ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 4 พฤศจิกายน 2560

ขนมลูกๆทองแดง

ถ้าได้ยินชื่อ “ทองแดง” คนไทยทั่วประเทศก็จะรู้จักชื่อนี้ด้วยความรักและชื่นชอบในความฉลาด จงรักภักดีและ ความกตัญญู เป็นอย่างดี ก่อนที่จะไปรู้จักกับขนมลูกๆทองแดงก็อยากให้ได้รู้จักกับ “ทองแดง” แม่ของลูกๆทั้ง 9 ที่เกิดจากทองแท้หนุ่มพันธุ์บาเซ็นจิ

“ทองแดง” เป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวที่ 17 ของ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาล 9 “ทองแดง” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2541 เป็นสุนัขเพศเมียมีพี่น้องรวม 7 ตัว ต่อมาได้พระราชทานนามสกุลว่า “สุวรรณชาด” “ทองแดง” – “ทองเหลือง” (เพศผู้ตัวเดียว) ละมุน – คาลัว-หนุน-โกโร-โกโส

“ทองแดง” มีลักษณะเด่น แตกต่างจากพี่น้อง มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น ถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา หางม้วนที่สำคัญที่สุดคือ จมูกแด่น และหางดอกสีขาว ลักษณะเด่นนี้ ทำให้ “ทองแดง” ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัว ที่สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2541 เมื่อมีอายุเพียง 5 อาทิตย์

พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาล 9 ทรงรับลูกสุนัขตัวน้อยนี้ไว้ เพื่อเป็นคู่หมายของ “ทองดำ” และพระราชทานชื่อสุนัขว่า “ทองแดง” เพราะมีสีน้ำตาลและเพื่อให้สอดคล้องกับทองดำซึ่งมีสีดำ ถึงแม้ “ทองแดง” จะเป็นคู่หมายของ “ทองดำ” ตั้งแต่ก่อนเข้าวัง แต่ในที่สุดคู่ที่แท้จริงของ “ทองแดง” ก็คือ “ทองแท้” พันธุ์บาเซ็นจิ และมีลูกด้วยกัน 9 ตัว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 ณ วังทองหลาง ที่ โรงพยาบาลคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ทองแดง” เป็นสุนัขที่ฉลาดและรู้ภาษา ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาล 9 จะรับสั่งกับ “ทองแดง” อย่างไร “ทองแดง” ก็รู้เรื่องและทำตามแม้จะรับสั่งค่อยๆ อย่างเช่น เมื่อ “ทองแดง” ไปคาบกระดูกไก่ที่อีกามาทิ้งไว้บริเวณสวนที่พระตำหนักจิตรลดา มาเคี้ยว รับสั่งว่า “ไม่ดี ทองแดง” “ทองแดง” ก็จะคายกระดูกทันที และวิ่งตามเสด็จต่อไป

เมื่อตามเสด็จไปทะเลน้อย ที่วังไกลกังวล หัวหิน ที่มีปลาหลายชนิด และมีมากที่สุดคือปลาดุกรัสเซีย มีผู้โยนขนมปังให้ ก็จะกระโดด น้ำกระจายแย่งกันกิน ทองแดงจะยืนจ้องแบบกล้าๆ กลัวๆ และจะสะดุ้งเมื่อเวลาปลากระโดด เมื่อตามเสด็จไปถึงทะเลน้อยก็จะรับสั่งว่า “ทองแดง” “ไปดูปลาดูกกัน” “ทองแดง” ก็จะวิ่งนำไปทันทีอย่างดีใจ แต่พอรับสั่งว่า “ทองแดง” วันนี้ไม่ไปดูปลาดูก “ทองแดง” ซึ่งวิ่งนำหน้าไปแล้วหันกลับมาถอนใจ แล้ววิ่งกลับมาเฝ้าด้วยดี

“ทองแดง” มีความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาล 9 เป็นอย่างยิ่ง เวลาที่เขาเฝ้า “ทองแดง” จะหมอบในท่าประจำคือ ไขว้มือ หักส่งขยับพระองค์ หรือแม้แต่ทรงกระแอม “ทองแดง” จะเงยหน้าขึ้นมองอย่างระวังระไว

เมื่อมีผู้มาเฝ้าฯ “ทองแดง” จะหมอบอยู่ที่พระบาท ไม่วิ่งไปไหนและจะนอนขวางอยู่ตรงกลาง ถ้าเฝ้าอยู่นาน “ทองแดง” จะเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์และผู้มาเฝ้าฯ พร้อมกับถอนใจยาว แต่ไม่ลุกไปไหน จะหยุดเฝ้าฯ อยู่ใกล้ๆเหมือนทำหน้าที่เป็นองครักษ์ รักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

บางครั้งทรงขับรถพระที่นั่งเอง “ทองแดง” จะตามเสด็จ เมื่อทรงเปิดประตูรถและรับสั่งว่า“ทองแดง” ขึ้นรถ “ทองแดง” ก็จะกระโดดขึ้นรถยืนบนเบาะข้างคนขับ รับสั่งว่า “ทองแดง” นั่งลง “ทองแดง” ก็จะนั่งลงบนเบาะวางท่าโก้

นี่ก็เป็นบางส่วนในความฉลาดและความจงรักภักดีที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาล 9 จึงเป็นที่รักและยอมรับในความเป็นสุนัขเลี้ยงที่แสนรู้ของประชาชนทั่วไป เมื่อ “ทองแดง” มีลูกกับ “ทองแท้” ความรักความชื่นชม ที่มีกับแม่ก็เลยต่อเชื่อมโยงไปถึงลูกๆ ทายาททั้ง 9 ตัว ได้แก่ ทองชมพูนุช,ทองเอก ,ทองม้วน ,ทองทัต, ทองพลุ,ทองหยิบ,ทองหยอด ,ทองอัฐ และ ทองนพคุณ ล้วนเป็นชื่อที่น่ารักทั้งสิ้นที่มาจาก ขนมไทยโบราณ “ชุดทอง”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงต้องการเผยแพร่ให้คนไทยยุคปัจจุบัน ได้รู้จักกับขนมไทยโบราณ ชุดทอง 9 ชนิด เพราะนอกจากชื่อไพเราะแล้ว ยังมีรสชาติอร่อย รับประทานได้ไม่รู้เบื่อ และรับสั่งว่าไม่ควรเพลิดเพลินรับประทานมากเกินไปเพราะมีน้ำตาลสูงไม่เหมาะแก่โรคบางชนิดเช่นโรคเบาหวาน , โรคอ้วน

สูตรขนมไทยโบราณในวันนี้ ก็จะเป็นการทำขนมฉบับปรับปรุง ของ หม่อมหลวง ดรุณี จักรพันธ์ ซึ่งโรงเรียนผู้ใหญ่ พระตำหนักสวนกุหลาบวิทยาลัย ในวังหญิงเห็นเหมาะที่จะทำขนมไทยโบราณชุดทอง มาเผยแพร่ให้ไปทำรับประทานกันโดยเริ่มจาก ขนมทองม้วน ชื่อลูกเพศผู้ตัวที่ 3 ของ “ทองแดง”

ส่วนผสม
• แป้งข้าวจ้าว 1/2 กิโลกรัม
• เกลือป่น 2 1/2 ช้อนชา
• หัวกะทิสด 2 ถ้วยตวง
• ไข่เป็ด 3 ฟอง
• น้ำตาลทราย 2 1/2 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1. ผสมแป้งข้าวจ้าว เกลือ น้ำตาลทราย และไข่แดงให้เข้ากัน

2. ใส่กะทิทีละน้อยลงในแป้งที่เตรียมไว้ในข้อ 1 นวดเบาๆ จนนุ่มแล้วค่อยๆ เทหัวกะทิทีละน้อยจนหมด จากนั้นจึงเทหางกะทิ คนให้เข้ากัน กรองด้วยกระชอน

3. เตรียมพิมพ์ท้องม้วนผิงไฟให้ร้อน(ถ้าผิงด้วยไฟถ่านจะทำให้ขนมหอมดี) เมื่อพิมพ์ร้อนได้ที่ จึงทาด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู

4. หยอดแป้งที่ผสมไว้ลงพิมพ์ ปิดพิมพ์ ผิงกลับไปกลับมาจนเหลือง ลอกออกจกพิมพ์ แล้วม้วนเป็นกลมๆ ขณะยังร้อน

ถ้าทำแล้วอร่อยก็อย่าลืมฝากมาให้ทานบ้างนะคะ แล้วถ้าอยากรับประทานขนมทองม้วนที่กรอบ หอมอร่อย แบบรวดเร็วก็แวะไปมาซื้อหาได้ที่ แล็ค-ซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดใหญ่ในไชน่าทาวน์

และถ้ารักและชื่นชอบ “ทองแดง” และครอบครัว ก็สามารถส่งจดหมายใส่ชื่อเสียงเรียงนาม และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ไปที่ หนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ 1100 N.Main St. Los Angeles CA.90012 Tel:323-343-9000 เรามีหนังสือพระราชนิพนธ์ในหลวงฯ ร. 9 ปกแข็งสีขาวสวยงาม พระราชนิพนธ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง“ทองแดง” ไว้มอบให้จำนวน 3 เล่ม ถ้ามีผู้ขอมาเกิน 3 คน จะจับฉลากผู้โชคดีได้รับหนังสือฯ อย่าลืมวงเล็บหน้าซองว่า “ญ. อมตะ ”