ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เช็กอาการ “ปวดท้อง” แบบไหนต้องระวัง ควรรีบไปพบแพทย์

อาการ “ปวดท้อง” มาจากหลายสาเหตุ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการปวดรวมถึงบริเวณที่ปวดที่แตกต่างกันออกไปด้วย อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวังบ้าง

อาการปวดท้องมีกี่แบบ

พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่าในทางการแพทย์ จะแบ่งลักษณะการปวดท้องออกเป็น 3 แบบ

แบบที่ 1 คือปวดจากอวัยวะภายใน ซึ่งจะเป็นการปวดแบบปวดลึก ปวดบิด ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน

แบบที่ 2 คือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะนั้นๆ สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน

แบบที่ 3 คือการปวดร้าว ซึ่งเป็นการปวดที่ร้าวหรือแผ่ไปยังบริเวณอื่นๆ ตามการลำเลียงของเส้นประสาท เช่น ปวดท้องใต้ลิ้นปี่แล้วปวดร้าวไปที่บริเวณหลัง คิดถึงโรคตับอ่อนอักเสบ หรือ ปวดท้องแล้วร้าวลงขาหนีบ คิดถึงนิ่วในท่อไต เป็นต้น

อาการปวดท้องบริเวณไหน หมายถึงอะไร

สำหรับอาการปวดท้องที่คนไข้สามารถสังเกตด้วยตนเองได้คือแบบที่ 2 หรือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งช่องท้องของคนไข้เป็น 9 โซน ได้แก่

โซน 1: ช่องท้องด้านขวาบน

จะเป็นอวัยวะ ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคฝีหนองในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ

โซน 2: กลางลำตัวบริเวณลิ้นปี่

เป็นบริเวณของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน อาการปวดอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือภาวะตับอ่อนอักเสบ

โซน 3: ช่องท้องด้านซ้ายบน

เป็นบริเวณของม้าม (อาจเกิดจากการขาดเลือดของม้าม ซึ่งเจอได้น้อยในเวชปฏิบัติ)

โซน 4 และ 6: บริเวณเอว

หมายถึงด้านข้างสะดือซ้ายและขวา อวัยวะได้แก่ ไต ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากกรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไต ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไปจนถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่

โซน 5: ตรงกลางท้องรอบสะดือ

อวัยวะคือลำไส้เล็ก ที่อาจเกิดจากลำไส้เล็กอักเสบหรือไส้ติ่งอักเสบในระยะเริ่มต้น

โซน 7 และ 9: ท้องน้อยด้านซ้ายและขวา

เป็นบริเวณเดียวกับไส้ติ่งซึ่งช่วงแรกจะมีอาการปวดรอบสะดือ หลังจากนั้น 6-8 ชั่วโมง จะมีการย้ายตำแหน่งมาปวดบริเวณขวาล่างเมื่อการอักเสบลุกลามมากขึ้น ส่วนอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนี้ ได้แก่ ปีกมดลูก รังไข่ และลำไส้ใหญ่ทั้งสองด้าน โดยอาจเกิดปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กระเปาะของลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ซึ่งมักพบด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา

โซน 8: บริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าว

เป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ซึ่งอาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งต้องซักประวัติตกขาว ประจำเดือนเพิ่มเติม และแนะนำปรึกษาสูตินรีแพทย์

อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องระวัง

หากมีอาการปวดท้องเหล่านี้ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

มีอาการปวดท้องรุนแรงมากและต่อเนื่องเกิน 6 ชม.

มีไข้และอาเจียนรุนแรง

มีเลือดออกที่ทางเดินอาหาร

ปวดร้าวทะลุหลัง

ปวดเกร็งทั้งท้อง

“อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคที่ต้องมีการผ่าตัดเร่งด่วน หรือได้รับการรักษาทันที เช่น กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น หรืออาการปวดท้องน้อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการแท้งบุตร หรือท้องนอกมดลูกก็ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเช่นกัน” พญ.สาวินี จิริยะสิน กล่าวสรุป

ดังนั้นหากมีอาการปวดท้องจึงอย่าชะล่าใจ เพราะการปวดท้องไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคกระเพาะเสมอไป แต่อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย จึงควรสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิดว่ามีการปวดรูปแบบใด ปวดบริเวณไหน และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ


ทีมวิจัยดาราศาสตร์เผย จับสัญญาณวิทยุในอวกาศห่างจากโลก 9,000 ล้านปีแสง

สัญญาณวิทยุจากกาแล็กซีนอกโลก ที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 9,000 ล้านปีแสง อาจช่วยไขความลับเกี่ยวกับการก่อตัวของจักรวาล สัปดาห์ที่แล้ว องค์กร Royal Astronomical Society ได้ประกาศผลงานของทีมนักวิจัยจากแคนาดาและอินเดีย ที่สามารถจับสัญญาณคลื่นวิทยุได้จากกาแล็กซีที่มีชื่อว่า SDSSJ0826+5630 โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์ของอินเดีย

คลื่นวิทยุที่ทีมงานรับได้ในครั้งนี้ อาจมีส่วนช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถย้อนกลับไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจการก่อกำเนิดของจักรวาลของเราได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้รับการประเมินว่าน่าจะมีอายุประมาณ 13,700 ล้านปี

อาร์นับ จักราบรตี นักจักรวาลวิทยาและผู้ร่วมเขียนรายงานกรณีศึกษาเกี่ยวกับการตรวจจับสัญญาณวิทยุดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบแล้ว ก็เหมือนกับเราได้ย้อนกลับไปยังช่วงเวลา 8,800 ล้านปีก่อนหน้านี้ ...

สัญญาณวิทยุดังกล่าวไม่ได้ส่งมาโดยมนุษย์ต่างดาวจากนอกโลก แต่มาจากกาแล็กซีที่กำลังให้กำเนิดดาวฤกษ์ ส่งคลื่นพลังงานออกมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จักรวาลมีอายุเพียง 4,900 ล้านปี และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจจับสัญญาณวิทยุประเภทนี้ได้จากสถานที่ที่อยู่ไกลโพ้น

จักราบรตีกล่าวว่า ปกติแล้ว กาแล็กซีหนึ่งจะปล่อยสัญญาณวิทยุที่แตกต่างกันออกไปหลายประเภท ปัจจุบันนี้ เราสามารถรับสัญญาณประเภทเดียวกับที่ตรวจจับได้ในครั้งนี้จากกาแล็กซีที่อยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น ซึ่งทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้เฉพาะกาแล็กซีที่อยู่ใกล้โลก...

การตรวจจับคลื่นสัญญาณครั้งนี้ มีความสำคัญเพราะความถี่ของคลื่นนั้นเป็นความถี่เฉพาะที่เรียกว่า ‘21cm line’ ซึ่งเป็นคลื่นจากการปลดปล่อยของอะตอมไฮโดรเจน มีคุณสมบัติเป็นคลื่นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะแผ่ขยายออกมาในอวกาศ เป็นสิ่งที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดตำแหน่งของกาแล็กซีต่าง ๆ ลงบนแผนที่ได้

ทีมนักวิจัยได้อาศัยคลื่นสัญญาณที่ตรวจจับได้ในครั้งนี้ มาคำนวณหามวลอะตอมของกาแล็กซี ซึ่งพบว่ากาแล็กซีดังกล่าวมีมวลใหญ่กว่ามวลของกลุ่มดาวฤกษ์ ที่เราสามารถมองเห็นจากบนโลกได้ถึง 2 เท่า

แหล่งข่าว : dailymail.co.uk... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/1921426/


บนดาวอังคาร ก็มีวันปีใหม่กับเขาเหมือนกัน

วันที่ 21 มกราคม เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์(สดร.) โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.ได้เขียนเรื่อง ปีใหม่ บนดาวอังคาร มีเนื้อหาต่อไปนี้

ปีใหม่ก็แล้ว ตรุษจีนก็กำลังจะมา แล้วถ้าเราไปอยู่บนดาวอังคารล่ะ จะได้ฉลองปีใหม่บ้างไหม?

แม้ว่าโลกกับดาวอังคารจะถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันภายในระบบสุริยะแห่งนี้

ทำให้มีอายุเท่ากันที่ราว 4,500 ล้านปี โดยการนับวันและเวลาบนโลกนั้นมีการกำหนดขึ้นตามแต่ละวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั่วโลก และมีการกำหนดปฏิทินสากลที่ใช้อ้างอิงการนับเวลาสอดคล้องกันทั่วโลกนั่นคือ “ปฏิทินเกรกอเรียน”

แต่สำหรับดาวอังคารที่ยังไม่มีอารยธรรมใด ๆ ของมนุษย์เกิดขึ้นบนนั้น และนักวิทยาศาสตร์ต้องการกำหนดระบบเวลาบนดาวอังคารขึ้น เพื่อใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงบนดาวอังคาร เช่น สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เทียบกับเวลาบนดาวอังคารจริง ๆ จึงเป็นที่มาของการกำหนด “ปีบนดาวอังคาร”

ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เป็นวันเริ่มต้นวันแรกของ “ปีที่ 37” บนดาวอังคาร หรือก็คือวันขึ้นปีใหม่บนดาวอังคารนั่นเอง

การนับ “ปีที่ 1” บนดาวอังคาร จะเริ่มนับจากช่วงวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox : ช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องลงมาตรงกับเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์ หลังจากนี้ ซีกเหนือของดาวเคราะห์จะได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าซีกใต้) ตรงกับวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1955 ซึ่งครึ่งหลังของ “ปีที่ 1” บนดาวอังคาร ได้เกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่บนดาวอังคารที่เรียกว่า “The great dust storm of 1956”

ดาวอังคารหมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 24 ชั่วโมง 37 นาที นั่นคือระยะเวลา 1 วันของดาวอังคาร หรือ 1 Sol และดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบด้วยคาบ 687 วันของโลก หรือคิดเป็น 668 Sol ซึ่งนั่นคือระยะเวลา 1 ปีบนดาวอังคาร ทำให้วันขึ้นปีใหม่บนดาวอังคารนั้น จะเกิดขึ้นทุก ๆ 687 วันตามปฏิทินบนโลกนั่นเอง โดยปีใหม่ครั้งถัดไปจะเป็น “ปีที่ 38” จะตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024

ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงกำหนด “เลขปีบนดาวอังคาร”?

Todd Clancy นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ (Space Science Institute) เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่อธิบายถึงระบบระบุเลขปีบนดาวอังคาร ในรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2000 ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบนดาวอังคาร โดยเขาตั้งระบบเลขปีดาวอังคารเพื่อนับจำนวนปีของดาวเคราะห์ดวงนี้บนวงโคจร และช่วยเป็นตัวเปรียบเทียบข้อมูลในเวลาต่าง ๆ

หลังจากที่งานวิจัยของ Clancy ถูกเผยแพร่ออกไป นักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็ได้เริ่มนำระบบเลขปีดังกล่าวมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาภูมิอากาศบนดาวอังคาร ซึ่ง Clancy และนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมวิจัยได้อธิบายไว้ว่า การเริ่มนับปีบนดาวอังคารจากวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1955 เป็นการเลือกตามใจทางคณะผู้วิจัย แต่ต่อมาได้เกิด “The great dust storm of 1956” ขึ้นภายใน “ปีที่ 1” ของดาวอังคารพอดี ทำให้ระบบการนับปีบนดาวอังคารของ Clancy ใช้ได้สะดวกในวงการนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของดาวอังคาร

การปรับปรุง “ระบบปีบนดาวอังคาร”

ในเวลาต่อมา “ระบบปีบนดาวอังคาร” เริ่มปรับให้รวม “ปีที่ 0 บนดาวอังคาร” (ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1953) และปีบนดาวอังคารจะนับเป็น “จำนวนบวก” (หลังปี 0) และ “จำนวนลบ” (ก่อนปี 0) ทำนองเดียวกับ A.D. (คริสต์ศักราช) และ B.C. (ก่อนคริสตกาล) ในปฏิทินเกรกอเรียน

ปีบนดาวอังคาร (ตามระบบปีดาวอังคารของ Clancy) และวันที่ของ “วันปีใหม่ดาวอังคาร” แต่ละครั้ง

– ปีที่ 36 : 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021

– ปีที่ 37 : 26 ธันวาคม ค.ศ.2022

– ปีที่ 38 : 12 พฤศจิกายน ค.ศ.2024

– ปีที่ 39 : 30 กันยายน ค.ศ.2026

– ปีที่ 40 : 17 สิงหาคม ค.ศ.2028


จีนจัดเต็ม! เตรียมปล่อย “ยานอวกาศ” กว่า 200 ลำในปีนี้-เร่งยกระดับภารกิจอวกาศ

จีนจัดเต็ม! – ซินหัว รายงานว่า บริษัท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งประเทศจีน (ซีเอเอสเอส) เปิดเผยแผนการปล่อยยานอวกาศมากกว่า 200 ลำ ด้วยภารกิจอวกาศกว่า 60 ครั้ง ในปี 2566

แผนสำหรับกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศของจีนในปีนี้ ประกอบด้วยภารกิจเที่ยวบินของยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว 6 (Tianzhou-6) เสินโจว 16 (Shenzhou-16) และเสินโจว 17 (Shenzhou-17) เพื่อปรับปรุงศักยภาพของจีนในการสำรวจห้วงอวกาศ

นอกจากนี้ระบบดาวเทียมนำทาง เป่ยโต่ว 3 (BeiDou-3) จะถูกนำมาใช้ติดตามการปล่อยดาวเทียมสำรอง 3 ดวง และจะมีการเร่งก่อสร้างระบบดาวเทียมสำรวจระยะไกลเชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ในปีนี้ด้วย ซึ่งบริษัทให้คำมั่นว่าจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถการบรรทุกจรวดส่วนเกิน และมอบโอกาสการปล่อยจรวดแก่ผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ จีนเตรียมผลักดันการสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์ระยะที่ 4 อย่างรอบด้านในปี 2566 และพัฒนายานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 (Chang’e-7) ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น 2 (Tianwen-2) รวมถึงดาวเทียมตรวจจับคลื่นไมโครเวฟในวงโคจรค้างฟ้า

ส่วนภารกิจของจรวดขนส่ง ลองมาร์ช 6 ซี (Long March-6C) จะปฏิบัติการขึ้นบินเที่ยวแรกในปีนี้ พร้อมคาดว่าจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ชจะรับหน้าที่ขนส่งยานอวกาศรวมกว่า 500 ครั้ง


นักดาราศาสตร์นานาชาติไขปริศนาหลุมดำสร้างพลังงานให้กับตัวเอง

หลุมดำบางแห่งมีขนาดมหึมาที่เรียกกันว่า หลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Black Holes หรือ SMBHs) มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราหลายล้านเท่า แถมยังปล่อยพลังงานขนาดมหาศาลออกมา ทว่าวิธีที่หลุมดำประเภทนี้ก่อตัวขึ้นหรือได้รับเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะสร้างพลังงานให้ตัวเองนั้น ยังคงเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์พยายามไขคำตอบมานาน

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ในอังกฤษ เผยถึงการใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์แองโกล-ออสเตรเลียน ขนาด 4 เมตร ที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ในออสเตรเลีย เพื่อศึกษาการเคลื่อนหมุนของก๊าซและดาวฤกษ์ในกาแล็กซีหลายแห่ง ทีมระบุว่า มีสิ่งที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของก๊าซ หรืออีกนัยหนึ่งคือมีก๊าซหมุนไปในทิศทางที่แตกต่างจากดวงดาวในกาแล็กซี ซึ่งส่งสัญญาณถึงปฏิสัมพันธ์ของกาแล็กซีในอดีต จากนั้นทีมก็พบว่า กาแล็กซีที่มีก๊าซไม่ตรงแนว มีสัดส่วนของหลุมดำมวลยวดยิ่งคุกรุ่นอยู่มากกว่า

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างก๊าซที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และกิจกรรมของหลุมดำมวลยวดยิ่งบ่งชี้ว่า ก๊าซถูกถ่ายโอนจากกาแล็กซี 2 แห่งมาบรรจบกัน ก๊าซเดินทางคดเคี้ยวเป็นระยะทางไกลผ่านอวกาศ และมาจำนนต่อแรงโน้มถ่วงมหาศาลของหลุมดำมวลยวดยิ่ง โดยถูกดึงเข้ามาและกลืนเข้าไปจัดเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่สำคัญ และนับเป็นหลักฐานโดยตรง สำหรับสิ่งที่เข้าใจได้ยาก.

Credit : NASA/ESA/Hubble Heritage Team