ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 6 มีนาคม 2564

วิธีอ่านค่า "ความดันปกติ" ของแต่ละช่วงอายุ รู้ทันโรคความดันสูง-ต่ำ

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุในไทย เกิดได้จากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม การวัดความดันเป็นจุดเริ่มต้นบ่งบอกสุขภาพร่างกายคร่าวๆ ได้ก่อนที่คุณหมอจะตรวจและให้ยา โดย “ความดันโลหิต” เป็นค่าที่สามารถบ่งบอกความเสี่ยงโรคต่างๆ ได้ ค่าความดันปกติของคนเราอยู่ที่เท่าไหร่มาดูกัน

ความดันของคนปกติอยู่ที่เท่าไหร่

ความดันปกติ หรือ ความดันโลหิตที่เหมาะสม ของผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยค่าตัวบน หมายถึง Systolic Blood Pressure (SBP) ซึ่งเป็นค่าความดันโลหิตสูงสุดขณะที่หัวใจห้องล่างบีบตัว และ ค่าตัวล่าง หมายถึง Diastolic Blood Pressure (DBP)

การตรวจความดันโลหิต มักจะต้องวัดก่อนตรวจรักษากับแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยร่วมกับอาการของโรค และรวมอยู่ในแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปีด้วย แต่คนที่มีภาวะเสี่ยงความดันผิดปกติก็ต้องตรวจซ้ำถี่ขึ้น โดยการแปลผลค่าความดันปกติ พร้อมคำแนะนำ ดังนี้

• กลุ่มความดันปกติ น้อยกว่า 130 / น้อยกว่า 85 ควรตรวจทุกปี

• กลุ่มความเสี่ยงสูง 130-139 / 85-89 ควรตรวจทุกปี

• กลุ่มความดันสูงเล็กน้อย 140-159 / 90-99 ควรตรวจใหม่ภายใน 2 เดือน

• กลุ่มความดันสูงปานกลาง 160-179 / 100-109 ควรตรวจใหม่ภายใน 1 เดือน

• กลุ่มความดันสูงรุนแรง 180-209 / 110-119 ควรตรวจใหม่ภายใน 1 เดือน

• กลุ่มความดันสูงรุนแรงมาก >210 / >120 ควรรักษาทันที

ความดันปกติของผู้สูงอายุอยู่ที่เท่าไหร่

ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักเจอโรคประจำตัวจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือจากพันธุกรรม การอ่านค่าความดันโลหิตสามารถบอกภาวะเสี่ยงโรคต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ความดันของคนอายุ 50 เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดในสมอง, เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

การติดตามความดันปกติของคนอายุ 50 - 60 ปี เมื่ออ่านค่าความดัน 3 ตัวด้านบนไม่ควรเกิน 120 และตัวล่างไม่ควรเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท

วิธีการดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคความดันสูง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และติดตามผลความดันของตัวเอง รวมถึงดูแลสุขภาพรอบด้านเพื่อลดค่าความดัน ด้วยวิธีการดังนี้

- ลดน้ำหนักตัว หากเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกิน

- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสเค็ม

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- งดสูบบุหรี่

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคความดันต่ำ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ หมายถึง มีค่าความดัน Systolic Blood Pressure (หรือค่าความดัน 3 ตัวบน) ต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ส่งผลให้เกิดใจเต้นแรง เวียนศีรษะและตาพร่าเบลอได้ง่าย มีวิธีการดูแลตัวเองดังนี้

- หลีกเลี่ยงการพักผ่อนน้อย

- หลีกเลี่ยงการยืน หรือ นั่งนานๆ

- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนกลางคืน

- ลุกและนั่งให้ถูกท่า หากมีอาการวิงเวียนให้ค่อยๆ นั่งลงหรือนอนพักให้เท้าอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง

- ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวในช่วงเช้าเพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม

วิธีการวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง

กรณีที่คุณซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตมาไว้วัดความดันตัวเองที่บ้าน เพื่อติดตามผลด้วยตัวเอง ดูแลตัวเอง ลดความดันโลหิตสูงด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช้ยา มีวิธีการวัดดังนี้

1. เลือกวัดความดันช่วงเช้า หรือช่วงเย็น โดยวัดซ้ำ 2 ครั้งต่อรอบ ห่างกันครั้งละ 1-2 นาที ช่วงเช้าทำหลังตื่นนอน 2 ชั่วโมง และก่อนรับประทานยาความดัน

2. ไม่ดื่มชา กาแฟ ก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที

3. ก่อนวัดความดัน ปัสสาวะให้เรียบร้อย

4. นั่งพิงเก้าอี้ให้หลังพิงพนัก และไม่เกร็งเท้าทั้ง 2 ข้าง วางแขนราบกับพื้นเพื่อให้ผ่อนคลายอย่างน้อย 5 นาที ก่อนวัดความดัน

5. ไม่กำมือ ไม่ขยับตัวหรือพูดคุย

การวัดความดันเป็นการติดตามความเสี่ยงอาการป่วยของร่างกายได้เบื้องต้น ปัจจุบันนี้มีเครื่องวัดความดันที่ได้มาตรฐาน ราคาไม่แพง สามารถซื้อติดบ้านเพื่อใช้ติดตามสุขภาพของตัวเองได้ แต่หากพบค่าความดันโลหิตที่ผิดปกติ ควรวัดซ้ำ และปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเพื่อความปลอดภัย

ที่มา : siphhospital.com, mahidol.ac.th


วิธีซักหน้ากากผ้า ใส่ซ้ำได้กี่ครั้ง ป้องกันโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน?

“หน้ากากผ้า” เป็นเกราะป้องกันเบื้องต้นที่ทุกคนใช้สวมใส่เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้ แม้ว่าจะมีคุณสมบัติป้องกันลมหายใจได้เบื้องต้น แต่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ปกป้องตัวคุณเองจากโรคติดต่อทางเดินหายใจได้เห็นผล

หน้ากากผ้าซักได้ ป้องกันโควิดได้แค่ไหน

แม้ว่าการใช้หน้ากากผ้าจะป้องกันโควิดได้เพียง 54-59% แต่ก็เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องป่วยก่อนแล้วค่อยใส่ บุคคลทั่วไปที่ต้องเดินทางไปพบปะผู้คนในสถานที่สาธารณะก็ต้องสวมใส่ตลอดเวลา

หน้ากากผ้า (หรือแมสก์ผ้า) ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าสาลู และผ้าใยสังเคราะห์ แม้ว่าจะมีเส้นใยขนาด 1 ไมครอน ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีขนาด 5 ไมครอน ก็ถือว่าเพียงพอที่จะป้องกันโควิดในสถานที่แออัด หน้ากากผ้าที่ไม่ควรนำมาใช้คือหน้ากากที่มีรอยตะเข็บอยู่ตรงกลาง เพราะมีโอกาสให้เชื้อโรคผ่าน

ปัจจุบันนี้การสวมหน้ากากอนามัยก่อนใช้บริการสถานที่ต่างๆ เป็นกฎหนึ่งในมาตรการความปลอดภัยที่สังคมยึดถือปฏิบัติ ทางเข้าของสถานที่มีสิทธิ์งดให้บริการแก่ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นทุกคนต้องสวมใส่และพกหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน

3 วิธีซักหน้ากากผ้า เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากโควิด-19 แล้ว โรคไข้หวัดอื่นๆ ก็ติดต่อผ่านลมหายใจและเสมหะได้ กองสุขศึกษา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลการซักทำความสะอาดหน้ากากผ้าเพื่อใช้ซ้ำไว้ดังนี้

1. ล้างมือก่อนสัมผัสหน้ากากผ้า

เพื่อรักษาความสะอาดของหน้ากากผ้าไว้ให้นานที่สุด ก่อนสัมผัสหน้ากากผ้าควรมั่นใจว่ามือของคุณสะอาดด้วย ควรล้างมือก่อนสัมผัสหน้ากากผ้าทุกครั้ง และใช้วิธีดึงสายคล้องหูแทนการจับหน้ากากผ้าโดยตรง

2. สวมใส่หน้ากากที่กระชับกับรูปหน้า

เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคผ่านลมหายใจ ควรปิดหน้ากากผ้าให้พอดีกับรูปหน้า โดยปกปิดบริเวณจมูก ปาก หากรู้สึกว่าหน้ากากที่ใช้อยู่ หลวม หรือคับจนหายใจลำบาก ควรเปลี่ยนไปเลือกหน้ากากผ้าที่พอดีกับสรีระใบหน้าของคุณ

3. ใช้สบู่หรือน้ำยาซักผ้าอ่อนๆ

เพื่อลดการระคายเคือง ควรใช้สบู่ สบู่เด็ก หรือน้ำยาซักผ้าเด็ก ทำความสะอาดหน้ากากผ้า ขยี้ซักตากแดดให้แห้งก่อนนำไปใช้

หน้ากากผ้าบางยี่ห้อมีระบุจำนวนครั้งว่าสามารถซักเพื่อใส่ซ้ำได้กี่ครั้ง เราก็นำมาใช้ซ้ำได้ หากตรวจสอบแล้วพบว่าหน้ากากผ้าชำรุดก่อนอายุการใช้งาน ก็ควรทิ้งและเปลี่ยนอันใหม่

อย่างไรก็ดี หน้ากากผ้านั้นควรเปลี่ยนผืนใหม่ทุกๆ วัน ก่อนนำไปใช้ซ้ำควรซักทำความสะอาด และพกผืนสำรองติดกระเป๋าไว้ เผื่อระหว่างวันทำตก หรือเปรอะเปื้อนสกปรก ก็จะได้มีหน้ากากผืนใหม่เตรียมพร้อมใช้งานตลอดเวลา

ที่มา : www.hfocus.org


รู้จักน้ำหนักทองคำ 1 บาท 1 สลึง มีกี่กรัม รู้ทันคำนวณเป็นก่อนซื้อ

“น้ำหนักทองคำ” ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ ก็จะต้องมีน้ำหนักตามเกณฑ์ของสมาคมค้าทองคำ เพราะเป็นมาตรฐานการซื้อขาย ไม่ว่าจะซื้อที่ร้านใด จังหวัดใดก็ตาม จะต้องมีน้ำหนักที่ตรงกัน โดยการชั่งน้ำหนักทองจะต้องใช้เครื่องชั่งที่เห็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง และควรเป็นเครื่องชั่งดิจิทัล เพื่อจะได้เห็นน้ำหนักที่ชัดเจน

(ทองคำในบทความนี้ กล่าวถึงทองคำ 96.5%)

น้ำหนักทองมีกี่ขนาด

แม้จะมีคำเรียกน้ำหนักทองอยู่หลายแบบ แต่เพื่อความเข้าใจที่ง่าย สามารถแบ่งน้ำหนักทองเป็น 2 ขนาด คือ บาท กับ สลึง

น้ำหนักทอง 1 บาท แบ่งออกได้ 4 สลึง

ดังนั้นการซื้อขายทองคำที่เป็น “สลึง” จะเป็นหน่วยย่อยของ “บาท” เสมอ โดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์

น้ำหนักทอง 1 บาท ทองแท่ง 15.244 ทองรูปพรรณ 15.16 กรัม

น้ำหนักทองแท่ง เมื่อเรียกเป็นบาท 1 บาท จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 15.244 กรัม และทองรูปพรรณ น้ำหนัก 15.16 กรัม เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการซื้อทอง 2 บาท เป็นต้นไป ก็เอาจำนวนบาทมาคูณ

แต่หากซื้อน้ำหนักทองครึ่งหนึ่งของ “บาท” โดยทั่วไปจะไม่เรียกว่า “ครึ่งบาท” แต่เรียกว่า “2 สลึง” โดยจำหน่ายเป็น จี้ สร้อย ต่างหู เป็นต้น เพราะฉะนั้นน้ำหนักทอง 2 สลึง ของทองแท่งจึงเท่ากับ 7.622 กรัม และทองรูปพรรณเท่ากับ 7.58 กรัม

น้ำหนักทอง 1 สลึง มีน้ำหนักกี่กรัม

เนื่องจากหน่วยชั่งตวงวัดของไทย แบ่งน้ำหนัก 1 บาท ออกเป็น 4 สลึง ดังนั้น น้ำหนักทอง 1 สลึง คิดจากน้ำหนักทอง 1 บาท นำมาหารด้วย 4

• ทองแท่ง 1 สลึง จะต้องมีน้ำหนัก 3.811 กรัม

• ทองรูปพรรณ 1 สลึง จะต้องมีน้ำหนัก 3.79 กรัม

และเนื่องจากปัจจุบันมีการค้าขาย จี้ ต่างหู หรือ แหวน ขนาดครึ่งสลึงด้วย เพราะฉะนั้นวิธีคิดน้ำหนักทองครึ่งสลึง ก็ต้องนำน้ำหนักทองสลึงมาหารด้วย 2

คำถามที่พบบ่อย น้ำหนักทอง 0.6 กรัม เป็นกี่สลึง กี่บาท

ปัจจุบันมีการทำแหวน แผ่นการ์ดอวยพร หรือสินค้าทองคำที่มีขนาด 0.6 กรัม จึงจัดอยู่ในกลุ่มทองรูปพรรณ เมื่อเทียบตามน้ำหนักชั่งตวงวัดของไทย จะน้อยกว่าน้ำหนักทองครึ่งสลึง (1.895) เสียอีก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของทองครึ่งสลึง จึงยากที่จะเรียกว่าเป็นทองกี่บาท กี่สลึง ผู้ซื้อผู้ขายจึงนิยมเรียกทอง 0.6 กรัมตามหน่วยกรัม

เลือกซื้อทองแบบไหนดี

จุดประสงค์การเลือกซื้อทองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนซื้อไว้เก็บเก็งกำไร บางคนซื้อไว้สวมใส่ แต่ทุกจุดประสงค์ต้องดูน้ำหนักทองให้เต็ม สมราคา

ซื้อทองไว้เก็บ : ซื้อทองแท่ง เพราะเมื่อขายจะไม่ถูกหักค่ากำเหน็จ

ซื้อทองไว้ใส่ : ซื้อทองรูปพรรณที่ข้อต่อต่างๆ แข็งแรง

น้ำหนักทองแท่งกับน้ำหนักทองรูปพรรณนั้นไม่เท่ากัน แตกต่างกันทั้งน้ำหนักทองและค่ากำเหน็จ เพราะเกิดจากค่าแรงที่เรียกว่า “ค่ากำเหน็จ” ทองรูปพรรณจะต้องใช้ทักษะฝีมือช่างที่ละเอียดอ่อน ในการสลักลวดลายเพื่อสวมใส่ ดังนั้นเวลาซื้อขายทอง ทุกร้านจะยึดราคาทองคำกลางตามราคาสมาคม เพราะเป็นมาตรฐานที่วัดได้ว่าเนื้อทองคำมีราคาอยู่ที่เท่าไร

สุดท้ายนี้ ทุกครั้งที่ซื้อทองต้องมองตาชั่ง เพราะทองคำที่ดูก้อนใหญ่ อาจจะไม่ได้มีน้ำหนักถึงปริมาณที่เราตกลงซื้อขายก็ได้ หากน้ำหนักไม่ถึง ก็ไม่ควรซื้อมา เพราะเรียกว่าเป็นทองที่น้ำหนักไม่เต็ม ซึ่งไปเข้ากับสำนวนที่ใช้กันว่า “ไม่เต็มบาท” นั่นเอง


ภูเขาไฟซีนาบุงของอินโดปะทุ เถ้าถ่านพุ่งสูง 5,000 เมตร

ภูเขาไฟซีนาบุงบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียปะทุขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคม ทำให้เถ้าถ่านจำนวนมากพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงกว่า 5,000 เมตร

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟระบุว่าตรวจพบการระเบิดเกิดขึ้นถึง 13 ครั้ง แต่ยังไม่มีรายงานว่าเหตุระเบิดดังกล่าวทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน เนื่องจากพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟไม่มีผู้คนอยู่อาศัยมาหลายปีแล้ว

ทางการไม่ได้สั่งอพยพผู้คนโดยรอบออกจากพื้นที่ และยังไม่มีรายงานว่าเที่ยวบินโดยสารได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่ผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงยังคงหวาดกลัว และพยายามอยู่แต่ในบ้านพัก เพื่อหลีกเลี่ยงเถ้าควันภูเขาไฟที่พวยพุ่งขึ้นมาจำนวนมาก


วัคซีน "โควิด-19" กับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

หลังจากเริ่มทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยกันแล้ว เราควรทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในบางราย

ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โดยหลักการวัคซีนจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้รู้จักกับเชื้อโรคล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับเชื้อเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย มีไข้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันกำลังถูกกระตุ้นจากวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้เราเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

อาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19

1. มีไข้

2. ปวดเมื่อยตามตัว

3. ปวด หรือระคายเคืองตำแหน่งที่ฉีด

4. หากเกิดผลข้างเคียง ตั้งแต่การฉีดวัคซีนเข็มแรก ในเข็มที่สองก็อาจมีอาการมากขึ้นได้เล็กน้อย

อาการแพ้วัคซีน อาจเกิดได้แต่น้อยมากคือน้อยกว่า 1 ใน 1,000,000 คนที่ฉีด

วิธีรักษาผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 เบื้องต้น

1. หากมีอาการไข้ ปวดเมื่อย หรือปวดในตำแหน่งที่ฉีด สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้

2. ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้

3. โอกาสเกิดผลข้างเคียงมีเพียง 10-15% ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งถือว่าน้อย

4. อาการแพ้วัคซีนสามารถหายได้เองประมาณ 3-4 วัน

5. รอดูอาการหลังฉีดอย่างน้อย 15 นาที สำหรับใครที่มีประวัติแพ้วัคซีน หรือยาแบบรุนแรง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีน

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19

วัคซีนจะเริ่มได้ผลอย่างน้อยต้อง 2 อาทิตย์หลังจากได้รับเข็มที่หนึ่ง แต่จะได้ผลเพียง 50% และหลังจากฉีดเข็มที่สองอย่างน้อย 1 อาทิตย์ จึงจะได้ผลสูงตามผลการวิจัยของแต่ละวัคซีน

นอกจากนี้ยังต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สอง จึงจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลวิจัยของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

คำแนะนำจากแพทย์

ประชาชนส่วนใหญ่ควรได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง แต่ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนก็ไม่ควรประมาทต่อการติดเชื้อ และยังต้องรักษามาตรการโดยสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อของตัวเองในกรณีที่วัคซีนยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ และป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตด้วย

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพ :iStock


สัญญาณเตือนว่าคุณอาจกำลังป่วยด้วยโรคร้าย

เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย แม้ว่าร่างกายภายนอกจะดูปกติแข็งแรงดี แต่สิ่งที่ร่างกายข้างในที่มองไม่อาจจะไม่ปกติเหมือนภายนอกก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง 7 สัญญาณเตือนว่าคุณอาจกำลังป่วยด้วยโรคร้าย ดังนี้

1. ปวดหัวเรื้อรัง หน้ามืดเวียนหัวอยู่เป็นนิจ ลองสังเกตตัวเองดูสักหน่อยว่าคุณกินพาราเซตามอลเป็นขนมอยู่หรือเปล่า หรือบางครั้งคุณก็มีอาการปวดหัวต่อเนื่องกันหลายวัน กินยาก็แล้ว พักผ่อนก็แล้วก็ยังไม่หาย คุณอาจกำลังมีภาวะแฝงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกในสมองอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่างนิ่งนอนใจ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

2. แพ้อากาศยาวนาน เป็นไม่หายเสียที จากอาการที่ว่านี้ คุณอาจจะกำลังคิดว่าคุณแค่ภูมิคุ้มกันไม่ดีเลยป่วยบ่อย แต่ถ้าบ่อยเกินแบบไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด เอาเข้าจริงคุณอาจจะไม่ได้เป็นหวัดธรรมดาก็ได้ เพราะคุณอาจจะเป็นภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีหรือรู้ตัวให้เร็วก็อาจจะมีอาการกำเริบโดยที่ไม่รู้ตัว และพฤติกรรมสุขภาพก็ไม่ได้ระวังตัวมากพอ ซึ่งนั่นอาจนำมาซึ่งอันตรายที่ร้ายแรง

3. ไอคอแทบแตก นานแล้วก็ยังไม่หาย อาการไอเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นอีกอาการที่ไม่ควรย่ามใจ เพราะคุณอาจจะไม่ได้แค่ระคายเคืองคอธรรมดา แต่อาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรควัณโรค ปอดอักเสบ ปอดบวม มะเร็งปอด หรือไอกรนก็ได้ ซึ่งคุณควรใส่ใจให้มาก เพราะอาการที่เกี่ยวกับปอดทั้งหลายนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อชีวิตมากทีเดียว

4. ท้องไส้ปั่นป่วน ขับถ่ายมีปัญหา นี่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ ซึ่งก็มีทั้งโรคที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ถ้าหากว่าคุณมองข้าม และไม่ใส่ใจว่าการที่ท้องผูกบ่อยๆ หรือท้องเสียบ่อยๆ หรือมักปวดท้องอยู่บ่อยๆ นั้นเป็นเพียงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกินอาหาร แต่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคไต ถึงเวลานั้นคุณก็อาจรักษาตัวไม่ทัน

5. เหนื่อยง่ายเกินไป นิดๆ หน่อยๆ ก็หอบแล้ว โรคที่ผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเป็นอีกโรคที่ค่อนข้างคุกคามชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้รู้สึกอึดอัด และคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยก็จะไม่ได้ระวังพฤติกรรมการใช้ชีวิตเท่าที่ควร หายใจไม่สะดวก ทำอะไรก็เหนื่อย เป็นไปได้ว่าคุณอาจเป็นหอบหืด ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ หรือมีภาวะการอุดตันของเส้นเลือด

6. เลือดออกผิดปกติ หรือเลือดไหลไม่หยุด ภาวะการมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ขับถ่ายเป็นเลือด หรือเกิดจ้ำเลือดตามผิวหนังแบบไม่มีที่มาที่ไป นี่ไม่ใช่อาการปกติแล้ว แต่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด โรคโลหิตจาง โรคตับอักเสบ หรือภาวะเลือดไม่แข็งตัว เป็นต้น ซึ่งอันตรายมาก เพราะหากขาดเลือดมากเข้าอาจเกิดอาการช็อกได้

7. มีปัญหาในการมองเห็น เช่น ตาพร่า ตามัว เห็นภาพซ้อน ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวไม่แพ้อาการอื่นๆ เลย ก่อนอื่นเปลี่ยนความคิดก่อนว่านี้เป็นเพียงความคิดก่อนว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หรือเพราะเป็นไปตามวัย เพราะอาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกแค่โรคของดวงตาเท่านั้น แต่คุณอาจมีโรคบางอย่างแฝงอยู่ก็ได้ ที่พบได้ก็อย่างเช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง

ฉะนั้นเพื่อความชัวร์ หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงลงได้มาก หากป่วยก็จะได้รู้ก่อน และรักษาได้ทันก่อนสายเกินไป