ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 8 พฤษภาคม 2564

นาซาเตือน แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่อาจหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลก

นาซาเตือน แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่สามารถหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะมุ่งหน้ามายังโลกได้ หลังทดลองจำลองเหตุการณ์ มีเวลา 6 เดือน หาทางปกป้องโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน

เมื่อ 4 พ.ค.64 เดลี่เมลรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้ข้อสรุปจากการทดลองจำลองเหตุการณ์เพื่อหาวิธีปกป้องโลกของเรา จากการถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลกว่า ถึงแม้จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลกได้

การจำลองเหตุการณ์ เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์นาซาได้รับการแจ้งว่าพวกเขามีเวลา 6 เดือนในการหาทางสกัดไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ซึ่งมีวงโคจรที่จะพุ่งชนโลก หลังจากได้สำรวจพบดาวเคราะห์น้อยกำลังอยู่ในระยะห่างจากโลก 35 ล้านไมล์

จากการศึกษาเพื่อหาทางสกัดดาวเคราะห์น้อย โดยใช้เวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน และนักดาราศาสตร์ได้ใช้ระบบเรดาร์ ข้อมูลภาพและเทคโนโลยีหลายอย่าง รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จนได้ข้อสรุปว่า ระยะเวลา 6 เดือน ไม่เพียงพอที่จะเตรียมตัวสำหรับการส่งยานอวกาศขึ้นไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย รวมถึงการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ อย่างเช่นที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องอาร์มาเกดดอน ก็ไม่อาจหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่กำลังมุ่งหน้ามายังโลกได้

สำหรับโครงการจำลองเหตุการณ์ทดสอบการหาทางหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลกของนาซานี้ ใช้ชื่อว่า 'Space Mission Options for the Hypothetical Asteroid Impact Scenario'

จำลองเหตุการณ์วันที่ 1 : 19 เมษายน 2021

นักวิทยาศาสตร์โครงการปกป้องโลกของนาซา ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย พบดาวเคราะห์น้อย ชื่อ 2021PDC ซึ่งจัดเป็นวัตถุใกล้โลก อยู่ในระยะห่างจากโลก 35 ล้านไมล์ และมีโอกาสที่จะชนโลกเพียงแค่ 5% ในวันที่ 20 ตุลาคม

จำลองเหตุการณ์วันที่ 2 : 2 พฤษภาคม 2021

นักดาราศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการรวบข้อมูลการโคจรของดาวเคราะห์น้อย และความเป็นไปได้ที่อาจจะชนโลก โดยทีมได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อยเคยเข้าใกล้โลก ในปี 2014

ข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ลดวงโคจรที่ไม่แน่นอนของดาวเคราะห์น้อย และได้ข้อสรุปการจำลองเหตุการณ์นี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก 100% ในบริเวณยุโรป หรือตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

จึงทำให้ทีมรีบทำงานเพื่อหาทางป้กองกันไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

การออกแบบให้ส่งยานอวกาศขึ้นไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ก่อนที่มันจะชนโลก ได้ข้อสรุปว่า ด้วยระยะเวลาที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติภารกิจอันเหลือเชื่อนี้ได้ ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์ยังได้เสนอให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีอุปสรรคหลายอย่าง และจากการจำลองทดสอบเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าใช้อาวุธระเบิดนิวเคลียร์พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ราว 114 ฟุต จนถึง 800 เมตร จะสามารถทำลายดาวเคราะห์น้อยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งก็ไม่แน่ชัดว่าระเบิดนิวเคลียร์ขนาดไหนจึงสามารถจะสกัดดาวเคราะห์น้อยได้

จำลองเหตุการณ์วันที่ 3 : 30 มิถุนายน 2021

การทดสอบกระโดดไปถึงเวลาที่โลกจะถูกดาวเคระห์น้อยพุ่งชน โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เฝ้าติดตามทุกคืน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ได้ปรับแต่งวงโคจรให้แคบลงอย่างมีนัยสำคัญ มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกแถวเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย สโลเวเนีย และโครเอเชีย

จำลองเหตุการณ์วันที่ 4 : 14 ตุลาคม 2021

เหลือเพียงแค่ 6 วัน ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก โดยขณะนี้มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3.9 ล้านไมล์ และมีระยะใกล้พอที่จะใช้ระบบ Goldstone Solar System Radar ในการวิเคราะห์ดาวเคราะห์น้อย ทั้งขนาดและลักษณะกายภาพ ซึ่งพบว่าดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็กกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า จึงได้ลดขนาดพื้นที่ที่มีโอกาสจะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนให้แคบลง เหลือเพียงบริเวณพรมแดนของเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และออสเตรีย และกำหนดให้ดาวเคราะห์น้อยมีความเป็นไปได้ที่จะพุ่งชนโลกในภูมิภาคแถวนี้ 99%

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่โครงการ Planetary Defense ของนาซา กล่าวว่า แต่ละครั้งที่ได้ร่วมทดสอบในเหตุการณ์ธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้นี้ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับว่า ใครจะเป็นตัวหลักในเวลาเกิดหายนะและใครจำเป็นต้องรู้ข้อมูล เพื่อช่วยในการหาทางปกป้องโลกของเราให้ได้มากที่สุด จากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน.


พัฒนาเทคโนโลยี กล้ามเนื้อเทียมใหม่ให้มีประสิทธิภาพแกร่งขึ้น

การแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เป็นเรื่องที่นักวิจัยด้านหุ่นยนต์ไม่เคยหยุดยั้ง แม้จะมีตัวกระตุ้นให้ทำงานได้ดีอย่างมอเตอร์ไฟฟ้า แต่เมื่อหุ่นยนต์เปลี่ยนไปใช้รูปแบบทางชีวภาพมากขึ้น ตัวกระตุ้นเหล่านั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มมากกว่าเดิม นักวิจัยด้านหุ่นยนต์จึงมองหาวิธีที่เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และต้นทุนต่ำที่สุด

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยนอร์เธิร์น อริโซนา ในสหรัฐอเมริกา นำเสนอเทคโนโลยีกล้ามเนื้อเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงแบบใหม่ พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการ Dynamic Active Systems ของมหาวิทยาลัย ทีมเผยว่าเทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้เคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวได้ พร้อมอ้างว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ากล้ามเนื้อโครงร่างของมนุษย์ในหลายๆด้าน ทีมเรียกตัวกระตุ้นเชิงเส้นแบบใหม่เหล่านี้ว่ากล้ามเนื้อเทียม “คาวาทาปิ” (Cavatappi) โดยอาศัยความคล้ายคลึงกับเส้นพาสต้าอิตาเลียน

ตัวกระตุ้นแบบใหม่ดังกล่าวมีโครงสร้างเป็นขดหรือเป็นเกลียว สามารถสูบของเหลวได้ และข้อได้เปรียบที่สำคัญคือประสิทธิภาพการหดตัวสูงถึงประมาณ 45% สามารถสร้างพลังงานได้มากขึ้นทำให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับการใช้งานด้านวิศวกรรมชีวภาพ หุ่นยนต์ ทำแขนขาเทียม ที่สำคัญคือน้ำหนักเบาและราคาถูก.

(ภาพประกอบ Credit : Northern Arizona University)


เตรียมเดินทางครั้งแรก

มหาสมุทรเป็นพลังที่ทรงพลังที่สุดต่อสภาพภูมิอากาศโลก ทว่า 80% ของโลกใต้มหาสมุทรยังไม่มีการสำรวจ นี่จึงเป็นงานที่สำคัญยิ่งจึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยไขความกระจ่าง

หนึ่งในเครื่องมือที่เป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วก็คือเรือ “Mayflower 400” เป็นผลงานความภูมิใจขององค์กรวิจัยทางทะเล ProMare และนักวิจัยจากไอบีเอ็ม ที่ร่วมปลุกปั้นนวัตกรรมนี้มา จนได้รับการยกย่องว่านี่คือเรืออัจฉริยะลำแรกของโลก “Mayflower 400” ออกแบบเป็นเรือไตรมาลัน (trimaran) มีลำตัวหลักอยู่ตรงกลางและมีคานด้านข้างทั้ง 2 ข้าง เรือขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ ติดตั้งคลุมด้วยแผงโซลาร์เซลล์ แน่นอนว่ายานยนต์ที่บรรทุกเทคโนโลยีสุดล้ำนี้จะเอาชนะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้

ทีมวิศวกรหุ่นยนต์เผยว่าการพัฒนาเรือปัญญาประดิษฐ์ลำนี้ใช้เวลานานพอสมควร เนื่องจากคอมพิวเตอร์ต้องเรียนรู้วิธีระบุอุปสรรคทางทะเลโดยวิเคราะห์ภาพถ่ายหลายพันภาพ และยังต้องได้รับการสอนวิธีหลีกเลี่ยงการชนกันและการลงไปลอยลำในทะเลเป็นครั้งแรก ทีมสร้างสถานการณ์จำลองในการเผชิญกับคลื่น 50 เมตรเพื่อให้เรือเรียนรู้ว่าอะไรคือการกระทำที่ถูกต้อง อะไรคือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง อะไรคือความปลอดภัยหรืออะไรไม่ปลอดภัย ซึ่งหากทำผิดพลาดเรือก็จะสามารถแก้ไขตัวเองได้แล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียกว่าระบบที่ซับซ้อนของกล้อง 6 ตัวและเรดาร์จะทำหน้าที่เสมือน “ตา” และ “หู” ของเรือนั่นเอง

ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ “Mayflower 400” พร้อมแล้วที่จะเดินทางข้ามมหาสมุทรเป็นครั้งแรก ตามเส้นทางประวัติศาสตร์ของเรือ “Mayflower” ในปี พ.ศ.2163 หรือราว 400 ปีก่อน ที่ผู้เคร่งศาสนาชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งรอนแรมข้ามน้ำไปเมืองพลีมัธ รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา โดย “Mayflower 400” จะออกจากท่าเมืองพลีมัธ ในอังกฤษไปยังเมืองพลีมัธ ในอเมริกา

มีงานหลักคือศึกษามลพิษทางทะเลและวิเคราะห์พลาสติกในมหาสมุทร รวมถึงตรวจจับการมีอยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ซึ่งจะบอกถึงเกี่ยวกับการกระจายของประชากรในมหาสมุทรเปิด

แต่ถึงจะล่องมหาสมุทรอย่างเดียวดาย “Mayflower 400” ก็ไม่โดดเดี่ยว เพราะทีมงานจะตรวจสอบเรือตลอด 24 ชั่วโมง จากฝั่งอังกฤษและพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงจากระยะไกลในกรณีที่เกิดอันตรายขึ้นมา.


ปิดตำนานครูเพลง! 'ชาลี อินทรวิจิตร' เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา

5 พ.ค.64 นับเป็นข่าวเศร้าของวงการเพลง เมื่อ "ชาลี อินทรวิจิตร" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2536 เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 00.45 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม ด้วยวัย 98 ปี หลังจากเข้ารักษษตัวที่ รพ.ศิริราช เป็นเวลาหลายเดือน โดยลูกศิษย์และคนใกล้ชิดต่างออกมาโพสต์แสดงความอาลัยถึงการจากไปของบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักยิ่งในครั้งนี้

หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมาครูชาลี อินทรวิจิตร เสียชีวิตแล้ว วงการบันเทิงสุดเศร้าสูญเสียนักแสดง นักร้อง นักดนตรี ผู้ประพันธ์เพลง ผู้กำกับมีผลงานจำนวนมาก

เฟซบุ๊ก สุรพลน้อย โทณะวณิก ลูกชาย สุรพล โทณะวณิก โพสต์ข่าวเศร้าการสูญเสีย ครูเพลงชื่อดัง ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติว่า คุณพ่อทราบข่าวแล้ว คุณพ่อบอกว่า ขอให้มีความสุขอยู่ในที่สงบ ซึ่งใครๆก็ต้องพบเจอเป็นเรื่องธรรมชาติ ถึงเวลาทุกๆคนก็ต้องจากไป ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ

ขณะที่คนในวงการบันเทิงร่วมอาลัย อาทิ หนึ่ง จักรวาล ก็โพสต์สุดอาลัยครูชาลีด้วยว่า ผมขอกราบส่งครู(ชาลี อินทรวิจิตร)สู่สรวงสวรรค์ครับ ครูคือศิลปินเอกของโลก ที่สร้างผลงานไว้มากมาย ทุกๆบทเพลงของครูจะอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไปครับ และเป็นมงคลกับชีวิตของผมมากๆ ที่ได้เรียบเรียงและบรรเลงเพลงของครูด้วยความบริสุทธิ์ ใจครับ…..รักและเคารพครูครับ …..หนึ่ง จักรวาล…. #ครูชาลี #ชาลีอินทรวิจิตร #rip


อัพเดทความก้าวหน้าของยานลูซี่ กับภารกิจสำรวจ ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน

วันที่ 3 พฤษภาคม เฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้เผยแพร่บทความ อัพเดทความก้าวหน้าของยานลูซี่ กับภารกิจสำรวจ ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ดังนี้

“Lucy” เป็นยานสำรวจเพื่อเดินทางไปศึกษาดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan) กลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรทับซ้อนกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ซึ่งยังไม่เคยมีการส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้มาก่อน นั่นหมายความว่า Lucy จะเป็นยานลำแรกที่จะเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลของพวกมันอย่างจริงจัง หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการได้เปิดเผยแผนภารกิจและข้อมูลของชุดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับยาน Lucy ประกอบด้วยเครื่องมือหลัก ๆ ทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่

1) Multi-spectral Visible Imaging Camera (MVIC) และ Linear Etalon Imaging Spectral Array (LEISA) หรือ L’Ralph ทำหน้าที่ถ่ายภาพของดาวเคราะห์น้อยและส่งข้อมูลให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบและปริมาณของธาตุต่าง ๆ บนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย

2) Long Range Reconnaissance Imager หรือ L’LORRI เป็นกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่จะถ่ายภาพในช่วงความยาวคลื่น 0.35 – 0.85 ไมครอน

3) Thermal Infrared Spectrometer หรือ L’TES ทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิของดาวเคราะห์น้อยและศึกษาโครงสร้างของดาวเคราะห์น้อย

4) High-Gain Antenna จานรับ-ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ ใช้ติดต่อกับทีมควบคุม และยังสามารถใช้วัดมวลของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายโดยใช้หลักการ Doppler Shift ได้อีกด้วย (หลักการเดียวกับเวลาที่เราได้ยินเสียงรถพยาบาลที่แล่นผ่านเปลี่ยนไป เนื่องจากเกิดปลี่ยนแปลงความถี่คลื่นและความยาวคลื่น)

ล่าสุด Donya Douglas-Bradshaw ผู้จัดการโครงการได้เปิดเผยภาพที่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้ได้ตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เกือบจะครบทุกชิ้นแล้ว

หนึ่งในอุปกรณ์ที่น่าสนใจของยานลำนี้ คือ L’TES ที่ออกแบบและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) จากนั้นส่งมายังบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Space) ที่เป็นบริษัทด้านอากาศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2563 และเริ่มประกอบ L’TES เข้ากับยานอวกาศ หน้าที่หลักของเครื่อง L’TES คือการตรวจวัดพลังงานในช่วงอินฟราเรดที่ปลดปล่อยออกมาจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจัน ในช่วงความยาวคลื่น 4 – 50 ไมโครเมตร ทำให้ระบุองค์ประกอบพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยได้ รูปแบบและการติดตั้ง L’TES ถูกถอดแบบมาจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของยาน OSIRIS-REx และ Mars Global Surveyor ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวัดและวิเคราะห์องค์ประกอบและโครงสร้างของวัตถุเป้าหมาย ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรด

ถึงแม้ว่าประชากรโลกต้องเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผลกระทบลุกลามไปถึงโครงการวิจัยและภารกิจสำรวจอวกาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการยังยืนยันว่า Lucy ยังเดินตามแผนงานทุกประการ และผลปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างน่าพอใจ และวางแผนไว้ว่าจะส่งยาน Lucy ขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

ดาวเคราะห์น้อยได้ชื่อว่าเป็นวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อาจนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ที่จะอธิบายได้ว่าระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่นเดียวกันกับการค้นพบฟอสซิลอายุราว ๆ 4 ล้านปี อย่างป้าลูซี ที่ทำให้จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของต้นตระกูลของมนุษย์ถูกเติมเต็มมากขึ้น และนั่นคือที่มาของการตั้งชื่อว่า ยาน Lucy

ภาพ จาก นาซา

อ้างอิง :

[1] https://www.nasa.gov/…/first-mission-to-the-trojan…

[2] https://www.nasa.gov/image…/goddard/2020/lucy-spacecraft

[3] https://www.nasa.gov/…/first-scientific-instrument…

[4] http://lucy.swri.edu/mission/Spacecraft.html

[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Doppler_effect