ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ปลดล็อกกัญชาแล้ว ปลูกใช้ประโยชน์อย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย

หลังปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่การนำไปแปรรูป ยังมีข้อกำหนด ต้องขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เช่นเดียวกับกัญชาเชิงพาณิชย์ ยังมีกรอบและเงื่อนไข ต้องทำความเข้าใจ เพราะหลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เตรียมออกกฎหมายมาเพิ่มเติม เป็นประเด็นต้องรู้ ก่อนปลูก และใช้กัญชาอย่างเหมาะสม

กัญชาใช้ได้ ภายในกรอบกำหนด

กัญชาปลูกตามบ้านเรือนประชาชน สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทุกส่วน แต่ผู้ปลูกต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565

กรณีนำไปสกัดให้ได้สาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด โดยจะต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.2%

การขายเมล็ดพันธุ์ และกิ่งพันธุ์กัญชา ต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) จากเปลือก ลำต้น กิ่งก้าน รากและใบ นำไปประกอบอาหาร ต้องขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร ตามระเบียบของ อย.

เจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถระงับเหตุและตรวจสอบได้ตามกฎหมาย หากการสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดความรำคาญจากกลิ่นหรือควัน

หากฝ่าฝืนสร้างความรำคาญ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้กัญชาจะปลดล็อก ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมผู้ที่ใช้กัญชาในปริมาณมาก อาจมีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม

ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม มีผลทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายอ่อนแอ สามารถติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย

ทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล หากผู้ที่ใช้มีอาการทางจิตเภทร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ผู้หญิงตั้งครรภ์ หากมีการใช้กัญชา อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม.


กล้องเจมส์ เวบบ์ เริ่มตามดาวที่สิ่งมีชีวิตอาจอยู่ได้

หลังจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ปล่อยภาพแรกสุดน่าทึ่งทำเอาฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นการทำตามหนึ่งในคำสัญญาที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือความสามารถในการศึกษาช่วงแรกสุดหรือช่วงรุ่งอรุณของประวัติศาสตร์จักรวาล หลังจากเหตุการณ์ บิ๊กแบงเมื่อ 13,800 ล้านปีก่อน

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เปิดเผยว่า กล้องอันทรงพลังอย่างเจมส์ เวบบ์ มี 2 โปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ นั่นคือการสำรวจหนึ่งในกาแล็กซีที่ห่างไกลที่สุดที่ชื่อว่า MACS 0647-JD ซึ่งค้นพบในปี 2556 ส่วนอีกโปรเจกต์ก็คือการสำรวจดาวฤกษ์ชื่อเอเรนเดล (Earendel) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ โดยถูกค้นพบในเดือน มี.ค.ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีระบบดาวอีกแห่งที่ยังเป็นที่สนใจศึกษาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือระบบดาว “แทรพพิสต์-1” (Trappist-1) ซึ่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมอลทรีออลในแคนาดา ระบุว่า การสังเกตดาวเคราะห์หินขนาดเท่าโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อแทรพพิสต์-1 คือสิ่งที่น่าสนใจมาก เนื่องจากดาวเคราะห์ในระบบดาวแห่งนี้อยู่ในระยะอยู่ใกล้กันมาก จนถ้าไปยืนอยู่บนนั้น ก็จะสามารถเห็นดาวอื่นๆปรากฏบนท้องฟ้าได้ชัดเจน อีกทั้งระบบ “แทรพพิสต์-1” ดูจะมีสภาวะเกือบทั้งหมดที่เอื้ออำนวยต่อการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะของเรา.


ไซปรัสเปิดอุทยานโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรก

โลกใต้น้ำเป็นเรื่องมหัศจรรย์เสมอ โดยเฉพาะการค้นพบแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งสถานที่สำคัญประเภทนี้ก็มักจะเป็นหมุดหมายที่ผู้คนที่ชื่นชอบเรื่องราวทางโบราณคดีจากทั่วโลกเดินทางไปเยี่ยมเยือนให้ได้ในสักวันหนึ่ง ซึ่งก็เชื่อว่าอุทยานโบราณคดีใต้น้ำของท่าเรือโบราณอมาโธส (Amathus) ในเมืองลีมาซอล ของไซปรัส ที่เพิ่งเปิดตัวหมาดๆ คงเป็นที่หมายตาของนักท่องโลกอย่างแน่นอน

อุทยานโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรกของไซปรัสนี้ เดิมคือท่าเรือที่ตั้งอยู่ในอาณาจักรโบราณของเมืองอมาโธสในปัจจุบัน นักโบราณคดีเชื่อว่าสร้างขึ้นระหว่าง 312 ปี หรือ 311 ปีก่อนคริสตกาล หรืออาจจะ 294 ปีก่อนคริสตกาล และอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานทัพเรือเนื่องจากมีทางเข้าที่แคบ ซึ่งท่าเรือแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำมาตลอดหลายศตวรรษก็มีจำนวนปะการังกำเนิดเติบโตพัฒนาจนกลายเป็นแนวปะการังตามธรรมชาติและมีสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลอาศัยอยู่สถานที่โบราณแห่งนี้จะทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประวัติศาสตร์ในท่าเรือโบราณแห่งหนึ่งของโลก ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก.


ตำรวจจีนสุดเจ๋ง! แกะรอยจับจอมโจรลักทรัพย์ ด้วยวิธีสกัดดีเอ็นเอ ‘ซากยุง’

19 กรกฎาคม 2565:ทีมตำรวจจากฝูโจว ตามจับคนร้ายคดีลักทรัพย์โดยอาศัยการสกัดดีเอ็นเอคนร้ายจากรอยเลือดและซากยุง ที่โดนตบตายในที่เกิดเหตุ

ซากยุงตาย 2 ตัว มีส่วนช่วยให้ตำรวจจีนสามารถตามจับคนร้ายในคดีลักทรัพย์ หลังจากที่คนร้ายโดนยุงกัดและดูดเลือด แล้วเจ้าหน้าที่นำซากยุงไปสกัดเอาดีเอ็นเอของคนร้ายออกมา

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.65 ที่นครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยนของจีน คนร้ายได้งัดแงะเข้าไปในห้องพักแห่งหนึ่งในอาคาร เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมง และลงมือขโมยของมีค่าไปได้หลายชิ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุหลังจากนั้น ก็พบว่าประตูปิดล็อกจากด้านใน จากนั้นจึงพบว่าหัวขโมยได้ปีนเข้าห้องพักทางระเบียง

หลังจากงัดเข้าห้องได้สำเร็จ คนร้านก็นำไข่สดและบะหมี่มาทำอาหารกิน รวมทั้งนอนพักค้างคืนในห้องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า คนร้ายใช้ผ้าห่มในห้องและจุดยากันยุงทิ้งไว้ นอกจากนี้ยังพบซากยุงตาย 2 ตัว พร้อมกับรอยเลือดบนผนังห้องนั่งเล่น

ตำรวจสันนิษฐานว่ารอยเลือดเปื้อนผนังน่าจะเป็นเลือดของยุงที่กัดคนร้ายแล้วโดนคนร้ายตบตาย เนื่องจากห้องพักดังกล่าวเพิ่งจะทาสีเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นเลือดของเจ้าของห้อง ก็น่าจะมีการทำความสะอาดไปก่อนหน้านี้แล้ว

เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างเลือดจากผนังห้องและซากยุง ส่งไปยังห้องแล็บ เพื่อตรวจหาดีเอ็นเอและนำไปเทียบกับฐานข้อมูล ซึ่งต่อมาก็พบว่าตรงกับดีเอ็นเอของคนร้ายที่มีประวัติอยู่ในระบบ โดยระบุเพียงชื่อสกุลว่า ‘ไฉ’

ในวันที่ 30 มิ.ย. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าจับกุมและควบคุมตัว ไฉ ไว้ได้ หลังจากสอบปากคำ ไฉ ก็สารภาพว่า เป็นคนงัดแงะเข้าไปในห้องพักดังกล่าวและห้องอื่น ๆ อีก 4 ห้อง

เมื่อเรื่องราวการสืบคดีดังกล่าวได้รับการเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม ‘วีแชต’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารและโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน ก็มีผู้แสดงความเห็นเป็นจำนวนมากที่รู้สึกขบขันว่า ยุงตายสองตัวในคดีนี้ได้กลายเป็น ‘หลักฐาน’ ชิ้นสำคัญในที่เกิดเหตุ บางรายก็บอกว่า “นี่คือการแก้แค้นของยุง 2 ตัวนั้น” และ “ใครบอกว่ายุงไม่มีประโยชน์”

การใช้ร่องรอยดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในที่เกิดเหตุ กลายเป็นเครื่องมือช่วยจับคนร้ายในคดีอาชญากรรมที่สำคัญมากในจีน ตามสถิติของกรมตำรวจในเมืองฉงชิ่งระบุว่า ภายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรมมากกว่า 10% ที่ตามจับคนร้ายได้สำเร็จ โดยอาศัยเทคโนโลยีตรวจสอบดีเอ็นเอ

แหล่งข่าว : scmp.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES


ทีมวิจัยนานาชาติค้นพบ “ระบบดาวคู่” หายาก-หมุนโยกเหมือนลูกข่าง

ทีมวิจัยนานาชาติค้นพบ – ซินหัว รายงานว่าทีมวิจัยนานาชาติประกาศการค้นพบตัวอย่าง “ระบบดาวคู่” (binary star) หายากเพิ่ม 2 ระบบ ประกอบด้วยดาวฤกษ์ศูนย์กลางสองดวงที่โคจรรอบกันในจักรวาล

จากการเผยแพร่ผ่านวารสารดิ แอสโตรฟิสิคอล เจอร์นัล เลตเตอร์ส นายจู เหว่ย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ระบุว่าระบบดาวคู่ 2 ระบบ ชื่อ “เบอร์นาร์ด-1” (Bernhard-1) และ “เบอร์นาร์ด-2” (Bernhard-2) ถูกโอบล้อมด้วยจานก๊าซและฝุ่นละอองที่ทำมุมกับวงโคจรของดาวฤกษ์ศูนย์กลาง

โดยก๊าซหนาแน่นรอบระบบดาวหรือจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (protoplanetary disk) มักอยู่ในระนาบการโคจรเดียวกับดาวฤกษ์ เหมือนกับดาวเคราะห์และดาวบริวารส่วนใหญ่ในระบบสุริยะที่มีระนาบการโคจรเดียวกัน

อย่างไรก็ดี นายจูกล่าวว่าระบบดาวคู่ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้เป็นชนิดหายากที่มีจานวงแหวนรอบดาวอยู่ทำมุมกับระนาบของดาวฤกษ์ที่โคจรรอบ และจานจะโยกคล้ายกับลูกข่างที่กำลังหมุนเนื่องจากมีมุมเอียง จานดังกล่าวจะเคลื่อนที่ระหว่างโลกและดาวฤกษ์คู่ขณะโยกนานหลายทศวรรษ ทำให้ความสว่างของดาวฤกษ์คู่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ผลการวิจัยพบว่าเมื่อมองจากโลก ระบบดาวคู่จะมืดลงขณะดาวฤกษ์ดวงหนึ่งโคจรไปด้านหลังจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด โดยความสว่างของระบบดาวคู่จะกลับสู่ระดับปกติเมื่อสามารถสังเกตเห็นได้อีกครั้งบนโลก โดยการหรี่แสงของระบบเบอร์นาร์ด-1 เกิดนาน 112 วัน ในทุก 192 วัน และระบบเบอร์นาร์ด-2 เกิดนาน 20 วันในทุก 62 วัน

นายจูเผยอีกว่าระบบดาวคู่ 2 ระบบ อยู่ห่างจากโลก 3,000-10,000 ปีแสง และการค้นพบดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจการก่อตัวของดาวเคราะห์ โดยผลการศึกษานี้ดำเนินการร่วมกับนักดาราศาสตร์มืออาชีพและมือสมัครเล่นหลายคน รวมถึงคณะนักวิจัยจากจีนและต่างประเทศ