ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



อีลอนมัสก์เผยโฉมชิพฝังกะโหลก มุ่งรวมมนุษย์กับเอไอเป็นหนึ่ง

อีลอนมัสก์เผยโฉมชิพฝังกะโหลก - วันที่ 31 ส.ค. นิวแอ็ตลัสรายงานว่า นายอีลอน มัสก์ นักประดิษฐ์ชื่อดังชาวอเมริกัน เผยความคืบหน้าการพัฒนานวัตกรรมการเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ พร้อมนำหมูที่ผ่านการฝังชิพไว้ในสมองมาสาธิต

รายงานระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นนวัตกรรมด้านอินเตอร์เฟซการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ เรียกว่า เบรน-คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เฟซ (BCi) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทั่วโลกพัฒนามานานเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว

โดยหลักการทำงานนั้นเป็นการนำอุปกรณ์ไปติดตั้งที่สมองเพื่อตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าในสมองในลักณะของคลื่นสมอง จากนั้นจึงนำมาแปลเป็นคำสั่งเพื่อสั่งการต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีประโยชน์หลายด้าน อาทิ ด้านการแพทย์ เช่น การรักษาผู้ป่วยอัมพาต การรักษาอาการปวดเรื้อรัง และการรักษาภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

อุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความสามารถอื่นนอกจากการตรวจวัดคลื่นสมอง เช่น การย้ำสัญญาณ หรือแก้ไขสัญญาณไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องซึ่งถูกส่งไป หรือออกมาจากสมองได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อุปกรณ์ BCi นั้นมีขนาดใหญ่พกพาไม่สะดวก มีแบนด์วิธที่ต่ำ และมีสายจำนวนมาก รวมถึงการติดตั้งต้องใช้การผ่าตัดที่มีความซับซ้อนใช้เวลานาน นำไปมาสู่โครงการพัฒนาของนิวราลิงค์ ที่มีเป้าหมายทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีศักยภาพสูงขึ้น มีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย และเหมาะสำหรับการใช้ของผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งจะเปิดประตูความเป็นไปได้อื่นอีกมหาศาล

นายมัสก์ ซึ่งตั้งโครงการนี้ขึ้นมายังเล็งเห็นถึงอนาคตที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะเรียนรู้ด้วยตัวเองกระทั่งวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่ามนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตล้าหลังและต้องอาจสูญพันธุ์ไป แต่อุปกรณ์ BCi นั้นจะสามารถทำให้มนุษย์รวมกับเอไอได้ และกลายเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษยชาติ

อุปกรณ์ล่าสุดที่นายมัสก์นำมาเปิดเผย ชื่อว่า ลิงค์ วี0.9 (Link V0.9) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 และหนา 8 มิลลิเมตร (ประมาณเหรียญบาท) ได้รับการพัฒาต่อยอดมาจากเซ็นเซอร์เมื่อปีที่แล้วที่นายมัสก์นำมาสาธิต โดยมีแบนด์วิธมากกว่า เทียบได้กับแบนด์วิธ 100 เท่า ของอุปกรณ์ไอทีที่ดีที่สุดปัจจุบัน ติดตั้งได้โดยการผ่าตัดฝังไว้ที่กะโหลกศีรษะ

"จริงๆ มันเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมากครับ แต่ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คิดซะว่ามันเป็นฟิตบิทที่ติดไว้ที่กะโหลกของคุณน่ะแหละ" มัสก์ ระบุ ปัจจุบัน นิวราลิงค์อยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดเล็กร่วมกับ โว้ก สตูดิโอ (Woke Studio) ที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวได้แล้วเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง และผู้เข้ารับการผ่าตัดติดตั้งสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในวันที่เข้ารับการติดตั้งด้วย

ไลฟ์สตรีมดังกล่าว นายมัสก์ ยังนำหมูทดลองจำนวน 2 ตัว มาสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง ได้แก่ เกอร์ทรูด ที่ได้รับการผ่าตัดติดตั้งชิพดังกล่าว และโดโรธี ที่เคยได้รับการติดตั้งและนำชิพออกไปแล้ว

จุดประสงค์การสาธิตเพื่อแสดงให้เห็นว่า คลื่นสมองของเกอร์ทรูดนั้นสามารถวัดออกมาได้จริงจากอุปกรณ์นี้ ขณะที่โดโรธีนั้นเพื่อพิสูจน์ว่า ชิพนี้สามารถติดตั้งและนำออกได้หากผู้ใช้เปลี่ยนใจในหายหลัง หรือต้องการอัพเกรดรุ่นใหม่ โดยไม่มีอันตรายใดๆ ซึ่งนายมัสก์ ยืนยันว่า เจ้าโดโรธีนั้นใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมานาน 2 เดือนแล้วหลังถอดชิพ

นอกจากประโยชน์ทางด้านการแพทย์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า อาจสามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้อีก อาทิ การควบคุมคอมพิวเตอร์ เรียกรถยนต์ หรือกระทั่งการเล่นเกมผ่านสมอง แต่คาดว่ายังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนาน

นายมัสก์ ระบุว่า นิวราลิงค์ อยู่ระหว่างการเตรียมติดตั้งชิพนี้ในมนุษย์เพื่อการทดสอบทางการแพทย์ แต่ต้องรอการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐก่อน โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของสหรัฐทำให้พัฒนาได้รวดเร็วขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม นายมัสก์ ระบุว่า การเปืดเผยความคืบหน้าครั้งนี้ไม่ได้ต้องการระดมทุน แต่ต้องการระดมกำลังคนที่ต้องการทำงานช่วยกันพัฒนาอุปกรณ์ BCi ปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์อยู่ราว 100 คนที่นิวราลิงค์ แต่นายมัสก์ต้องการในระดับหลักหมื่นคน

ด้านความกังวลจากผู้เชี่ยวชาญถึงเทคโนโลยี BCi นั้นเป็นเรื่องด้านความปลอดภัยผู้ใช้ และการถูกเจาะระบบควบคุมของชิพเพื่อแทรกแซงสมองของผู้ใช้งาน รวมถึงการที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในสงครามและตกไปอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย

ทั้งนี้ นายมัสก์ เป็นผู้ก่อตั้งเทสล่า บริษัทยนตรกรรมหรูพลังงานไฟฟ้า และสเปซเอ็กซ์ ที่ปฏิวัติเทคโนโลยีการปล่อยดาวเทียมด้วยจรวดส่งดาวเทียมแบบนำมาใช้ใหม่ได้ สามารถร่อนกลับลงมาได้เองหลังนำดาวเทียม หรือแคปซูลนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจร พร้อมเปิดประตูความเป็นไปได้ของการท่องเที่ยวอวกาศราคาเข้าถึงได้ และภารกิจนำมนุษย์สู่ดาวอังคาร