ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 24 กรกฎาคม 2564

ขนลุกทอร์นาโดยุง เกาะกลุ่มมาเป็นก้อน คลั่งบินเป็นพายุหมุน

เดลีเมล์ รายงานเบื้องหลังคลิปที่ชวนขนลุก นาทีฝูงยุงเกาะกลุ่มกันหนาแน่นเคลื่อนตัวหมุนเหมือนพายุทอร์นาโด พ่นเป็นฝุ่นผงสกปรกพ่นขึ้นไปบนฟากฟ้า

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองคัมชัตกา ชายฝั่งตะวันออกของประเทศรัสเซีย บันทึกนาทีเกิดเหตุโดย นายอเล็กซี จากเมืองอุตส์-คัมชัตสก์ ที่เล่าว่า ขับรถไปเห็นเมฆดำทะมึนอยู่แต่ไกล จากนั้นเห็นเหมือนลมหมุนมอร์นาโด

“มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์ ผมแทบมองไม่เห็นถนน และไม่กล้าเปิดหน้าต่างเลยด้วยซ้ำ มีแต่ก้อนยุงแน่นไปหมด พอมันแยกกันแป๊บเดียวมันก็กลับไปก่อตัวเป็นทอร์นาโดลูกใหม่” นายอเล็กซี กล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยกับสื่อคัมชัตกา อินฟอร์ม มีเดีย กล่าวว่า ฝูงยุงนี้ไม่น่าวิตกอะไร เป็นแค่ปรากฏการณ์ในฤดูผสมพันธุ์

ลุดมิยา ล็อบโควา นักกีฏวิทยา กล่าวว่า ฝูงยุงตัวผู้เหล่านี้เคลื่อนตัวล้อมรอบตัวเมียเพื่อจะผสมพันธุ์ ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ และฝูงยุงตัวผู้จะไม่ทำร้ายมนุษย์ กลุ่มก้อนยุงเหล่านี้แค่เหมือนกับพายุที่พุ่งขึ้นไปแตะเมฆ

ด้านชาวบ้านกล่าวว่า เคยเห็นฝูงยุงมาก่อน แต่ไม่เลวร้ายเหมือนปีนี้ และการพ่นยาใช้ไม่ได้ผล

เมื่อปีที่แล้ว มีฝูงยุงอาละวาดคล้ายกันที่สหรัฐอเมริกา รัฐหลุยเซียนา ฝูงยุงมหึมาเคลื่อนตัวมาพร้อมกับเฮอร์ริเคนลอรา ที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักทั่วภูมิภาค ตอนนั้นเกษตรกรรายงานว่า ยุงกินเลือดวัวจนล้มตายไปกว่า 300-400 ตัว


ผลศึกษาพบ‘หิมะภาค’ทั่วโลก หดตัว87,000ตร.กม.ทุกปี

20 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยหลานโจวของจีน ค้นพบว่าหิมะภาคหรือไครโอสเฟียร์ (Cryosphere) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผิวโลกที่ประกอบด้วยน้ำในรูปแบบของแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่ทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ธารที่เป็นน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และชั้นดินเยือกแข็งของโลก หดตัวลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 87,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ในช่วงปี 1979-2016 อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

จางถิงจวิน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการศึกษานี้มุ่งเน้นความสำคัญของการประเมินหิมะภาคโดยรวม โดยประเมินการเปลี่ยนแปลงโดยรวมในเชิงปริมาณ

เผิงเสี่ยวชิง ผู้นำการศึกษาดังกล่าว ระบุว่าการศึกษานี้ยังบุกเบิกการประเมินหิมะภาคทั้งหมดทั่วโลกอย่างรอบด้านด้วย โดยหิมะภาคของโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเยือกแข็ง ครองพื้นที่น้ำจืดเกือบ 3 ใน 4 ของโลก รวมถึงมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิอากาศของโลก

“หิมะภาคเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสภาพภูมิอากาศที่ว่องไวที่สุด การเปลี่ยนแปลงของมันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับโลก ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับภูมิภาคเท่านั้น” เผิงกล่าว

เหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นทำการประมาณการแบบองค์รวมและหาปริมาณการเปลี่ยนแปลงของหิมะภาคครึ่งซีกโลกและทั้งโลกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพวกเขาสังเคราะห์น้ำแข็งในทะเล หิมะที่ปกคลุม และขอบเขตของพื้นดินเยือกแข็งให้เป็นชุดข้อมูลขอบเขตหิมะภาคระดับโลกหนึ่งชุด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อหิมะภาค รวมถึงต่อระบบนิเวศ การแลกเปลี่ยนคาร์บอน และวงจรชีวิต

อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารอนาคตของโลก (Earth’s Future)


สิ้นสุดทริปอวกาศ เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีแอมะซอน ขึ้นแล้วลง 11 นาที

สิ้นสุดทริปอวกาศ – วันที่ 20 ก.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นายเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกชาวอเมริกัน เจ้าของแอมะซอน อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ พร้อมด้วยลูกเรืออีก 3 คน สิ้นสุดทริปห้วงอวกาศด้วยจรวดนิวเชพเพิร์ด บริษัทบลู ออริจิน ของตัวเองเป็นครั้งแรก

ด้วยระยะเวลาการบิน 11 นาที จากความสูงเหนือพื้นโลกมากกว่า 65 ไมล์ หรือ 104 กิโลเมตร

ทริปห้วงอากาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ เดินทางไปพร้อมยานที่สถานีปล่อยยานส่วนตัวใกล้เมืองแวน ฮอร์น รัฐเท็กซัส เมื่อ 09.00 น. วันที่ 20 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับวันครบรอบ 52 ปี ยานอพอลโล 11 ลงจอดที่ดวงจันทร์ เพื่อบุกตลาดท่องเที่ยวอากาศที่กำลังเฟื่องฟู

นายเบซอส พร้อมทีมสมาชิกอีก 3 คน ได้แก่ นายมาร์ก เบซอส น้องชาย นางวอลลี ฟังก์ อายุ 82 ปี นักบิน และนายโอลิเวอร์ แดแมน นักเรียนด้านฟิสิกส์วัย 18 ปี ผู้ชนะประมูลตัวสำรองแทนผู้ชนะประมูล 28 ล้านบาท หรือราว 920 ล้านบาท โดยสารยานแคปซูลที่ออกแบบให้มีหน้าต่างที่ใหญ่ที่สุดในบรรดายานอากาศทั้งหมด เพื่อให้ได้ชมวิวทั้งโลกที่ทั้งสวยและน่าตกตะลึง

เมื่อจรวดนิวเชพเพิร์ดสิ้นสุดการยิง และเครื่องยนต์ของจรวดหยุดทำงาน ซึ่งในศัพท์จรวดหมายถึง “MECO” หรือ “main engine cut off.” (เครื่องยนต์หลักหยุดทำงาน) จากนั้น ยานแคปซูแยกตัวออกจากจรวด และยังทะยานข้างบนต่อไป

ส่วนบูสเตอร์ หรือเครื่องยนต์ขั้นตอนแรกของจรวด ซึ่งมีรูปทรงตามหลักอากาศพลศาสตร์มากกว่า และเริ่มตกลงสู่พื้นโลกเร็วกว่ายานแคปซูล มุ่งหน้ากลับลงมาเพื่อควบคุมการลงจอดบนพื้นดิน ก่อนที่ยานแคปซูลจะปล่อยร่มชูชีพและตามลงมา

ยานแคปซูลกระแทกพื้นดินด้วย “ระบบรีโทรทรัสต์” ซึ่งสร้างเบาะลมใต้ยานแคปซูลเพื่อรองรับแรงกระแทกเพิ่มเติมจากการลงจอด นอกจากนี้ เบาะนั่งของลูกเรือแต่ละคนยังมีกลไกการดูดซับแรงกระแทกแบบกรรไกรด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเป็น “การแตะลงอย่างนุ่มนวลเหมือนนั่งบนเก้าอี้”

หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบสถานะแล้ว ลูกเรือ 4 คน ก้าวออกจากยานแคปซูล และได้รับการต้อนรับจากสมาชิกในครอบครัวซึ่งยืนอยู่ข้างยานแคปซูลเพื่อรอเปิดประตู

นายเบซอสโต้ตอบเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินว่า “นี่เป็นวันยอดเยี่ยมสุดเท่าที่เคยมีมา” ขณะที่นางฟังก์ นักบิน กล่าวว่า ทริปดังกล่าวเหลือเชื่อ และตอบว่า “เป็นเช่นนั้น!” ส่วนนายมาร์ก พี่ชายนายเบซอส พูดว่า “ผมรู้สึกดีจนไม่อยากเชื่อ” หลังลงกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย


เปิดตัวรถไฟแม็กเลฟ เร็วสุดในโลก 600 ก.ม.ต่อช.ม. จีนผงาดอีกแล้ว

เปิดตัวรถไฟแม็กเลฟ – วันที่ 20 ก.ค. โกลบอลไทมส์ รายงานว่า จีนเปิดตัวรถไฟที่ใช้แรงแม่เหล็กไฟฟ้า หรือแม็กเลฟ พัฒนาขึ้นเองให้เป็นชนิดลอยตัวเหนือราง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน นับเป็นยานพาหนะทางบกที่วิ่งด้วยความเร็วที่สูงที่สุดในโลก

รถไฟนี้ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง เดินทาง 1,000 ก.ม. จากกรุงปักกิ่งไปนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเทียบกับเครื่องบินใช้เวลา 3 ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ จีนใช้เทคโนโลยีแม็กเลฟมาเกือบ 20 ปีในเส้นทางสั้นๆ ที่เชื่อมสนามบินกับเมืองในนครเซี่ยงไฮ้

ด้าน ซินหัว รายงานว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ โรลลิง สตอก คอร์เปอร์เรชัน (CRRC) ระบุว่ารถไฟดังกล่าวเป็นฝีมือการพัฒนาของจีน โดยเป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล่าสุดในวงการขนส่งทางรางของประเทศ

บริษัทเผยว่าความก้าวหน้าครั้งใหม่นี้สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของจีนด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมรถไฟแม็กเลฟความเร็วสูง อันได้แก่การบูรณาการระบบ การผลิตยานพาหนะ การจ่ายพลังงานไฟฟ้า รางรถไฟ ตลอดจนการควบคุมการขนส่งและการสื่อสาร

ทั้งนี้ จีนเปิดตัวโครงการรถไฟความเร็วสูงแมกเลฟในเดือนตุลาคม 2016 และพัฒนาต้นแบบรถไฟที่มีความเร็วออกแบบสูงสุด 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในปี 2019 ก่อนจะทดสอบวิ่งสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2020

ขณะนี้คณะวิศวกรจีนบูรณาการระบบขนส่งแมกเลฟเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยรถไฟจำนวน 5 ตู้โดยสารสามารถวิ่งบริการได้ดีบนสายทดสอบภายในโรงงาน


‘น้ำสมุนไพร’ ยอดฮิตกับเชื้อโควิด-19

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักอย่างรุนแรง สมุนไพรไทยอย่าง ฟ้าทะลายโจร กระชาย ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สมุนไพรเหล่านี้ดีจริงหรือไม่ ไขคำตอบโดย กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มที่ สมุนไพรที่เรารับประทานกันแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นหัวหอมแดง กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น ซึ่งมีสรรพคุณหลักคล้ายๆ กัน คือ ช่วยบรรเทาอาการไอ แก้หวัด คัดจมูก จากสารสำคัญ อาทิ เควอซิติน (quercetin) เคมเฟอรอล (kaempferol) อัลลิซิน (Allicin) จินเจอรอล (gingerol) มีส่วนช่วยต้านการอักเสบ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน จึงไม่แปลกที่คนไทยจะนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในเวลานี้

ขณะที่ นักวิจัยไทย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาค้นคว้าพบว่า สารสกัดที่ได้จากกระชายขาว ได้แก่ แพนดูราทินเอ (Panduratin A) และพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างนั้นการค้นคว้านี้ยังคงอยู่ภายใต้การทดลอง เพื่อพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หากต้องนำมาใช้กับผู้ป่วยจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยรู้ถึงประโยชน์ของสมุนไพร ทำให้หลายคนดัดแปลงสมุนไพรออกมาเป็นเครื่องดื่ม ที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรสเพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น หวังป้องกันโรคหรือเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จริงๆ แล้ว การที่เราจะคั้นดื่มกินก็คงจะไม่ผิด เพียงแต่เราควรศึกษาถึงปริมาณที่ควรบริโภคของสารสำคัญที่มีในวัตถุดิบนั้น เพราะอะไรที่มากเกินไปก็มักจะทำให้เกิดโทษด้วยเช่นกัน และสารบางอย่างก็อาจจะมีอันตรกิริยากับยาบางตัว ที่ส่งผลต่อการต้านหรือเพิ่มฤทธิ์ของยา ท้ายที่สุดจะให้ผลเสียกับบุคคลนั้นๆ มากกว่าได้ประโยชน์

อีกทั้งเมื่อนำมาปรุงแต่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาล ก็อาจจะส่งผลเสียกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อทำให้รสชาติดีขึ้นผู้ป่วยก็จะกินได้มากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นด้วย

ฉะนั้นนอกจากข้อดีของสมุนไพรนั้นๆ เราก็ต้องคำนึงถึงปริมาณที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยด้วย หรือหากลองนำสมุนไพรเหล่านี้มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นรสสัมผัสที่ดี ร่วมกับการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

เราก็จะมีภูมิคุ้มกันทีดีได้