2 นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ 2024 ไปครอง จากการค้นพบ microRNA และบทบาทสำคัญของมันในการเติบโตของเซลล์
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มอบรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2024 ให้แก่ ดร.วิกเตอร์ อัมโบรส และ ดร.แกรี รัฟกัน 2 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน จากผลงานการค้นพบ microRNA และพบบทบาทสำคัญของมันในการเติบโตและดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
คณะกรรมการโนเบลระบุว่า ผู้คว้ารางวัลทั้ง 2 คน ค้นพบโมเลกุล RNA ขนาดเล็กชนิดใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมยีน “การค้นพบครั้งใหญ่นี้ ช่วยอธิบายว่า เซลล์พัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาท ได้อย่างไร ทั้งที่แต่ละเซลล์มีชุดของยีนและชุดคำสั่งเพื่อการเติบโตและใช้ชีวิตแบบเดียวกัน”
ทั้งนี้ ดร.อัมโบรสเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเสตส์ (University of Massachusetts Medical School) ขณะที่ ดร.รัฟกันเป็นศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมศาสตร์ที่วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School)
ดร.โทมัส เพิร์ลแมนน์ เลขาธิการคณะกรรมการโนเบลสาขาสรีรศาสตร์กล่าวว่า เขาโทรศัพท์หา ดร.รัฟกันและปลุกเข้าเมื่อเช้านี้ (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ) “ภรรยาของเขาเป็นคนรับสาย มันใช้เวลานานมากกว่าเขาจะมารับโทรศัพท์ และเขาเหนื่อยมากๆ” แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็มีความสุขและกระตือรือร้นมาก หลังทราบข่าว
อย่างไรก็ตาม นายเพิร์ลแมนน์ระบุว่า เขาติดต่อ ดร.อัมโบรสไม่ได้
อนึ่ง สถาบันคาโรลินสกา ของสวีเดน จะเป็นผู้เลือกผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์ หรือสาขาการแพทย์ ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 11 ล้านโครนาสวีเดน (ราว 35.5 ล้านบาท) กรณีมีผู้ได้ชนะหลายคน เงินรางวัลก็จะถูกหารเท่าๆ กัน
ทุกปีรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์จะได้รับการประกาศเป็นสาขาแรก ของฤดูการประกาศรางวัลโนเบลในแต่ละปีเสมอ โดยในวันอังคารนี้ (8 ต.ค.) จะถึงคิวโนเบลสาขาฟิสิกส์ ตามด้วยสาขาเคมีในวันพุธ สาขาวรรณกรรมในวันพฤหัสบดี และสาขาสันติภาพที่ได้รับการจับตามมองมากที่สุดในวันศุกร์ ก่อนจะปิดท้ายด้วยรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในวันที่ 14 ต.ค.
ที่มา : cna
ไทยคมปิดดีลผูกขาดสัญญาใจระยะยาวกับ SpaceX ให้เป็นผู้ยิงจรวดส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ของไทยคมภายในปี 2570 ด้วยจรวด Falcon 9 จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ (Reusable Rocket) ลำแรกของโลก
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ STI ในเครือไทยคม ผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียมแห่งเอเชียและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ได้เข้าทำสัญญากับ SpaceX บริษัทเทคโนโลยีอวกาศจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญในการสร้าง ออกแบบ รวมทั้งส่งจรวดและอวกาศยานที่ทันสมัยที่สุดในโลก ให้เป็นผู้ส่งดาวเทียมไทยคม 10 (THAICOM-10) ซึ่งเป็นดาวเทียมเทคโนโลยี Software-defined High Throughput Satellite (SD-HTS) ดวงใหม่ของไทยคมขึ้นสู่วงโคจร
โดยดาวเทียมไทยคม 10 เป็นดาวเทียมรุ่นใหม่แบบ SD-HTS มีขนาดความจุ 120 Gbps (Gigabits per Second) ออกแบบและสร้างโดยบริษัทแอร์บัส Airbus Defence and Space SAS (France) จากฝรั่งเศส โดยดาวเทียมแบบ SD-HTS ดังกล่าว แตกต่างจากดาวเทียมรุ่นก่อน ตรงสามารถปรับพื้นที่ให้บริการ ปริมาณช่องสัญญาณ และย่านความถี่ ในขณะที่โคจรอยู่บนอวกาศได้ ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลาย และยังสามารถขยายบริการการสื่อสารให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ SpaceX จะส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจร ที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ของไทยคม ด้วยจรวด Falcon 9 จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ (Reusable Rocket) ลำแรกของโลก ณ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามกำหนดจะยิงจรวดส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2570 และให้บริการได้ในปีเดียวกัน
“ไทยคมเป็นพันธมิตรกับ SpaceX มาอย่างยาวนาน เริ่มจากการส่งดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ.2557 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในดาวเทียมดวงแรกๆที่ถูกส่งด้วยจรวด Falcon 9 จากความสำเร็จดังกล่าว เราจึงใช้บริการของ SpaceX ส่งดาวเทียมไทยคมดวงต่อๆมาด้วยเช่นกัน จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและความน่าเชื่อถือของจรวด Falcon 9 เรามั่นใจว่าความร่วมมือกับ SpaceX ในครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นในการส่งดาวเทียมไทยคม 10 ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างคุ้มค่าและสำเร็จตามแผนที่วางไว้”
ทั้งนี้ วงโคจรที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกดังกล่าว ไทยคมประมูลชนะมาในราคา 417 ล้านบาท ระหว่างเปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ซึ่งเดิมเป็นวงโคจรที่ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย อินโดจีน อินเดีย
ก่อนหน้านี้เมื่อ 6 มี.ค.2567 สเปซเทค อินโนเวชั่น ยังเพิ่งประกาศว่าเลือก Astranis บริษัทผู้ผลิตและให้บริการดาวเทียมชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสร้างดาวเทียมไทยคม 9 (THAICOM-9) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ด้วยดาวเทียมเทคโนโลยี High Throughput Satellite
ไทยคม 9 ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก รุ่น MicroGEO ระบบ Ka-band บริการครอบคลุมทวีปเอเชีย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ในการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าและพันธมิตรของไทยคมทั่วภูมิภาคเอเชีย มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ.2568
ดาวเทียมรุ่นใหม่ดังกล่าว สามารถเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเมื่อโคจรอยู่บนอวกาศ โดยมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยี Software-defined Radio ทำให้สามารถปรับพื้นที่การให้บริการ จัดสรรช่องสัญญาณ ตลอดจนควบคุมย่านความถี่ ระดับพลังงาน และระบบการทำงานอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น.
หนุ่มวัย 40 ช็อกเป็น “มะเร็งผิวหนัง” ด้วยนิสัยใช้ชีวิตเรียบง่าย หมอเตือนขี้เกียจแค่ไหนก็ซักผ้าแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพระยะยาว
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เว็บไซต์ soha รายงานกรณีของหนุ่มจีนวัย 40 ปีรายหนึ่ง ชื่อนายหลิว ได้เดินทางเข้าตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล หลังจากสังเกตว่าผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงแปลกๆ ในตอนแรกมีจุดเล็กๆ ปรากฏขึ้นมาเพียงจุดเดียว แต่ต่อมาจุดนั้นก็เริ่มแพร่กระจายและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเข้ารับตรวจและทำการทดสอบต่างๆ ที่จำเป็น แพทย์กล่าวว่า “เราพบว่าคุณมีอาการเริ่มแรกของมะเร็งผิวหนัง”
เมื่อได้ยินคำวินิจฉัยนี้ ใบหน้าของนายหลิวก็ซีดลง เขาแทบไม่เชื่อหูตัวเอง และกล่าวหาหมอซ้ำอีกครั้งว่า “เป็นไปได้ยังไง… ผมใส่ใจสุขภาพตัวเองอย่างใกล้ชิด!
ทางคุณหมอเลยว่า “คุณมีนิสัยพิเศษในการทำกิจกรรมประจำวันบ้างไหม”
นายหลิวคิดอยู่นานจึงบอกว่าตนเองมักทำงานยุ่งอยู่เสมอ ดังนั้นจึงซักเสื้อผ้าทุกประเภทพร้อมกัน ไม่ว่าสีหรือวัสดุจะแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม และเพื่อประหยัดเงิน เขามักจะใช้ผงซักฟอกราคาถูกตามท้องตลาดเสมอ โดยที่ไม่ได้คาดคิดว่า นิสัยการใช้ชีวิตที่ดูเรียบง่ายจะนำผลร้ายแรงมาสู่สุขภาพของตนเอง
ในเรื่องนี้แพทย์กล่าวด้วยความเสียใจว่า “คุณหลิว แม้ว่าคุณจะทำเช่นนี้เพื่อประหยัดเวลาและเงิน แต่วิธีการซักนี้อาจเป็นอันตรายต่อผิวของคุณได้ ผงซักฟอกคุณภาพต่ำอาจมีส่วนผสมทางเคมีที่เป็นอันตราย การสัมผัสกับส่วนผสมเหล่านี้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการทำความสะอาดที่เหมาะสม สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคผิวหนังได้จริงๆ”
คุณหมอยังบอกด้วยว่า เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพผิว คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด การสัมผัสสารเคมี หรือพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม นิสัยบางอย่างในชีวิตที่ดูเหมือนไม่เป็นอันตราย เช่น วิธีซักเสื้อผ้า จริงๆ แล้วก็มีผลกระทบต่อสุขภาพผิวที่ไม่สามารถละเลยได้เช่นกัน
เหมือนในกรณีของนายหลิว สิ่งที่อันตรายที่สุดคือการใช้ผงซักฟอกไม่ทราบที่มา สินค้าราคาถูกบางชนิดในท้องตลาดอาจมีผงซักฟอกเคมีผสมอยู่ แม้ว่าส่วนผสมเหล่านี้จะขจัดคราบ แต่ก็อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น น้ำยาซักผ้าบางชนิดมีส่วนผสม เช่น ซัลเฟต (Sulfate) และฟอสเฟต (Phosphate) มากเกินไป แม้ว่าจะสามารถทำความสะอาดเสื้อผ้าได้จริง แต่การสัมผัสผิวหนังเป็นเวลานานจะทำลายเกราะป้องกันตามธรรมชาติของผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแห้ง คัน ผิวหนังอักเสบ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
นอกจากนี้ วงจรการซักในเครื่องซักผ้าแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอที่จะขจัดสารเคมีที่ตกค้างออกจากเสื้อผ้าได้หมด ซึ่งหมายความว่าเสื้อผ้าที่ซักแล้ว ยังคงมีสารเคมีเมื่อสวมใส่บนร่างกาย ส่วนผสมทางเคมีที่ตกค้างเหล่านี้ สามารถสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว
ผลวิจัยเผย "กาแฟ" ช่วยให้อายุยืนยาว แถมป้องกันโรคร้ายแรงอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
ผลวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน The European Journal of Preventive Cardiology แสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟทุกวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากทุกสาเหตุได้เป็นอย่างมาก
การดื่มกาแฟเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้อายุยืนยาว แต่ควรเลือกชนิดที่เหมาะสม และดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ
ปีเตอร์ คิสต์เลอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสรีระวิทยาหัวใจ สถาบัน Baker Heart and Diabetes Institute ของออสเตรเลีย ระบุว่า กาแฟคั่วที่มีกาเฟอีน กาแฟสำเร็จรูปที่มีกาเฟอีน และกาแฟไม่มีกาเฟอีน ทั้งหมดล้วนมีผลช่วยให้อายุยืนยาวได้
“การบริโภคกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะเป็นประจำ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มีสุขภาพดี”
จากการศึกษาด้านสุขภาพจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่เกือบ 450,000 คน ใน UK Biobank พวกเขาไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ก่อนเข้าร่วมการศึกษานี้ พวกเขาถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
ผู้ที่มักดื่มกาแฟคั่ว และกาแฟบดที่มีกาเฟอีน
ผู้ที่มักดื่มกาแฟไม่มีกาเฟอีน
ผู้ที่มักดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่มีกาเฟอีน
ผู้ที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ
หลังจากผ่านไป 12 ปีครึ่ง นักวิจัยได้ตรวจสอบเวชระเบียน และรายงานการเสียชีวิตของผู้เข้าร่วม ผู้ที่มีนิสัยชอบดื่มกาแฟ 3 กลุ่มแรก มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ
ความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ที่ดื่มกาแฟคั่วและบดที่มีกาเฟอีน ผู้ที่ดื่มกาแฟไม่มีกาเฟอีน และผู้ที่ดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่มีกาเฟอีนนั้นน้อยกว่า 27%, 14% และ 11% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ
ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดใน 3 กลุ่มข้างต้น มีความเสี่ยงต่ำกว่า 20%, 6% และ 9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ
ข้อควรระวังในการดื่มกาแฟ
นักวิจัยกล่าวว่า กาแฟมีส่วนผสมออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะ “กาเฟอีน” ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การเติมน้ำตาล ครีม นม และสารให้ความหวานอื่นๆ ลงในกาแฟ จะทำให้ผลประโยชน์เชิงบวกอันมีค่าของกาแฟลดลงอย่างมาก
สำหรับปริมาณกาแฟที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการมีประโยชน์ต่อสุขภาพคือ ดื่ม 2-3 แก้วต่อวัน ถ้าดื่มมากกว่านี้จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์.
ที่มาและภาพ : Soha, Anja / Pixabay...
“ระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ” หรือ “Carbon Polymerizing System” ผลงานทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการแข่งขัน James Dyson Award ในปีนี้ คว้าเงินรางวัล 224,000 บาท ขณะที่รองชนะเลิศ ได้แก่ NANO HEMP นวัตกรรมเปลี่ยนขยะกัญชงให้กลายเป็นท่อนาโนคาร์บอน และ PlantPoxy สารกำจัดแมลงชีวภาพผลิตจากเชื้อราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 ทีมจะเป็นตัวแทนประแทนไทยเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป
ผลงานชนะเลิศ “Carbon Polymerizing System” จะดักจับโมเลกุลคาร์บอนเพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า PHB เหมาะสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ทั่วไปจนถึงวัสดุทางการแพทย์ ระบบจะใช้แบคทีเรียเปลี่ยนคาร์บอนที่ได้จากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำเสียจากน้ำผลไม้ ชีวมวลผักและผลไม้ หรือแม้แต่ก๊าซเรือนกระจก ให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและปลอดภัย ใช้ระยะเวลาย่อยสลายในดินเพียง 2 สัปดาห์ ต่างจากพลาสติกชนิดอื่นที่อาจใช้เวลาย่อยสลายในป่านานถึง 80 ปี ระบบจะทำงานอัตโนมัติโดยใช้ระบบควบคุมแบบเรียลไทม์ ช่วยลดของเสียและมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด
ผลงาน Carbon Polymerizing System
สมาชิกในทีมประกอบด้วย สุเมธ กล่อมจิตเจริญ สหรัถ ชวฤาชัย และกัลยพัชร์ พลอยประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมองเห็นถึงปริมาณคาร์บอนจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศผ่านกิจกรรมของมนุษย์
สหรัถ ชวฤาชัย กล่าวว่า “รางวัลนี้จะช่วยให้นวัตกรรมนี้เป็นที่รู้จักในตลาดและสร้างประโยชน์ให้โลกมากยิ่งขึ้น อยากให้นวัตกรรมนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ หันมาสนใจใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในโลกของเราต่อไป”
ด้าน ภูวดล เสงี่ยมมีเจริญ กล่าวถึงผลงาน “NANO HEMP” ว่า ตนเองมีเป้าหมายการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมกัญชง และต้นทุนการผลิตที่สูงของท่อนาโนคาร์บอน วัสดุที่ใช้ในแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้าง NANO HEMP ซึ่งจะใช้ขยะจากกัญชงโดยเฉพาะเศษแกนกัญชงที่มีคาร์บอนสูง เพื่อสร้างวิธีการที่ยั่งยืนและประหยัดต้นทุนในการสังเคราะห์ท่อนาโนคาร์บอน ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านการกักเก็บพลังงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์และคอมโพสิตขั้นสูง นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ทีมสร้างสรรค์ผลงาน PlantPoxy
ขณะที่ สุทธวิชญ์ บุตรนนท์ จิตาภา ม่วงศิริ ชลธกาญ ผลมะขาม และ ฌานิทธิ์ พิทักษ์วงษ์ คิดค้น “PlantPoxy” สารกำจัดแมลงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำจากเชื้อราที่สลายตัวตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตราย ช่วยปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ดิน น้ำ และอากาศสะอาดขึ้น
สิ่งประดิษฐ์ทั้งสามชิ้นจะเข้าร่วมแข่งขันในเวที James Dyson Award ระดับนานาชาติ ชิงเงินรางวัลจำนวน 1,345,000 บาท ประกาศผลผลงานที่เข้ารอบ 20 อันดับแรกในวันที่ 16 ต.ค. และประกาศรางวัลผู้ชนะระดับนานาชาติในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ตัดสินโดย James Dyson