ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เช็กอาการต้อหิน ภัยเงียบที่พบบ่อยในผู้สูงวัย เสี่ยงตาบอดถาวรหากไม่รีบรักษา

โรคต้อหินเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หากเป็นแล้วควรรีบรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ต้อหิน (glaucoma) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคตาที่สามารถพบได้ทั่วไปเช่นเดียวกับต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม โดยต้อหินเป็นกลุ่มโรคเกิดจากการเปลี่ยนแปลงถูกทำลายของขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้ว ประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบรักษาก็จะทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้

กลุ่มเสี่ยงโรคต้อหิน

คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

มีความดันลูกตาสูงเกินค่าปกติ

มีญาติสายตรงเป็นต้อหิน

สายตาสั้นหรือยาวมาก

ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตา

ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำโดยเฉพาะยาหยอดตา

ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์บ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ (ภาพจาก iStock)

ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ควรมาพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มโอกาสการรักษาคนไข้ได้เร็ว เพื่อชะลอหรือหยุดการดำเนินโรค ไม่ให้กลายเข้าสู่ระยะรุนแรงที่ทำให้ตาบอดได้

อาการโรคต้อหิน

โรคต้อหินที่เกิดจากความเสื่อมส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ ระยะเวลาของต้อหินตั้งแต่เริ่มเป็นจนถึงการสูญเสียการมองเห็นใช้เวลานาน 5 – 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือระยะท้าย ๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นภายในเวลาเป็นเดือนก็จะตาบอดได้

ลักษณะการสูญเสียของต้อหิน โดยทั่วไปการมองในทางตรงจะยังมองเห็นอยู่ โดยที่การมองเห็นนั้นจะค่อย ๆ แคบเข้า ที่เรียกว่า ลานสายตาผิดปกติ คือโดยปกติคนเรามองตรงไปข้างจะมองเห็น ด้านข้างก็จะพอมองเห็นถึงแม้จะไม่ชัดเหมือนจุดที่เรามองตรง แต่ในกลุ่มคนที่เป็นต้อหินนั้น การมองเห็นด้านข้างจะค่อยๆ แคบเข้ามาช้าๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยรู้ตัวเนื่องจากใช้สองตาช่วยกันดูอยู่เพราะไม่ได้เปิดตาเดินทีละข้าง และไม่ได้ทดสอบตัวเองเป็นประจำ จึงยังทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติจนกระทั่งการสูญเสียลานสายตานั้นเข้ามาถึงบริเวณตรงกลางแล้ว ทำให้ภาพที่เรามองนั้นไม่ชัดจึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นระยะท้ายๆ แล้ว

โรคต้อหินที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายมักไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว การป้องกันคือควรตรวจตาเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นประจำทุกปี หากตรวจพบเร็วก็รักษาลดความเสี่ยงอาการตาบอดได้ (ภาพจาก iStock) ส่วนต้อหินชนิดมุมปิดที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

อาการปวดตา

เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ

ตาแดงทันทีทันใด

ปวดมากจนคลื่นไส้อาเจียนต้องมาโรงพยาบาล

ปวดศีรษะมากในตอนเช้า

ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด

กระจกตาบวมหรือขุ่น

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเริ่มเป็นต้อหิน ยกเว้นต้องมาให้จักษุแพทย์ตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มต้อหินที่เป็นระยะเรื้อรังจากความเสื่อมที่ค่อยเป็นค่อยไป

วิธีรักษาโรคต้อหิน

ปัจจุบันการรักษาต้อหินด้วยการลดความดันตาเป็นการรักษามาตรฐานที่ได้รับการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าสามารถรักษาโรคต้อหินได้ การรักษาโรคต้อหินประกอบด้วย

1. การรักษาต้อหินโดยการใช้ยา

เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตาและจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม แพทย์อาจให้เริ่มใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันได้ นอกจากยาหยอดตาแล้ว ยังมียารูปแบบอื่น ๆ เช่น ยากิน ยาเม็ด หรือยาน้ำที่ช่วยลดความดันในลูกตาได้

2. การรักษาต้อหินโดยการใช้แสงเลเซอร์

ซึ่งจะใช้สำหรับกลุ่มมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์เท่านั้น เช่น การยิงเลเซอร์เจาะรูที่ม่านตาเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคต้อหินเฉียบพลันในผู้ที่มีมุมตาปิด และการยิงเลเซอร์ที่มุมตาเพื่อลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินมุมตาเปิด

3. การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัด

การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องระบายน้ำภายในลูกตาเพื่อลดความดันตา มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตา

ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาบอดชนิดถาวร โดยคนตาบอดทั่วโลกร้อยละ 10 มาจากต้อหิน โรคนี้ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดให้กลับคืนมามองเห็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็วก็จะสามารถรักษาการมองเห็นไว้กับเราได้นานขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลกรุงเทพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


นักวิจัยจีนพัฒนา “อิฐดวงจันทร์” เตรียมใช้สร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต

นักวิจัยชาวจีนพัฒนาอิฐจากวัสดุที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับดินบนดวงจันทร์ และหวังว่า จะสามารถนำไปใช้สร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่าคลิปวิดีโอซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (เอชยูเอสที) เผยให้เห็นทีมวิจัยที่นำโดย ติงเลี้ยอวิ๋น ใช้ดินดวงจันทร์แบบจำลองในการสร้าง “อิฐดวงจันทร์” ที่มีความแข็งแรงมากกว่าอิฐแดง หรืออิฐคอนกรีตมาตรฐานถึงสามเท่า

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการสร้างแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ และประดิษฐ์หุ่นยนต์พิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์บ้านโดยใช้ดินดวงจันทร์

โจวเฉิง นักวิจัยอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ทีมวิจัยใช้ดินดวงจันทร์จำลอง 5 ชนิด และกระบวนการเผาผนึก 3 แบบ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อการคัดเลือกวัสดุและการปรับปรุงกระบวนการ สำหรับการสร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต

องค์ประกอบของดินดวงจันทร์แตกต่างกันไป ตามแต่ละสถานที่บนดวงจันทร์ โดยมีองค์ประกอบหนึ่งที่ได้จำลองดินบนดวงจันทร์ ณ จุดลงจอดของยานภารกิจฉางเอ๋อ-5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ ขณะที่องค์ประกอบอื่นบางส่วนจำลองจากดิน ซึ่งพบในสถานที่แห่งอื่น ส่วนส่วนใหญ่เป็นหินอะนอโทไซต์

อิฐดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อตรวจสอบว่าสมรรถนะเชิงกลของอิฐ จะลดลงในสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์หรือไม่ และสามารถทนต่อแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ที่มีความถี่สูงได้หรือไม่

อนึ่ง ดวงจันทร์มีสภาพแวดล้อมสุญญากาศ ซึ่งมีรังสีคอสมิกจำนวนมาก และมีอุณหภูมิสูงเกิน 180 องศาเซลเซียสในช่วงข้างขึ้น และลดลงเหลือ -190 องศาเซลเซียสในช่วงข้างแรม โจวกล่าวว่า ทีมวิจัยต้องตรวจสอบว่าอิฐสามารถกันความร้อนได้ดีเพียงใด และสามารถทนต่อรังสีได้หรือไม่

ด้านสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) รายงานเพิ่มเติมว่า จะมีการส่งอิฐดวงจันทร์ดังกล่าวไปยังสถานีอวกาศของจีนโดยยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-8 เพื่อตรวจสอบสมรรถนะเชิงกล และสมรรถนะทางความร้อน ตลอดจนตรวจสอบความสามารถในการทนต่อรังสีคอสมิก โดยคาดว่า จะส่งอิฐดวงจันทร์ก้อนแรกกลับคืนสู่โลก ภายในสิ้นปี 2568....


พบบ่อเพชรใต้ดาวพุธ" จำนวนหลายล้านตันหนาเป็นสิบกิโลเมตร

สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยข้อมูลสุดตะลึง "พบบ่อเพชรใต้ดาวพุธ" จำนวนหลายล้านตันหนาเป็นสิบกิโลเมตร แต่อย่าได้คิดฝันว่าจะไปทำเหมืองขุดเพชรบนนั้น เพราะชั้นเพชรดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวหลายร้อยกิโลเมตร

ดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และมีขนาดเล็กที่สุด แม้จะมีขนาดเล็กแต่ดาวเคราะห์ดวงนี้กลับมีดีหลายอย่าง เช่นมีทั้งบรรยากาศ มีสนามแม่เหล็ก มีน้ำแข็งที่ขั้วดาว ลักษณะบางอย่างบนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เป็นเอกลักษณ์ที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นไม่มี เช่น มีพื้นผิวมืดคล้ำมาก มีแก่นกลางแน่นมาก

และของดีล่าสุดที่นักดาราศาสตร์ค้นพบคือ ดาวพุธมีเพชรด้วย อย่าถามว่ามีกี่ล้านกะรัต ต้องถามว่ามีกี่ล้านตัน? เพราะแหล่งเพชรนี้หนาเป็นสิบกิโลเลยทีเดียว การค้นพบนี้มาจากข้อมูลจากยานเมสเซนเจอร์ที่สำรวจดาวพุธ ก่อนหน้านี้ยานเมสเซนเจอร์พบว่าพื้นผิวที่ดูมืดคล้ำของดาวพุธเกิดจากวัสดุจำพวกแกรไฟต์ ซึ่งเป็นคาร์บอนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นแกรไฟต์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่ทะเลแมกมาบนดาวพุธกำลังจะเย็นตัวลง แมกมาของดาวพุธมีคาร์บอนอยู่มาก เมื่อแมกมาเย็นลง คาร์บอนก็จะตกผลึกเป็นแกรไฟต์กระจายอยู่ทั่วพื้นผิวของดาวพุธ

"กระบวนการนี้ก็เกิดขึ้นที่ระดับลึกลงไปใต้ดินด้วยเช่นกัน แต่ด้วยแรงดันที่รอยต่อระหว่างชั้นเนื้อดาวกับแก่นดาวของดาวพุธ ประกอบกับวัตถุดิบของดาวพุธที่มีคาร์บอนอยู่มาก เราเชื่อว่าคาร์บอนที่บริเวณรอยต่อนั้นไม่น่าจะอยู่ในรูปแกรไฟต์ แต่มันแพงกว่านั้น มันอยู่ในรูปเพชร" รศ.โอลิเวียร์ นามูร์ จากมหาวิทยาลัยแคทอลิกลูเวิน หัวหน้านักวิทยาศาตร์ที่วิจัยเรื่องนี้อธิบาย

คณะของนามูร์ได้ทำการทดลองเพื่อจำลองสภาพใต้พื้นผิวของดาวพุธ การทดลองนี้ได้สร้างความดันสูงถึงกว่าเจ็ดกิกะปาสคาล และอุณหภูมิก็พุ่งขึ้นสูงถึง 2,177 องศาเซลเซียส เมื่อแมกมาในดาวพุธเริ่มเย็นลงและจับเป็นผลึก จะเกิดเพชรขึ้นเป็นชั้นบาง ๆ ที่รอยต่อระหว่างแก่นดาวที่เป็นโลหะกับเนื้อดาวที่เป็นซิลิเกต ต่อมาเมื่อแก่นดาวเย็นตัวและตกผลึก เพชรในแก่นดาวที่เป็นโลหะก็จะลอยสูงขึ้นเนื่องจากมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลหะ เมื่อลอยขึ้นมาถึงรอยต่อระหว่างแก่นดาวและเนื้อดาว ก็จะมาสะสมรวมกับชั้นของเพชรที่เกิดขึ้นจากแมกมาที่เย็นตัวจนหนาขึ้น นักวิจัยคณะนี้เชื่อว่าชั้นของเพชรในดาวพุธปัจจุบันอาจมีความหนาถึง 16 กิโลเมตรเลยทีเดียว

หากดาวพุธมีเพชรใต้ดินอยู่หนาเป็นสิบกิโลเมตรจริง ก็อย่าได้คิดฝันว่าจะไปทำเหมืองขุดเพชรบนนั้น เพราะชั้นเพชรดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวหลายร้อยกิโลเมตร นักวิจัยคณะของนามูร์ไม่ได้คาดหวังว่าจะไปขุดเพชรบนดาวพุธ แต่มองว่าการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การไขปัญหาอีกข้อหนึ่งของดาวพุธที่ว่าเหตุใดกิจกรรมทางภูเขาไฟบนดาวเคราะห์ดวงนี้จึงยุติลงไปในเวลาอันรวดเร็ว "กิจกรรมภูเขาไฟบนดาวพุธเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยล้านปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าดาวเคราะห์หินดวงอื่นมาก แสดงว่าดาวเคราะห์เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสงสัยมากว่าเป็นเพราะเหตุใด ขนาดที่เล็กของดาวพุธก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้เรากำลังมองว่าชั้นเพชรในดาวพุธก็อาจมีส่วนด้วย ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป" นามูร์กล่าวทิ้งท้าย

ยานเมสเซนเจอร์ เป็นยานสำรวจดาวพุธขององค์การนาซา ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อปี 2548 เป็นยานลำแรกที่เข้าโคจรรอบดาวพุธได้สำเร็จ เมสเซนเจอร์บรรลุภารกิจหลายอย่าง ทั้งการสร้างแผนที่ทั่วดวง ค้นพบน้ำแข็งที่ก้นหลุมบริเวณขั้วดาว และยังเก็บข้อมูลด้านธรณีวิทยากับสนามแม่เหล็กของดาวพุธ ก่อนจะปิดภารกิจไปในปี 2558

ยานเมสเซนเจอร์ขณะสำรวจดาวพุธ (ภาพตามจินตนาการของศิลปิน) ยานแมสเซนเจอร์ไปถึงดาวพุธในเดือนมีนาคม 2554 (จาก NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Carnegie Institution of Washington)

ที่มา: สมาคมดาราศาสตร์ไทย / Mercury has a layer of diamond 10 miles thick, NASA spacecraft finds


นักวิชาการจุฬาฯ ค้นพบ 'กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก' จากดอยสอยมาลัย - หลังคาเมืองตาก

ทีมวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และ รศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Graduate School of Human and Environmental Studies มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นักวิจัยจากสถาบันอื่น และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันศึกษาและตั้งชื่อกะท่างน้ำจากดอยสอยมาลัย ซึ่งเป็นกระท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย การค้นพบกะท่างชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติระดับ Q1 (ZooKeys 1215: 185–208) https://doi.org/10.3897/zookeys.1215.116624

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 มีการเผยแพร่ข่าวการพบกะท่างน้ำบริเวณยอดดอยสอยมาลัย ทำให้ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ และ รศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามข่าวดังกล่าวเพื่อค้นหากะท่างน้ำชนิดนี้เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดดอยสอยมาลัย ที่ระดับความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และค้นพบกะท่างน้ำตัวเต็มวัยและตัวอ่อนอยู่ในแอ่งน้ำบนถนนหลังจากการค้นหามานานหลายปี

กะท่างน้ำชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบว่า “กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tylototriton soimalai เพื่อเป็นเกียรติแก่ดอยสอยมาลัย กะท่างน้ำดอยสอยมาลัยมีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างจากกะท่างน้ำชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน โดยมีลักษณะเฉพาะคือ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง ปลายจมูกทู่หรือเป็นปลายตัด สันกระดูกกลางหัวแคบ สั้น และชัดเจน แนวสันกระดูกข้างหัวเด่นชัดและขรุขระ มีต่อมพิษหลังตาที่เห็นได้ชัดเจน สันกระดูกสันหลังเด่นชัด กว้าง และไม่แบ่งเป็นท่อน มีต่อมพิษข้างลำตัว 14–16 ตุ่มซึ่งมีลักษณะกลมและแยกออกจากกัน

ยกเว้นส่วนหลังที่เชื่อมต่อกัน สีพื้นลำตัวเป็นสีดำและส่วนอื่น ๆ มีสีส้ม การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลในยีน NADH dehydrogenase subunit 2 (ND2) ในไมโทคอนเดรีย พบว่ากะท่างน้ำดอยสอยมาลัยเป็นชนิดที่แยกต่างหาก โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะท่างน้ำเหนือ (T. uyenoi) มากที่สุด โดยมีความแตกต่างของลำดับพันธุกรรม 4.1%

ปัจจุบันการค้นพบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยนี้ยังอยู่ในวงแคบเฉพาะบริเวณยอดดอยสอยมาลัยเท่านั้น ยังไม่มีการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้ปราศจากการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณแอ่งน้ำบนถนนเพื่อสืบพันธุ์และการเติบโตของตัวอ่อนจนกว่าจะถึงระยะโตเต็มวัย

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกะท่างน้ำ กะท่างน้ำหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “crocodile newt” เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับกบ เขียด และคางคก โดยมีรูปร่างลำตัวยาวขามีทั้งขาหน้าและขาหลัง หางยาว หัวกลมมน มีผิวหนังค่อนข้างแห้งและขรุขระ มีตุ่มเรียงเป็นแถวอยู่ด้านข้างตัวออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกเป็นวุ้น ตัวอ่อนเติบโตในน้ำและมีพู่เหงือกทั้งสองข้างของส่วนหัวซึ่งจะหายไปหรือลดรูปเมื่อเข้าสู่ระยะตัวเด็กและตัวเต็มวัยที่จะอาศัยอยู่บนบก.


7 สัญญาณเตือนว่าร่างกายมีเนื้องอก-เนื้อร้าย

"เนื้อร้าย" หรือ "มะเร็ง" หากเป็นแล้วอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ มีโอกาสสูงที่จะรักษาให้หายขาด นี่คือ 7 สัญญาณเตือนที่ต้องสังเกต

จะตรวจพบเนื้องอกมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้อย่างไร?

จากการวิจัยทางการแพทย์ และการสังเกตทางคลินิกล่าสุด นี่คือ 7 สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายอาจมีเนื้องอก-เนื้อร้าย

เนื้องอก-เนื้อร้ายหรือที่เรียกว่า “มะเร็ง” มีพลังทำลายล้างที่ร้ายแรง ไม่เพียงบุกรุกอวัยวะดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านทางเลือดและระบบน้ำเหลือง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แล้วจะตรวจพบเนื้องอกมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้อย่างไร? ให้สังเกต 7 สัญญาณอันตรายจากร่างกาย

ความเหนื่อยล้าและอ่อนแรงเป็นเวลานาน

เมื่อเซลล์มะเร็งขยายตัวอย่างรวดเร็วในร่างกาย จะใช้พลังงานจำนวนมาก มักเกิดอาการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ระบบต้านการอักเสบของร่างกายทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พลังงานของร่างกายหมดไป

ความเหนื่อยล้าที่เกิดจากมะเร็ง แตกต่างจากความเหนื่อยล้าหลังการทำงานปกติ เป็นความรู้สึกสิ้นหวังถึงแก่น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกราวกับว่าถูกก้อนหินใหญ่ทับจนหายใจไม่ออก หากรู้สึกเหนื่อยมากเป็นเวลานาน พักผ่อนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

มีอาการคันทั่วร่างกาย

บางครั้งเซลล์มะเร็งจะปล่อยสารบางชนิด ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง จึงส่งผลให้เรารู้สึกคันทั่วร่างกาย อาการคันแบบนี้จะแตกต่างจากอาการแพ้ตามผิวหนังทั่วไป แม้จะใช้วิธีบรรเทาพื้นฐานทั้งหลายที่เคยสำเร็จ แต่กับอาการคันนี้ มันจะไม่หาย

หากคุณประสบปัญหานี้ อย่าด่วนสรุปว่าเป็นโรคผิวหนัง ให้รีบไปปรึกษาแพทย์

น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากคุณน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นหนึ่งในสัญญาณที่พบบ่อยของโรคมะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งแข่งกับเซลล์ปกติเพื่อหาสารอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายค่อยๆ อ่อนแอและผอมแห้ง

พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลง

มะเร็งลำไส้และเนื้องอกในทางเดินอาหารอื่นๆ อาจทำให้พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จากปกติถ่ายอุจจาระวันละครั้งเปลี่ยนเป็นขับถ่ายบ่อยๆ หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาจมีอุจจาระเป็นเลือดด้วย ความผิดปกติเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจจากแพทย์

ไอเป็นเวลานานและกลืนลำบาก

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์ อาจมีอาการไอแห้งๆ เป็นเวลานาน หรือไอมีเสมหะปนเลือด ในเวลาเดียวกันเนื่องจากเนื้องอกกดทับเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบาย และเจ็บปวดเมื่อกลืนอาหาร

หากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่นานกว่า 1 เดือน ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัย

พบก้อนแข็งผิดปกติในร่างกาย

การรู้สึกถึงก้อนเนื้อเล็กๆ ที่ไม่เคลื่อนไปตามเต้านม รักแร้ คอ…อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของเนื้องอกมะเร็ง แม้ว่าก้อนเนื้อแข็งไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด แต่เพื่อความปลอดภัย เมื่อคุณพบก้อนเนื้อเหล่านี้ คุณควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

เสียงแหบ

หากจู่ๆ คุณเสียงแหบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่ได้เป็นไข้หวัด คุณจำเป็นต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเนื้องอกในคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการร่วม เช่น กลืนลำบาก

การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา สิ่งที่ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็ง :

เลิกสูบบุหรี่ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สารพิษในบุหรี่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อปอด ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับและโรคอื่นๆ

ควบคุมน้ำหนัก

คุณต้องหลีกเลี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากร่างกายที่มีน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายประเภท

ปรับปรุงไลฟ์สไตล์ของคุณ

ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ลดความเครียด ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และปรับปรุงความต้านทานของร่างกาย

ทานอาหารอย่างสมดุล

กินผักและผลไม้เยอะๆ จำกัดอาหารแปรรูป ควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคต่างๆ รวมถึงมะเร็ง

เมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย ทัศนคติที่ดีที่สุดคือการป้องกันเชิงรุก หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณใดๆ ข้างต้น อย่าลังเลที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจที่ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ อย่าลืมแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้กับทุกคน!

ที่มาและภาพ : QQ, soha...