อาการนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม แต่ถ้าหากมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้ในระยะยาว
นอนไม่หลับส่งผลเสียอะไรบ้าง
ขณะที่เรานอนหลับจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง เพราะเป็นช่วงที่ Growth Hormone จะหลั่งออกมาเพื่อใช้ในการซ่อมแซมอวัยวะที่สึกหรอ ดังนั้น หากเรานอนไม่หลับก็จะทำให้กระบวนการซ่อมแซมร่างกายหยุดชะงัก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ ตามมา เช่น
• ภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง นำไปสู่การเจ็บป่วยต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
• เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วนง่าย
• ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ระบบขับถ่ายไม่ดี
• ความจำแย่ลง ไม่มีสมาธิในการทำงาน
• ผิวพรรณหมองคล้ำ หย่อนคล้อย แลดูแก่ก่อนวัย
• ความดันโลหิตสูง
• ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย
• เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
นอนหลับไม่เพียงพอทำให้ผิวพรรณไม่สดใส หย่อนคล้อย และดูแก่กว่าวัย (ภาพจาก iStock)
รูปแบบของอาการนอนไม่หลับในแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. นอนหลับยาก คือใช้เวลาและความพยายามนานกว่าปกติ
2. ตื่นบ่อย คือไม่สามารถนอนหลับได้ยาว
3. หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้
นอนไม่หลับเกิดจากอะไร
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ทางร่างกาย ทางจิตใจ และสภาพแวดล้อม
ปัจจัยทางร่างกาย
• อาการผิดปกติของโรค เช่น โรคสมองเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน อาการไอเรื้อรัง ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน มีอาการเจ็บปวดทรมานจนนอนไม่หลับ
• ความผิดปกติของระบบหายใจ เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
• เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวแขนขาที่ผิดปกติขณะหลับ
• การได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มชา กาแฟ ในช่วงหลังเที่ยง มีผลต่อการนอนไม่หลับ (ภาพจาก iStock)
ปัจจัยทางจิตใจ
• เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น เรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด เศร้า เสียใจ
• อาการเริ่มแรกของโรคทางจิตใจบางอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเวช
เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบางอย่างส่งผลต่อความเครียด ความเศร้า เสียใจ ทำให้นอนไม่หลับได้ (ภาพจาก iStock)
ปัจจัยสภาพแวดล้อม
• สภาพห้องนอนที่ไม่เหมาะสม เช่น มีแสงสว่างเกินไป เสียงดัง อุณหภูมิร้อนเกินไป
• รู้สึกแปลกกับสถานที่ เช่น การเปลี่ยนสถานที่นอน และการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก
• การนอนที่ไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตื่นเต้นผาดโผนก่อนนอน
ยานอนหลับ ไม่ใช่ทางออก
หลายคนมักแก้ปัญหาด้วยการกินยานอนหลับ แต่ถ้ากินไม่ถูกวิธีอาจส่งผลเสียทั้งระยะสั้นและระยาว ซึ่งนายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital เผยว่าปัจจุบันมีการนำยาหลายกลุ่มมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ยาที่ใช้บ่อยมักเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepine โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เพื่อช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนได้ง่ายขึ้น
ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้มีประโยชน์มาก แต่หากผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีการใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการติดยานอนหลับได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่จำเป็นต้องใช้ยาขนาดที่สูงขึ้น เพื่อให้หลับได้ หรือที่เรียกว่า การดื้อยา นอกจากนี้ การที่ใช้ยานอนหลับในกลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้นอนได้ยากขึ้น หากไม่ได้ใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้น
• ง่วงนอน อ่อนเพลีย
• ปวดศีรษะ
• คลื่นไส้
• สับสน มึนงง
• ท้องเสีย หรือท้องผูก
• ปากแห้ง
• กล้ามเนื้ออ่อนแรง
• การตัดสินใจช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม
• อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง
ระยะยาว
ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ จนทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่
• อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า
• ภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
• สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับเกินขนาด อาจทำให้เกิดการกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยานอนหลับไม่ควรเลิกยานอนหลับกระทันหันหรือหักดิบ (Cold turkey) เพราะอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยา (Rebound insomnia) และจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น หงุดหงิด สับสน กระสับกระส่าย วิตกกังวล มีอาการสั่นหรือมีปัญหาระบบไหลเวียนของโลหิต เพราะฉะนั้นต้องลดขนาดยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
การรักษาอาการติดยานอนหลับ ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการเพิ่มหรือลดขนาดยานอนหลับต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษา เพราะการปรับขนาดยานอนหลับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ความเครียด พฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน ชนิดและขนาดยาที่ใช้ ซึ่งการลดขนาดยาแพทย์จะทำควบคู่ไปกับการจิตบำบัด เช่น การบำบัดโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม เป็นการบำบัดจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมการนอนหลับ และรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้
นอนไม่หลับ ทำอย่างไรดี
สำหรับวิธีแก้ไขอาการนอนไม่หลับด้วยตัวเองโดยไม่ใช้ยานอนหลับ สามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
• เข้านอนให้เป็นเวลา ปรับพฤติกรรมการนอนที่ไม่เป็นเวลา ไม่งีบหลับระหว่างวัน ไม่กดดันตัวเองให้นอนหลับ เพราะอาจส่งผลให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวล
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น ชา กาแฟ และสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลับยาก
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะช่วยให้เรานอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น แต่ควรเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน เนื่องจากทำให้ร่างกายตื่นตัวส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้นไปอีก
• เลี่ยงการใช้อุปกรณ์สื่อสารและแกดเจ็ตต่างๆ ก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที
• ควรนอนเมื่อรู้สึกง่วง หากนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ให้ลุกไปทำกิจกรรมที่สบายใจแล้วกลับมานอนใหม่
• มื้อเย็นควรรับประทานอาหารที่ช่วยให้นอนหลับง่าย เช่น นมจืด เนื้อไก่ ไข่ เนื้อปลา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และถั่ว ควรเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
• ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น ทำสมาธิ จุดเทียนหอมกลิ่นอโรมา ฟังเพลงที่มีทำนองผ่อนคลาย อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเบาๆ
การจุดเทียนหอมช่วยให้ห้องมีบรรยากาศผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีดังกล่าวแล้วยังมีอาการนอนหลับไม่สนิท หรือนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยรวมทั้งตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ และทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
ควรงดเล่นมือถือก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที
ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย กระทบต่อความมั่นใจ ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม ที่สามารถส่งผลถึงปัญหาสุขภาพจิตและการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มเนื่องจากการรีบเข้าห้องน้ำได้ในอนาคต ปัญหานี้เกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้หรือไม่
สาเหตุผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มาจากสาเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
• ผู้หญิง : เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือน เป็นเหตุให้ผนังท่อปัสสาวะบางลง ลดความสามารถในการปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้หูรูดปิดสนิทได้ยากขึ้น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ปัสสาวะเล็ดได้ง่ายเมื่อไอ จาม หัวเราะ หรือยกของหนัก
• ผู้ชาย : เกิดจากต่อมลูกหมากโต ขวางทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะมาก ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเล็ด
• ระบบประสาทในการควบคุมการขับถ่ายบกพร่อง มักพบในผู้ป่วยทางจิตเวช เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึมเศร้า สมาธิสั้น วิตกกังวล
• ติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
• สภาพร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่ได้หรือไม่สะดวก
• มีอาการไอ จาม เป็นประจำ
• ท้องผูกเป็นประจำ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ผู้ที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น
อาการผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ความรุนแรงของอาการ เริ่มตั้งแต่การมีปัสสาวะหยดมาเปื้อนกางเกงในปริมาณที่ไม่มากนัก ไปจนถึงมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาเป็นปริมาณมาก บางครั้งอาจมีอุจจาระเล็ดร่วมด้วย ผู้สูงวัยบางท่านแม้ยังไม่เริ่มมีอาการดังกล่าวแต่ก็อาจเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น
• ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
• ปัสสาวะไม่สุด
• รู้สึกอยากปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ทั้งสิ้น
วิธีแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สามารถแก้ไขได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (bladder training)
หรือฝึกการปัสสาวะตามเวลาที่กำหนด เป็นการฝึกเพื่อยืดระยะเวลาของการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น และให้กระเพาะปัสสาวะมีความเคยชินกับปริมาณปัสสาวะที่มากขึ้น โดยเริ่มจากฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นครั้งละประมาณ 30 นาที จนกระทั่งรู้สึกว่าสามารถทนได้ดี (อาจใช้เวลา 3-5 วัน) จากนั้นให้ปรับเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น จนความถี่ในการเข้าห้องน้ำลดลงเป็นทุกๆ 2-4 ชั่วโมง
2. ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle exercise)
ซึ่งทำได้โดยขมิบรูทวารและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (สังเกตการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้จากการพยายามจะกลั้นปัสสาวะ) ระหว่างขมิบให้นับ 1-5 ช้าๆ แล้วคลายกล้ามเนื้อลง ให้ทำซ้ำประมาณ 10-15 ครั้ง จำนวน 3 เซต เป็นประจำทุกวัน และไม่ควรกลั้นหายใจขณะบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
3. การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น
เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่าง ชา กาแฟ โกโก้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยากลุ่ม Anti-muscarinic และ Beta-3 agonist
4. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
โดยเฉพาะในบริเวณที่มีฝุ่นหรือกลิ่นแรง ป้องกันการเป็นหวัด เพื่อเลี่ยงการไอ จาม
5. แก้ปัญหาท้องผูก
ด้วยการรับประทานผักผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกาย เป็นต้น
6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เพื่อช่วยลดแรงดันภายในช่องท้อง
ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยตนเองได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งจะมีตั้งแต่การรักษาด้วยการฉีดสาร Botulinum toxin, การรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ ไปจนถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อมูลอ้างอิง : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม, รพ.กรุงเทพ
สมองเสื่อมเป็นสิ่งที่ผู้อายุมากกลัวที่สุดอย่างนึง แค่นึกว่าความสามารถในการจดจำจะหายไป กินข้าวไปรึยัง ยังจำไม่ได้ ความคิด การตัดสินใจ การพูดถดถอย จนวันนึงไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งคนอื่นในการใช้ชีวิต
ไม่ว่าจะอาบน้ำ กินข้าว แม้ว่าร่างกายจะยังแข็งแรงก็ตาม
สาเหตุนอกจากความเสี่ยงที่ติดมาตั้งแต่เกิดจากพันธุกรรม ก็ยังมีสภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิต ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของสมองเสื่อมบางประเภทมากกว่าประเภทอื่น
ตัวอย่างที่อาจจะมีน้ำหนักของการใช้ชีวิตมากหน่อยคือ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะพูดถึงเส้นเลือดฝอยที่ถูกกระทบโดยโรคประจำตัวเช่น ความดันและหรือเบาหวานที่เป็นมานาน ซึ่งอาจจะควบคุมได้ไม่ดี
ทำให้สุดท้ายส่งผลกระทบต่อเนื้อสมองมากพอจนเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง
ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ โควิดและวัคซีน เพราะทุกคนได้รับผลกระทบไม่ว่าอย่างใดก็อย่างนึง ซึ่งตอนนี้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแล้ว จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแบบเดิมซ้ำจริงๆหรือ หรือว่าการกระตุ้นนั้นมีผลดีมากกว่าผลเสียจริงๆรึเปล่า
ซึ่งข้อนี้คงต้องให้แต่ละคนพิจารณากันเอง
วัคซีน mRNA มีการศึกษามาหลายสิบปีแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ โดยลบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในแบบเดิม ที่ฉีดส่วนใดส่วนนึงของเชื้อ หรือเชื้อที่ได้รับการดัดแปลง แต่เป็นการฉีดรหัสพันธุกรรมเข้าไปเพื่อที่จะให้เซลล์ในร่างกายเรานำไปใช้และผลิตตัวกระตุ้นที่จะมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ซึ่งเชื่อว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ดีกว่าวัคซีนแบบเก่า แต่ยังไม่สำเร็จเนื่องจากรหัสพันธุกรรมละเอียดอ่อนและเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงและอาจจะทำให้ร่างกายไปสร้างโปรตีนแบบอื่นที่ไม่ได้ต้องการ
จนมาถึงโควิด เป็นวัคซีน mRNA อันแรกในมนุษย์ ได้รับการอนุมัติการใช้ในคนอย่างรวดเร็วแต่ก็คงไม่แปลกที่จะพบผลข้างเคียงต่างๆตามมามากมาย เพราะมนุษย์ได้ถูกนำมาเป็นตัวทดลอง
นั่นรวมถึงหมอเองด้วย
ซึ่งในระหว่างระบาด คงไม่มีตัวเลือกอื่นนักเพราะก็คงยังไม่มีใครรู้ผลข้างเคียงมั้ง แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเป็นการทดลองจะต้องมีการติดตามผลข้างเคียง และประสิทธิภาพ ถ้ามีผลข้างเคียงจะต้องรีบแจ้งและให้ผู้รับบริการเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะรับวัคซีนต่อหรือไม่
สิ่งที่จะนำเสนอคือการวิจัยจากประเทศเกาหลี โดยคุณ Jee Hoon Roh และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ใน International Journal of Medicine เดือนพฤษภาคม 2567 โดยมีการเปรียบเทียบข้อมูลทางสุขภาพระหว่างประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิดแบบ mRNA 2 เข็ม เทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน รวมทั้งหมดหลายแสนคน
พบว่า ใน 3 เดือนแรก ประชาชนที่ได้รับวัคซีนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นระยะที่มีความบกพร่องทางการรู้เล็กน้อย (Mild cognitive impairment [MCI]) นั้นมากกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนถึงสองเท่า
และคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 20%
โดยเมื่อปี 2022 ก็มีการศึกษาที่พบว่าความเสี่ยงอัลไซเมอร์สูงขึ้นหลังติดโควิด ส่วนจะมีตัวแปรอื่นที่ทำให้เห็นผลที่แตกต่างกันขนาดนี้ หรือสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไรนั้นตอนนี้คงได้แต่คาดเดา การจะสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนลักษณะนี้ต่อจำเป็นต้องชั่งประโยชน์และโทษเนื่องจากผลกระทบต่อโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัญหาของคนคนนึงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องดูแล บางครั้งอาจจะต้องออกจากงาน
พอในวงกว้างย่อมกระทบต่อประเทศอย่างแน่นอน ปัญหาต่อมาคือมันไม่ใช่แต่สมองที่มีผลกระทบ แต่ไม่ต้องไปหาให้เสียเวลาเลยเพราะการศึกษานั้นออกมาค่อนข้างเยอะว่าหลังฉีดวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น
ไม่กล้าฉีดแล้วจริงๆครับ วัคซีนโควิดของท่าน แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนสำหรับผู้อายุมากขึ้น เช่น ประมาณ 50 ปี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (influenza) วัคซีนงูสวัด (shingle) ส่วนใน 60 ปี มีวัคซีนใหม่คือไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus) พอ 65 ปีก็มีวัคซีนนิวโมคอคคัส Pneumococcal
และสุดท้ายก็อย่าลืมโรคคอตีบและบาดทะยัก (diphtheria and tetanus) แนะนำให้ฉีดทุก 10 ปีครับ
แต่ระวังว่าถ้าวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ถ้าเริ่มปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี mRNA ก็ยั้งไว้ก่อนครับ
นายแพทย์ภาสิน เหมะจุฑา MBBS (UK) วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยา.
หมอดื้อ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จรวด “ฟอลคอน 9” ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนเนดี แหลมคะแนเวอรัล ในรัฐฟลอริดา เพื่อพานาย จาเรด ไอแซกแมน มหาเศรษฐีพันล้าน กับพลเรือนอีก 3 คน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ในวันอังคารที่ 10 ก.ย. 2567 โดยเขาหวังว่าจะได้ออกเดินสำรวจอวกาศ หรือ “spacewalk” ด้วยทุนเอกชนเป็นครั้งแรก
ภารกิจดังกล่าวมีชื่อว่า “โพลาริส ดอว์น” (Polaris Dawn) เป็นภารกิจแรกใน 3 ภารกิจที่ออกทุนโดยนายไอแซกแมน ผู้ก่อตั้งบริษัท Shift4 ผู้ให้บริการชั้นนำด้านโซลูชันเทคโนโลยีและการประมวลผลการชำระเงินแบบครบวงจร
นายไอแซกแมนโดยสารบนแคปซูล “ครูว์ ดราก้อน รีซิลเลียน” (Crew Dragon Resilience) ในฐานะผู้บังคับการ ร่วมกับนาย สกอตต์ “คิดด์” โพทีท เพื่อนสนิทและอดีตนักบินกองทัพ กับวิศวกรของสเปซเอ็กซ์อีก 2 คนได้แก่ แอนนา เมนอน และ ซาราห์ กิลลิส
แคปซูลรีซิลเลียนจะเข้าสู่วงโคจรโลกจนถึงจุดที่สูงจากพื้นโลก 1,400 กม. ซึ่งเป็นจุดที่ไม่เคนมีมนุษย์คนใดไปถึง นับตั้งแต่โครงการอพอลโลของนาซาสิ้นสุดลงในช่วงปี ค.ศ. 1970
การจะไปถึงจัดนั้น นักบินอวกาศต้องผ่านพื้นที่ในอวกาศที่เรียกว่า “แถบรังสีแวนอัลเลน” (Van Allen belt) ซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง แต่ลูกเรือจะได้รับการปกป้องจากแคปซูลและชุดอวกาศที่ออกแบบใหม่ของพวกเขา
การผ่านแถบรังสีดังกล่าวเพียงชั่สครู่ จะทำให้ลูกเรือรีซิลเลียนสัมผัสกับรังสีเทียบเท่ารังสีที่นักบินอวกาศ บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สัมผัสตลอดการทำงาน 3 เดือน แต่ยังถือว่าอยู่ภายในระดับที่ยอมรับได้ โดยพวกเขาตั้งเป้าจะศึกษาผลกระทบของการสัมผัสรังสีในระยะสั้นๆ นี้ ว่ามีผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างไรบ้าง
ลูกเรือจะใช้เวลาในวันที่ 2 ณ จุดสูงสุดที่ยานของพวกเขาไปถึง ทำการทดลองกว่า 40 รายการ รวมถึงการสื่อสารด้วยเลเซอร์ระหว่างดาวเทียม ระหว่างแคปซูลรีซิลเลียมลำนี้ กับกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงก์ ของสเปซเอ็กซ์
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในวันที่ 3 ของภารกิจ นายไอแซกแมนกับ น.ส.ซาราห์ กิลลิส จะออกเดินสำรวจอวกาศ (spacewalk) ซึ่งจะทำให้นี่เป็นการเดินสำรวจอวกาศด้วยทุนเอกชนเป็นครั้งแรกของโลก โดยกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
พวกเขาจะออกเดินสำรวจอวกาศขณะยานอยู่ที่ความสูง 700 กม.จากพื้นโลก พวกเขาจะได้ทดสอบชุดอวกาศสำหรับสวมใส่เพื่อปฏิบัติงานภายนอกยานหรือนอกสถานีอวกาศรุ่นใหม่ของสเปซเอ็กซ์ที่เรียกว่า ชุด “EVA”
ในการให้สัมภาษณ์ระหว่างฝึกฝนเดินสำรวจอวกาศ น.ส.กิลลิสกล่าวว่า การเดินอวกาศเป็นส่วนที่จำเป็นในแผนการส่งมนุษย์ไปดาวดวงอื่นของสเปซเอ็กซ์
“จนถึงตอนนี้ มีไม่กี่ประเทศที่เคยทำการเดินสำรวจอวกาศ สเปซเอ็กซ์มีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ในการไปให้ถึงดาวอังคาร และสร้างการใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์หลายดวงขึ้นมา เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น เราต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง และก้าวแรกคือการทดสอบชุด EVA เพื่อที่เราจะได้สามารถเดินสำรวจอวกาศ และออกแบบชุดที่ดีขึ้นอีกในอนาคต”
ที่มา : bbc
เปิดเคล็ดลับการเลือกอาหารสำหรับผู้มี "ความดันโลหิตสูง" ควรกินอะไรอะไรดี พร้อมแนะแนวทางการบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งช่วยควบคุมความดันได้ดีขึ้น
ความดันสูง หรือความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะนี้สามารถนำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นหนึ่งวิธีการในการควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงคือค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะวัดได้ 2 ค่า สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงนั้น ค่าที่วัดได้จะมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
ค่าความดันโลหิตตัวบน: เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว
ค่าความดันโลหิตตัวล่าง: เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว
ความดันสูงควรกินอะไร
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหาร เนื่องจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตได้ มีหลักง่าย ๆ ในการเลือกรับประทานอาหาร คือ ลดการบริโภคเกลือโซเดียม อาหารที่มีรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง รวมถึงอาหารแปรรูปสำเร็จรูปที่มักมีเกลือในปริมาณสูง ในขณะเดียวกันควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งใยอาหารที่ดี เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วเมล็ดแห้ง และเลือกรับประทานโปรตีนจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ และถั่วเมล็ดแห้ง จำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ที่มักพบในอาหารทอดและขนมอบกรอบ การดื่มน้ำสะอาดวันละอย่างน้อย 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ก็จะช่วยในการควบคุมความดันโลหิตได้เช่นกัน อาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตมีให้เลือกรับประทานหลากหลาย โดยคุณสามารถปรับเปลี่ยนการรับประทานให้เหมาะกับความชอบของตัวเองได้
10 อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง
1.ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี : รับประทาน ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี ประมาณ 7-8 ทัพพี เพื่อเพิ่มใยอาหารในการขับถ่าย และโรคเรื้อรัง
2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ : รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อแดงที่ไม่ติดมันหรือไม่ติดหนังเพื่อลดการบริโภคไขมัน และเพิ่มการรับประทานเนื้อปลาเพื่อให้ได้รับโอเมก้า 3 เพื่อช่วยในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการอักเสบ และมีส่วนช่วยในการบำรุงหลอดเลือด
3. ผัก ผลไม้ สด: เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้สด 4-5 ทัพพี โดยเน้นการรับประทานผักผลไม้สด ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเป็นหลัก เพื่อเพิ่มใยอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ หลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4. ไขมันดี: รับประทานน้ำมันหรือไขมันในปริมาณ ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน โดยเน้นรับประทานอาหารที่เป็นไขมันดี เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณไขมันที่เพียงพอ และช่วยในการดูดซึมวิตามินชนิดละลายน้ำ
5. ถั่วและธัญพืช: เน้นรับประทานธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อให้ได้ไขมันที่ดี แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเนื่องจากถั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับประทานเกินวันละ 30 กรัม หรือวันละ 2 ช้อนโต๊ะ
6. กระเจี๊ยบแดง:จากผลวิจัยพบว่ากระเจี๊ยบแดงสามารถช่วยลด โรคความดันโลหิต ได้ เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด
7. ขึ้นฉ่าย: มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม ควบคุมน้ำตาล ลดไขมันและต้านการอักเสบได้
8. กระเทียม: กระเทียมเป็นพืชผักสวนครัวที่ต้องมีติดครัวกันทุกบ้าน นอกจากรสเผ็ดร้อนที่ช่วยเสริมรสชาติอาหารแล้ว ในกระเทียมยังมีสารเคมีที่สำคัญก็คือ Allicin ที่ช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเลือดได้ด้วย
9. ตะไคร้: เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนนิยมนำมาทำอาหาร เนื่องด้วยสรรพคุณที่หลากหลายทั้งช่วยในเรื่องการขับปัสสาวะ ขับลมและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความดันโลหิตสูงได้ดีทีเดียว
10. ฟ้าทะลายโจร: สมุนไพรยอดฮิตที่มากด้วยสรรพคุณทางยา ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสารในฟ้าทะลายโจรนั้นฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไปด้วย