ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



นักดาราศาสตร์พบโลกทางเลือก ที่อาจปกคลุมด้วยภูเขาไฟ

เนื่องจากครึ่งหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนั้นมีช่วงเวลากลางวันแบบถาวร และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงกลางคืนแบบถาวร แถมดาวยังถูกปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่ ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้แล้ว โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเทสส์ ที่ใช้สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่ปลดระวางไปแล้วของนาซา

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า LP 791-18d กำลังโคจรรอบดาวแคระแดงขนาดเล็ก อยู่ห่างออกไปราว 90 ปีแสง ในระบบดาวแห่งนี้ยังมีสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันคือ LP 791-18b และ LP 791-18c ซึ่งดาวเคราะห์ชั้นนอก LP 791-18c มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.5 เท่า และมีมวลมากกว่าเกือบ 9 เท่า ในแต่ละวงโคจรรอบดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ LP 791-18c และ LP 791-18d จะผ่านเข้ามาใกล้กันมาก ขนาดที่ใหญ่โตของ LP 791-18c จะสร้างแรงโน้มถ่วงที่ทำให้วงโคจรของ LP 791-18d เป็นวงรีมากกว่าที่จะเป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์ วงโคจรที่ผิดรูปเหล่านี้สร้างแรงเสียดทานที่ทำให้ภายในดาวเคราะห์ร้อนขึ้น ทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟที่พื้นผิวบน LP 791-18d

หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วเหตุใดภูเขาไฟจึงมีความสำคัญ นักดาราศาสตร์เฉลยว่ามันเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ และด้วยชั้นบรรยากาศก็จะมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาว ซึ่งน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง.


นักวิทยาศาสตร์ฟันธง “อาถรรพ์สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” ไม่มีอยู่จริง

นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียรายหนึ่งยืนกรานว่า ไม่มีอาถรรพ์ลึกลับใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีเครื่องบินและเรือหลายลำหายสาบสูญไปโดยหาร่องรอยไม่ได้ในพื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา

ถ้าจะถามว่าพื้นที่บ้างใดที่มีเรื่องราวแห่งความลึกลับ แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายอาถรรพ์แห่งท้องทะเลมากที่สุดในโลก หนึ่งในคำตอบนั้นจะต้องเป็นพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา’ อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่มาวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียท่านหนึ่งออกมาฟันธงว่า ไม่มีทั้งความลึกลับและอาถรรพ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นเลยแม้แต่น้อย

ตำแหน่งของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดานั้น ได้รับการประเมินไว้คร่าว ๆ โดยโยงเส้นสมมติจากจุด 3 จุดคือ เกาะเบอร์มิวดา, จุดปลายสุดของรัฐฟลอริดา และชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศเปอร์โตริโก ในพื้นที่ประมาณ 1.14 ล้านตารางกิโลเมตรแห่งนี้ มีเรือและเครื่องบินหายสาบสูญอย่างผิดปกติไปเป็นจำนวนมาก นับแค่ในศตวรรษที่ผ่านมาก็มีเรือหายไปมากกว่า 50 ลำ และเครื่องบินหายไปราว 20 ลำ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นตอแห่งเรื่องราวและความลึกลับ สร้างความเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้ “มีอาถรรพ์”

คาร์ล ครูสเซลนิกกิ นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และองค์การบริหารมหาสมุทร์และชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) กลับมีความเห็นว่าการหายสาบสูญของเรือและเครื่องบินเหล่านั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นพื้นที่อาถรรพ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งคู่มีความเห็นว่าการหายไปของเรือและเครื่องบินในอดีตล้วนเป็นเรื่องของความน่าจะเป็นหลายประการเท่านั้น

NOAA เคยเขียนรายงานไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดยอธิบายว่า ไม่เคยมีหลักฐานใน ๆ ที่บ่งชี้ว่าการหายสาบสูญอย่างลึกลับในพื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดานั้น เกิดขึ้นบ่อยกว่าในพื้นที่ของมหาสมุทรส่วนอื่น ๆ ที่มีการเดินทางผ่านอย่างชุกชุม

ครูสเซลนิกกิ เองก็พยายามชี้แจงแบบเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2560 เขาเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว ดิ อินดีเพนเดนท์ ว่า หากจะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว จำนวนของเรือและเครื่องบินที่หายไปในพื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดานั้น มีมากพอ ๆ กันกับจำนวนเรือและเครื่องบินที่หายไปในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก

NOAA มีความเห็นว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมสามารถใช้อธิบายการสูญหายของยานพาหนะในพื้นที่ “อาถรรพ์” นี้ โดยพูดถึงกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงตามสภาพอากาศ จำนวนเกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริบเบียนที่มีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำร่องหรือหาทิศทางที่ถูกต้อง รวมถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดามีปัจจัยทางธรรมชาติบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเข็มทิศนำทาง ทำให้การหาตำแหน่งผิดพลาดและหลงทางได้

NOAA ยังชี้แจงว่า ทั้งกองทัพนาวีสหรัฐและหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่งสหรัฐยืนยันว่าไม่มีเรื่องของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับการหายสาบสูญของเรือและเครื่องบินต่าง ๆ ในพื้นที่ทะเลแห่งนั้น จากประสบการณ์ของหน่วยงานทั้งสอง ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่า การหายสาบสูญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างลึกลับนั้น เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติหรือภัยธรรมชาติและความผิดพลาดของมนุษย์รวมกัน

ครูสเซลนิกกิ ยืนยันแนวคิดเดียวกันนี้มาตั้งแต่ปี 2560 และจนถึงทุกวันนี้ เขาก็ยังยืนยันแนวคิดเดิม เพราะ “ตัวเลขไม่โกหก”

แม้กระทั่งการหายสาบสูญที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตระดับชาติและโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้อย่างเช่นกรณีของฝูงบินที่ 19 ของกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นฝูงบินทิ้งระเบิด ได้หายสาบสูญไปในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2488 นั้น ครูสเซลนิกกิ ก็ชี้ว่าอาจเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน รวมถึงเป็นไปได้ว่าเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ เหล่านี้ตัวการที่แท้จริงที่ทำให้ฝูงบินทั้ง 5 ลำ หายสาบสูญไปในท้องทะเล ไม่เกี่ยวกับความเป็นพื้นที่อาถรรพ์ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว หรือความลึกลับใด ๆ แห่งท้องทะเลเลยแม้แต่น้อย

แหล่งข้อมูล : popularmechanics.com

เครดิตภาพ : Pixabay / MV Studio MV... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/2327101/


'ประตูสู่นรก' แลนด์มาร์คสุดสะพรึง @ เติร์กเมนิสถาน กว่า 50 ปีที่ไฟไม่เคยดับ

'ประตูสู่นรก' หรือ Gateway to Hell แลนด์มาร์คสำคัญในประเทศ เติร์กเมนิสถาน ที่หลายคนไม่เคยรู้จัก หรืออาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ

เป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่หลายคนร่วมแสดงความยินดี เมื่อ “มิ้นท์ I Roam Alone” ยูทูบเบอร์ และบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวชื่อดัง ถูกแฟนหนุ่มชาวต่างชาติคุกเข่าขอแต่งงานที่ “ประตูสู่นรก” แลนด์มาร์คสำคัญในประเทศเติร์กเมนิสถาน ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังถ่ายทำรายการ และเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน และวันนี้ คมชัดลึก จะพาไปรู้จักกับ “ประตูสู่นรก” แลนด์มาร์คชื่อแปลกหลายคนไม่เคยรู้จัก หรืออาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ

สำหรับ ประตูสู่นรก หรือ Gateway to Hell เป็นชื่อเรียกหลุมแก๊สขนาดใหญ่กลางทะเลทรายการากุม ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านดาร์วาซา จังหวัดอาฮาล ประเทศเติร์กเมนิสถาน ห่างจากกรุงอาชกาบัต เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถานไปทางเหนือประมาณ 260 กิโลเมตร เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เกิดจากความผิดพลาดระหว่างที่วิศวกรกำลังขุดเจาะสำรวจน้ำมันในยุคสหภาพโซเวียต แต่ดันขุดไปเจอโพรงที่เต็มไปด้วยก๊าซ จนทำให้พื้นดินจุดที่ตั้งแท่นขุดเจาะนั้นยุบลงไปเป็นหลุมลึกขนาดใหญ่ กว้าง 69 เมตร และลึก 30 เมตร

ปี 2514 หลังจากเกิดหลุมยุบพังถล่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซอันตรายแพร่กระจายออกไป พวกวิศวกรโซเวียตจึงตัดสินใจจุดไฟขึ้น โดยหวังว่าก๊าซคงจะถูกเผาไหม้หมดไปในเวลาแค่ไม่กี่วัน แต่ผลปรากฏว่าไฟได้ลุกโชติช่วงต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ปี แถมทางการเติร์กเมนิสถานก็ยังหาวิธีดับไฟไม่ได้สักที

รัฐบาลเติร์กเมนิสถานเองมีแนวคิดในการดับไฟที่หลุมก๊าซดาร์วาซาอยู่เป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี 2561

ประธานาธิบดีเบอร์ดีมูคาเมดอฟ ได้ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สงวนทางธรรมชาติแทน และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงที่สุดของเติร์กเมนิสถาน โดยเปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงเย็นไปจนถึงกลางคืน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เห็นเปลวไฟภายในหลุมอย่างชัดเจน และต่อมาได้ตั้งชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า "ประกายแสงแห่งทะเลทรายการากุม" แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมซักเท่าไหร่ สุดท้ายผู้คนยังคงเรียกว่า "ประตูสู่นรก" เช่นเดิม

และล่าสุดเมื่อต้นปี 2565 ประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถานได้ประกาศแผนเตรียมดับไฟที่หลุมก๊าซดาร์วาซา เพื่อปิด “ประตูสู่นรก” อีกครั้ง โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ตลอดจนสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

....ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่คงต้องรอติดตามกันต่อไป...


นักวิจัยจีนพบหลักฐาน “มหาสมุทรโบราณ-หินตะกอนทะเล” บนดาวอังคาร

นักวิจัยจีนพบหลักฐาน – ซินหัว รายงานการค้นพบของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ในนครอู่ฮั่น หลังเจอหลักฐานโดยตรงที่พิสูจน์การมีอยู่ของ “มหาสมุทรโบราณ” บนที่ราบทางตอนเหนือของ ดาวอังคาร

แม้การศึกษาก่อนหน้านี้พบหลักฐานของเหลวปริมาณมากบนดาวอังคารในยุคแรก แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงเนื่องจากขาดการวิเคราะห์จากพื้นที่

บทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเนชันแนล ไซแอนซ์ รีวิว ระบุว่าทีมวิจัยนำโดยนายเซียว หลง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์จีน วิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากกล้องบันทึกภาพมัลติสเปกตรัมของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร “จู้หรง” และพบหลักฐานทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับหินของหินตะกอนทะเลบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นครั้งแรก

ศาสตราจารย์เซียวกล่าวว่าเมื่อพิจารณาภาพจากกล้องบนยานสำรวจดังกล่าว เราพบว่าโครงสร้างชั้นหินที่ปรากฏออกมานั้นแตกต่างจากหินภูเขาไฟทั่วไปบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงโครงสร้างชั้นหินอันก่อตัวจาก “เนินทรายทับถมจากลมพัด” (Aeolian sands)

พร้อมเสริมว่าข้อมูลคุณสมบัติการไหลเวียนสองทิศทางของชั้นหินข้างต้น สอดคล้องกับกระแสน้ำขึ้น-น้ำลงพลังงานต่ำในสภาพแวดล้อมมหาสมุทรชายฝั่งน้ำตื้นของโลก ทั้งนี้ ผลการศึกษาฉบับดังกล่าวได้ส่งมอบข้อมูลสนับสนุนโดยตรงต่อการมีอยู่ของมหาสมุทรโบราณบนดาวอังคารในอดีต


รู้หรือไม่? มะเร็งเต้านมผู้ชาย ก็เป็นได้

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบใกล้ตัวที่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้หญิงและผู้ชายก็มีโอกาสเป็นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสถิติยังอยู่ในระดับต่ำ คือ 0.5-1% ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผู้หญิง 100 คนแต่มักพบเมื่อเป็นระยะลุกลาม ทำให้มีอัตราอาการเจ็บป่วยรุนแรงสูงส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรต้องระวัง หรือควรมาตรวจพันธุกรรม เพื่อเช็คว่ามียีนถ่ายทอดการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ แม้ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม โดยกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงภัยร้ายนี้ แต่กลับยังพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีอัตราสูงมากเช่นกัน

นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์โรคมะเร็งและเคมีบำบัด ศูนย์เมต้าเวิร์ส Metaverse Center (มะเร็งและโรคเลือด) โรงพยาบาลนวเวชได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระความรู้ พร้อมคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคุณผู้ชายทุกคน

ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย?

มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย ( น้อยกว่า 35 ปี)เป็นมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นทั้งมะเร็งเต้านมและรังไข่ในคนคนเดียวกัน เป็นต้น มีรหัสพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็งกลายพันธุ์ โดยเฉพาะยีน BRCA (พบบ่อยในยีน BRCA2) อายุที่มากขึ้นมักพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายที่อายุมากกว่า 60 ปี มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยเฉพาะกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter’s syndrome) โรคตับแข็ง เนื่องจากตับเสื่อมสภาพส่งผลให้ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ เป็นโรคอ้วนหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มีค่าเท่ากับ 30 หรือมากกว่า มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเคยโดนรังสี ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กและเป็นหมัน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายน้อย

อาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย

มีก้อนเนื้อแข็งในเต้านม เมื่อบีบแล้วไม่มีอาการเจ็บปวด เต้านมหรือหัวนมแดง มีของเหลวไหลออกจากหัวนม เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม หัวนมยุบบุ๋ม หรือหัวนมบอด

การลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย

หมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำ เนื่องจากการตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (โดยเฉพาะหากตรวจพบว่ามียีนพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็ง) ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละ 1 ครั้ง งดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย

การรักษามะเร็งเต้านมชายจะไม่แตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมหญิง โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และชนิดของโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษา การผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งพร้อมกับตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านม และต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก การฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม(Chemotherapy) การใช้ฮอร์โมนบำบัดการใช้ยามุ่งเป้า (ตามชนิดของมะเร็ง)

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งและเคมีบำบัด สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์เมต้าเวิร์ส Metaverse Center (มะเร็งและโรคเลือด) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02-4839999 I Line : @navavej Iwww.navavej.com