ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 19 กุมภาพันธ์ 2565

ตะลึง จีนพบฟอสซิล "ตาดอกไม้" เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 160 ล้านปี

15 ก.พ. 65 คณะนักวิจัยของสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน เปิดเผยการค้นพบ ฟอสซิลตาดอกไม้ (flower bud) ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีในอำเภอหนิงเฉิง เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของประเทศ

นายหวัง ซิน หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ค้นพบครั้งนี้เปิดเผยว่า ฟอสซิลตาดอกไม้นี้ประกอบด้วยก้านดอก (stem) กิ่งใบ (leafy branch) ตลอดจนผลที่เป็นรูปกระเปาะ (bulbous fruit) และตาดอกขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดประมาณ 3 ตารางมิลลิเมตร โดยระบุว่า ตาดอกไม้ มีความยาวไม่ถึง 4 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กกว่าเล็บมือของมนุษย์มาก เชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในยุคจูราสสิค หรือเมื่อประมาณ 160 ล้านปีก่อน

นายหวัง กล่าวว่า ถึงแม้จะเหลือเพียง 1 ตาดอก และ 1 ผลในฟอสซิลที่พบ แต่พืชต้องผ่านกระบวนการออกดอก ซึ่งหมายความว่าเมื่อราว 160 ล้านปีก่อน ตาดอกไม้ยุคจูราสสิคขนาดเล็กนี้ อาจเบ่งบานอยู่ใต้ฝ่าเท้าของไดโนเสาร์ก็เป็นได้ โดยการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ทางออนไลน์ ในวารสาร "จีโอโลจิคอล โซไซตี ลอนดอน สเปเชียล พับลิเคชันส์" (Geological Society London Special Publications).


ชี้อนาคตระบบสุริยะในอีกไม่กี่พันล้านปี

การกลายเป็น “ดาวแคระขาว” ถือเป็นชะตากรรมส่วนใหญ่ของดาวฤกษ์ รวมถึงดวงอาทิตย์ของเราด้วย เพราะเมื่อพลังงานเชื้อเพลิงมอดไหม้หมด สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือซากขนาดเล็กที่หนาแน่น ด้วยเหตุนี้ ระบบดาวเคราะห์ทั้งหมดหรือแม้แต่ระบบสุริยะของเราก็มีแนวโน้มจะพบกับจุดจบที่ว่าดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย

ล่าสุดทีมวิจัยนานาชาตินำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ในอังกฤษ เผยว่าการวัดแสงดาวแคระขาวชื่อ WD1054-226 ซึ่งเป็นสมาชิกในดาราจักรหรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและที่โคจรอยู่ในอวกาศ ก็พบความประหลาดใจนั่นคือแสงจาก WD1054-226 มักถูกบดบังด้วยเมฆขนาดมหึมาของวัตถุที่โคจรอยู่ข้างหน้ามัน ซึ่งบ่งบอกว่ามีวงแหวนของ “เศษของดาวเคราะห์” ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ เศษของดาวเคราะห์กลุ่มนี้ประเมินจำนวนได้ 65 วัตถุ มีขนาดพอๆ กับดวงจันทร์ของเรา เป็นของแข็งก็จริง แต่ไม่เป็นทรงกลม และมีฝุ่นมาก พวกมันเคลื่อนที่ผ่านหน้า WD1054-226 ทุก 23 นาที ซึ่งนี่ก็ยังเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ในเวลานี้

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์ระบุว่า ทั้งดาวเคราะห์รวมถึงเศษของดาวเคราะห์เอง อาศัยอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า “เขตเอื้อต่อการอาศัยอยู่ได้” เศษดาวเคราะห์เหล่านั้นมีการโคจรรอบดาวฤกษ์ทุกๆ 25 ชั่วโมงในระยะห่างเท่าๆกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าความสม่ำเสมอที่แม่นยำของโครงสร้างการเคลื่อนตัว ทำให้ดาวฤกษ์หรี่แสงลงทุก 23 นาที และนี่อาจฉายภาพดวงอาทิตย์ของเราที่จะกลายเป็นดาวแคระขาวในอีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า รวมถึงชี้ให้เห็นภาพรวมของระบบสุริยะของเราในอนาคต.

(Credit : NASA/JPL-Caltech/T.Pyle (SSC))


นักดาราศาสตร์พบดาวแคระขาวสะสมเศษซากดาวเคราะห์

ดาวแคระขาว (white dwarf) คือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของดาวฤกษ์ หลังจากที่ดาวมีการเผาผลาญเชื้อเพลิงและสลายชั้นนอกของมันไป เหลือไว้แต่แกนอันหนาแน่น ซึ่งนั่นคือชะตากรรมของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา ปัจจุบันมีการค้นพบดาวดังกล่าวมากกว่า 300,000 ดวงในดาราจักร หรือกาแล็กซีทางช้างเผือก และเชื่อกันว่าดาวแคระขาวหลายดวงสะสมเศษซากจากดาวเคราะห์และวัตถุอื่นๆที่เคยโคจรรอบมัน

ล่าสุดนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิกในอังกฤษ เผยว่าหลังใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา หรือกล้องรังสีเอ็กซ์จันทราขององค์การนาซา ส่องดูดาวแคระขาวชื่อ G29-38 หรือในชื่อ ZZ Piscium อยู่ห่างจากโลก 44 ปีแสง ซึ่งพบหลักฐานว่ามีเศษซากดาวเคราะห์ตกกระทบพื้นผิวของดาวฤกษ์ในเวลาต่อมากลายเป็นดาวแคระขาว G29-38 และเศษซากเหล่านั้นเผาไหม้ได้ถึงเกือบ 1 ล้านองศาเซลเซียส นักดาราศาสตร์อธิบายว่าเมื่อวัตถุของดาวเคราะห์ถูกดึงเข้าไปในดาวแคระขาวด้วยอัตราที่สูงเพียงพอ มันจะกระแทกเข้ากับพื้นผิวดาวฤกษ์ เกิดเป็นพลาสมาร้อนขึ้นด้วยแรงกระแทก พลาสมามีอุณหภูมิระหว่าง 100,000-1,000,000 เคลวิน เมื่อเวลาผ่านไป พอเย็นลงมันจะปล่อยรังสีเอ็กซ์ให้ตรวจพบได้

วิธีนี้จะทำให้นักดาราศาสตร์วัดปริมาณธาตุบนพื้นผิวดาวฤกษ์ได้ และคำนวณองค์ประกอบของวัตถุที่สะสมบนดาวฤกษ์ เพื่อไขคำตอบว่าวัตถุเหล่านั้นมาจากไหน และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถหาอัตราการสะสมที่ไม่ขึ้นอยู่กับแบบจำลองละเอียดของชั้นบรรยากาศดาวแคระขาว.

(ภาพประกอบ Credit : NASA/JPL-CaltechGraph: NASA/JPL-Caltech/GSFC)


วิจัยพบ‘แก่นโลกชั้นใน’ ไม่ใช่สถานะของแข็งปกติ

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จีนเผยการค้นพบว่าแก่นโลกชั้นใน (inner core) ไม่ใช่สถานะของแข็งปกติ แต่เป็นสถานะซูเปอร์ไอออนิก (superionic)

ผลการศึกษาในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ (9 ก.พ.) ระบุว่าสถานะซูเปอร์ไอออนิก ซึ่งเป็นสถานะกึ่งกลางระหว่างของแข็งและของเหลว ประกอบด้วยธาตุเหล็กแข็งและธาตุเบาคล้ายของเหลวในแก่นโลกชั้นใน

นอกจากธาตุเหล็กแล้ว ยังมีความเชื่อกันมานานว่ามีธาตุเบาบางชนิดอยู่ภายในแก่นโลกชั้นในเพราะมีความหนาแน่นต่ำกว่าธาตุเหล็กบริสุทธิ์ โดยธาตุเบาอาจเป็นซิลิกอน ไฮโดรเจน คาร์บอน และออกซิเจน แต่ยังไม่มีการพิจารณาสถานะของธาตุเหล่านั้นในแก่นโลกชั้นใน

ทีมนักวิจัยร่วมจากสถาบันธรณีเคมี สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แรงดันสูงและเทคโนโลยีขั้นสูงในกรุงปักกิ่ง ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโลหะผสมธาตุเหล็กและธาตุเบาหลายชนิดภายใต้สภาวะจำลองแก่นโลกชั้นในที่มีความกดอากาศสูงและอุณหภูมิสูง

เหล่านักวิจัยพบว่าธาตุเบาต่างๆ อย่างไฮโดรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนในเหล็ก เปลี่ยนสถานะเป็นซูเปอร์ไอออนิกภายใต้สภาวะของแก่นโลกชั้นใน ซึ่งมีการแพร่กระจายสูงเหมือนของเหลว โดยผลการศึกษาระบุว่าแก่นโลกชั้นในอยู่ในสถานะซูเปอร์ไอออนิก ไม่ใช่สถานะของแข็งปกติ


นอนไม่หลับส่งผลร้ายกว่าที่คิด พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีอาการนอนไม่หลับกันมาบ้าง ที่แม้ว่าจะพยายามข่มตาให้หลับเท่าไรก็ยังนอนไม่หลับอยู่ดี กว่าจะรู้สึกง่วงขึ้นมาก็ใกล้เช้าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่นไปทำงานแล้ว ส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ หากมีอาการนี้บ่อยๆ ทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายหลายๆ อย่างตามมา

นอนไม่หลับส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้วการนอนที่ดีควรใช้เวลา 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าหากมีอาการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอจะส่งผลเสียมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

1. ง่วงนอนระหว่างวัน ร่างกายไม่สดชื่นแจ่มใส สมองทำงานช้าลง ง่วงซึมในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ

2. มีปัญหาเรื่องความจำ เพราะสมองไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพด้านการคิด การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิลดลง และส่งผลต่อความจำ ทำให้มีอาการขี้หลงขี้ลืมได้บ่อยๆ จนอาจเกิดภาวะสมองล้าได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ในอนาคต

3. อารมณ์แปรปรวน เมื่อนอนไม่พอสะสมหลายๆ วันจะทำให้ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลงและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไบโพลาร์อีกด้วย

4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด คนที่นอนไม่พอมักจะมีความดันเลือดสูงผิดปกติ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง

สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร

การนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน

• ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจมีความผิดปกติระหว่างการนอน เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาจากอาการอื่น เช่น อาการเจ็บป่วย มีไข้ โรคกรดไหลย้อน บางคนอาจมีระบบประสาทที่ตื่นตัวมากกว่าปกติจึงทำให้หลับยาก

• ปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

• ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการมีเสียงรบกวน หรือมีแสงไฟรบกวน

• อุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ เช่น การเล่นเกม การเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นกาเฟอีน เป็นต้น

วิธีแก้อาการนอนไม่หลับเบื้องต้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลว่าหากมีอาการนอนไม่หลับ สามารถนำวิธีเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น

1. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน

2. ไม่งีบหลับตอนกลางวัน หรือตอนเย็น เพราะจะทำให้นอนหลับยากตอนกลางคืน แต่ถ้าอยากงีบหลับควรอยู่ในท่านั่ง และไม่เกิน 30 นาที

3. งดเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน รวมถึงแอลกอฮอล์ และบุหรี่

4. เข้านอนให้เป็นเวลา

5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำให้หลับยาก เช่น ลดละเลิก การเล่นโทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์บนเตียงนอน การทำงานในห้องนอน การอ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้รู้สึกตื่นเต้น หวาดกลัว

6. นวดกดจุดบริเวณใบหน้าก่อนนอน ด้วยการใช้ปลายนิ้วนวด วนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ตามหัวคิ้ว ขมับ ร่องจมูก คางและมุมปาก

7. สร้างบรรยากาศห้องนอนให้ผ่อนคลายด้วยกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์

8. ปรึกษาแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น เพื่อใช้ยาร่วมในการรักษา

นอนไม่หลับเนื่องจากภาวะการนอนผิดปกติ

สำหรับผู้ที่มีภาวะการนอนผิดปกติอาจไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นภาวะที่อาจทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายขาดออกซิเจน จนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและอื่นๆ อีกหลายโรค ปัจจุบันในทางการแพทย์ จึงมีการเลือกใช้วิธี “ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test” ซึ่งเป็นการตรวจที่จะบอกถึงการทำงานของร่างกายในระหว่างนอนที่สามารถบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับเพื่อนำไปสู่การดูแลและรักษาได้อย่างถูกต้อง

พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการ ด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ให้ข้อมูลว่า “Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย และหาสาเหตุของความผิดปกติต่างๆ ขณะนอนหลับ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์เฉพาะทาง และนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน

หลังจากตรวจ Sleep test เสร็จแล้วแพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ ซึ่งในการตรวจนี้สามารถทราบถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในระหว่างการนอนอื่นๆ ได้ เช่น นอนกัดฟัน ตลอดจนภาวะชักขณะหลับ

โดยผู้ที่มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้สามารถปรึกษาแพทย์และขอเข้ารับการตรวจ Sleep test ได้

• นอนกรน

• มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ

• หายใจลำบากและสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ

• ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

• ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อยๆ

• มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ

• นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อยๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติในการนอนหลับหรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบ Epworth sleepiness scale เพื่อประเมินความง่วง ที่อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในการนอนหลับ ซึ่งประกอบด้วยชุดคำถามที่จะช่วยให้สามารถประเมินตัวเองและคนรอบข้างเบื้องต้นได้