ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 24 เมษายน 2564

ค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ สายพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด

มีสมมติฐานมากมายเกี่ยวกับสาเหตุที่สัตว์ขุดดินและลงไปอาศัยอยู่ใต้ดิน เช่น ป้องกันสัตว์นักล่าอื่นๆ และเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ล่าสุด นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา เผยว่า ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิดที่พบในพื้นที่ระบบนิเวศ เจโฮ ไบโอตา (Jehol Biota) กินดินแดนทางตอนเหนือของมณฑลเหอเป่ย ในภาคตะวันตกของมณฑลเหลียวหนิง ในจีน และทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน อาจให้คำตอบถึงการพัฒนาเป็นนักขุดดินของสัตว์กลุ่มนี้

นักบรรพชีวินวิทยาพบว่าซากฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดังกล่าว เป็นสายพันธุ์โบราณที่พบใหม่ พวกมันเคยอาศัยอยู่เมื่อราว 120 ล้านปีก่อนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ชนิดแรกคือ Tritylodontid Fossiomanus Sinensis ส่วนชนิดที่ 2 มีชื่อว่า Eutriconodontan Jueconodon Cheni ทั้งนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิดนี้มีการปรับตัวให้เข้ากับการขุดโพรงจนมีลักษณะเฉพาะสำหรับการขุด ได้แก่ แขนขาสั้นขึ้น ขาหน้าที่แข็งแกร่งมาพร้อมกับมือและกรงเล็บที่แข็งแรง หางสั้น

ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่านี่เป็นหลักฐานแรกของสัตว์นักขุดโพรงสมัยโบราณ 2 ชนิดใหม่ที่พบในเจโฮ ไบโอตา ซึ่งเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์นั้นเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายตั้งแต่ไดโนเสาร์ไปจนถึงแมลงและพืช.

ภาพ Credit : J.Meng © AMNH


ค้นพบซากนครทองคำที่สาบสูญอายุ 3,000 ปี ในอียิปต์

หุบเขากษัตริย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองลักซอร์ ยังเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่พบเจอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเร็วๆนี้ก็ได้ค้นพบสิ่งน่าอัศจรรย์อีกครั้ง นั่นก็คือซากปรักหักพังของเมืองโบราณ ประกอบด้วยโครง สร้างอิฐโคลน และพบสิ่งประดิษฐ์รวมถึงเครื่องมือต่างๆจากยุคฟาโรห์

ทีมนักโบราณคดีและนักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เผยว่านี่เป็นการพบเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในอียิปต์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “นครทองคำที่สาบสูญ” (Lost Golden City) หรืออีกชื่อคือ “เดอะ ไรส์ ออฟ อาเทน” (The Rise of Aten) เนื่องจากอยู่ในยุคทองของฟาโรห์เมื่อ 3,000 ปีก่อน นครโบราณที่พบใหม่นี้ตั้งอยู่ระหว่างวิหารฟาโรห์แรเมซีสที่ 3 (Ramesses III) และอนุสาวรีย์แห่งฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในเมืองลักซอร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานด้านการปกครองและอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรฟาโรห์

ส่วนวัตถุโบราณอื่นๆที่พบก็มีฝาดินเหนียวที่เป็นส่วนหนึ่งของภาชนะบรรจุไวน์, แหวน, แมลงปีกแข็ง, เครื่องปั้นดินเผาตกแต่งทาสี, เครื่องปั่นด้ายและเครื่องทอผ้า อิฐบางก้อนมีตราประทับคาร์ทูชที่เป็นจารึกพระนามของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 หรือเครื่องหมายขององค์ฟาโรห์นั่นเอง ทั้งนี้ ทีมเผยว่านครทองคำแห่งนี้เคยปกครองโดยหลานชายของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 รวมถึงฟาโรห์ตุตันคามุนและฟาโรห์อาย (Ay) สืบต่อบัลลังก์กันมา.


สัตว์ทะเลอายุ 450 ล้านปี มีขาใช้ในการหายใจ

ไทรโลไบต์ (trilobites) เป็นสัตว์ทะเลกลุ่มหนึ่งที่มีหัวคล้าย พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ลักษณะ คล้ายแมงดาทะเลพวกมันเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในแง่ของวิวัฒนาการ แม้ว่าตอนนี้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ก็จัดว่ามีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 250 ล้านปี เรียก ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ยืนยงนานกว่าไดโนเสาร์ก็ว่าได้

ความลับด้านวิวัฒนาการของไทรโลไบต์เป็นที่สนใจของนักวิจัยเสมอมา โชคดีที่ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยไขคำตอบจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลที่หายากมากของไทรโลไบต์ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา สามารถแสดงให้เห็นว่าไทรโลไบต์หายใจได้อย่างไร จากการพบหลักฐานชิ้นแรกของอวัยวะช่วยหายใจที่ซับซ้อนในฟอสซิลไทรโลไบต์อายุ 450 ล้านปีที่อยู่ในผลึกแร่โลหะไพไรต์ เมื่อใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็สามารถอ่านความแตกต่างของความหนาแน่นระหว่างแร่ไพไรต์และหินโดยรอบ ทำให้สามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติของโครงสร้างคล้ายเหงือกที่ห้อยลงมาจากต้นขา ทั้งนี้ ในอดีตมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการทำงานของโครงสร้างเหล่านี้ เนื่องจากขาท่อนบนไม่ใช่ตำแหน่งที่ดีเยี่ยมในการใช้หายใจ และเส้นเหล่านั้นน่าจะอุดตันด้วยตะกอนได้ง่าย

นักวิทยาศาสตร์เผยว่าโครงสร้างเหงือกที่ไม่ค่อยพบเห็นเหล่านี้ นอกจากจะช่วยวางตำแหน่งของไทรโลไบต์บนแผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะช่วยไขปริศนาของวิวัฒนาการของสัตว์ในยุคแรกๆได้ด้วย.

Credit : JIN-BO Hou/University of California-Riverside


โลกต้องจารึก นาซาประสบความสำเร็จปล่อยเฮลิคอปเตอร์บินบนดาวอังคาร

กว่าร้อยปีมาแล้ว สองพี่น้องตระกูลไรต์ประสบความสำเร็จบินขึ้นจากพื้นโลกเป็นครั้งแรกด้วยเครื่องบิน ล่าสุดเกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของนาซาประสบความสำเร็จในการบินบนดาวอังคาร

เว็บไซต์ข่าว CNN รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 19 เม.ย. ตามเวลาในไทย องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา ประสบความสำเร็จในการปล่อยหุ่นยนต์เฮลิคอปเตอร์ "อินเจนูอิตี้" (Ingenuity) ออกจากหุ่นยนต์ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ ที่อยู่บนดาวอังคาร แล้วจากนั้นก็บังคับให้เฮลิคอปเตอร์น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม เทกออฟขึ้นไปตามระดับความสูงที่กำหนดไว้ แล้วสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย

โดยหอควบคุมการบินในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ส่งสัญญาณควบคุมล่วงหน้าไปยังเพอร์เซเวียแรนซ์ แล้วส่งต่อให้กับอินเจนูอิตี้ ที่อยู่ห่างกันในระยะ 65 เมตร แต่กว่าจะทราบผลการบินว่าประสบความสำเร็จก็เป็นเวลา 17.52 น. หรือในอีก 3 ชั่วโมงต่อมา

ทั้งนี้ หุ่นยนต์เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี้ มีมูลค่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,650 ล้านบาท การบินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำการบินอยู่บนดาวดวงอื่นได้ และมีขึ้นท่ามกลางความท้าทาย เนื่องจากอากาศบนดาวอังคารมีความหนาแน่นต่ำกว่าบนโลกมาก ส่งผลให้ใบพัดต้องได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษให้สามารถหมุนได้เร็วมากถึงจะบินขึ้นได้.


วิธีฉีดพ่นสารเคมีฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่ถูกต้องทำอย่างไร เช็กที่นี่

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค"โควิด-19 ระลอกใหม่"ในประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงควรต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยขอให้ยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A คือ

- D : Distancing เว้นระยะห่าง

- M : Mask wearing สวมหน้ากาก

- H : Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ

- T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ

- T : Testing ตรวจเชื้อโควิด-19

- A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ

นอกจากนี้การแพร่กระจายหรือการได้รับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลโดยเฉพาะการทำความสะอาด รวมถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคและความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การแพร่กระจายหรือการได้รับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นที่ประชาชนมีความกังวล โดยเฉพาะการทำความสะอาด รวมถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคและความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดพ่นสารเคมีในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง ดังนี้

1. การฉีดพ่นตามร่างกาย ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นตามร่างกายไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะสารฆ่าเชื้อมีฤทธิ์กัดกร่อนเป็นอันตรายต่อผิวหนังตามร่างกาย สำหรับสารเคมีที่แนะนำให้ใช้กับผิวหนังคือ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อที่มือ

2. การฉีดพ่นในสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อเป็นละอองฝอยในที่โล่ง เช่น ถนน ตลาด เพราะอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงซอกมุม ทำให้การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นใส่สิ่งของหรือพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ล้อยางรถยนต์ กระเป๋าเดินทาง ขอให้ฉีดใกล้พื้นผิวสัมผัสมากที่สุด เพื่อไม่ให้ฟุ้งกระจายและควรทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วควรจะต่อด้วยการเช็ดถูพื้นผิวทำความสะอาด

สาร 3 ชนิดที่ทำลายเชื้อไวรัสได้ภายในระยะเวลา 1 นาที

สารประกอบโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.1 เปอร์เซ็นต์ (เช่น น้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 1,000 ppm)

แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์

3. การฉีดพ่นในอาคารหรือพื้นที่ปิด สามารถเป็นทางเลือกในการดำเนินการได้ แต่หากจะใช้ต้องใช้อย่างถูกวิธีตามขั้นตอนและตรวจสอบชนิดสารที่มีฉลากของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรอง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถค้นหาได้ด้วยเลข อย. หรือชื่อผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อคือชนิดสารเคมีที่ใช้ระยะเวลาการฆ่าเชื้อ (contact time) และความสะอาดของพื้นผิว ซึ่งสารฆ่าเชื้อจะออกฤทธิ์ได้ดีนั้น ต้องทำความสะอาดพื้นผิวก่อน

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีคือการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข