ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



คนรักสัตว์เห็นแล้วต้องซึ้ง! จัดงานศพสุนัขเหมือนคน สวดพระอภิธรรมแล้วเผา

น้องแตงกวา สุนัขแสนรักของผู้ช่วย เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (พระอารามหลวง)ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี .ตายในวัย 16 ปี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฯจัดพิธีศพเหมือนคนตั้งสวดพระอภิธรรม 1 คืนแล้วเผา ในเมรุสัตว์เลี้ยงแสนรักที่วัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ในเมรุสัตว์เลี้ยงแสนรักที่วัดได้สร้างไว้บริการเผาสัตว์เลี้ยงให้กับประชาชน เผยเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ผูกพันเหมือนพ่อกับลูก แสนรู้ เป็นชีวิตจิตใจ จึงจัดพิธีศพให้ ซึ่งพระและชาวบ้าน แม่ค้าในตลาดสดเทศบาล ที่รู้จักมักคุ้นน้องแตงกวาร่วมเป็นเจ้าภาพกันจำนวนมาก

2 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. ที่ตึกรัตนวิโรจน์(กุฏิพระครูสิริสิกขวิธาน) วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี พระครูสิริสิกขวิธาน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีได้จัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพให้กับน้องแกงกวาสุนัขที่เลี้ยงเอาไว้ ซึ่งถือเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของผู้ช่วยเจ้าอาวาสฯ สำหรับน้องแตงกวา สุนัขเพศผู้วัย 16 ปี ที่ป่วยและเสียชีวิตลงในช่วงบ่ายของวันที่ วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม ที่กุฏิผู้ช่วยเจ้าอาวาส โดยผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ได้ดำเนินการจัดงานไว้อาลัยน้องแตงกวา สวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 1 คืนและมีกำหนดการเผาวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 ช่วงเช้า 7:00 น ถวายภัตตาหารเช้า และช่วงเย็น เวลา 17.00 น. พิธีฌาปนกิจ ณ ฌาปนสถานสุนัขวัดตองปุตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ซึ่งการจัดพิธีศพให้กับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขที่มีการตั้งสวดศพเป็นเวลา 1 คืนนั้น ใน จ.ลพบุรีแทบไม่มีใครทำ แต่สำหรับที่วัดตองปุ นั้นอาจจะมีบ้างคือการนิมนต์พระสวดบังสุกุลให้กับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่เจ้าของมีความรักและผูกพัน และนำมาทำพิธีเผาสัตว์เลี้ยงของตนเองที่เมรุสัตว์เลี้ยงแสนรักของวัดตองปุ โดยพิธีกรรมการสวดศพเจ้าแตงกวา สุนัขคู่ใจของผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง คืนแรกนี้ ได้จัดพิธีคล้ายกับงานสวดพระอภิธรรมศพของคน นิมนต์พระ 4 รูปทำการสวด และคืนแรกโดยร่างของน้องแตงกวา ได้ใส่ไว้ในโลงศพของคนและใส่ไว้ในโรงเย็น ข้างๆ โลง มีอาหารของน้องแตงกวาที่ชอบใส่ไปในโลงด้วย พร้อมตั้งรูปข้าวโลงของน้องด้วย

ขณะที่พิธีกรรมนั้นจะทำคล้ายกับคน เพียงแต่ว่าจะไม่มีการจุดธูปไหว้ที่ศพสุนัข จะจุดธูปและเทียนไว้ แต่ไม่มีการไหว้ ขณะที่การจุดธูปเทียนไหว้พระพุทธ และพระธรรมนั้น ได้ดำเนินพิธีกรรมเหมือนกับศพคน หลังจากพระ 4 รูปสวดเสร็จแล้ว เจ้าภาพได้ถวายผ้าบังสุกุล ปัจจัย และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต โดยคืนนี้มีผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับน้องแตงกวา มาร่วมพิธีประมาณ 20 คน

พระครูสิริสิกขวิธานผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีเปิดเผยว่า เลี้ยงน้องแตงกวามาตั้งแต่ตัวเท่าฝ่ามือ และมีความรักความผูกพันเหมือนพ่อกับลูก น้องแตงกวานิสัยดีมาก เวลาขึ้นสวด ในวันพระก็จะเดินตามขึ้นไปบนศาลาการเปรียญและนิสัยแปลกที่ชอบกินอาหาร ทุกชนิด เป็นชีวิตจิตใจ ช่วงเดือนนี้น้องแตงกวาป่วย ได้พาไปโรงพยาบาลสัตว์แต่ก็เหมือนคนแก่อายุมาก สุนัขอายุ 16 ปี ก็คล้ายกับคนอายุ 100 ปี กระทั่งเสียชีวิตในวันนี้ จึงอยากจัดงานศพไว้อาลัยให้และมีกำหนดเผาที่เมรุสัตว์เลี้ยงแสนรัก เวลา 17.00 น. พิธีฌาปนกิจ ณ ฌาปนสถานสุนัขวัดตองปุตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เพื่อรำลึกถึงการจากไป

ส่วนบรรดาญาติๆ ที่มาร่วมงานศพของน้องหมา ต่างบอกว่า รู้สึกดีมากและยินดี เพราะหนึ่งชีวิตก็มีจิตใจ เราได้ทำตรงนี้ ก็เหมือนชดใช้ล้างกรรม ซึ่งญาติทุกคนก็คิดว่า น้องหมา (น้องแตงกวา) เป็นลูกของผู้ช่วยเจ้าอาวาสฯ และไม่ได้มองว่าการจัดงานศพให้น้องหมาเป็นสิ่งที่แปลก แต่กลับมองเป็นเรื่องของทางธรรม และทางสัจธรรมมากกว่า


จากแม่ค้าขายพลาสติก เปลี่ยนอาชีพมาขายผัดไทยห่อละ 20 บ. ฟันกำไรเดือนละแสน

วันที่ 2 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์รายงานว่า ที่ตลาดนัด อบต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ สองสามีภรรยาช่วยกันขายผัดไทย และ ผัดมาม่า ห่อละ 20 บาท 3 ห่อ 50 บาทโดยอาชีพเดิมนั้น สองสามีภรรยาขายพลาสติกตามตลาดนัดมานาน นึกอยากลองเปลี่ยนอาชีพมาขายผัดไทย เพราะต้นทุนถูกกว่า จึงคิดค้นสูตรปรุงน้ำซอสสำหรับผัดไทยด้วยตัวเองลองผิดลองถูก จนได้สูตรที่พอใจจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาขายผัดไทยแทนการขายพลาสติก

นางอนง ตรีสอน อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 205 ม.7 บ้านโชคชัย ต.บ้านชบ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ตนและสามีช่วยกันคิดสูตรน้ำซอสผัดไทย โดยให้สามี นายบัวผัน อันชัยศรี เป็นผู้ผัด ส่วนตนนั้นทำหน้าที่ห่อ และเป็นคนขาย ในแต่ละวันตนและสามีจะไม่หยุดเวียนขายผัดไทยตามตลาดนัด มากว่า10 ปี ในราคาถูกสามารถซื้อได้ในทุกวัย ขายห่อละ 10 บาท แม้วัตุดิบจะแพงขึ้น ตนก็จะไม่เปลี่ยนจะขายราคานี้เหมือนเดิม

"ในแต่ละวันจะใช้เส้น ประมาณ 10-20 กิโลกรัม ผัด 10-20 กระทะต่อวัน ขายได้วันละ 5,000-6,000 บาท กำไรอยู่ที่วันละ 2,000-3,000 บาท จะผัดไปเรื่อยๆ ผัดครั้งละ 1 กิโลกรัม จะได้ 12 ห่อ ขายในราคา20 บาท ช่วงไหนมะนาวแพง ก็จะไม่ให้มะนาว เนื่องจากหามะนาวไม่ได้ หรืออาจให้มะนาวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลูกค้าแวะมาอุดหนุนเรื่อยๆขายหมดทุกวัน ด้านสามีหลังจากผัดเสร็จจะเช็ดกระทะ ให้สะอาดทุกครั้ง ตนจะเน้นความสะอาดลูกค้าจะได้มั่นใจ

ทั้งนี้ ตนและสามีไม่เคยหยุดขายทุกๆวันจะขายตามตลาดนัด

-วันจันทร์ และพฤหัสบดี ขายตลาดนัด อบต.ตาตุม

-วันอังคาร ขายตลาดนัดหนองพู ต.พระแก้ว

-วันพุธ ขายตลาดนัดที่ .อ.บัวเชด

-วันศุกร์ ขายตลาดนัด อ.ปราสาท

-วันเสาร์ ขายที่ตลาด อ.กาบเชิง

-วันอาทิตย์ ขายที่วัดไพรพัฒนา หลวงปู่สรวง

ตนและสามีไม่เคยหยุดสักวัน นอกจากวันไหนติดธุระถึงจะหยุดสักที ตนและสามีคิดถูกที่ลองเปลี่ยนอาชีพจากขายพลาสติก มาขายผัดไทย ขายหมดทุกวัน และได้กำไรงาม ตกกำไรวันละ 2,000-3,000 บ. หรือมากกว่านั้น ตามแต่ละตลาด


โรคสมาธิสั้น… เป็นได้ก็รักษาได้ โตขึ้นจะหายไหม?

อัตราความชุกของโรคสมาธิสั้นทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-12 ซึ่งเท่าๆ กับประเทศไทย นั่นหมายความว่า ถ้าในห้องเรียนหนึ่งห้องมีเด็กอยู่ 40 คน แต่ละห้องจะมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอย่างน้อย 2-4 คน และพบอีกว่าจะเป็นในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งเด็กผู้ชายมักจะมีอาการซนอยู่ไม่นิ่ง และจะสังเกตเห็นอาการได้ชัดเจนตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.2 เพราะเด็กมักจะป่วนเพื่อนในห้องเรียน อาจรบกวนการสอนของครู แต่เด็กผู้หญิงมักจะเป็นอาการชนิดเหม่อ ใจลอย ขี้หลงขี้ลืม ทำงานช้าทำงานไม่เสร็จ

แพทย์หญิงปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH -Bangkok Mental Health Hospital ให้ข้อมูลว่า พัฒนาการของเจ้าตัวเล็กลูกของเราบางครั้งอาจบ่งบอกความผิดปกติได้ ฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตและอย่าปล่อยผ่านเมื่อเกิดความสงสัย โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น (ADHD - Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ดังนั้นหากรู้เท่าทันและรักษาได้ทันท่วงทีย่อมช่วยให้อาการของลูกดีขึ้นและเติบโตได้อย่างมีความสุข

“โรคสมาธิสั้น” จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการของสมอง(neurodevelopmental disorders) โดยที่เด็กจะมีความบกพร่องของสมองมาตั้งแต่เกิด ซึ่งความบกพร่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา แต่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตัวเอง ทำให้เด็กแสดงออกด้านพฤติกรรม 3 ด้าน หลักๆ ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) หุนหันพลันแล่น วู่วาม ใจร้อน (impulsivity) และ ขาดสมาธิ (inattention)

1. พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ยุกยิก ต้องหาอะไรทำ เหมือนเด็กที่ติดเครื่องตลอดเวลา พูดมาก พูดเก่ง ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักกันในชื่อว่า “เด็กไฮเปอร์” 2.พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ พูดโพล่ง พูดแทรก รอคอยอะไรไม่ค่อยได้

3. พฤติกรรมขาดสมาธิ ว่อกแว่กง่าย เหม่อลอยจดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ไม่ชอบทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ หรือความพยายาม โดยเด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 3 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้

พ่อแม่มักวิตกกังวลกลัวว่าลูกที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ จะเจอกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากมาย อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป แม้ว่าโรคสมาธิสั้นจัดเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง แต่เด็กที่มีอาการตั้งต้นไม่มาก ได้รับการวินิจฉัยและเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อแม่ คุณครู ช่วยกันดูแลช่วยเหลือฝึกทักษะต่างๆ เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีโอกาสดีขึ้น และเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะควบคุมสมาธิของตัวเองได้ และใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป

การรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง พ่อแม่ และคุณครู เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีสภาพจิตใจที่ดี ไม่เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจ หรือมีปมตั้งแต่เด็ก และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ การรักษามีทั้งการรักษาด้วยยา การปรับพฤติกรรม การปรับวิธีการเลี้ยงดู และการดูแลช่วยเหลือในห้องเรียน หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น ขอให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ เด็กที่มีอาการโรคสมาธิสั้นที่ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสที่จะหายขาดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อย่ากังวลใจ เด็กสมาธิสั้นอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะหลงเหลืออาการสมาธิสั้นอยู่บ้าง ก็อาจจะได้รับประทานยาเฉพาะเวลาที่มีความจำเป็นจริงๆ เช่น ใกล้สอบ ต้องส่งรายงานสำคัญให้หัวหน้า ต้องเข้าประชุม หรือนำเสนองานสำคัญ เป็นต้น พวกเขาก็สามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม


เห็ดพิษ..หน้าฝน ความเสี่ยงถึงตาย

“ภาวะตับวายเฉียบพลันจากเห็ดพิษ” เป็นปัญหา ที่พบได้ในหลายภูมิภาค เช่น ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย มักพบอุบัติการณ์สูงขึ้นในช่วง “ฤดูฝน” เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเจริญเติบโตของเห็ดในบริเวณต่างๆของประเทศ

“พิษ” จาก “เห็ด” บางชนิด เช่น เห็ดระโงกหิน ระงาก หรือตายซาก ทำให้เกิดความรุนแรงของอาการในหลายระดับ ตั้งแต่รุนแรงเพียงเล็กน้อยภาวะตับวายเฉียบพลันจนถึงอาการรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิต ที่สำคัญ “ผู้สูงอายุ” และ “เด็ก” มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง เช่น ภาวะตับวายเฉียบพลันได้มากกว่าวัยอื่นๆ

หากกินเห็ดพิษแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการในช่วงแรกที่ไม่จำเพาะ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้องได้ภายใน 12 ชั่วโมงหลังกิน และมีอาการดังกล่าวนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่มักไม่เกิน 24 ชั่วโมง

บางราย พบภาวะขาดน้ำและเกลือแร่เสียสมดุลได้ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นช่วงสั้นๆ ภายใน 1-3 วัน และผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระยะท้าย ทำให้มีอาการของภาวะตับวายเฉียบพลัน

เช่น ตัวเหลือง ซึม ชัก ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไตทำงานผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง เหงื่อออกมากกว่าปกติ น้ำลายและน้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะตับวายเฉียบพลันจากเห็ดพิษอาศัยประวัติเป็นสำคัญ โดยควรจำแนกลักษณะของเห็ดที่กินหรือให้นำเห็ดที่เหลือจากการปรุงอาหารมาให้ดู ประวัติอาการของระบบทางเดินอาหาร และควรสังเกตอาการแสดงของภาวะตับวายเฉียบพลันในระยะท้ายของโรค ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง และตับโต

ข้างต้นเหล่านี้เป็นอาการที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ ซึ่งหากเพิ่งกิน “เห็ดพิษ” มา แพทย์อาจทำการล้างพิษในกระเพาะอาหาร

หากผู้ป่วยกินเห็ดและเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดจากพิษของเห็ด ไม่ควรรอให้อาการดีขึ้นเอง ควรรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมักได้รับ การรักษาไว้ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ

และ...ใช้ยาประกอบการรักษาภาวะพิษจากเห็ด หากมีอาการรุนแรงจนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา การฟอกเลือด รวมไปถึงการปลูกถ่ายตับ

ดังนั้น “การป้องกันการกินเห็ดพิษ” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ไม่ควรนำเห็ดที่ไม่ทราบชนิดแน่ชัดมาปรุงอาหาร อีกทั้งเห็ดพิษข้างต้นบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่สามารถกินได้เป็นอย่างมาก ควรใช้ความระมัดระวังในการบริโภคเห็ดที่เก็บมาเอง

น่าสนใจว่าหน้าฝนนี้ “ศูนย์พิษวิทยา” สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้ป่วยรับประทานแล้วเข้าโรงพยาบาล

ส่วนใหญ่ที่ส่งตรวจในช่วงนี้ คือ “เห็ดก้อนฝุ่น” หรือ “เห็ดไข่หงส์” ซึ่งเป็นเห็ดพิษ ที่มีลักษณะคล้ายกับ “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ที่รับประทานได้ ซึ่งลักษณะเห็ดทั้งสองชนิด “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ที่นิยมรับประทานในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ เห็ดเผาะหนัง และ เห็ดเผาะฝ้าย

พบมาก ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมเห็ดทั้งสองชนิดนี้สามารถคัดแยกด้วยตาเปล่าได้ง่าย แต่ในผู้ที่ไม่ชำนาญหรือไม่ระวัง อาจเก็บเห็ดพิษที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบปนมาด้วย

ย้ำว่า ลักษณะของเห็ดเผาะหนังจะมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย ผิวเรียบมีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวปกคลุม ดอกอ่อนนุ่ม โดยทั้ง 2 ชนิดต้องไม่พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก

ส่วนเห็ดก้อนฝุ่น (เห็ดไข่หงส์) เป็นเห็ดพิษชนิดหนึ่ง ห้ามนำมารับประทาน สังเกตด้วยตาเปล่าจะพบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี

เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการมึนงง ตามัว และสภาวะหายใจลำบาก

ข้อแนะนำสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดยให้กิน “ผงถ่าน” โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารและรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาตามอาการ

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 5 ปีย้อนหลัง พบสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 90 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 371 ราย เสียชีวิต 32 ราย

ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคม-10 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกิน “เห็ดพิษ” แล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีรายงานใน 5 จังหวัด ได้แก่

จังหวัดเลย 5 เหตุการณ์ ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย, จังหวัดตาก 2 เหตุการณ์ ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย, จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เหตุการณ์ ป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย, จังหวัดยโสธร 1 เหตุการณ์ ป่วย 6 ราย ไม่เสียชีวิต และจังหวัดชัยภูมิ 1 เหตุการณ์ ป่วย 5 ราย ไม่เสียชีวิต

ซึ่งแหล่งที่มาของเห็ดได้มาจากป่าเขาหรือสวนแถวบ้าน หรือพื้นที่เคยเก็บเป็นประจำทุกปี “ผู้ป่วย” ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 36-60 ปี 23 ราย คิดเป็น 64% รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย คิดเป็น 19% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18-35 ปี 6 ราย คิดเป็น 17%

สำหรับ “ผู้เสียชีวิต” 4 ราย อยู่ในช่วงอายุ 19–45 ปี เห็ดที่พบเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ 3 ราย และอีก 1 ราย ไม่ทราบชนิดเห็ด

การประเมินปัจจัยเสี่ยง พบว่าผู้เสียชีวิต 3 รายไม่มีความรู้ในการแยกชนิดเห็ด และผู้เสียชีวิต 1 รายมีอาชีพเก็บเห็ดป่า ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรือนานถึง หลายชั่วโมง

ตอกย้ำ ตัวอย่างเห็ดพิษที่พบบ่อยในบ้านเรา อาทิ กลุ่มเห็ดระโงกพิษ อย่างเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก (เห็ดไข่ตายซาก) มีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือเห็ดไข่ห่านที่กินได้

สังเกตเบื้องต้นจะพบว่าเห็ดระโงกหินมีเกล็ดขาวขนาดเล็กฝุ่นผงสีขาวปกคลุมบนหมวกดอก และก้านกลวง ขณะที่เห็ดระโงกขาวหมวกเรียบมัน กลางหมวกดอกอมเหลืองเล็กน้อยและก้านตันเนื้อแน่น แต่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบาน นิยมเก็บช่วงดอกเห็ดตูมคล้ายไข่กลมรี จึงแยกแยะยาก

อีกชนิดคือเห็ดถ่านครีบเทียน มักสับสนกับเห็ดถ่านและเห็ดนกเอี้ยง โดยเห็ดถ่านครีบเทียนมีสารพิษกลุ่มมัสคาริน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันโลหิตสูง ปากชา มีอาการขาดน้ำ หัวใจล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิต และเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่

กรณี “เห็ดถ่านเลือด” หากมีรอยโดนสัมผัสหรือโดนใบมีด จะมีสีแดงติดบริเวณเนื้อเห็ด หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดสภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งเกิดอาการตับ ไตวายและเสียชีวิต

สุดท้ายคือ “เห็ดระโงกพิษสีน้ำตาล” ลักษณะคล้ายกับ “เห็ดระโงกยูคา” จนไม่สามารถจำแนกด้วยตาเปล่า มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและเป็นชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย

บริโภคเห็ดหน้าฝนจำไว้ให้ขึ้นใจ “เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บไม่กิน”.


เปลี่ยน ‘ขยะพลาสติก’ ให้เป็น ‘เชื้อเพลิง’ เผาปูนซีเมนต์ เพราะแค่รีไซเคิลพลาสติกอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

‘ขยะพลาสติก’ ถูกทิ้งและกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลที่ยากจะจัดการ

430 ล้านตันคือปริมาณขยะพลาสติกที่ทั้งโลกผลิตขึ้นในทุกๆ ปี นั่นเท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) จำนวน 1,178 อาคารรวมกัน และมีขยะพลาสติกประมาณ 13 ล้านตัน รั่วไหลสู่ทะเลและมหาสมุทรทุกปี ซึ่งหากไม่มีทางแก้ไข คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นถึงอีก 3 เท่าภายในปี 2040

ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลเหล่านี้ บางส่วนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ และหลายคนอาจคลายใจว่าการใช้พลาสติกอาจไม่ได้ก่อปัญหาเรื้อรังจนเกินไป ทว่าความเป็นจริงขยะพลาสติกส่วนใหญ่มักนำมารีไซเคิลไม่ได้หรือไม่คุ้มค่าพอที่จะนำไปรีไซเคิล เพราะพลาสติกมีอยู่หลากหลายชนิดที่มีองค์ประกอบและลักษณะเฉพาะของตัวเอง รวมไปถึงการใช้สารเคมีและสารแต่งสีที่ต่างกันด้วย จึงใช้วิธีการรีไซเคิลแตกต่างกันและลงทุนสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอย่างอื่น เช่น ขยะพลาสติกปนเปื้อนสารเคมี หรือขยะพลาสติกในทะเลก็มักจะมีคราบเกลือและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ จึงไม่คุ้มค่าแก่การทำความสะอาดหลายขั้นตอนเพื่อรีไซเคิล

ทางออกของขยะพลาสติกเหล่านี้คือการเผาและฝังกลบเท่านั้น แต่เป็นวิธีที่อาจไม่เกิดประโยชน์มากนัก หากเผาเฉยๆ ก็สร้างแต่มลพิษเพิ่มขึ้น หรือหากฝังกลบก็ใช้เวลานานในการย่อยสลายและต้องลงทุนสูง ขยะเหล่านี้จึงมักถูกนำไปเผาในโรงไฟฟ้าขยะเพื่อให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า แต่ขยะพลาสติกที่มากมายเกินจำนวนโรงไฟฟ้าขยะที่มีอยู่ ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลทั่วโลกต้องหาทางออก

การใช้ขยะพลาสติกแทนพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน นับเป็นไอเดียที่ดีและสามารถกำจัดขยะพลาสติกไปด้วยในตัว ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุด อย่างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ถือเป็นธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้เช่นกัน เพราะการเผาปูนต้องใช้ความร้อนสูงและใช้เชื้อเพลิงมาก ขยะพลาสติกจึงเหมาะเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างดี

เมื่อไม่นานมานี้สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) ได้ร่วมมือกับ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล ในประเทศไทย จัดทำโครงการการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน (OPTOCE) เพื่อศึกษากระบวนการนำพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) โดยนำขยะพลาสติกที่ได้จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้ถ่านหินและป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 100,000 ตันต่อปี

นอร์เวย์ใช้ขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงเผาปูนมากว่า 30 ปีแล้ว

ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน (Dr. Kare Helge Karstensen) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ  OPTOCE จากสถาบัน SINTEF เผยว่า กระบวนการนำขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงเผาปูนนี้ดำเนินการที่นอร์เวย์มา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนั้นรัฐบาลนอร์เวย์หาวิธีจัดการขยะอินทรีย์ที่เป็นอันตราย เช่น น้ำมันใช้แล้ว หรือน้ำมันหมดอายุ แต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเผาขยะด้วยอุณหภูมิสูงเท่านั้น รัฐบาลจึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1. ลงทุนการสร้างเตาเผาเพิ่ม กับ 2. นำธุรกิจซีเมนต์เข้ามามีบทบาทในการจำกัดขยะ

สุดท้ายรัฐบาลตัดสินใจว่าจะนำธุรกิจซีเมนต์เข้ามาจัดการตรงนี้ และจ้างสถาบัน SINTEF เข้ามาช่วย จนกระทั่งปัจจุบัน 30 ปีผ่านมา ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล อุตสาหกรรมซีเมนต์ และสถาบัน SINTEF ก็ยังคงดำเนินอยู่

“ตอนนั้นวิธีการเผาร่วมในโรงปูนเริ่มต้นมาจากศูนย์ แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นทั้งในนอร์เวย์และยุโรป จนกลายเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ และใช้วิธีนี้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถใช้ขยะพลาสติกแทนถ่านหินได้มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 350,000 ตันต่อปี และยังช่วยป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 650,000 ตันต่อปี”

“สำหรับประเทศไทย เท่าที่ทราบไทยก็มีแผนที่จะสร้างเตาเผาขยะให้เป็นพลังงาน ซึ่งนอร์เวย์ไม่ใช้วิธีนี้แล้ว เพราะการสร้างเตาเผาเพิ่มจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีนั้น สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วคืออุตสาหกรรมซีเมนต์ ก็สามารถนำเข้ามาใช้แทนได้โดยไม่ต้องสร้างเตาเผาเพิ่ม”

ดร.คอเร เล่าว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีโครงการศึกษานำร่อง 16 โครงการ ร่วมกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในจีน อินเดีย และเวียดนามด้วย เพราะยังเป็นกลุ่มประเทศที่จัดการขยะได้ไม่เพียงพอ เช่น การไม่แยกขยะ ทำให้ขยะรวมกัน

จากการศึกษาโดยนำขยะพลาสติกหลายชนิดมาทดสอบการเผาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างโรงไฟฟ้าขยะและโรงปูน พบว่าปกติแล้วโรงไฟฟ้าขยะทั่วไปจะปล่อยส่ิงตกค้างอยู่ที่ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งตกค้างเหล่านั้นก็จะไปจบที่บ่อขยะหรือฝังกลบอยู่ดี แต่วิธีการเผาร่วมในโรงปูนจะไม่มีสิ่งตกค้างเหล่านั้นเกิดขึ้น

ส่วนฝุ่นที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจะถูกนำกลับเข้าไปในกระบวนการรีไซเคิลวนลูป 100 เปอร์เซ็นต์ และจะไม่เหลืออะไรตกค้างอยู่

“ตอนนี้โครงการนำร่องที่อินเดียก็กำลังศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระบวนการของโรงไฟฟ้าขยะและกระบวนการเผาร่วมในโรงปูน แต่โครงการยังไม่สมบูรณ์จึงต้องรอผลการศึกษาต่อไป ส่วนการทำงานในประเทศไทยเราร่วมงานกับสยามซีเมนต์กรุ๊ปและอินทรีอีโคไซเคิล แน่นอนว่ามีความล่าช้าในการดำเนินโครงการเนื่องจากโควิด-19 แต่หลังจากนั้นก็ดำเนินตามแผนต่อไป”

“ถ้าประเทศไทยอยากร่วมมือจริงๆ แทนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะใหม่ก็ให้โรงผลิตซีเมนต์ที่เรามีอยู่แล้วเข้ามามีส่วนร่วมดีกว่า เพราะจะไม่ต้องลงทุนเยอะมาก แต่ประเทศไทยอาจไม่ได้มีโรงปูนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีขยะเยอะ ทำให้การขนส่งขยะไปที่โรงปูนอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก และทำให้กระบวนการนี้ไม่ยั่งยืน โรงไฟฟ้าขยะจึงยังจำเป็นอยู่ในบริเวณที่มีขยะมาก เราจึงควรใช้วิธีทั้งสองแบบผสมผสานกันมากกว่า”

“การรีไซเคิลเองก็มีข้อจำกัด เช่น รัฐบาลไทยสนับสนุนการรีไซเคิลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อไม่นานมานี้กระบวนการรีไซเคิลและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ถูกพบว่ามีสารเคมีอันตรายปะปนอยู่ด้วย เพราะในกระบวนการรีไซเคิลอาจมีการใช้สารเคมีบางอย่างในการผลิต กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งถ้าเรายังเน้นการรีไซเคิลมากจนเกินไป เมื่อมนุษย์รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเรา เราก็อาจจะใช้กันน้อยลง และประโยชน์ของการรีไซเคิลก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ควรเป็น”

ดร.คอเร อธิบายว่า ตอนนี้มีขยะพลาสติกทั่วโลกประมาณ 5,000 ล้านตัน ในประเทศไทยก็มี 200 ล้านตันที่ถูกทิ้งอยู่ในลานฝังกลบและบ่อขยะต่างๆ แม้พลาสติกเหล่านี้อยู่ในลานฝังกลบก็จริง แต่สุดท้ายพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลายตัวเองและลดขนาดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก เข้าสู่แหล่งน้ำต่างๆ และไปจบที่ทะเล กลายเป็นว่าทะเลจะกลายเป็นหม้อที่เต็มไปด้วยไมโครพลาสติก

“โครงการของเรามีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องพยายามลดการใช้พลาสติกอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย”

ขยะคือทรัพยากร

สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทและเข้าร่วมโครงการนี้ อธิบายว่า อินทรี อีโคไซเคิล ได้ร่วมในโครงการ OPTOCE ตั้งแต่ปี 2019 โดยขยะพลาสติกที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงมาจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยชุมชน และโครงการ Drop-off เก็บรวบรวมขยะพลาสติกมูลค่าต่ำ หรือนำไปรีไซเคิลไม่ได้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ

“เรามองว่าขยะคือทรัพยากร การนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นพลังงานความร้อนทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งจะยังช่วยลดการสร้างพื้นที่บ่อขยะ หรือหลุมฝังกลบเพิ่ม รวมทั้งป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทรได้อีกด้วย”

สุจินตนา อธิบายว่า โครงการที่ บริษัท อินทรีฯ ทำอยู่คือการฟื้นฟูลานฝังกลบเก่าๆ ซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีมากเพราะว่าขยะที่อยู่ในลานฝังกลบเหล่านี้คือขยะที่ปนเปื้อนจนไม่สามารถนำไปรีไซเคิล หรือทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว พลาสติกเหล่านี้จึงเหมาะมากที่จะนำไปสู่กระบวนการเผาร่วม

“ในอินเดีย พวกลานฝังกลบเก่าๆ ที่ใช้มานานแล้ว กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนรุมแย่งกัน เพราะว่าขยะในนั้นเมื่อถูกนำขยะออกไป และฟื้นฟูปรับปรุงให้กลายเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีต้นไม้ขึ้น บริษัทที่ไปปรับปรุงก็สามารถขายที่ดินนั้นได้มากกว่าราคาที่ตั้งไว้ตอนแรกถึง 40 เท่า”

สุจินตนา เล่าว่า แม้จะมีขยะพลาสติกเข้ามาเป็นพลังทดแทนได้ แต่ในมุมหนึ่งก็สู้ไม่ไหว เพราะธุรกิจปูนซีเมนต์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

“เราทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ติดปัญหาเรื่องระยะทาง อย่างของอินทรี เรารับขยะชุมชน ตีรัศมีประมาณ 150 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นไกลสุดเราก็อยู่โซนกรุงเทพฯ ไปถึงชลบุรีหรือระยองไม่ไหว เพราะค่าขนส่งจะสูง ซึ่งทางรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะ โดยไม่ได้มองธุรกิจปูนซีเมนต์เป็นหนึ่งในทางเลือก”

สุจินตนา เสนอว่า หากต้องการขยายให้โรงปูนสามารถรับขยะพลาสติกได้มากขึ้น ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนเรื่องค่ากำจัดหรือค่าขนส่ง เพื่อให้โรงปูนสามารถรับขยะได้ไกลขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนหรือไม่ขาดทุน

“ในประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป ขยะที่ไปโรงปูนจะคิดค่ากำจัดขยะด้วย ทำให้ธุรกิจโรงปูนในหลายประเทศทั่วโลกสามารถนำรายได้ตรงนั้นไปพัฒนาระบบ เพื่อให้สามารถรับขยะเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้มากขึ้นอีก แต่พอประเทศไทยไม่มีการคิดค่ากำจัดขยะก็ลงทุนไม่ได้ และยากที่จะรับขยะให้มากขึ้น”

“ในกลุ่มของผู้ผลิตซีเมนต์เคยคุยกันว่าอยากให้ทางภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจซีเมนต์ เราไม่ได้มองว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะเป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้ามีโรงปูนอยู่แล้วก็อยากให้เราได้รับการสนับสนุนด้วยเช่นเดียวกัน”

ในต้นมกราคมปีหน้า ประเทศไทยจะลดขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยการห้ามนำเข้าพลาสติก รวมไปถึงขยะอีเล็กทรอนิกส์ 100 เปอร์เซ็นต์ จากผลของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นสัญญาณที่ดีว่าต้นตอการเกิดขยะพลาสติกในประเทศจะลดลง

แม้กระบวนการกำจัดพลาสติกในไทยก็กำลังจะพัฒนาขึ้นในทางที่ดี แต่ขยะพลาสติกยังคงมีปริมาณมากยังคงเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องจัดการ การพึ่งพาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างการรีไซเคิล คงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว การบริหารจัดการขยะของรัฐบาลจึงต้องมองอย่างรอบด้าน และใช้ขยะพลาสติกให้เป็นทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด