ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 16 มกราคม 2564

เมื่อ COVID-19 กลายพันธุ์ กับความหวังเรื่อง "วัคซีน"

COVID-19 ในมิติของการกลายพันธุ์ และความหวังที่ทั่วโลกจะมีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

หลายคนบอกว่าการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ รุนแรงกว่ารอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ทั้งๆที่ทั่วโลกมีประสบการณ์รับมือมาแล้ว แม้จะการ์ดตกบางช่วง

นี่ก็เป็นความจริง การระบาดรอบนี้รุนแรงกว่า รวดเร็วกว่า การเรียนรู้สาเหตุย่อมดีกว่าใช้ความรู้สึกวัดเอาตามกระแสข่าวที่เขาพูดกัน เพื่อจะได้ปรับตัวและปรับใจให้มีความพร้อมในการรับมือสงครามเชื้อโรครอบนี้...ตามกำลังความสามารถ

COVID ไวรัสโปรตีนหนาม

หลายคนคงคุ้นกับรูปร่างหน้าตาของเชื้อโคโรนาไวรัสโควิด-19 ตัว กลมๆ มีหนามรอบตัว ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 17 ประการ

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็น “โปรตีนหนาม” (spike protein) ของเชื้อไวรัส นี่เป็นกุญแจสำคัญที่เชื้อใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ในร่างกายคนเรา “ง่ายขึ้น”

การกลายพันธุ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า N501Y มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนสำคัญส่วนใหญ่ของหนามที่เรียกว่า “ส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์” (receptor-binding domain) นี่คือส่วนแรกที่หนามของไวรัสจะสัมผัสกับพื้นผิวเซลล์ในร่างกายคน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายคนได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้เชื้อมีขีดความสามารถในการโจมตีเซลล์ของมนุษย์ได้มากขึ้น และการทดลองในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็พบว่าการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการติดเชื้อขึ้นถึง 2 เท่า

ทำไมไวรัสนี้จึงกลายพันธุ์รวดเร็ว

การปรับตัวเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิต แต่ปกติการ “กลายพันธุ์” เป็นวิวัฒนาการที่ค่อนข้างใช้เวลา เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ก่อนจะเรียกว่าโควิด-19) ที่ตรวจพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2562 ไม่ใช่ชนิดเดียวกับเชื้อที่กำลังระบาดในพื้นที่ต่างๆของโลก พูดง่ายๆคือ เชื้อที่ระบาดเวลานี้ (และไม่ใช่ตัวที่กลายพันธุ์เวลานี้) คือโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ชื่อ D614G อุบัติขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนกลายเป็นเชื้อชนิดหลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทว่าในช่วงต้นๆ เรายังไม่มีความรู้พอที่จะจำแนกเชื้อ รวมทั้งความจำเป็นในการระบุว่ามัน “กลายพันธุ์” ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานั้นคือ ยุติการระบาด ไม่ว่าเชื้อจะเป็นตัวเดิมหรือกลายพันธุ์

ดังนั้น เมื่อเราคิดวัคซีนขึ้นมาได้ กลับพบว่าการกลายพันธุ์อาจทำให้สิ่งที่ทุ่มเทเพื่อการป้องกัน อาจจะไม่ได้ผลก็เป็นได้ ดังนั้น คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ เหตุใดการกลายพันธุ์จึงรวดเร็วชนิดไม่ทันข้ามปี

คำอธิบายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ มันเกิดขึ้นในคนไข้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ (และไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน) จึงทำให้ร่างกายของคนไข้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์

ประเด็นที่ทั่วโลกกังวล นอกจากเรื่องที่ว่าเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์จะอันตรายมากกว่าเชื้อตัวเดิมแค่ไหน ซึ่งเรายังหาคำตอบไม่ได้ ก็คือเรื่องที่มันระบาดรวดเร็วกว่า (เพราะทำให้เซลล์มนุษย์ติดเชื้อได้มากขึ้น) และส่งผลกระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์และความคับคั่งของสถานพยาบาล ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ขยับขึ้นเรื่อยๆ โบยตีเศรษฐกิจจนน่วมลงทุกวันๆ คนที่ไม่ป่วยเพราะโควิด-19 ก็แสนสาหัสปางตายเหมือนกัน

จุดเริ่มต้นของการกลายพันธุ์

มีการตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2563 ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกสามเดือนถัดมา ลอนดอนก็กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่

ปัจจุบันพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทั่วสหราชอาณาจักร ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ แต่พบผู้ติดเชื้อชนิดนี้มากเป็นพิเศษในลอนดอน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกของอังกฤษ แล้วก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ในเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย โดยมีต้นตอมาจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเนเธอร์แลนด์ก็รายงานการพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้เช่นกัน

ข้ามทวีปไปที่ประเทศแอฟริกาใต้ ก็พบการติดเชื้อกลายพันธุ์ มีรูปแบบการกลายพันธุ์คล้ายกัน (โปรตีนหนาม) แต่การสอบสวนไทม์ไลน์คนที่ติดก็ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ จึงดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวโยงกับเชื้อกลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร

เป็นแล้ว หายแล้ว ติดซ้ำได้หรือไม่

ปกติร่างกายคนเราจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆ เช่น หวัด (ธรรมดา) ไม่ต้องฉีดวัคซีน ก็ไม่อันตราย โควิด-19 ก็เชื่อกันเช่นนั้น...ในตอนแรก

ชายญี่ปุ่นวัยกว่า 70 ปีคนหนึ่ง ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในกรุงโตเกียวจนหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติ ไม่กี่วันต่อมาก็ป่วย และพบว่าติดเชื้ออีกครั้ง และนี่ไม่ใช่กรณีเดียว แต่แพทย์ก็พบว่า ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่ เป็นไวรัสตัวเดิมที่ “คืนชีพ” จากในตัวเราเอง เมื่อภูมิต้านทานอ่อนแอ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกาย มันก็ฟื้นขึ้นมาทุบเราต่อ

จนถึงขณะนี้เราก็ยังตอบไม่ได้ว่า คนที่เคยเป็นแล้ว จะติดเชื้อที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่ อันที่จริงนี่ไม่ใช่ปัญหาแล้ว เพราะลองติดเชื้อเข้าไปสักครั้ง ชีวิตก็ไม่มีวันเหมือนเดิมแล้ว ต้องสู้ทุกวัน สู้ให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ไม่อ่อนแอ

วัคซีนที่คิดค้นจะใช้ได้หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า “ใช้ได้” อย่างน้อยก็ยังใช้ได้ในตอนนี้ ขณะนี้วัคซีนชั้นนำ 3 ชนิด ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีภูมิคุ้มกันต่อหนามไวรัส วัคซีนจะฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีกับส่วนต่างๆของไวรัส ดังนั้น แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ในส่วนของหนาม วัคซีนก็ยังจะใช้ได้ผล แต่หมายถึงเราต้องฉีดทุกปี หากการกลายพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้

สำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ครม. มีมติจัดซื้อ-ฉีดวัคซีนโควิดสำหรับประชาชน จาก 3 บริษัทสามารถ ฉีดให้คนไทยได้ประมาณ 33 ล้านคน หรือคนไทยครึ่งประเทศ โดยมีดูไทม์ไลน์การทำงาน คือ เดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส

ฉีดให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี จำนวน 20,000 คน

ฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน คาดว่าจะเริ่มฉีดกลุ่มแรกในปลายเดือนมีนาคม

เดือนมีนาคม 800,000 โดส

ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 200,000 โดส

ฉีดให้แก่บุคคลกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) จำนวน 60,000 คน

ฉีดให้แก่บุคคลในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆจำนวน 540,000 คน

เดือนเมษายน 1,000,000 โดส

ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนมีนาคม จำนวน 600,000 คน

ฉีดให้สำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส

“ถือเป็นข่าวดีของคนไทยที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มอีก 35 ล้านโดส ทำให้ภาพรวมวัคซีนของไทยมี 63 ล้านโดส สำหรับวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา คาดว่าปลายเดือนมกราคม 2564 นี้ จะผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คนไทยจะได้รับวัคซีนที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

สำหรับภาคเอกชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้กีดกันการนำเข้า แต่ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จะต้องได้รับการอนุมัติจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย” นายอนุทินย้ำ พร้อมกับบอกว่า สำหรับวัคซีน 2 ล้านโดสที่ซื้อจากประเทศจีน จะเริ่มฉีด 2 แสนโดสในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีแผนที่จะให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทำงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีอาการรุนแรงก่อน.

(ขอบคุณภาพประกอบจาก BBC Thai)