ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 8 กุมภาพันธ์ 2563

มธ. คว้า‘นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ’ ปี 63 แนะมหาลัยผนึก‘เอกชน-ตปท.’แก้ปัญหาชาติ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดพิธีประกาศเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้แก่นักวิจัย 5 สาขา รวมทั้งสิ้น 9 ราย โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในสาขาการศึกษาคือ ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ สืบนุการณ์ เปิดเผยว่า ประโยชน์สูงสุดของงานวิจัย คือการนำไปใช้แก้ปัญหาประเทศ ทั้งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการคำตอบอย่างทันทีทันใด และปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งต้องใช้งานวิจัยหลายชิ้นมาประกอบกันจนเกิดเป็นภาพใหญ่

สำหรับงานวิจัยที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัย ในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้และบุคลากร 2. รัฐบาล ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณและ ผู้กำหนดโจทย์การวิจัยจากปัญหาของประเทศ 3. ภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะผู้ที่จะนำงานวิจัยและนวัตกรรม ไปต่อยอด 4. ภาคชุมชน ในฐานะผู้ที่สะท้อนรากฐานของปัญหาได้ชัดเจนที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงงานวิจัย สังคมมักจะตั้งความหวังไว้ที่มหาวิทยาลัยมากที่สุด และเพื่อที่จะได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งงบประมาณและกำลังคน แต่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวมาเป็นผู้หาทุนวิจัยเอง ซึ่งปัจจุบันมีความเปิดกว้างไม่ว่าจะเป็น Co-funding กับภาคเอกชน หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับแหล่งทุนต่างประเทศ

“ในมุมมองของนักวิจัยนานาชาติ เห็นตรงกันว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญในระดับโลก เต็มไปด้วยความท้าทาย มีความหลากหลาย มีโจทย์การวิจัยจำนวนมาก ที่ตั้งของประเทศไทยก็อยู่ในที่ที่เหมาะสม นี่จึงเป็นโอกาสดีของทุกมหาวิทยาลัย” ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ กล่าว

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติรายนี้ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ทุน Bualuang ASEAN Chair Professorship ที่ให้ในลักษณะ Co-funding ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับธรรมศาสตร์ โดยจะมอบให้กับนักวิจัยระดับโลกจำนวน 30 ราย เข้ามาทำงานร่วมกับนักวิจัยของไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีงานวิจัยใหม่ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 30 ประเด็น เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาชาติ และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทยไปพร้อมกันด้วย

อนึ่ง ภายในงานเดียวกันยังมีการมอบรางวัลอื่นๆ โดย มธ. ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 15 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา 1 รางวัล รางวัลผลงานวิจัย 8 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ 1 รางวัล รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 4 รางวัล และรางวัลผลงานวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ร่วมวิจัย 1 รางวัล


ชวนเที่ยว 'สวนหลังบ้าน' แหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เมืองโอ่ง

เปิดแล้วสถานที่เที่ยวแห่งใหม่สำหรับเด็กๆ ได้สนุกสนานกันช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ ชมสวนหลังบ้าน กินเพลิน เดินสวน ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีทั้งที่กิน ที่เล่น ที่เที่ยว ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เปิดแล้วมาเที่ยวได้เลย "สวนหลังบ้าน" ของศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรพอเพียงบ้านห้วยขวาง ตั้งอยู่เลขที่ 19/8 หมู่ 11 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี บนเนื้อที่กว่า 7 ไร่ ของนางสาวนงนุช เสลาหอม อายุ 45 ปี ผู้ใหญ่บ้านที่ 11 บ้านห้วยขวาง และประธานศูนย์การเรียนรู้สวนหลังบ้าน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาคบพิตร รัชกาลที่ 9 จากที่นาปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่ภายในปลูกพืชผัก ผลไม้ปลอดสาร และมีกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้และความสนุกสนานให้แก่ผู้ที่พาครอบครัวมาเยือน หวังที่จะให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

สำหรับเด็กและเยาวชนมีการจัดทำโครงการ "กล้าทำดีเพื่อบ้าน" เพื่อให้เด็กกล้าคิด กล้าทำงานมีจิตสาธารณะประโยชน์ เก็บขยะและคัดแยกขยะทำความสะอาด ตามสถานที่สาธารณะปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนทำดีทุกรูปแบบ

นางสาวนงนุช เสลาหอม เปิดเผยว่า เกือบ 4 ปีที่แล้วสมัยก่อนพื้นที่นี้จะเป็นทุ่งนามีการใช้สารเคมีทั่วไป จึงมีแนวคิดใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและอยากให้ชาวบ้านมีรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน จึงไปชักจูงใจให้ทุกคนปลูกผักสวนครัวกินเอง แต่ช่วงนั้นชาวบ้านยังไม่เห็นด้วย และมองว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยขณะที่แต่ละบ้านมีพื้นที่อยู่หลังบ้านแต่ยังไม่ยอมปลูก ได้ตัดสินใจหันกลับมาพลิกฟื้นพื้นที่ตัวเองพร้อมกับนำศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับปรุงพื้นที่ โดยเริ่มปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าว พอได้ผลผลิตมาแล้วก็ได้นำผลผลิตไปให้ชาวบ้านเพื่อชักจูงเขามาร่วมกัน

จนในที่สุดทุกคนเริ่มเห็นประโยชน์และเริ่มทำตามทีละบ้าน ตอนนี้ที่หมู่บ้านปลูกพืชผักไว้รับประทานเองแทบทุกหลังคาเรือนแล้ว กลายเป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาของทุกคน มีการแนะนำเพิ่มเติมความรู้เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้มีความสุขและยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนมีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานไม่ขาดสาย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำสินค้าที่จะนำมาขาย พร้อมกับให้ชาวบ้านที่ปลูกพืชผัก แปรรูปต่างๆ มีการพูดคุยร่วมกันถึงการเปิดพื้นที่นำสินค้ามีการปลูก การแปรรูปมาวางขายกันเอง โดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

นอกจากการนำสินค้าในชุมชนมาวางจำหน่ายแล้วยังมีกิจกรรมสำหรับให้เด็กๆและครอบครัวได้สนุกสนานด้วย เช่น กิจกรรมปั้นดินให้เป็นควาย ทำให้เด็กสร้างจินตนาการนำดินเหนียวเอามาปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ตามที่จินตนาการจะคิด มีผู้ปกครองคอยแนะนำ ทำให้เกิดความอบอุ่น และยังมีกิจกรรมสอนการดำนา ให้เด็กๆได้ซึมซับวิถีชีวิตความเป็นเกษตรกร และยังมีการเล่น สไลด์เดอร์โคลน การเล่นว่ายน้ำมะพร้าวแห้ง การละเล่นม้าก้านกล้วยเหมือนย้อนวัยย้อนอดีตกลับไปในวัยเยาว์ ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์ในการเหยียบดิน เล่นโคลนกับวิถีชีวิตในสมัยโบราณ

นางดวงสมร พฤฑฒิกุล เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ที่ศูนย์ฯจะมีจุดเด่นการทำแปลงเศรษฐกิจพอเพียงมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นจุดท่องเที่ยวให้คนมาศึกษาดูงานด้านการเกษตร และเป็นจุดพักผ่อนได้ด้วย มีการแบ่งพื้นที่โดยใช้ศาสตร์พระราชาตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ความรู้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี นอกจากนี้ยังมีมุมสนุกสนานให้เด็กเล่นฝึกดำนา สไลด์เดอร์โคลน การปั้นดิน มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมนำผลผลิตที่ปลูกตามสวนหลังบ้านไม่ใช้สารเคมีมาวางขายกันเอง มีสินค้าทั้งอาหารแปรรูป ผลผลิตการเกษตร ขนมโบราณ นำของดีมารวมไว้ที่นี่

ส่วนทางเกษตรจะเข้ามาแนะนำการปลูกพืชผัก ผลไม้ปลอดสารเคมี ตอบโจทก์สำหรับกระแสคนรักสุขภาพ และรวมกลุ่มของสมาชิกการบริหารจัดการดูแลแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรม การรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรให้เป็นสินค้าแปรรูป เช่น การทำไข่เค็มและการฝึกเกษตรกรที่เคยปลูกพืชผักให้มาขายผลผลิตเอง เรียกว่า ทำเอง ขายเอง อยากเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวที่แออัดในเมือง ให้ลองหันกลับมาเที่ยวทุ่งนา หาธรรมชาติ เมื่อมาที่สวนหลังบ้านจะพบกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งบรรยากาศ อาหารที่มาจากสวนหลังบ้านจริงๆ

ส่วนตามร้านค้าต่างๆ มีให้เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งการจำหน่ายมะพร้าวบอนไซ ผักออแกนิกส์ เลือกชิมอาหารโบราณใส่หม้ออวย และปิ่นโต มีทั้งแกงขี้เหล็ก น้ำพริกปลาทู ผักสด ส่วนขนมโบราณ มีขนมตาล ขนมโค ที่เด็กๆจะช่วยกันปั้นขนมและสาธิตวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวได้ฟังว่ามีส่วนผสมและวิธีการทำอย่างไรบ้าง ถือเป็นเสน่ห์และสีสันให้เด็กๆได้กล้าแสดงออก นอกจากนี้พื้นที่แห่งนี้ยังมีการคัดแยกขยะพลาสติก กล่องโฟม เศษอาหารไว้ชัดเจน เพื่อร่วมกันลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชนอื่นๆได้นำไปเป็นแบบอย่าง

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถมาเที่ยวชมธรรมชาติ สนุกสนานไปกับกิจกรรมที่สวนหลังบ้านได้ในช่วงวันเสาร์- อาทิตย์ ติดต่อสอบถามได้ที่นางสาวนงนุช เสลาหอม ประธานศูนย์การเรียนรู้สวนหลังบ้าน 081-5707770


เนรมิตใน 10 วัน! 'รพ.หั่วเสินซาน'พร้อมเปิดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

สำนักข่าวซินหัวของจีน รายความคืบหน้าการก่อสร้างโรงพยาบาลหั่วเสินซาน ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โรงพยาบาลหั่วเสินซานเป็นโรงพยาบาลพิเศษก่อสร้างใหม่เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสฯ แห่งแรก มีกำหนดก่อสร้างเสร็จสิ้นในค่ำคืนวันอาทิตย์ (2 ก.พ.) และเปิดรับผู้ป่วยกลุ่มแรกในวันจันทร์ (3 ก.พ.) นี้

โรงพยาบาลหั่วเสินซาน ขนาด 34,000 ตารางเมตร จะมีเตียงรองรับผู้ป่วย 1,000 หลัง ก่อสร้างโดยอ้างอิงรูปแบบจากโรงพยาบาลเสี่ยวทังซานในกรุงปักกิ่ง ที่เคยใช้เป็นสถานกักกันและรักษาผู้ป่วยโรคซาร์สเมื่อปี 2003

ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน ระบุว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งน่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในสัปดาห์นี้และสามารถรองรับคนไข้ได้ 2,500 คน ขณะที่รัฐบาลจีนยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมสร้างโรงพยาบาลเพิ่มในหลายเมือง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสในจีนเพิ่มขึ้น 304 คน และมีผู้ติดเชื้ออีก 14,380 คน ส่วนผู้ป่วย 172 คน ออกจากโรงพยาบาลแล้ว


เติมพลังบวกให้ชีวิต!! 7 วิธีลดเครียด สร้างสุขภาพจิตดี ห่างไกลโรคซึมเศร้า

เครียดมาก เครียดน้อย ไม่ว่าความทุกข์ทางใจจะมากน้อยแค่ไหน ล้วนส่งผลต่อสุขภาพจิตไม่ต่างกัน และเมื่อสุขภาพจิตกำลังแย่ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายเช่นเดียวกัน เนื่องจากสุขภาพจิตส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและสติสัมปชัญญะของคนเราโดยตรง เช่น ภาวะหรือโรคซึมเศร้า เมื่อใดก็ตามที่สุขภาพจิตของเราดี มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ ทำให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

1.เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างพอเพียง สมองและระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ หรืออย่างน้อยที่สุดคือหลีกเลี่ยงอาหารขยะเสีย

2.พักผ่อนให้เพียงพอ

การอดหลับอดนอน นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบด้านลบต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ ทำให้สติปัญญาถดถอย ความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ตัดสินใจไม่ได้ เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกหลายประการ พยายามฝึกเข้านอนให้เป็นเวลา งดเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตก่อนเข้านอน จะทำให้หลับง่ายยิ่งขึ้น

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้น นอกจากจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมเกราะให้สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphine) ออกมาหลังช่วงออกกำลังกาย ทำให้รู้สึกแฮปปี้ มีความสุข อารมณ์ดี จึงช่วยผ่อนคลายความเครียดได้

4.ทำงานอดิเรกยามว่าง

การทำงานอดิเรก หรือกิจกรรมต่างๆ ในยามว่าง ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเครียด ละลายอารมณ์ขุ่นมัว ทำให้หัวใจเป็นสุข ทั้งยังช่วยเพิ่มพูนทักษะความรู้ ความถนัดของตนเอง รวมถึงประสบการณ์ในชีวิต ที่สำคัญ การทำงานอดิเรกยังถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

5.รับแดดอ่อนช่วงเช้า

การรับแสงแดดอ่อนๆ เป็นประจำช่วยให้ร่างการสังเคราะห์สารเซโรโทนิน (Serotonin) ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสารเซโรโทนินนี้เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ทั้งการควบคุมอารมณ์ ระบบย่อยอาหาร การรับแสงแดดจึงถือเป็นการบำบัดร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน

6.ฝึกใจให้ปล่อยวาง

การยึดติดและการคาดหวัง ทำให้เรารู้สึกผิดหวังได้ง่ายๆ หากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปดังที่ใจเราตั้งกรอบให้กับสิ่งๆ นั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียด ความวิตกกังวล และโรคซึมเศร้า พยายามฝึกจิตใจให้ปล่อยวางกับเรื่องต่างๆ โดยใช้วิธีจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ขณะนั้นแทน เป็นต้นว่า ถ้าทำกับข้าวอยู่ก็จดจ่ออยู่กับขั้นตอนหั่นผักหรือต้มน้ำแกงไป อย่าปล่อยใจให้ลอยไปที่อื่น หากทำเช่นนี้จนเป็นกิจวัตร จะช่วยให้ปล่อยวางอดีต และไม่คาดหวังกับอนาคตได้ง่ายขึ้น

7.ระบายความรู้สึก

การมีสุขภาพจิตที่ดีนั้น มิได้หมายความว่าเราห้ามรู้สึกไม่พอใจสิ่งใดทั้งนั้น เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง สภาวะอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หงุดหงิด จิตตก ล้วนเกิดเป็นปกติ และการเกิดความรู้สึกในแง่ลบ บางครั้งก็สอนให้เราแยกแยะปัญหาต่างๆ และหาวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้เช่นกัน แต่เมื่อหาทางจัดการกับความรู้สึกด้านลบได้แล้ว ก็ควรปัดเป่าความรู้สึกลบๆ นี้ไปเสีย อย่าจมอยู่กับอดีต เพราะจะทำให้ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน จะลองใช้วิธีระบายความรู้สึกดูก็ได้ โดยอาจเขียนไดอารี่ระบายกับตัวเอง หรือเล่าให้คนอื่นฟัง นอกจากจะได้ทบทวนการกระทำของเราต่อเรื่องนั้นๆ แล้ว ยังช่วยให้เราได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปด้วย