ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ชุมชนอ่าวอ้ายยอเปิดป่าอุดมสมบูรณ์ เชิญชวนร่วมถ่ายภาพนกหายาก

ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านถ้ำตลอด หมู่ 4 ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

และผืนป่าดังกล่าวคณะกรรมการได้ร่วมกันต่อสู้ทวงคืนผืนป่าที่มีมากกว่า 1,427 ไร่ มาจากกลุ่มนายทุนที่บุกรุกแผ้วถางปรับพื้นที่ ตัดต้นไม้ขนาดใหญ่นำออกนอกพื้นที่เมื่อหลายปีก่อนและอดีตผู้ใหญ่บ้าน เห็นถึงอันตรายของป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน จึงได้ชักชวนให้ลูกบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอทุ่งสง เข้าจับกุมผู้กระทำความผิด เป็นการทวงคืนป่าครั้งใหญ่ โดยชาวบ้านร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูป่าให้กลับมาเหมือนเดิม อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และประกาศกฎหมู่บ้านร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่า และพันธุ์พืชสมุนไพรของชุมชน จัดพื้นที่ป่า 1,000 กว่าไร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมขาติของผู้คนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง จนประสบความสำเร็จสูงสุด การันตีได้ด้วยรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 22 ประจำปี 2565

และมาช่วงหน้าแล้งของปีนี้ ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอสร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักถ่ายภาพสัตว์ป่าอำเภอทุ่งสงและพัทลุง นำโดย อาจารย์ประเสริฐ นนทกาญจน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตไสใหญ่ และ นายบุญเลิศ พันธุ์สนิท ประธานป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ สำรวจสัตว์ป่ารอบ ๆ ชุมชน พบว่าที่ลำห้วยกลางป่าที่อยู่ห่างจากค่ายพักแรมของชุมชน พบนกประจำถิ่นและนกอพยพหายากมากกว่า 20 ชนิด เล่นน้ำรวมกันอยู่ในลำห้วยของป่าชุมชน

และเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่นิยมถ่ายภาพนกได้ใกล้ชิดสัตว์ป่าในธรรมชาติ สามารถนั่งส่องนกและถ่ายภาพนกได้ทุกวันในช่วงหน้าแล้ง แต่เพื่อไม่เป็นการรบกวนนกที่กำลังกินน้ำและอาบน้ำมากจนเกินไป ทางคณะกรรมการป่าชุมชนจึงกำหนดให้เข้าถ่ายภาพได้วันละ 10 คนเท่านั้น และผู้ที่สนใจก็ต้องจองที่นั่งล่วงหน้าด้วย

สำหรับ “ป่าชุมชนอ่าวอ้ายยอ” เป็นที่ถ่ายภาพนกที่ดีที่สุดของภาคใต้ โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งนกป่าจะออกมาเล่นน้ำและอาบน้ำตรงจุดที่คณะกรรมการป่าชุมชนได้สร้างไว้ มีนกหายากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกแซวสวรรค์ชุดขนสีขาว สีน้ำตาล และนกเขียวปากงุ้ม ที่เป็นนกประจำถิ่นทางภาคใต้ รวมทั้งนกอพยพหลายตัวที่แวะอาบน้ำโดยจะลงอาบน้ำในช่วงบ่าย และช่วงเย็นของทุกวัน

สำหรับนกเป้าหมายของช่างภาพทั่วประเทศ ที่ขับรถเดินทางไกลไปถึงบ่อนกอ่าวอ้ายยอนั้น มีอยู่หลายตัวที่สามารถถ่ายได้อย่างใกล้ชิด มีตั้งแต่นกแซวสวรรค์สีขาวเล่นน้ำ นกแซวสวรรค์สีน้ำตาล นกเขียวปากงุ้มมีอยู่ด้วยกันหลายตัวทั้งตัวผู้ตัวเมีย จับแมลงจุกดำ นกกินแมลงหัวดำ นกกระเต็นสามนิ้วหลังแดง และนกอื่น ๆ อีกหลายชนิด

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าไปส่องนกถ่ายนกอ่าวอ้ายยอ สอบถามรายละเอียดที่ อาจารย์ประเสริฐ นนทกาญจน์ โทร. 08-4682-1161 และ ลุงบุญเลิศ พันธ์สนิท โทร. 08-6277-3854.

บุญเลิศ ชายเกตุ...


เด็กไทยคว้ารางวัลท็อป12 การแข่งขันบัลเลต์ระดับโลก...

ร่วมแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทีมแรกของประเทศไทยจากโรงเรียน Dance Space by Ant คว้ารางวัล Top12 Character Ensemble ในการแข่งขันบัลเลต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Youth America Grand Prix (YAGP) 2025 รอบตัดสิน ณ เมืองแทมปา

ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2568 จากผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 200 ทีมจากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมนี จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ...

Thai Odyssey : Journey Through Four Regions ภายใต้การดูแลของนางสาวกานติมา สิริวิชชา พร้อมด้วยครูปลา รัสวรรณ อดิศัยภารดี และครูมัช ภคมน เหมะจันทร์ เป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อมการแสดง

โดยเป็นการแสดงบัลเลต์ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมไทยสี่ภาคอันมีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่แพ้ศิลปะของชนชาติอื่น โชว์ภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ความเป็นไทยและซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลก นำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทุกคน...

ประกาศผลในวันที่ 27 เมษายน 2568 ณ โรงละคร Starz Center เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา


มหัศจรรย์! 'หม้อข้าวหม้อแกงลิง' ชาวบ้านพลิกพืชหายากเป็นเมนูเด็ด-ขายดีไม่ขาดมือ

ชาวบ้านตำบลอ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งกำเนิดของ 'ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง' แหล่งใหญ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติจำนวน 3-4 สายพันธุ์ โดยผลที่ได้คือสามารถนำกระเปาะต้นหม้อข้าวฯ มาทำข้าวเหนียวน้ำกะทิสด ส่งขายตามออเดอร์ได้ตลอดทั้งปี แถมขายดีเพราะหากินยาก แต่ราคาสบายกระเป๋า

วันนี้ 5 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านไสใหญ่ หมู่ที่ 7 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายอาคม ครชาตรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 นำชมแหล่งกำเนิดของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งเป็นพืชกินแมลงที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าพรุของหมู่บ้าน เนื้อที่เกือบ 20 ไร่ โดยมีทั้งหมด 3-4 สายพันธุ์ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิงแขนงนายพราน,หม้อข้าวหม้อแกงลิงฤาษี,หม้อข้าวหม้อแกงลิงเล็กและหม้อข้าวหม้อแกงลิงน้ำเต้าลม ซึ่งผลจากการที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ ทำให้ได้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจำนวนมากมายตลอดทั้งปี โดยใบสีเขียวจะมีเส้นกลางใบยื่นยาวออกมาเป็นรูปกระบอกหรือหม้อรูปกระเปาะ สำหรับดักล่อแมลงกินเป็นอาหาร

ส่วนนี้ชาวบ้านจะเลือกเก็บกระเปาะที่มีขนาดไม่อ่อน ไม่แก่ นำไปใช้ประโยชน์ ด้วยการกรอกข้าวเหนียวที่ผ่านการแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ตามด้วยน้ำกะทิสดแล้วนึ่งให้สุกเป็นเวลาประมาณ 30 นาที ก็สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก หรือนำไปขายได้ราคากระเปราะละ 3-5 บาท ให้รสชาติคล้ายกับกินข้าวหลาม และสามารถใส่ธัญพืช เช่น ถั่ว งา เผือก ข้าวโพด แปะก๊วยหรืออื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ส่วนยอดอ่อนนำไปทำอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงเลียง ลวกจิ้มน้ำพริก แกงส้ม แกงกะทิและผัดน้ำมันหอย

สำหรับเมนูข้าวเหนียวหม้อข้าวหม้อแกงลิงของชาวบ้านบ้านไสใหญ่ ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง จัดเป็นเมนูอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้ยาก ไม่มีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป เพราะที่อื่นไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัยของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ทำให้เมื่อทำออกขาย ขายดีมากและมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตามงานเทศกาล และงานประจำปีต่างๆ ซึ่งขายข้าวเหนียวเป็นกิโลๆละ 250 บาทพร้อมส่ง

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังช่วยกันเพาะขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงแหล่งใหญ่ในหมู่บ้านสูญหายไป ทั้งจากการใช้สารเคมีในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมันและโรงงานต่าง ๆ ที่รุกคืบเข้ามา ทำให้ปัจจุบันมีต้นหม้อข้าวฯ จำนวนมาก ซึ่งมีกระเปาะให้เก็บกิน เก็บขายได้ตลอดทั้งปี จนนักท่องเที่ยวหรือเกษตรกรที่ไปศึกษาดูงาน จะต้องได้กินข้าวเหนียวหม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่เชื่อว่าหากใครไม่ได้กิน ถือว่ามาไม่ถึงอำเภอวังวิเศษ

ด้าน นายอาคม ครชาตรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กล่าวว่า พื้นที่หมู่ 7 ต.อ่าวตง ส่วนหนึ่งเป็นป่าพรุ ซึ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงชอบพื้นที่ป่าพรุ ที่ค้นพบมีทั้งหมดประมาณ 3-4 ชนิดแขนงนายพราน, หม้อข้าวหม้อแกงฤาษี หม้อข้าวหม้อแกงเล็ก ถือเป็นอาหารพื้นถิ่น เป็นหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถี ส่วนยอดเอามาแกงได้ ตอนนี้กำลังเพาะขยายพันธุ์กันอยู่ เพราะเป็นห่วงว่าในวันข้างหน้าถ้ามีสารเคมีมาเยอะ กลัวว่าจะหมดไปจากพื้นที่

ซึ่งตอนนี้กำลังปรับพื้นที่ของตนซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ จะเอาหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาปลูกเพราะเหมาะกับพื้นที่ตรงนี้

ส่วนการทำข้าวเหนียวหม้อข้าวฯ ทำได้ตลอดทั้งปี เพราะกระเปราะที่เอามาใส่ข้าวเหนียว เป็นตลอดทั้งปี ซึ่งไม้ประเภทนี้แตกต่างจากไม้ประเภทอื่นเพราะมันใช้กระเปราะเป็นตัวล่อแมลงเพื่อที่จะไปปรุงอาหารในลำต้นของมัน มันต่อยอดจากใบแก่เป็นกระเปราะแล้วเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้เลย โดยใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งแม่บ้านขายเป็นกิโลข้าวเหนียว 250 บาทพร้อมส่ง ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อได้ที่ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 094-7097893 ///-026


นักวิจัยทางทะเลฯ เผยผลสำรวจ พบสัตว์ทะเลหายาก 3 ชนิด อวดโฉมหมู่เกาะอ่างทอง...

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.68 ทีมนักวิจัยจากศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เผยผลการสำรวจสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ พบสัตว์ทะเลหายากถึง 3 ชนิด สะท้อนความมุ่งมั่นในการศึกษาและติดตามประชากรสัตว์ทะเลอย่างใกล้ชิด

ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นายชัยณรงค์ เรืองทอง หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 (นครศรีธรรมราช) พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ได้นำทัพลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจสำคัญในการสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพโลมาและสัตว์ทะเลหายาก การสำรวจครั้งนี้อาศัยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ทั้งการสำรวจทางเรือด้วยวิธี line intersect และการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อนับจำนวนและประเมินประชากรสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการรบกวนสัตว์...

ผลการปฏิบัติงานของทีมวิจัยครั้งนี้ นับเป็นข่าวดีสำหรับวงการอนุรักษ์ เมื่อพวกเขาได้พบกับสัตว์ทะเลหายากถึง 3 ชนิด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้แก่ โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris), โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) และเต่าตนุ (Chelonia mydas)...

โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. ทีมวิจัยได้พบฝูงโลมาอิรวดี จำนวนประมาณ 5-7 ตัว บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนกตะเภา นักวิจัยได้สังเกตพฤติกรรมการว่ายน้ำเดินทางอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าโลมามีสุขภาพดี ไม่พบบาดแผลจากเครื่องมือประมง และมีการหายใจที่เป็นปกติ ก่อนที่ฝูงโลมาจะว่ายน้ำห่างออกไป...

ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 11.20 น. นักวิจัยได้พบโลมาปากขวด จำนวน 9 ตัว บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะว่าว โดยในจำนวนนี้มีคู่แม่ลูกรวมอยู่ด้วย 1 คู่ ทีมวิจัยได้บันทึกพฤติกรรมที่น่าสนใจ เช่น การรวมฝูง, การกระโดดเหนือผิวน้ำ (Breaching), การใช้หางตีน้ำ (Lobtailing) และการยกหัวขึ้นเหนือน้ำเพื่อสังเกตการณ์ (Spyhopping) อัตราการหายใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้สังเกตเห็นรอยโรคผิวหนังชนิด Tattoo Skin Disease (TSD) บนโลมาปากขวด 1 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป

และในวันเดียวกัน (29 เมษายน 2568) เวลาประมาณ 14.29 น. ทีมวิจัยยังได้พบเต่าตนุ 1 ตัว บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะว่าว กำลังว่ายน้ำและโผล่ขึ้นมาหายใจ...

สำหรับการสำรวจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ ทีมวิจัยไม่พบการปรากฏตัวของโลมาและสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

นายชัยณรงค์และทีมงานได้ทำการเก็บรวบรวมภาพถ่ายของสัตว์ทะเลหายากที่พบทั้งหมด เพื่อนำไปวิเคราะห์อัตลักษณ์เฉพาะตัว (Photo ID) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการระบุรายตัว ติดตามการเคลื่อนย้าย และประเมินจำนวนประชากรในระยะยาว อันเป็นหัวใจหลักของการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาสัตว์ทะเล...

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทำการตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้นในบริเวณที่พบสัตว์ทะเลหายาก เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน โดยพบว่าค่าเฉลี่ยความลึกของน้ำอยู่ในช่วง 4.5-23.7 เมตร, อุณหภูมิน้ำทะเล 31.57 องศาเซลเซียส, ค่า pH 7.53, ความเค็ม 31.80 ppt, ความโปร่งใสน้ำทะเล 1.75->5 เมตร และค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) 5.20 mg/L บริเวณที่พบอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองประมาณ 550 เมตร ถึง 4.4 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งประมาณ 11.1 – 51.2 กิโลเมตร ...

การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการภายใต้สภาพอากาศที่ดี ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน และทะเลสงบ คลื่นสูงเพียง 0.0 – 0.10 เมตร ซึ่งเอื้อต่อการปฏิบัติงานของทีมวิจัยเป็นอย่างยิ่งการทำงานอย่างหนักของทีมศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 นครศรีธรรมราช ไม่เพียงแต่เป็นการยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลในหมู่เกาะอ่างทอง แต่ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นและความสำคัญของการมีทีมนักวิจัยที่เข้มแข็งในการติดตาม ศึกษา และรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรากฐานในการวางแผนการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากของประเทศไทยให้ยั่งยืนสืบไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพ ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 นครศรีธรรมราช


ใครว่า ปลาหมอคางดำ ชอบคลื่นทะเล?

สัปดาห์ก่อนมีข่าวพบปลาหมอคางดำตายอยู่บริเวณชายหาดชะอำ สะท้อนว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีคลื่นและมีความเค็มมากในระดับน้ำทะเล ช่วยให้สบายใจไปเปลาะหนึ่งเพราะไม่มีทางที่ปลาหมอคางดำจะว่ายน้ำข้ามทะเลไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน…หรือแม้แต่ทะเลในภาคใต้ ยกเว้นจะมีคนใจร้ายกับบ้านเมือง แอบขนปลาไปปล่อยแล้วสร้างภาพว่ามันระบาดไปถึง สร้างความวุ่นวายให้ประเทศเพื่อผลประโยชน์ตน ถ้ามีคนแบบนี้จริง ๆ ก็นับว่าเป็น Invasive Person ที่อันตรายสุดๆ แต่ถ้าจะให้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ศึกษาดีเอ็นเอสิ่งแวดล้อม (environmental DNA, eDNA) ของน้ำทะเลที่คาดว่ามีปลาหมอคางดำอาศัยอยู่ และตรวจสอบดีเอ็นเอของปลาที่พบว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ข้อสงสัยจะได้กระจ่างโดยพลัน

ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาหมอสี Cichlidae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ไนจีเรียและคาเมรูน จริงอยู่ที่ว่าปลาชนิดนี้ปรับตัวเก่งสามารถอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำที่มีความเค็ม เช่น น้ำกร่อย แต่มันไม่สามารถอยู่ในน้ำทะเลได้ เนื่องจากปลาหมอคางดำมีความชอบต่อ สภาพแวดล้อมที่สงบ เช่น ลำคลอง และบึง ที่เป็นน้ำนิ่ง หรือมีน้ำกระแสอ่อน รวมถึงบริเวณที่มีพืชน้ำหนาแน่น ซึ่งเอื้อต่อการวางไข่และการหาอาหารมากกว่าพื้นที่เค็มจัดและมีคลื่นแรงอย่างทะเล

ถ้าว่ากันด้วยข้อเท็จจริง ปลาหมอคางดำไม่ใช่สัตว์ดุร้าย ดูจากสภาพฟันก็ไม่ใช่ ยิ่งถ้าดูจากลำไส้ ซึ่งมีการผ่าพิสูจน์พบว่า มีความยาวมากกว่า 4 เท่าของความยาวลำตัวปลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปลากินพืช ลำไส้เล็กนี้เป็นส่วนที่ต่อออกมาจากส่วนปลายกระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่ยาวที่สุดในระบบย่อยอาหาร ในปลากินเนื้อลำไส้เล็กจะสั้นกว่าปลากินพืช เนื่องจากเนื้อย่อยได้เร็วและย่อยในกระเพาะอาหารได้ดีกว่าในลำไส้

ปลาหมอคางดำกินแพลงตอนพืชเป็นหลัก รวมถึงกินแพลงตอนสัตว์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนหากแพลงตอนพืชไม่เพียงพอ ส่งผลให้สัตว์น้ำชนิดอื่นถูกแย่งแหล่งอาหาร แต่อย่าไปรุกล้ำถิ่นที่มีนักล่าประจำพื้นที่เชียว คางดำก็พ่ายให้ชะโด กะพง และสารพัดนักล่าได้ง่ายๆ เหมือนกัน ดังเช่นพื้นที่บางปะกง ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยพบการระบาดของปลาหมอคางดำเลย

ขณะที่ความเสียหายของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมในหลายพื้นที่นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลถึงอุณหภูมิน้ำ คุณภาพแหล่งน้ำ โรคระบาด และอีกหลากหลายปัจจัย หากมัวแต่ชี้เป้าไปว่าเป็นเพราะปลาหมอคางดำเพียงอย่างเดียว และละเลยการปรับปรุงแนวทางรับมือในด้านอื่นๆ ก็อาจทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้

อย่างไรก็ตาม ปลาหมอคางดำยังเป็นปลาที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ในชุมชนหลายแห่งของแอฟริกาตะวันตก ก็ใช้ปลาชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญ หรือปลาที่พบ ณ ริมชายหาดชะอำ ก็สามารถเก็บมาทำน้ำหมักชีวภาพได้ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ต่างจากปลาน้ำจืดทั่วไป ทั้งปลาร้า น้ำปลา น้ำพริก หรือเมนูจานปลาที่เชฟระดับมิชลินก็เคยนำมาปรุงแล้ว

หากทุกคนร่วมมือที่จะนำปลาหมอคางดำมาทำประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็แจ้งภาครัฐทุกครั้งที่พบ เพื่อช่วยกันจับ ช่วยกันจบ พุ่งเป้าไปที่เป้าหมายเดียวกัน การแก้ปัญหานี้ก็น่าจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกคน.

โดย ปิยะ นทีสุดา...