ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ส่องๆแล้วเจอเฉย เจมส์ เว็บบ์ พบ ดาวเคราะห์น้อยโดยบังเอิญ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา(นาซา- NASA) ระบุว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่โดยบังเอิญ ภายในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก กลายเป็นวัตถุขนาดเล็กที่สุดที่ JWST สามารถสังเกตการณ์ได้ แสดงให้เห็นถึงความทรงพลังของ JWST ที่ไม่เพียงแต่สามารถมองลึกเข้าไปในเอกภพได้ไกลกว่ากล้องอื่น แต่ยังสามารถค้นพบวัตถุขนาดเล็กภายในระบบสุริยะของเราได้อีกด้วย

ทั้งนี้ JWST ได้ค้นพบวัตถุท้องฟ้าใหม่ ๆ หลายวัตถุ จนทำให้เกิดความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ ซึ่งบางวัตถุก็อยู่ไกลจากโลกถึงหลายพันล้านปีแสง การค้นพบใหม่ครั้งนี้เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยจึงสาธิตให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ที่สามารถตรวจพบวัตถุท้องฟ้าในระยะใกล้แบบที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนได้

ในครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 100-200 เมตร เทียบเท่ากับความสูงของเสาสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ อย่างสะพานพระราม 8 หรือสะพานภูมิพล ระหว่างนำข้อมูลจากการสังเกตการณ์มาปรับเทียบอุปกรณ์สังเกตการณ์ในรังสีอินฟราเรดช่วงกลางหรือ MIRI ซึ่งไม่เคยใช้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยมาก่อน

“พวกเราตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กระหว่างการสังเกตการณ์เพื่อปรับเทียบอุปกรณ์ MIRI โดยบังเอิญ” Thomas Müller นักดาราศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์ด้านฟิสิกส์นอกโลกกล่าว “การตรวจวัดครั้งนี้เป็นการมุ่งเป้าสังเกตการณ์ในแถบระนาบวงโคจรของโลกครั้งแรก ๆ ของอุปกรณ์ MIRI และงานของพวกเราบ่งชี้ว่าจะมีวัตถุในอวกาศใหม่ ๆ ที่จะตรวจพบอีกเป็นจำนวนมากด้วยอุปกรณ์ตัวนี้”

“แถบดาวเคราะห์น้อยหลัก” (Main asteroid belt) อยู่บริเวณระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีดาวเคราะห์น้อยอยู่จำนวนหลายล้านดวง ซึ่งเป็นกลุ่มวัตถุที่หลงเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้มีขนาดที่หลากหลาย ตั้งแต่ “ซีรีส” (Ceres) ดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ที่สุดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1,000 กิโลเมตร ไปจนถึงวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เมตร

เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยเป็นเสมือนเศษซากที่หลงเหลือจากระบบสุริยะช่วงก่อกำเนิด การศึกษาดาวเคราะห์น้อยจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลสำคัญในการศึกษาการก่อตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้

ปกติแล้วข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยตามแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่นักดาราศาสตร์ทราบจะเป็นข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เสียมาก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก แม้จะเป็นหลักร้อยเมตรนั้นก็ถือว่าสังเกตได้ยาก ดังนั้นการค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กในครั้งนี้ได้สร้างความหวังให้แก่บรรดานักดาราศาสตร์ว่าจะสามารถศึกษาดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กได้มากขึ้นในอนาคตด้วยกล้อง JWST

การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญในขณะที่กล้อง JWST กำลังปรับเทียบอุปกรณ์โดยใช้ดาวเคราะห์น้อย (10920) 1998 BC1 เป็นวัตถุอ้างอิง ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าผลการปรับเทียบครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากความสว่างของตัวดาวเคราะห์น้อย และความคลาดเคลื่อนในทิศทางการวางตัวของ JWST

แต่อย่างไรก็ดี ทีมนักวิทยาศาสตร์มองว่าข้อมูลนี้ไม่ได้ล้มเหลว จึงได้ทดสอบวิธีใหม่ในการคำนวณวงโคจรและขนาดของดาวเคราะห์น้อย ในระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กดวงใหม่ โดยสามารถคำนวณขนาดของดาวเคราะห์น้อย และพบว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยอยู่บริเวณฝั่งด้านในของแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก มีระนาบวงโคจรเอียงจากระนาบวงโคจรโลกเล็กน้อย

“ผลการสังเกตการณ์ของพวกเราแสดงให้เห็นว่าแม้แต่การสังเกตการณ์ที่ล้มเหลวของ JWST ก็ยังมีประโยชน์ หากคุณปรับความคิดและมีโชคดี” Müller กล่าว และว่า การตรวจพบนี้เป็นผลที่น่าสนใจที่เน้นให้เห็นศักยภาพของอุปกรณ์ MIRI ที่บังเอิญโชคดีไปตรวจพบดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่เล็กเกินกว่าจะตรวจพบได้ก่อนหน้านี้” Bryan Holler นักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนภารกิจ JWST จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (STScI) ในสหรัฐฯ กล่าว “การสังเกตการณ์ซ้ำหลายครั้งหลังจากนี้ได้กำหนดไว้แล้ว และพวกเราหวังว่าจะตรวจพบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ เพิ่มเติมในภาพถ่ายเหล่านั้น”


13 กุมภาฯ 'วันรักนกเงือก' ร่วมอนุรักษ์ นกเงือก สัตว์สัญลักษณ์ของคำว่า รักแท้

วันวาเลนไทน์ ซึ่งถือเป็นวันที่ทั้งคนมีคู่และไม่มีคู่ต่างเฝ้ารอคอย แต่ก่อนที่จะได้พบกับความรักของมนุษย์ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เราจะได้เห็น "รักแท้" ของนกชนิดหนึ่งที่อยู่ในป่าใหญ่ก่อน ซึ่งก็คือ 'นกเงือก' (Hornbill) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า "รักแท้" เพราะนกเงือกจะมีลักษณะการครองคู่แบบ "รักเดียว ใจเดียว" หรือ "แบบผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่จนเฒ่า หรืออยู่ครองคู่กันจนตายจากกัน

'วันรักนกเงือก' จะตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ชักชวนผู้คนร่วมมอบความรักให้แก่นกเงือกร่วมกัน ก่อนที่จะมอบความรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ความสำคัญของนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์นกเงือกให้กับสังคมและประชาชน

นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วย) เป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว

โดย 'นกเงือก' ตัวผู้นั้นจะมีลักษณะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ขยันและซื่อสัตย์ คอยดูแลหาอาหารปกป้องครอบครัวให้ปลอดภัย หากตัวผู้ต้องถูกฆ่าตาย นกเงือกตัวเมียและลูกจะรออยู่ในรัง และรอตลอดไปจนกว่าจะตายตามไปด้วย นี่คือสัญชาตญาณอันน่าทึ่งของนกเงือก

นกเงือก ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง ซื้อขาย ฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลักษณะ

นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้าๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา

และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่างๆ

การทำรัง

นกเงือก มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก

แสดงความสมบูรณ์ของป่า

นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่างๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ

นกเงือก ในประเทศไทย

ประเทศไทยมี นกเงือก 13 ชนิด ด้วยกัน โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และนกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง

ข้อมูล : e-library.siam.edu / วิกิพีเดีย / มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก /


'วัดความดันโลหิต' ด้วยตัวเองที่บ้าน ทำอย่างไรให้แม่นยำ

รพ.จุฬาฯ แนะวิธี 'วัดความดันโลหิต' ด้วยตนเองที่บ้าน ให้มีความแม่นยำ เช็กข้อควรระวังห้ามทำก่อนการวัดความดัน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด แนะนำการเตรียมตวามพร้อมก่อนทำการ 'วัดความดันโลหิต' ด้วยตัวเองที่บ้าน เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ไว้ดังนี้

การ 'วัดความดันโลหิต' ที่บ้านอย่างถูกต้องจะทำให้ได้ค่าวัดที่แม่นยำ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคของแพทย์ หรือการปรับยา ความดันโลหิต สำหรับการวัดความดันโลหิตที่บ้าน ควรเลือกใช้ เครื่องวัดความดันโลหิต แบบดิจิทัลที่สามารถอ่านค่าได้ง่ายและผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังได้นำข้อปฏิบัติก่อน 'วัดความดันโลหิต'

นั่งพัก 3 – 5 นาที นั่งในท่าที่ปล่อยตัวตามสบาย

หลังพิงพนัก

วางเท้าทั้งสองข้างราบพื้น ไม่ไขว่ห้าง

วางแขนบนโต๊ะเรียบ พันผ้ารัดแขน (Arm Cuff) ให้อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ

ข้อควรระวังก่อน 'วัดความดันโลหิต'

งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ไม่สูบบุหรี่ก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที

เวลาในการวัดความดันโลหิต

ระยะห่างในการ 'วัดความดันโลหิต' วันละ 2 ช่วงเวลา

ช่วงเช้าหลังตื่นนอนและก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต

ช่วงเย็นก่อนเข้านอน

ควรวัดช่วงเวลาละ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที

วัดต่อเนื่องกัน 3-7 วันในหนึ่งเดือนและจดบันทึกไว้ นำบันทึกมาด้วยเมื่อต้องพบแพทย์

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ค้นพบอุกกาบาตใหม่ สภาพสมบูรณ์ 5 ลูก ที่แอนตาร์กติกา นักวิทย์ เผย อาจตกเมื่อหลายพันปีก่อน

เผยแพร่: 14 ก.พ. 2566 : ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้เดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อช่วงต้นปี ซึ่งถือว่าเป็นฤดูร้อนของซักโลกใต้ และเป็นช่วงที่เหมาะแก่การสำรวจเนื่องจากมีแสงอาทิตย์ ได้ค้นพบอุกกาบาตบนพื้นผิวของเขตน้ำแข็งสีน้ำเงิน Nils Larsen ใกล้กับสถานี Princess Elisabeth Antarctica สถานีของประเทศเบลเยียม โดยได้ค้นพบอุกกาบาตลูกใหม่ถึง 5 ลูก ซึ่งมีขนาดที่แตกต่างกัน แต่ 1 ใน 5 นั้น คือหินอุกกาบาตที่มีขนาดเทียบเท่ากับลูกแคนตาลูปที่หนักถึง 7.6 กิโลกรัม

นักวิทยาศาสตร์การสำรวจแห่งพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ร่วมสำรวจ “มาเรีย วัลเดส” เผยว่า ในความเป็นจริงด้านการวิจัย ขนาดความสำคัญของอุกกาบาตไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่อยู่ส่วนประกอบของอุกกาบาต เนื่องจากบางลูกมีขนาดเล็ก แต่มีแร่ธาตุที่ไม่สามารถพบบนโลกได้ แต่การค้นพบอุกกาบาตขนาดใหญ่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่หายาก

อุกกาบาตทั้ง 5 นี้ ได้มีการคาดการว่า ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งเป็นเวลาหลายพันปี และปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังจากการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งที่หมุนวนนำพวกมันกลับสู่พื้นผิว แต่เนื่องจากอุกกาบาตได้รับการปกป้องจากการตกตะกอน ลม และอากาศใต้น้ำแข็ง พวกมันจึงยังคงสภาพสมบูรณ์

นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวเสริมว่า การศึกษาเรื่องของอุกกาบาตช่วยให้เข้าใจตำแหน่งของโลกในจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น และยิ่งเรามีตัวอย่างหรือหลักฐานของอุกกาบาตมากเท่าไร เราก็ยิ่งเข้าใจระบบสุริยะของเราได้ดีขึ้นเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : Maria Valdes/Field Museum / livescience.com


อันตรายจากพฤติกรรม "กินแล้วนอน"

ปกติแล้วกระบวนการย่อยอาหารของคนเราจะเริ่มย่อยอาหารตั้งแต่ในปากโดยการย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล (ย่อยโดยน้ำลาย) โปรตีนจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหาร จากนั้นอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วนจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็ก ซึ่งจะย่อยทั้งคาร์โบไฮเดรต (ในรูปของน้ำตาล) ย่อยโปรตีน และย่อยไขมัน สารอาหารจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก (กระบวนการย่อยอาหารจะสิ้นสุดที่ลำไส้เล็ก) ส่วนกากอาหารถูกส่งไปที่ลำไส้ใหญ่และดูดซึมสารอาหารที่เหลือจากลำไส้เล็ก

กว่าที่ร่างกายจะสิ้นสุดกระบวนการย่อยอาหารจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในท่านั่งหรือยืน เพราะอวัยวะทุกส่วนในระบบตั้งตรงตามร่างกาย ซึ่งจะย่อยอาหารโดยลำเลียงจากบนลงล่าง แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากินอาหารเสร็จแล้วนอนในช่วงที่ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สิ้นสุด อวัยวะจะอยู่ในแนวราบตามร่างกายแทน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาซึ่งอาจจะอันตรายกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ Tonkit360 จะมาเตือนว่าอันตรายที่ว่ามีอะไรบ้าง

1. อาหารไม่ย่อย ท้องอืด

พฤติกรรมการกินแล้วนอนทันทีทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบย่อยอาหารจะใช้เวลาในการย่อยอาหารแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เมื่ออาหารยังย่อยไม่หมดก็จะเกิดตกค้าง หมักหมมจากนั้นจึงทำปฏิกิริยากันจนเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด เมื่อมีอาการท้องอืดก็จะทำให้เรานอนไม่สบายตัว ซึ่งจะไปรบกวนประสิทธิภาพในการนอนหลับได้

2. กรดไหลย้อน

เมื่อเรากินอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยออกมาเพื่อย่อยอาหารที่เราเพิ่งกินเข้าไป ลองคิดภาพตามว่าปกติร่างกายจะย่อยอาหารโดยลำเลียงจากบนลงล่าง แต่ถ้าเรากินเสร็จกลับล้มตัวลงนอน อวัยวะจะอยู่ในแนวราบแทน ดังนั้น น้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ในบางรายอาจย้อนกลับขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ เกิดอาการระคายเคือง เนื่องจากน้ำย่อยมีฤทธิ์เป็นกรด จนทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก จุกเสียดแน่นท้อง ขมในลำคอ เรอเหม็นเปรี้ยว ซึ่งกรดไหลย้อยที่ว่านี้หากได้เป็นแล้วล่ะก็ ใช่ว่าจะรักษาได้ง่ายๆ จึงมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แถมยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร หรือโรคหลอดเลือดสมองด้วย

3. นอนไม่หลับ

เป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากการภาวะท้องอืดหรือโรคกรดไหลย่อย เมื่อเรารู้สึกว่าท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย หรือแสบร้อนกลางอก ก็ย่อมทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ไม่สบายตัว ดังนั้นจึงไปรบกวนการนอนหลับ นอนหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งจะทำให้เรานอนหลับไม่เต็มที่หรือมีอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอ ทุกระบบในร่างกายจะทำงานปั่นป่วนตาม เมื่อนั้นก็จะเกิดอันตรายอื่นๆ จากการนอนน้อยตามมาได้

4. เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือมะเร็งหลอดอาหาร

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะเสี่ยงที่เป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังและอาการอาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระบวนการย่อยอาหารนั้นมีผลโดยตรงต่อความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เมื่อระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร การดูดซึมสารอาหารจะมีปัญหา และส่งผลต่อภาวะความดันโลหิต และการรักษาระดับน้ำตาลกับคอเรสเตอรอล ส่งผลกระทบถึงระบบไหลเวียนโลหิต

เมื่อระบบไหลเวียนโลหิตมีปัญหา ทำให้เลือดที่จะลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปทั่วร่างกายส่งไปได้ยากขึ้น อาจเกิดภาวะสมองขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน อาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง

ส่วนโรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นภาวะเสี่ยงที่เป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อน หากมีอาการเรื้อรังจากการที่น้ำย่อยไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร เกิดการระคายเคืองและอักเสบเรื้อรัง หากปล่อยไว้นานๆ จึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารนั่นเอง

5. โรคอ้วน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคอ้วนเกิดจากการที่เรารับพลังงานจากอาหารมากเกินที่ร่างกายต้องใช้ ในขณะเดียวกันก็ขาดการออกกำลังด้วย เมื่อร่างกายไม่ได้ดึงพลังงานที่ได้ไปใช้ พลังงานก็จะสะสมกลายเป็นไขมัน โดยเฉพาะคนที่ชอบกินอาหารที่ให้พลังงานสูง ร่างกายก็จะสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ซึ่งการกินแล้วนอนทำให้ร่างกายแทบไม่ได้ขยับเขยื้อนเลย พลังงานที่กินเข้าไปจึงไม่ได้ถูกใช้ จึงทำให้อ้วนขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนลงพุงด้วย