โอไรออน” (Orion) ยานลูกเรืออเนกประสงค์ (MPCV) ในภารกิจ อาร์เทมิส 1 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) ทุบสถิติเป็นยานอวกาศที่ออกแบบมาเพื่อโดยสารนักบินอวกาศที่เดินทางไปไกลจากโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ด้วยระยะทางห่างจากโลกประมาณ 270,00 ไมล์ หรือประมาณ 430,000 กิโลเมตร เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พ.ย. ยานอวกาศโอไรออนเดินทางห่างจากโลกที่ระยะทาง 401,798 กิโลเมตร และเป็นครั้งแรกที่ทำลายสถิติเดิมของยานอวกาศ “โอดิสซีย์” ในภารกิจอะพอลโล 13 ซึ่งเดินทางห่างจากโลกที่ระยะทาง 400,171 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2513 หรือเมื่อ 52 ปีก่อน


เมานาโลอา ภูเขาไฟมีพลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปะทุในฮาวาย ครั้งแรกรอบ 40 ปี

วันที่ 28 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า ภูเขาไฟ เมานาโลอา (Mauna Loa) ของฮาวายของสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟมีพลังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปะทุเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี

มีการแจ้งคำแนะนำเกี่ยวเถ้าภูเขาไฟมีผลบังคับใช้สำหรับพื้นที่โดยรอบและมีการแจ้งเตือนทีมงานฉุกเฉิน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระบุเมื่อช่วงต้นวันจันทร์ที่ 28 พ.ย. ว่า “ลาวาไหลอยู่ภายในบริเวณยอดเขาและไม่ได้คุกคามชุมชนที่อยู่ด้านล่าง”

แต่การแจ้งจากสำนักธรณีวิทยาสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) เกี่ยวกับการเตือนสถานการณ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยระดับการแจ้งเตือนภูเขาไฟถูกยกระดับจาก “คำแนะนำ” เป็น “คำเตือน” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

การปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟเมานาโลอาเริ่มต้นเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. ที่ปล่องภูเขาไฟโมคุวาเวโอ (Moku’āweoweo) ที่อยู่บนยอดภูเขาไฟ ปล่องภูเขาไฟเป็นโพรงที่ก่อตัวขึ้นใต้ยอดเขาเมื่อสิ้นสุดการปะทุ

ตามมาด้วยคำเตือนหลายระลอกที่การปะทุอาจเกิดหลังแผ่นดินไหวหลายครั้งในภูมิภาคนี้ รวมถึงรายงานแรงสั่นสะเทือนมากกว่า 12 ครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย.

“จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ช่วงแรกของการปะทุของภูเขาไฟเมานาโลอาค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตำแหน่งและความก้าวหน้าของการไหลของลาวาสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว” ยูเอสจีเอส กล่าวและเสริมว่า หากการปะทุเคลื่อนตัวออกไปนอกกำแพงของแอ่งภูเขาไฟบนยอดเขา ลาวาจะไหล “เคลื่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ ภูเขาไฟเมานาโลอาปะทุครั้งสุดท้ายในเดือนมี.ค.และเม.ย. 2527 ทำให้ลาวาไหลภายใน 8 กม. จากเมืองฮีโล


จีนส่งทีมลูกเรือ “เสินโจว-15” จบงานสร้างสถานีอวกาศเทียนกง

นักบินอวกาศ 3 คนของจีนในภารกิจ "เสินโจว-15" เป็นการปฏิบัติงานขั้นสุดท้าย ของการประกอบสถานีอวกาศเทียนกง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่าจรวดลอง มาร์ช-ทูเอฟ ของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน ( ซีเอ็นเอสเอ ) เดินทางขึ้นจากศูนย์อวกาศจิ่วเฉวียน กลางทะเลทรายโกบี ในมณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อเวลา 23.08 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคารที่ผ่านมา ( 22.08 น. ตามเวลาในประเทศไทย ) เพื่อส่งยานแคปซูล “เสินโจว-15” นำลูกเรือ 3 คน ไปประจำการบนสถานีอวกาศเทียนกง เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสานต่อภารกิจประกอบสถานีในขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับลูกเรือที่เดินทางไปครั้งนี้มี 3 คน ได้แก่ นายเฟย จวิ้นหลง วัย 57 ปี หัวหน้าภารกิจ นายเติ้ง ชิงหมิง วัย 56 ปี และนายจาง ลู่ วัย 46 ปี โดยภารกิจเสินโจว-15 นับเป็นครั้งที่ 6 ของโครงการเดินทางสู่อวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุมของจีน และเป็นภารกิจสุดท้ายจากทั้งหมด 11 ภารกิจ ในการประกาศสถานีอวกาศเทียนกงให้เสร็จสิ้น ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนเม.ย. ปีที่แล้ว โดยสถานีอวกาศเมียนกงมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นโมดูลหลัก 3 ตัว ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเทียนเหอ เวิ่นเทียน และเมิ่งเทียน เมื่อประกอบเสร็จจะมีรูปร่างคล้ายตัวอักษร “ที” ( T ) ในภาษาอังกฤษ

นับตั้งแต่ปี 2546 มีนักบินอวกาศของจีนออกเดินทางไปปฏิบัติงานนอกโลกแล้วประมาณ 20 คน แม้เป็นจำนวนที่ยังน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับสหรัฐและรัสเซีย หรือแม้แต่สหภาพโซเวียต ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ ว่านโยบายด้านอวกาศของจีนคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและกองทัพ ร่วมด้วยแรงผลักดัน จากการที่สหรัฐปฏิเสธให้จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส )

อนึ่ง ก่อนการส่งลูกเรือเสินโจว-15 เพียงไม่กี่วัน กองทัพอวกาศสหรัฐเผยแพร่รายงานว่า โครงการอวกาศของจีนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาและส่งดาวเทียมสื่อสาร และยานอวกาศแบบนำกลับมาใช้ใหม่

การดำเนินงานของจีนมีแนวโน้มชัดเจนอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว “เกินความคาดหมาย” จนสามารถทัดเทียมและล้ำหน้าสหรัฐได้ภายในอีกไม่ช้า ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลวอชิงตัน “ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด” และเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้ทิ้งห่าง.

เครดิตภาพ : REUTERS


ชาวออสซี่หลักพันร่วมเปลือยกายเพื่อศิลปะบนชายหาดบอนไดในซิดนีย์

ผู้คนนับพันเปลือยเปล่าร่างกายบนชายหาดบอนไดอันโด่งดังของเมืองซิดนีย์ เพื่อถ่ายทอดงานศิลปะที่มุ่งสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังและความปลอดภัยจากการเผชิญกับแสงแดด

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า ผู้คนในออสเตรเลียกว่า 2,500 คน มารวมตัวกันที่หาดบอนไดในเมืองซิดนีย์ เพื่อเปลือยกายถ่ายทอดผลงานทางศิลปะให้กับศิลปินช่างภาพชาวอเมริกันนามว่า สเปนเซอร์ ทูนิค

ผู้คนที่เปลือยกายพร้อมกันหลักพันคนเป็นสิ่งที่น่าจะหาดูได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกศิลปะ สเปนเซอร์ได้ใช้การเผยเรือนร่างของมนุษย์ในการถ่ายทอดความคิดเฉพาะตัวของเขาเอง

อาสาสมัครที่มาร่วมเปลือยกายจะถูกกำกับท่าทางอย่างสุภาพโดยสเปนเซอร์ เพื่อให้ภาพที่ถ่ายออกมาสื่อถึงข้อความที่เขาต้องการถ่ายทอด ภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังและความปลอดภัยจากการเผชิญกับแสงแดด

งานศิลปะขนาดใหญ่ "Strip Off for Skin Cancer" หรื อ "เปลือยกายเพื่อมะเร็งผิวหนัง" เป็นโครงการความร่วมมือกับองค์กรการกุศลที่สนับสนุนให้ชาวออสเตรเลียตรวจสุขภาพผิวหนังเป็นประจำ โดยจำนวนอาสาสมัครที่มาเปลือยในครั้งนี้เป็นตัวแทนของชาวออสเตรเลียจำนวนมากกว่า 2,000 คนที่เสียชีวิตในแต่ละปีจากโรคมะเร็งผิวหนัง

ทั้งนี้ สเปนเซอร์ ทูนิค เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะของฝูงชนที่เปลือยกายในสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงทั่วโลก และเคยทำโครงการคล้ายๆกันนี้ที่ซิดนีย์ โอเปราเฮ้าส์ มาแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน.


ฟุตบอลโลก 2022 แชมป์ได้เงินรางวัลเท่าไหร่?

นอกจาก "เป้าหมาย" ในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกอันเกริกเกียรติแล้ว รู้หรือไม่? แต่ละชาติใน 32 ทีมที่ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย "ฟุตบอลโลก 2022" ที่ประเทศกาตาร์ ได้รับผลตอบแทนเป็น “เงินรางวัล” จำนวนเท่าไหร่กันบ้าง? ไล่ตั้งแต่ผู้ชนะจนถึงผู้แพ้ที่ต้องอำลามหกรรมฟุตบอลแห่งมวลมนุษย์ชาติไป หลังลงเตะไปได้เพียง 3 นัด และต้องใช้เวลารอคอยที่ยาวนานถึง 4 ปี!

ฟุตบอลโลก 2022 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" (FIFA) จัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้รวมกันทั้งสิ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับแจกจ่ายให้กับ 32 ชาติที่เข้ามาเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 (FIFA World Cup prize money)

ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้สำหรับการแบ่งสันปันส่วนให้กับสมาคมฟุตบอลต่างๆเพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการพัฒนาฟุตบอลในประเทศ รวมถึง โครงการจ่ายเงินชดเชยแก่สโมสรต่างๆที่ปล่อยนักเตะไปร่วมเล่นฟุตบอลโลก (Club Benefit Programme) และ โครงการจ่ายเงินชดเชยแก่สโมสรต่างๆ กรณีนักเตะได้รับบาดเจ็บจากการลงเตะรับใช้ชาติ (Club Protection Programme) โดยงบประมาณ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเงินรางวัลสำหรับฟุตบอลโลก 2022 จะถูกนำไปแยกย่อยให้กับทีมต่างๆดังต่อไปนี้...

ทีมที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 จะได้เงินรางวัลเท่าไหร่? :

คำตอบ : สำหรับทีมที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 สำเร็จ จะได้รับเงินรางวัล 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วน "รองแชมป์" จะได้เงินรางวัล 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่ 3 ได้เงินรางวัล 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับที่ 4 ได้เงินรางวัล 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ทีมที่ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายจะได้เงินรางวัล 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายจะได้เงินรางวัล 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทีมที่ตกรอบแบ่งกลุ่ม จะได้เงินรางวัลทีมละ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ทั้ง 32 ทีมจะได้รับเงินอย่างน้อยอีก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมทีมก่อนมาลงเตะในรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2022 ด้วย

คำถามต่อมา ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ทีมที่คว้าแชมป์ได้สำเร็จจะได้รับเงินรางวัลเท่าไหร่?

คำตอบ :

ฟุตบอลโลก 2018 ทีมชาติฝรั่งเศส ได้เงินรางวัล 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 2014 ทีมชาติเยอรมนี ได้เงินรางวัล 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 2010 ทีมชาติสเปน ได้เงินรางวัล 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 2006 ทีมชาติอิตาลี ได้เงินรางวัล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 2002 ทีมชาติบราซิล ได้เงินรางวัล 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 1998 ทีมชาติฝรั่งเศส ได้เงินรางวัล 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 1994 ทีมชาติบราซิล ได้เงินรางวัล 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 1990 ทีมชาติเยอรมนี ได้เงินรางวัล 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 1986 ทีมชาติอาร์เจนตินา ได้เงินรางวัล 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟุตบอลโลก 1982 ทีมอิตาลี ได้เงินรางวัล 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การจัดสรรเงินรางวัลสำหรับฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากฟุตบอลโลก 2018 ที่การจัดสรรเงินรวมเพียง 791 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเพราะ “รายได้รวม4 ปี” ของฟีฟ่า (2019-2022) มีตัวเลขที่สูงถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะวงรอบ4ปี รวมฟุตบอลโลก 2018 ฟีฟ่ามีรายได้รวมเพียง 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ สามารถสร้างรายได้อย่างงดงามให้กับ “ฟีฟ่า” แม้ในช่วง 2 ปีแรก (2019-2020) ฟีฟ่าประสบปัญหาในการหารายได้อันเป็นผลจากวิกฤตโควิด-19 จนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ นั้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า นอกจากจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทยักษ์ใหญ่อันแสนมั่งคั่งของกาตาร์ เช่น Qatar Energy , Qatar Airway และ Ooredoo แล้ว “ฟีฟ่า” ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันอีกด้วย เนื่องจากมีการจัดตารางการแข่งขันในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากทั้ง 8 สนามที่ใช้ในการแข่งขันอยู่ห่างกันในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจากกรุงโดฮาเมืองหลวงของกาตาร์เท่านั้น หนำซ้ำ รัฐบาลกาตาร์ ยังลดแลกแจกแถมเรื่องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเรื่องการเดินทางหรือแม้กระทั่งค่าโรงแรมที่พัก ซึ่ง ฟีฟ่า ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอีกต่างหากด้วย

กราฟิก : sathit chuephanngam